ทุกวันนี้มีใครไม่เคยซื้อของหรือทำธุรกรรมทางออนไลน์กันบ้าง?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยกับการช้อปปิ้ง หรือแม้แต่ทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์กันจนเป็นเรื่องปกติแล้ว ซึ่งทำได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม ไม่แปลกอะไรหากตลาดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว
วันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า (ETDA) ได้จัดงานเสวนาว่าด้วยเรื่องทิศทางการปฏิรูปกฎหมายและกลไกขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. … และร่างพ.ร.บ. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … โดยเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย หน่วยงานองค์กร และภาคประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น ก่อนนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาภายในหนึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือนครึ่ง หวังขยายบทบาทการดูแลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และปรับกฎหมายให้เป็นสากลมากขึ้น โดยคาดว่าจะประกาศใช้กฎหมายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องโตตามไปด้วย เช่น บริการชำระเงิน บริการส่งสินค้า บริการด้านไอที ที่สำคัญ ผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหญ่ยังต้องแข่งขันกับบริษัทต่างชาติที่ตีตลาดเข้ามาในอาเซียนอีกด้วย โดยคาดว่ามูลค่าของอีคอมเมิร์ซจะโตเป็นเท่าตัวภายในปีนี้ จากอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 10% เป็น 20% เนื่องจากปัจจุบันคนนิยมเข้าอีคอมเมิร์ซบนสมาร์ตโฟนมากขึ้นติด 5 อันดับแรกของการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ตโฟน
ทาง ETDA จึงมองว่า ถึงเวลาที่จะต้องปรับแก้กฎหมายบางส่วนให้รองรับกับการทำธุรกิจและสภาพของตลาดที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีใหม่
ผู้ประกอบการและคนทั่วไปอาจสงสัยว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ใหม่เหล่านี้จะเข้ามาส่งเสริมหรือส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการทำธุรกรรมออนไลน์หรือไม่ เราควรทำความเข้าใจอะไรกันบ้าง
THE STANDARD ได้สอบถาม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TARAD.com และ ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสรุปประเด็นสำคัญที่ควรรู้มาให้แล้ว
ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลชุดนี้ มันจะมีบทบัญญัติยกเว้นให้ภาครัฐในการที่จะเข้ามาตรวจสอบข้อมูลประชาชนได้ ซึ่งจะไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ที่เป็นสากล
ETDA เผยปรับแก้ร่างพ.ร.บ. ให้เอื้อต่อเศรษฐกิจดิจิทัล
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายเดิมยังมีข้อจำกัดบางประการในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ตามปกติแล้วการทำสัญญาในรูปแบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มักจะเกิดขึ้นระหว่างที่คู่สัญญาอยู่คนละประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับกฎหมายและกลไกการกำกับดูแลเพื่อให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และรองรับเทคโนโลยีใหม่ตามมาตรฐานสากล
เช่น ปรับหลักเกณฑ์การลงลายมือชื่อในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) กำหนดขั้นตอนการแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงอัตราโทษให้เหมาะสม รวมถึงเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อรองรับการทำสัญญาผ่านระบบอัตโนมัติ ตามข้อกำหนดของสหประชาชาติ (UNCECC) เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงการกำกับดูแลและตรวจสอบธุรกิจเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปรับบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้มีการประกันสิทธิประชาชน ในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่มากขึ้นตามข้อกังวลของภาคส่วนต่างๆ
สุรางคณากล่าวว่า การปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว จะเอื้อต่อการประกอบธุรกิจยุคดิจิทัล เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในส่วนการปรับร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … จะส่งผลให้ ETDA เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการกำกับดูแลและผลักดันธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ
ผู้เชี่ยวชาญชี้ 2 ร่างพ.ร.บ. ใหม่ยังไม่น่ากังวล แต่ล่าช้าสำหรับธุรกิจในยุค AI
ทางด้าน ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TARAD.com นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai e-Commerce Association) ซึ่งเข้าร่วมประชุมเสวนา ได้แสดงทัศนะกับ THE STANDARD ว่า ตนเห็นด้วยกับการปรับร่างพ.ร.บ. ทั้ง 2 ร่าง เนื่องจากฉบับเก่ายังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร และควรเร่งผลักดันออกมาให้เร็วที่สุด
“การปรับร่าง โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มันจะทำให้ทันต่อการใช้งานจริงมากขึ้น เพราะบางอย่างมันไม่ครอบคลุมในกฎหมายแรกที่เราออกกัน พอมันชัดเจน เราก็สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ ส่วนร่างพ.ร.บ. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะทำให้ ETDA มีอำนาจมากขึ้นในการจัดการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะเมื่อก่อนมันอาจจะไม่ค่อยเคลียร์เท่าไร ทั้งที่จริงแล้วหน่วยงานนี้ถูกวางให้ดูแลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมและอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะ
“ประเทศอื่นนับว่าก้าวหน้ากว่าเรามาก เช่น ฝั่งยุโรป หรือในฝั่งบ้านเรา ก็จะมีสิงคโปร์และมาเลเซียที่ถือว่ากำลังไปได้ดีทีเดียว รัฐบาลมาเลเซียประกาศและผลักดันกฎหมายด้านนี้อย่างชัดเจน
“ส่วนตัวผมก็อยากให้ออกมาเร็วกว่านี้นะครับ แต่ว่าต้องใช้เวลาดำเนินขั้นตอนทางกฎหมาย” ภาวุธกล่าว
เมื่อถามว่ารัฐตั้งเป้าจะประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในปีหน้าถือว่าล่าช้าหรือไม่ พร้อมอธิบายต่อว่าที่น่ากังวลคือ ร่างพ.ร.บ. อื่นๆ ในชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยังไม่คืบหน้า เช่น ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. … เพื่อจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ขณะที่ ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ ชี้ว่า ร่างกฎหมายที่ออกมาถือว่าล่าช้ามาก เมื่อเทียบกับธุรกิจในต่างประเทศที่เริ่มนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาใช้ โดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน
“ในประเด็นของความล่าช้าที่ผมพูดถึงในงานเสวนา หมายความว่าตัวกฎหมายฉบับนี้ เมื่อเทียบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน ที่เริ่มนำ AI และบอตต่างๆ เข้ามาใช้อยู่แล้ว เราควรจะรีบออกให้เร็วที่สุด ที่ผ่านมากฎหมายว่าด้วยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มาตรา 5 มันเปิดช่องให้เอกชนตกลงกันเองอยู่แล้ว ดังนั้น ที่ผ่านมาเอกชนจะใช้วิธีทำสัญญาระหว่างกันเอง ในส่วนของการลงทุนจากต่างชาตินั้นก็ยังลงทุนอยู่ แต่อาจมีเรื่องความไม่มั่นใจว่ากฎหมายบ้านเราจะรองรับกรณีที่เกิดความผิดพลาดจากการทำสัญญาอย่างไร แต่ไม่ถึงขั้นว่าจะลดสัดส่วนการลงทุน ถ้าเรารีบออกกฎหมาย ก็อาจจะช่วยเพิ่มความมั่นใจซึ่งนำไปสู่การลงทุนมากขึ้น
“ถ้าโดยหลักเกณฑ์ ตัวพ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มันมาส่งเสริมและสร้างความมั่นใจ แต่มันก็ไม่ได้เป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม แต่ว่ามีข้อหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ก็คือ รองรับเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนของคดีอาญา หรือคดีอื่นที่กฎหมายอาจจะยังล้าหลังอยู่ อย่างตัวกฎหมายมาตรา 35 ของพ.ร.บ. ใหม่ ระบุว่า หน่วยงานของรัฐสามารถเอาหลักเกณฑ์เรื่องการรับรองเรื่องหุ่นยนต์ เรื่อง e-Signature ไปใช้ในการพิจารณาคดีได้ ตัวนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ภาคเอกชนได้ว่าเวลาพลาดจะไม่ค่อยมีปัญหา”
เมื่อถามว่าที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับการใช้ AI ในภาคธุรกิจและการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เท่ากับว่าเสียผลประโยชน์หรือไม่ ไพบูลย์ชี้ว่า เสียประโยชน์ในแง่ความล่าช้าของกฎหมายเท่านั้น ภาคเอกชนจึงอาศัยวิธีการทำข้อตกลงระหว่างกันเองเพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว
“ปัญหานี้เหมือนกับตอนปี 2540 ตอนนั้น พ.ร.บ. ว่าด้วยการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ออกมา ภาคเอกชนก็เลยตกลงใช้ e-Signature หรือ e-Password กันเองอยู่แล้ว ผมคิดว่าการออกพ.ร.บ. ตัวนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งถามว่าเอกชนรอไหวไหม เขาไม่รอแล้ว เขาไปก่อนแล้ว
“ต่างประเทศเขาแก้ตัวกฎหมายไปนานแล้ว อย่างเรื่อง e-Signature ให้รวมเรื่องของ AI และหุ่นยนต์ด้วย ตอนนี้ต่างประเทศเขาคุยกันไปอีกขั้นแล้ว เขาไม่ได้คุยกันเรื่องการใช้ AI ในภาคธุรกิจจะมีผลทางกฎหมายหรือไม่ เช่น สหภาพยุโรปปรับแก้กฎหมายให้ตัว AI มีสถานะเป็นบุคคล (อิเล็กทรอนิกส์) แล้วด้วยซ้ำ แม้แต่รถยนต์ไร้คนขับ Google Car ถ้าหากขับเคลื่อนด้วย AI ก็ถือว่าเป็นบุคคล ต้องมีใบขับขี่ (license) ด้วย มีโทษตามกฎหมายต่างๆ ซึ่งเมืองไทยค่อนข้างล่าช้าในเรื่องนี้มาก”
เราไปเน้นเรื่องกฎหมายสตาร์ทอัพอะไรต่างๆ แต่ว่าพื้นฐานของการรองรับสิทธิพื้นฐานของเขามันไม่มี เราแค่ดึงโมเดลธุรกิจมา แต่กลับไม่มีกฎหมายรองรับ
ความไม่รู้ทางกฎหมายและการคุ้มครองข้อมูล บทเรียนราคาแพงที่ควรรู้
ไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายที่ควรเร่งพิจารณาโดยเร็วที่สุดคือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอยู่ในชุดร่างกฎหมายเศรษฐดิจิทัล เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลจากภาคธุรกิจและหน่วยงานอื่นๆ
“ส่วนที่เราต้องเร่งออกมาคือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่สุด แต่รัฐก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะทุกวันนี้เกิดการไหลผ่านของข้อมูลเป็นจำนวนมาก ประชาชนได้รับความเสียหายค่อนข้างเยอะ ถูกนำไปบิดเบือน ใช้ค้ากำไร รัฐควรจะเร่งตัวร่างพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้เร็วที่สุดครับ
“ถ้าเป็นร่างพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยสากล ก็ต้องคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนก่อน แต่ถ้าร่างพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลชุดนี้ มันจะมีบทบัญญัติยกเว้นให้ภาครัฐในการที่จะเข้ามาตรวจสอบข้อมูลประชาชนได้ ซึ่งจะไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ที่เป็นสากล ก็ต้องดูกันต่อไปว่าร่างพ.ร.บ. นี้มีการแก้ไขแล้วหรือยัง เนื่องจากร่างล่าสุดก็ประมาณ 2 ปีที่แล้ว ส่วนสาเหตุของการดำเนินการล่าช้า เนื่องจากการเปลี่ยนรัฐมนตรี ทำให้ต้องนำร่างกฎหมายมาทบทวนกันอีกรอบ
“การตื่นตัวเรื่องกฎหมายถือเป็นเรื่องสำคัญมากครับ เพราะรัฐบาลประกาศว่าเราอยู่ในไทยแลนด์ 4.0 คือ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ แต่ตัวกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เราไม่มี ไม่ชัดเจน ขณะที่เราไปเน้นเรื่องกฎหมายสตาร์ทอัพอะไรต่างๆ แต่ว่าพื้นฐานของการรองรับสิทธิพื้นฐานของเขามันไม่มี เราแค่ดึงโมเดลธุรกิจมา แต่กลับไม่มีกฎหมายรองรับได้ ผมคิดว่ากระทรวงดีอีก็น่าจะเร่งออกกฎหมายเหล่านี้ออกไปโดยเร็วที่สุด”
ไพบูลย์กล่าวปิดท้ายว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือสร้างบุคลากรที่เข้าใจเรื่องกฎหมายกับเทคโนโลยี ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยให้มูลค่าการจูงใจทางภาษี ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ซึ่งเปรียบเสมือนจุดแข็งของแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้รู้จักใช้ประโยชน์จากข้อมูล
“ทุกวันนี้ นโยบายของเราคือไปดึงต่างชาติเข้ามาให้โต แต่ส่วนของเอสเอ็มอีไทย คนที่ทำธุรกิจเดิมอยู่แล้ว ไม่ได้รับการส่งเสริม กลับถูกเก็บภาษีมากขึ้น ซึ่งผมมองว่ามันไม่น่าจะไปได้ถูกทางซะทีเดียว”
ปัจจุบัน ชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบไปด้วย
- ร่างพ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
- ร่างพ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …
- ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …
- ร่างพ.ร.บ. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …
- ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …
- ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …
- ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- ร่างพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่…) พ.ศ. …
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พ.ร.บ. เหล่านี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงบทบาทและขอบเขตการกำกับดูแลของภาครัฐ ประกอบกับการดำเนินการและการตีความทางกฎหมายที่คลุมเครือ ล่าช้า จึงน่าเป็นห่วงว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะเดินต่อไปอย่างไร
แม้ว่าการปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … และร่างพ.ร.บ. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … จะเอื้อต่อการทำธุรกิจ การค้า และการลงทุนให้ทันสากลโลกมากขึ้นก็ตาม
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan
อ้างอิง: