×

28 ปี รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ กับบทบันทึก ‘ครั้งแรก’ ที่เคยเกิดขึ้นในความทรงจำ

28.02.2019
  • LOADING...

ภาพยนตร์คือหนึ่งในงานศิลปะที่ได้รวบรวมศาสตร์หลายแขนงไว้ด้วยกัน ทั้งการแสดง การเล่าเรื่อง การถ่ายภาพ ฯลฯ จนเกิดเป็นเรื่องราวที่ส่งผลต่อผู้ชมในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะพลังที่สร้างแรงบันดาลใจ อารมณ์ ความรู้สึก อีกทั้งยังสะท้อนเรื่องราวของความเป็นจริงในสังคมผ่านภาพและเสียง และนั่นทำให้ ‘ภาพยนตร์’ เป็นหนึ่งในศาสตร์และศิลป์ที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์มากที่สุด

 

แน่นอนว่างานศิลปะชิ้นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีเหล่าคนเบื้องหลังที่สร้างสรรค์ผลงานให้กับผู้ชม ซึ่งงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ถูกจัดขึ้นเพื่อเชิดชูเหล่าผู้อยู่เบื้องหลังวงการภาพยนตร์ไทยเหล่านี้

 

และเพราะว่า ‘ครั้งแรกนั้นสำคัญเสมอ’ THE STANDARD POP จะพาทุกท่านย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เป็นปรากฏการณ์ ‘ครั้งแรก’ ที่น่าสนใจของงานภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ตลอด 28 ปีที่ผ่านมา

 

การมอบรางวัลสุพรรณหงส์ครั้งแรก

งานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 1 หรือรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2535 โดย ไพจิตร ศุภวารี นายกสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติคนแรก (ชื่อเดิมของสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ) ซึ่งในครั้งนั้นยังคงใช้ชื่อรางวัลเดิมคือ รางวัลทางช้างเผือกสู่ดวงดาว

 

ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเป็นเรื่องแรก ตกเป็นของภาพยนตร์เรื่อง เวลาในขวดแก้ว ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของ ประภัสสร เสวิกุล กำกับโดย ประยูร วงษ์ชื่น หนึ่งในผู้กำกับชั้นบรมครูของภาพยนตร์ไทย

 

 

นอกจากนี้ ในการมอบรางวัลครั้งนั้นยังได้รับเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และพระราชทานรางวัลอีกด้วย

 

ครั้งแรกกับรางวัลเทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม

ในงานมอบรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2537 ทางสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติได้เพิ่มสาขารางวัลใหม่อีกหนึ่งสาขาคือ รางวัลเทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม หรือ Best Visual Effects โดยภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลในสาขานี้เป็นเรื่องแรกคือ ปีหนึ่งเพื่อนกันและวัน (อัศจรรย์) ของผม กำกับโดย สมจริง ศรีสุภาพ ร่วมกับนักแสดงนำอย่าง แท่ง-ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง และ มอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์

 

 

ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

งานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้นในปี 2550 ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ตกเป็นของภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง ก้านกล้วย ที่กำกับโดย คมภิญญ์ เข็มกำเนิด ถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดของงานได้เป็นเรื่องแรก และยังคงเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องเดียวตลอดการจัดงานมอบรางวัลทั้งหมด 27 ครั้งที่ผ่านมา

 

 

ภาพยนตร์นอกกระแส หรือหนังอินดี้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

งานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 18 ในปี 2552 อีกหนึ่งก้าวสำคัญของภาพยนตร์นอกกระแสอย่าง Wonderful Town ที่คว้ารางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้เป็นเรื่องแรก ซึ่งเข้าชิงร่วมกับภาพยนตร์อย่าง กอด (คงเดช จาตุรันต์รัศมี), รัก/สาม/เศร้า (ยุทธเลิศ สิปปภาค), สี่แพร่ง (ยงยุทธ ทองกองทุน, ปวีณ ภูริจิตปัญญา, ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ, บรรจง ปิสัญธนะกูล) และ Happy Birthday (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง)

 

 

ครั้งแรกกับการมอบรางวัลสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม

หลังจากที่ภาพยนตร์สารคดีเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และได้รับความนิยมจากผู้ชม ทำให้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ตัดสินใจเพิ่มสาขารางวัลอีกหนึ่งรางวัล ได้แก่ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 24 ในปี 2558 เพื่อให้ครอบคลุมกับผลงานภาพยนตร์ในแต่ละปี

 

และภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกที่คว้ารางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง The Master กำกับโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ โดยเข้าชิงร่วมกับภาพยนตร์สารคดีอีก 2 เรื่องคือ ปู่สมบูรณ์ (กฤษฎา ทิพย์ชัยเมธา) และ สายน้ำติดเชื้อ (นนทวัฒน์ นำเบญจพล)

 

 

ครั้งแรกกับการมอบรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้กับภาพยนตร์ถึง 2 เรื่อง

งานมอบรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 25 ในปี 2559 เป็นครั้งแรกที่มีภาพยนตร์เข้ารับรางวัลสุพรรณหงส์ร่วมกันถึง 2 เรื่อง จากสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลนี้ได้แก่ Snap แค่…ได้คิดถึง (คงเดช จาตุรันต์รัศมี) และ ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) โดยมีผู้เข้าชิงอีก 3 เรื่อง ได้แก่ พี่ชาย My Hero (จอช คิม), เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ (ชยนพ บุญประกอบ) และ อนธการ (อนุชา บุญยวรรธนะ)

 

 

ภาพยนตร์นอกกระแสที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากที่สุด

หลังจากที่ภาพยนตร์นอกกระแสเริ่มเป็นที่นิยมจากผู้ชมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้งานมอบรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 26 ในปี 2560 มีภาพยนตร์นอกกระแสเข้าชิงรางวัลมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น มหาสมุทรและสุสาน (พิมพกา โตวิระ), ปั๊มน้ำมัน (ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์), ธุดงควัตร (บุญส่ง นาคภู่), Fathers (พลัฏฐ์พล มิ่งพรพิชิต), โรงแรมต่างดาว (ปราบดา หยุ่น), เพลงของข้าว (อุรุพงศ์ รักษาสัตย์), ถึงคน..ไม่คิดถึง (ชาติชาย เกษนัส) และ ดาวคะนอง (อโนชา สุวิชากรพงศ์)

 

ซึ่งภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตกเป็นของ ดาวคะนอง โดยเข้าชิงร่วมกับ ธุดงควัตร, พรจากฟ้า (จิระ มะลิกุล, นิธิวัฒน์ ธราธร, ชยนพ บุญประกอบ, เกรียงไกร วชิรธรรมพร), แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว (บรรจง ปิสัญธนะกูล) และ มหาสมุทรและสุสาน

 

นอกจากนี้ยังเป็นภาพยนตร์นอกกระแสที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์มากที่สุดถึง 11 สาขา

 

 

ภาพยนตร์ที่เข้าชิงและคว้ารางวัลสุพรรณหงส์มากที่สุด

ตลอดการประกาศรางวัล 26 ครั้ง ต่างมีภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลในหลายสาขา ซึ่งในงานมอบรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 27 ในปี 2561 มีภาพยนตร์ที่เข้าชิงและคว้ารางวัลได้มากที่สุด ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง กำกับโดย นัฐวุฒิ พูนพิริยะ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงถึง 16 สาขา และได้รับรางวัลทั้งหมด 12 สาขา อาทิ สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายและหญิงยอดเยี่ยม รวมไปถึงรางวัลใหญ่อย่างสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

 

 

ทั้งหมดนี้คือปรากฏการณ์ครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้น ณ งานมอบรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ทั้ง 27 ครั้ง และในปี 2562 นี้ จะเกิดปรากฏการณ์อะไรขึ้นอีกบ้าง เราคงต้องรอลุ้นไปพร้อมกันในวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทางช่องเวิร์คพอยท์ 23 เวลา 21.15-23.15 น.

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:                                                                                                                                                

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising