ความรุนแรงในชาร์ลอตส์วิลล์ตกเป็นที่จับตามองไม่เพียงเพราะมีคนตายเท่านั้น เช่นเดียวกันกับโศกนาฏกรรมแห่งอื่นๆ รากเหง้าปัญหาสาวไกลได้ถึงอุดมการณ์ที่ต่างจนต่อกันไม่ติด บานปลายสู่ความป่าเถื่อน
ข้อปฏิบัติสากลในปัจจุบันมักเน้นความเท่าเทียมของมนุษย์ แต่ดำดิ่งลงไปในจิตใจแล้ว คนเรามองคนอื่นเป็นมนุษย์เท่ากับที่เราเป็นหรือเปล่า อาจฟังดูปวดใจที่งานศึกษาทางจิตวิทยาอเมริกันชิ้นหนึ่งชี้ว่า บรรดาขวาทางเลือก (Alt-Right) รู้สึกว่าผู้อื่นมีความใกล้เคียงสัตว์กว่าพวกเขา
ถึงผลที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา จะเป็นไปอย่างที่กล่าว พึงตระหนักไว้ว่า ฝ่ายขวา 447 คนที่เข้าร่วมการทดสอบไม่สามารถแทนคนอื่นได้เสียหมด เช่นเดียวกันกับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีคติเอียงขวาอีก 382 คน
แบบทดสอบโดยแพทริก ฟอร์สเชอร์ (Patrick Forscher) และ นัวร์ คไทลีย์ (Nour Kteily) ไม่มีความยุ่งยาก เสมือนการเพิ่ม/ลดระดับเสียงในคอมพิวเตอร์ที่เลือกได้ตั้งแต่ 0-100% เพียงแต่ความดังแทนที่ด้วยความเป็นมนุษย์ โดยมีภาพวิวัฒนาการมนุษย์ให้ดูเทียบด้วย
กลุ่มตัวอย่าง 447 คนนี้ให้คะแนนเฉลี่ยอย่างหลากหลาย พวกเขาได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ออกไปจากชาวมุสลิม พรรคเดโมแครต คนผิวสี ชาวเม็กซิกัน นักข่าว ยิว และบรรดาสตรีนิยม โดยที่มองว่าคนผิวขาว ชาวอเมริกัน และผู้ชายมีความใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด
ส่วนฝ่ายเปรียบเทียบก็ไม่ได้ให้คนทุกประเภทเท่ากันเช่นกันแม้จะมีค่าเฉลี่ยมากกว่า พวกเขาให้คนอเมริกัน คนยุโรป คนผิวขาว คนสวีเดน ผู้ชาย และผู้หญิงมีคะแนนมากกว่า 90% สำหรับส่วนใหญ่ที่เหลือเกาะกลุ่มกันในช่วงคะแนน 80% ขึ้นไป
ในประเด็นศาสนาเฉพาะที่ถามกลุ่มตัวอย่าง ฝ่ายขวามองว่าชาวคริสต์ห่างไกลจากความไร้อารยะมากกว่ายิว แต่อีกกลุ่มมองกลับด้านกัน
ในสายตาฝ่ายขวาทางเลือกแล้ว ตัวแทนเดโมแครตที่พ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งปีก่อนอย่าง ฮิลลารี คลินตัน มีความเป็นสัตว์มากที่สุด ส่วนบรรดานักสตรีนิยมไล่หลังมาที่อันดับ 3 ขณะเดียวกันฝ่ายไม่เอียงขวาก็คล้ายๆ กัน ด้วยมองประธานาธิบดีของพวกเขามีความเป็นคนต่ำสุด ตามมาด้วยพรรครีพับลิกันที่มีความเป็นมนุษย์เพียง 77.76%
จุดร่วมของทั้งสองฝ่ายคือการมีมุสลิมติดในสามอันดับท้ายสุดทั้งคู่ ทว่าคะแนนก็ต่างกันอยู่มาก โดยฝ่ายขวาดูแคลนว่าพวกเขาเป็นมนุษย์เพียง 55.40% ส่วนกลุ่มเทียบเคียงให้เฉลี่ย 83.27%
หากมองตามผลที่สรุปออกมา ไม่ใช่เพียงฝ่ายขวาเท่านั้น ไม่ว่าฝ่ายใดก็มองคนอื่นไม่เท่ากัน
หลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นการทดลองของ สแตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) ว่าด้วยการเชื่อฟังผู้มีอำนาจ การทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ดของ ฟิลลิป ซิมบาร์โด (Philip Zimbardo) หรืองานของ อัลเบิร์ต แบนดูรา (Albert Bandura) ต่างชี้ให้เห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์มีอำนาจเหนือหรือมองผู้อื่นต่ำกว่าตน การใช้ความรุนแรงต่อ ‘สิ่งเหล่านี้’ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกสำหรับพวกเขา
ความแตกต่างทางมุมมองจนถึงขั้นใช้ความรุนแรงกันได้น่ากลัวเพียงใด ‘คนฝ่ายตรงข้าม’ ถูกฆ่าตายแล้วหัวเราะสะใจถูกต้องหรือไม่ แล้วสำหรับคุณมองเห็นคนอื่นเป็นคนเท่าคุณไหม
อ้างอิง: