ทำไมโมเดลธุรกิจถึงเป็นทางรอดสำคัญในยุค Digital Disruption ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการควรเขียนโมเดลอย่างไรให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
เคน-นครินทร์ คุยกับ อเล็กซานเดอร์ ออสเทอร์วัลเดอร์ เจ้าของผลงานหนังสือ Business Model Generation และผู้คิดค้น Business Model Canvas ในพอดแคสต์รายการ The Secret Sauce
Business Model Canvas คืออะไร
เครื่องมือรูปแบบใหม่ในการสร้างโมเดลธุรกิจ ใช้วิธีการเขียนคำตอบลงบนผ้าใบแคนวาสจากคำถาม 9 ข้อที่คนทำธุรกิจควรรู้
1. ลูกค้าคือใคร (Customer Segments)
2. คุณจะเข้าถึงลูกค้าด้วยวิธีแบบไหน (Channels)
3. วิธีบริหารความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและลูกค้าเป็นอย่างไร (Customer Relationships)
4. รายได้มาจากไหนและจะหาได้อย่างไร (Revenue Streams)
5. คุณค่าขององค์กรคืออะไร (Value Propositions)
6. ต้นทุนมาจากอะไร (Cost Structure)
7. ต้นทุนที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง (Key Resources)
8. กิจกรรมขององค์กรคืออะไร (Key Activities)
9. พาร์ตเนอร์แบบไหนที่ต้องการ (Key Partners)
ทำไมการทำโมเดลธุรกิจถึงสำคัญ
ในยุคก่อนเกิด Digital Disruption ‘สินค้า’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ ถ้าสินค้าและบริการดี ธุรกิจก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก แต่ปัจจุบันโมเดลธุรกิจกลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทมากกว่า เพราะการแข่งขันแค่เรื่อง ‘ราคา’ ไม่เพียงพออีกต่อไป ใครๆ ก็สามารถผลิตสินค้าราคาถูกในคุณภาพใกล้เคียงกันได้ ฉะนั้นการตอบคำถาม 9 ข้อที่กล่าวไปข้างต้นให้ได้ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืนและมีโอกาสเหนือกว่าคู่แข่งในตลาด
ทั้งนี้คุณอเล็กซ์ยังเสริมอีกว่า โมเดลธุรกิจกลายเป็นสิ่งที่มีวงจรอายุชีวิตสั้น ต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เพื่อทำให้ธุรกิจไปต่อได้ อยู่รอด และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย
โมเดลธุรกิจที่ดีเป็นอย่างไร
1. ตั้งต้นสร้างโมเดลธุรกิจจากคำถามที่ว่า “มันยากแค่ไหนที่ลูกค้าของคุณจะเปลี่ยนใจไปหาคนอื่น” เช่นเดียวกับตอนที่สตีฟ จ็อบส์ เปิดตัวไอพอด ในมุมมองคนภายนอกสิ่งที่เขาทำคือการปฏิวัติวงการเพลงทั้งหมด คนเปลี่ยนจากการฟังเพลงด้วยแผ่นซีดีมาฟังผ่าน on cloud แต่เบื้องหลังความคิดของเขาคือการสร้างโมเดลธุรกิจ เพราะไม่ว่าคุณจะซื้อไอพอดหรือไอโฟนรุ่นใหม่สักกี่รุ่น เพลงทั้งหมดก็ยังอยู่ในคลาวด์เหมือนเดิม คุณไม่ต้องเสียเวลายุ่งยากโหลดเพลงใหม่ ทำให้ลูกค้าติดใจและเป็นสาวก Apple ไปตลอดกาล โมเดลธุรกิจที่ดีมักเป็นเช่นนั้น
2. ลองหาจุดที่ทำให้รายได้กลับมาอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกัน Nespresso ที่ทำเครื่องชงกาแฟแคปซูล ซึ่งต้องใช้แคปซูลกาแฟจากแบรนด์นี้เท่านั้น ทำให้รายได้ไม่จบอยู่แค่การขายเครื่องชงกาแฟ แต่คนยังต้องซื้อแคปซูลกาแฟอยู่เรื่อยๆ
3. ไม่มีโมเดลธุรกิจไหนที่เพอร์เฟกต์ ทุกโมเดลธุรกิจที่ดีต้องถูกพัฒนาเสมอ
ปัญหาที่เจอในการเขียนโมเดลธุรกิจ
1. คนส่วนใหญ่เมื่อทำธุรกิจไปสักพักมักติดกับดักแห่งความคุ้นเคย ทำวนอยู่แต่สิ่งเดิมๆ ลืมมองธุรกิจของตัวเองจากสายตาคนภายนอก
2. คนบางประเภทกลัวความผิดพลาดจนไม่ได้มีโอกาสเริ่มต้น ฉะนั้นอย่ากลัวที่จะดูโง่บ้าง ผิดพลาดบ้าง เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ
3. องค์กรที่ไม่มีการแบ่งงานชัดเจน มักก่อให้เกิดปัญหาทางธุรกิจตามมา ยกตัวอย่างหน่วยงานที่เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม แต่ยังขาดการแบ่งงานที่เป็นสัดส่วน บางคนทำงานประจำแต่ก็ยังต้องมาดูเรื่องนวัตกรรมด้วย ทำให้ไม่สุดไปสักทาง ข้อแนะนำที่ดีควรสร้างทีมเฉพาะให้ชัดเจนดีกว่า แล้วค่อยให้มาร่วมงานกันแค่บางส่วนก็พอ
หัวใจในการสร้างนวัตกรรมไม่ใช่คน แต่เป็นกระบวนการและตัวชี้วัด
เราจะวัดผลคนที่เข้ามาพัฒนานวัตกรรมจากอะไร ยังคงใช้เครื่องมือตัดสินจากโมเดลธุรกิจเดิมๆ เหมือนที่ใช้กับแผนกอื่นอยู่หรือเปล่า
อเล็กซ์บอกว่า การทำเช่นนั้นเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์ เพราะการพัฒนานวัตกรรมคือการทดลอง และการทดลองจะเกิดความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นถ้าองค์กรอยากพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ กระบวนการและตัวชี้วัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ
- กระบวนการ ผู้นำต้องอนุญาตให้คนในทีมเกิดความผิดพลาดได้ โดยต้องระบุว่าจะเป็นความผิดพลาดแบบไหน ผิดพลาดได้ขนาดไหน ในระยะเวลาเท่าไร และจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างไรให้ไม่ผิดซ้ำ เป็นสิ่งที่องค์กรต้องออกแบบและทำให้เกิดขึ้นได้จริง
- ตัวชี้วัด ต้องสร้างตัวชี้วัดที่แตกต่างจากแผนกอื่นๆ เพราะหลายครั้งการสร้างนวัตกรรมไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาในการบรรลุเป้าหมายได้อย่างชัดเจน เช่น อยากสร้างนวัตกรรมเสร็จภายใน 1 ปีและต้องทำให้เกิดยอดขายได้ทันทีสิ่งนี้เป็นไปได้ยาก เพราะมันอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้นถึงจะสำเร็จตามเป้าหมาย ฉะนั้นลองเปลี่ยนตัวชี้วัดให้เหมาะสมกับตัวงาน ลองกำหนดเป้าหมายของแต่ละขั้นตอนจาก 1-10 แล้วดูว่าในเวลาที่ผ่านมา งานสามารถเดินหน้าไปได้ตามขั้นตอนที่คิดไว้หรือไม่
พบกับ อเล็กซานเดอร์ ออสเทอร์วัลเดอร์ พร้อมเวิร์กช็อปที่ให้ความรู้เน้นๆ
เรื่อง Competing with Business Model Canvas & Value Proposition Design
ได้ที่งาน Corporate Innovation Summit 2019 ในวันที่ 28-29 มีนาคม 2562
พิเศษ! สำหรับแฟน THE STANDARD
กรอกรหัส THESTANDARD
รับส่วนลดบัตรเข้างานทันที 300$ จากราคาเต็ม
ก่อนวันที่ 1 มีนาคมนี้
ซื้อบัตรได้ที่ cis.riseaccel.com/buy-ticket
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
The Guest อเล็กซานเดอร์ ออสเทอร์วัลเดอร์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Podcast Intern วริษฐ์ โกศลศุภกิจ