ในโลกภาพยนตร์ เราได้รู้จักกับความสนุกหมวดหนึ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของคนมากมาย นอกเหนือจากหนังแอ็กชัน ตลก หรือเขย่าขวัญ แน่นอนว่าเราต้องนึกถึงหนังรอมคอมหรือโรแมนติกคอเมดี้ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ใครๆ ก็ต่างหลงรักในเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความสวยงามของความรัก ความตลกขบขันแบบน่ารัก รวมไปถึงเรียกน้ำตาผู้ชมด้วยสถานการณ์บางอย่าง และแสดงให้เห็นถึงภาพความรักในแบบที่ผู้ชมค้นหา
เราต่างคาดหวังว่าชีวิตของเราจะมีความสุขแบบ ‘Happily Ever After’ โดยไม่รู้ตัว เมื่อได้ชมบทสรุปของความรักในหนังรอมคอม เรามักเห็นภาพของการแสดงความรักที่ค่อนข้างเกินจริง เช่น การที่ บริดเจ็ต โจนส์ ใส่ชุดชั้นในวิ่งออกไปท่ามกลางหิมะโปรยเพื่อจูบชายที่รัก หรือเห็นคนมอบดอกไม้จำนวนมากมายเพื่อแสดงความรัก มันล้วนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความรักเท่านั้น เป็นสถานการณ์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความเสน่หาและความหลงใหลที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาหนึ่งที่ทำให้ทุกอย่างลงตัวและดูเพอร์เฟกต์ไปเสียหมด ถึงแม้เราจะได้ชมหนังที่เล่าเรื่องของ ‘เพื่อนนอน’ ที่ตกลงกันไว้ดิบดีว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่มีเซ็กซ์กันเพียงอย่างเดียวอย่างใน Friends with Benefits (2011) หรือ No Strings Attached (2011) ที่ท้ายที่สุดก็จบอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง แปรสภาพจากคู่นอนมาเป็นคู่รัก
แต่ชีวิตจริงอาจไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป
ภาพจากหนังเรื่อง No Strings Attached (บน) และ Friends with Benefits
จริงๆ ส่วนดีของเรื่องราวโรแมนติกเกินจริงเหล่านี้ก็มีอยู่ เพราะอย่างน้อยที่สุดเรื่องราวที่นำเสนอก็ช่างปลอดพิษภัย ดูเอาสนุกได้ หรือจะดูเอาแรงบันดาลใจก็ยังได้ แถมยังสร้างภาพของการแสดงออกถึงความรักให้ดูน่าเอ็นดู สร้างความอบอุ่นให้หัวใจ อยู่ในกรอบที่ดีงาม ปฏิบัติตามได้ พร้อมสร้างบรรทัดฐานทางสังคมบางอย่าง อาทิ การมอบดอกไม้ให้คนที่คุณรัก การบอกรักด้วยวิธีต่างๆ หรือแม้แต่ใฝ่ฝันอยากจะมีงานแต่งงานที่สวยงาม แขกเหรื่อทุกคนใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวพลิ้วไหวอยู่ริมทะเล
มันไม่ผิดหรอกที่เราอยากจะมีภาพชีวิตเป็นเหมือนในหนังเหล่านั้นบ้าง แต่ข้อเสียล่ะ? เพราะไม่ว่าจะอย่างไร อย่าลืมว่าเรื่องที่เห็นเป็นเรื่องสมมติ และเป็นเพียง ‘บทภาพยนตร์’ เท่านั้นเอง
ดร.ชิกิ เดวิส (Tsiki Davis Ph.D.) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์และจิตวิทยา ได้กล่าวไว้คร่าวๆ ถึงผลกระทบจากการชมหนังโรแมนติกคอเมดี้กับความสัมพันธ์ของคู่รักในชีวิตจริงไว้ว่า “เมื่อได้รับชมความโรแมนติก คนเรามักจะเก็บไปเชยชมและคาดหวังว่าคนรักจะประพฤติปฏิบัติกับคุณเหมือนในหนัง โดยเฉพาะในเรื่องของการแสดงออกถึงความรักหรือการใช้ชีวิตคู่ และสิ่งที่น่ากลัวคือการ ‘คิดไปเอง’ ว่าคุณสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในความสัมพันธ์ได้ เช่น การง้อกัน การบอกรักอวดโลกให้คนได้รู้เพื่อพิชิตใจ และถ้าเราเชื่ออย่างสนิทใจ ยิ่งอาจพาจิตใจเลยเถิดไปถึงการคิดแทนผู้อื่น คิดว่าคนอื่นจะต้องรู้ใจคุณไปเสียทุกเรื่อง
ซึ่งทั้งหมดนั้นคือการมโนไปเอง!
ภาพจากหนังเรื่อง 500 Days of Summer
วิธีที่จะทำให้คุณไม่ตกเป็นเหยื่อของหนังโรแมนติกคอเมดี้ที่อาจทำให้ความสัมพันธ์พังพินาศ ก่อนอื่นต้องแยกแยะ ‘ความเป็นจริง’ และ ‘ความคาดหวัง’ ออกจากกันให้ได้ก่อน หากนึกไม่ออก ให้นึกถึงฉากในหนังเรื่อง 500 Days of Summer (2009) ดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้ากับสิ่งที่คาดหวัง เพราะมันช่างแตกต่างกันลิบลับ
ยกตัวอย่างเช่น อย่าได้คิดเอาเองว่าคนรักจะรู้ว่าคุณโกรธเรื่องอะไร บอกเขาไปตรงๆ ง่ายกว่า เพราะในเมื่อเราไม่สามารถอ่านใจคนอื่นออกได้ เขาเองก็ไม่สามารถอ่านใจคุณได้เช่นกัน ฉะนั้นการสื่อสารนับเป็นสิ่งสำคัญในความสัมพันธ์
และเมื่อเข้าใจความเป็นจริงและความคาดหวังของตัวเองได้แล้ว จากนั้นเราต้องแยกแยะสิ่งที่ ‘จำเป็น’ และสิ่งที่คุณ ‘ต้องการ’ ในความสัมพันธ์ให้ออก นั่นหมายถึงสิ่งที่คุณต้องการจากคนรัก และคนรักของคุณ ‘จำเป็น’ ต้องทำให้คุณ นี่คือเรื่องสำคัญ เพราะการเปิดเผยความรู้สึกและความต้องการให้คู่รักได้เข้าใจเป็นหนึ่งในสูตรสำเร็จของความสัมพันธ์ที่ดี และในหนังเองตัวละครมักจะเก็บความรู้สึกไว้ ไม่บอกกันไปตรงๆ (ไม่อย่างนั้นหนังก็คงจบเร็วเกินไป)
แต่อย่าลืมว่านี่คือชีวิตจริง!
และโดยมาก สิ่งที่เรา ‘ต้องการ’ มักจะเป็นการเติมเต็มอะไรบางอย่างในใจของตัวเอง เช่น คุณอาจจะไม่ชอบให้คู่รักเดินจูงมือหรือเกาะแกะในที่สาธารณะ แต่ก็ต้องปล่อยไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ควรสื่อสารกับคู่รัก และ ‘ความต้องการ’ ที่ว่าส่วนใหญ่มักเป็นการกระทำที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในอนาคตได้
ภาพจากหนังเรื่อง Isn’t It Romantic (2019)
หากมองกลับกันบางเรื่องก็ ‘จำเป็น’ เพราะเป็นสิ่งที่คุณมองว่าไม่ควรขาดในความสัมพันธ์ เช่น ควรรับโทรศัพท์เวลาโทรหา หรือการคุยกันทุกวัน กระทั่งส่งข้อความบอกฝันดีก่อนนอนทุกคืน โดยแล้วแต่นิสัยและความชอบส่วนบุคคล อาจเป็นความอุ่นใจหรือสบายใจที่ขาดไม่ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคล นั่นเป็นสิ่งที่ควรต้องบอก
เราไม่ควรหวังให้ใครเป็น Prince Charming หรือ Girl Next Door แบบในหนังรอมคอม และหวังให้เขาหรือเธอ ‘ต้อง’ ทำแบบนั้นแบบนี้
ลองแยกแยะให้ได้ว่าสิ่งไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นต่อความสัมพันธ์ และอย่าลืมว่าเราต่างก็มีความจำเป็นและความต้องการที่ไม่เหมือนกันทั้งสิ้น เช่น คุณอาจจะรู้สึกว่าการโทรตามคนรักเวลาเราออกไปเที่ยวกับเพื่อนคือความจำเป็น หรือจริงๆ แล้วเพียงแค่อยากรู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ที่ไหนเพื่อความสบายใจเท่านั้นเองกันแน่
แม้ความสัมพันธ์ในหนังรอมคอมจะสวยงามน่ารักน่าชังขนาดไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนควรยอมรับคือไม่มีใครเพอร์เฟกต์ แม้แต่เขา ใคร หรือตัวคุณเองก็ตาม ดังนั้นเราต้องไม่คาดหวังเพื่อจะได้ไม่ผิดหวังจากการวาดฝันความรักไว้สวยงามเกินจริง และเราควรใช้ชีวิตอยู่ด้วยความเป็นจริง ตรงไปตรงมา อย่าเก็บความรู้สึกไว้จนกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายความสัมพันธ์
ใครจะไปรู้ คนเขียนบทเบื้องหลังอาจจะเคยผิดหวังหนักๆ ในชีวิตจริง (เหมือนกับเราๆ) จนต้องชดเชยด้วยภาพความฝันแบบในหนังก็เป็นได้ และเคยคิดไหมว่าบางทีตัวละครที่มีความสุขทั้งหลายก็อาจไม่เคยคาดหวังอะไรจากความสัมพันธ์บนจออยู่แล้ว
เพราะอะไรน่ะหรือ
ก็เพราะว่าชีวิตพวกเขาจบลงแค่ตรงเอนด์เครดิตไงล่ะ!
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: