×

‘กว่าจะมีวันนี้’ พะยูน และ ออสซี่ นักวาดภาพไทยที่มีผลงานทั่วโลกกับ Gucci

17.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • พะยูน และ ออสซี่ คือเจ้าของลายเส้นที่เราเห็นในผลงานนิทาน The Wonder Factory ภายใต้แฟชั่นเฮาส์ระดับโลกอย่าง Gucci
  • พะยูนทำงานด้านแฟชั่นที่แบรนด์ Kloset ตั้งแต่เรียนจบ เริ่มจากตำแหน่งดีไซเนอร์ และใช้เวลาประมาณ 7 ปีจนขยับขึ้นเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์
  • ออสซี่ได้ลองเป็นศิลปินเต็มตัวและรับงานฟรีแลนซ์หลังเรียนจบ จนได้ไปทำงานเป็นผู้จัดการที่ Artist Residency อยู่สองปีครึ่ง ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ
  • พะยูนเริ่มต้นเล่นอินสตาแกรมในปี 2015 เธอวาดรูปและโพสต์ผลงานของตัวเองพร้อมกับใส่แฮชแท็ก #GucciCruiseNYC จนคนของ Gucci มาเจอ เขาเลยส่งข้อความมาหาพะยูนในอินสตาแกรม
  • “โซเชียลมีเดียเป็นโอกาสที่ดีของทุกคน การทำงานเมื่อก่อนมันต้องอาศัยคนรู้จัก คนผลักดัน หรือต้องรู้จักกับใคร ถึงจะมีที่ให้เราแสดงงาน แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนมีพื้นที่แสดงงานของตัวเองแล้ว แค่เพียงเราเปิดใจจะใช้และเรียนรู้ไปกับมัน

     ไม่นานมานี้ เรามีโอกาสได้เห็นลายเส้นรูปสัตว์หลากหลายชนิดของ พะยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล และเพื่อนคู่หูอย่าง ออสซี่-อรช โชลิตกุล ที่สร้างสรรค์ผลงานหนังสือนิทานให้กับคอลเล็กชันใหม่ของแบรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่าง Gucci 

     เพราะเชื่อว่าความงามย่อมมีที่มาและที่ไป เราจึงไปทำความรู้จักกับชีวิตที่สร้างตัวตนและผลงานของ ‘นักวาดภาพประกอบ’ ในแง่มุมที่ลึกซึ้งขึ้นว่า พวกเขาผ่านการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกความรักและความฝันด้านงานศิลปะมาอย่างไร กว่าจะก้าวเป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบที่ได้รับการยอมรับด้วยผลงานระดับสากลอย่างทุกวันนี้ ที่สำคัญ ทั้งสองคนไม่ได้มีผลงานที่ทำร่วมกับ Gucci เท่านั้น แต่กำลังมีผลงานใหม่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันออกมาในเร็วๆ นี้

 

 

     “จะว่าไป เมื่อก่อนดูการ์ตูนทุกวันเลย

     “ตอนเด็กๆ เอ็นจอยกับสมุดระบายสีลายเซเลอร์มูน แล้วก็ระบายสีแต่หน้าเซเลอร์มาร์ส (ตัวละครจากเซเลอร์มูน)”  

     ‘พะยูน’ เจ้าของลายเส้นที่เราเห็นในผลงานนิทาน The Wonder Factory ภายใต้แฟชั่นเฮาส์ระดับโลกอย่าง Gucci พาย้อนถึงที่มาของความชอบในศิลปะตั้งแต่เด็กๆ ในขณะที่ ‘ออสซี่’ เพื่อนสาวที่มาแต่งเติมลายเส้นคอยช่วยเสริม ทั้งคู่รู้จักกันที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นที่ปรึกษาเรื่องการทำงานมาโดยตลอด

 

ค้นพบศิลปะ ค้นพบเส้นทางที่ใช่

     พะยูน: ความจริงที่บ้านทำธุรกิจเสื้อผ้าอยู่แล้ว ทุกๆ ปิดเทอมจะมีช่างเย็บผ้าจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานกัน มีอยู่ปีหนึ่งเราได้เจอกับ ‘พี่ใจ’ หน้าที่ของพี่ใจคือติดกระดุมเสื้อเชิ้ตให้แม่ แต่พี่ใจชอบอู้ ไม่ทำงาน ชอบวาดรูปอยู่หน้าจอทีวี และสอนเราวาดรูปด้วย เราเลยเริ่มต้นวาดรูปตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งที่บ้านก็ไม่ได้ว่าอะไร พอวาดรูปแล้วได้รับคำชม เราก็วาดต่อ พอไปโรงเรียน การวาดรูปเลยกลายเป็นความสามารถพิเศษของเรามาโดยตลอด

     พอใกล้จบมัธยมปลาย จะเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นเริ่มไม่รู้แล้ว ที่โรงเรียนก็ไม่มีสอนแนะแนว ไม่มีการแนะนำให้รู้จักกับคณะที่สอนด้านศิลปะเหมือนปัจจุบัน คณะศิลปะอย่างเดียวที่เรารู้จักคือ ‘สถาปัตยกรรม’ แต่พอไปเรียนปุ๊บ เรารู้ตัวเองว่าไม่ชอบการต้องอยู่ในกรอบ จนกระทั่งเพื่อนแนะนำให้รู้จัก ‘นฤมิตศิลป์’ เลยได้ลองติว ในปีแรกทุกคนจะได้เรียนทุกอย่างของศาสตร์นฤมิตศิลป์ ความคิดเริ่มต้นของเราในตอนนั้นคืออยากจะลองเรียนกราฟิก แต่พอได้ทดลองจริงๆ เราพบว่ากราฟิกมันมีเรื่องของ grid มีกรอบทางด้านศิลปะของมันอยู่ ในขณะที่ตอนเรียนแฟชั่น เราได้ประดิษฐ์หมวก เราทำอะไรก็ได้ตามใจ เป็นอินสไปเรชันที่เป็นตัวเราจริงๆ เลยคิดว่านี่แหละที่ตรงและเหมาะกับเรา

     ออสซี่: ออสซี่ชอบศิลปะตั้งแต่เด็กๆ เคยอ่านสารานุกรมที่บอกประวัติบุคคลสำคัญของโลก ตอนนั้นเปิดไปเจอเรื่องราวของ ‘ปิกัสโซ’ แล้วรู้สึกว่า โอ้โห เท่มาก ยิ่งทำให้อินศิลปะเข้าไปอีก

     แต่ช่วงเด็กๆ ถึงช่วงมัธยมต้น ความสนใจเราก็เปลี่ยนไปมาหลายอย่างนะ ทั้งวิทยาศาสตร์ พฤกศาสตร์ ดาราศาสตร์ ตอนเข้า ม.4 เลยเลือกเรียนสายวิทย์ไปก่อน เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แต่ช่วงนั้นอยู่ๆ ก็มีโอกาสไปเรียน School of Arts ที่อเมริกา เลยค้นพบว่าความจริงเราคงชอบแนวนี้ หลังจากกลับมาเลยเลือกติวเข้าสถาปัตย์ฯ แต่สุดท้ายเราเองก็เหมือนพะยูนนะ คือไม่ชอบเส้นตรง เลยเปลี่ยนมาติวเข้านฤมิตศิลป์ ตอนแรกลังเลระหว่าง ‘กราฟิก’ กับ ‘เซรามิก’ แต่ที่ผ่านมาเราวาดรูปที่เป็น ‘สองมิติ’ มาตลอด เลยคิดว่าอยากฝึกสกิล ‘สามมิติ’ ให้ตัวเองด้วย สุดท้ายเลยเลือกเรียนเซรามิก

 

‘อาร์ตแอนด์คราฟต์’ ความแตกต่างที่ได้พื้นฐานจากครอบครัว

     พะยูน: อย่างที่เล่าว่าที่บ้านทำธุรกิจเสื้อผ้า เราเลยมีสกิลที่ได้จากแม่มาตั้งแต่เด็ก เห็นแม่ทำ เราก็อยากทำ อยากเย็บผ้า สนเข็ม หรืออย่างสกิลการใช้กรรไกร พ่อก็เป็นคนสอน ซึ่งเรารู้สึกว่า ‘มันพิเศษ’ ที่เราได้สกิลเหล่านี้มาจากการสอนของพ่อแม่ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเทรนด์พิมพ์ผ้ามันฮิตมาก แต่เราเลือกที่จะแตกต่างจากคนอื่น เพราะเรามีสกิลเหล่านี้นี่แหละ จะไปจ้างใครทำก็ไม่ได้เหมือนที่ทำเอง เราเลยยึดงานคราฟต์เป็นหลัก

     ออสซี่: แล้วพะยูนเป็นคนขยันด้วย เป็นคนที่มีพลังงานเยอะมากตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว บ้านก็อยู่ไกลมาก ยังจะเย็บปักถักร้อยและวาดรูปอีก ไม่รู้เอาพลังงานมาจากไหน

     พะยูน: คือเรามองว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นงานอดิเรก เพราะเวลาพักของเราคือวาดรูป นั่งปักผ้า มันเลยไม่เหนื่อย ยูนรู้สึกว่างานอะไรที่มันจบด้วยตัวเองได้ อันนั้นแหละคือการพัก แต่งานที่ต้องอาศัยทีม อาศัยการสื่อสาร นั่นคือการทำงานจริงๆ

 

โลกการทำงานจริง ชีวิตจริงที่ต้องเรียนรู้ต่อ

     พะยูน: เราเริ่มทำงานด้านแฟชั่นที่แบรนด์ Kloset ตั้งแต่เรียนจบเลย คือเริ่มจากไปฝึกงาน พอเรียนจบเขาก็ติดต่อให้เข้าไปทำงาน เริ่มจากตำแหน่งดีไซเนอร์ ใช้เวลาประมาณ 7 ปีจนขยับขึ้นเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ซึ่งข้อดีคือเราได้เห็นการทำงานทุกขั้นตอน

     ความฝันของเราในตอนนั้นคืออยากมีแบรนด์เสื้อผ้า ฉะนั้นสิ่งที่อยากรู้คือแบรนด์เสื้อผ้าจริงๆ เขาทำกันยังไง บ้านกับที่ทำงานก็ไกลกันมาก แต่เราก็ไปกลับทุกวัน มีคนถามว่าทำไมเราต้องยอมเดินทางไกลขนาดนั้น คำตอบคือนี่คือสถานที่ทำงานที่เราต้องเข้าไปเรียน ฉะนั้นเราต้องอดทนและเรียนรู้จากที่นั่น

     ช่วงแรกเรายังไม่ได้ออกแบบอะไรมาก แต่พอรับตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ เราได้เห็นรูปแบบการทำงานตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ได้เรียนรู้เรื่องการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และระหว่างนั้นเราก็วาดรูปไปด้วย เพราะอย่างที่บอกว่าการวาดรูปมันคือการพัก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังได้วาดลายผ้าให้กับแบรนด์ ซึ่งความสนุกของมันอยู่ตรงที่เราได้เริ่มต้นสเก็ตช์แบบ วาดแบบ และได้เห็นลายผ้าของจริงในตอนจบ

     ออสซี่: ส่วนเราเรียนจบมาตอนแรกก็มีช่วงที่อยากลองเป็นศิลปินเต็มตัวและรับงานฟรีแลนซ์ด้วย ช่วงนั้นยังไม่เข้าใจระบบว่าถ้าจะเป็นนักวาดรูปเต็มตัวต้องทำยังไง เราเรียนจบด้านดีไซน์มาก็ไม่เหมือน ‘fine art’ (วิจิตรศิลป์) ช่วงนั้นเลยค้นหาตัวเอง กระทั่งช่วงหนึ่งเราไปทำตำแหน่งผู้จัดการที่ Artist Residency ของคนฝรั่งเศสที่อยากสนับสนุนศิลปินไทย ซึ่งเรามองว่ามันเป็นช่องทางให้ได้รู้จักเรื่อง fine art มากขึ้น หลังจากลองทำอยู่สองปีครึ่ง จนกระทั่งรู้สึกว่าตัวเองพร้อมแล้ว เรากล้ามากขึ้น และพอมีประสบการณ์ที่จะออกมาเป็นศิลปินอิสระ ทำงานศิลปะ และจัดนิทรรศการของตัวเอง ตอนนี้เลยกำลังเริ่มทำหนังสือภาพที่เราได้ทั้งวาดรูปและเขียนเรื่องด้วย ซึ่งเราชอบอยู่แล้ว

 

‘โซเชียลมีเดีย’ ก้าวสำคัญของการพิสูจน์ตัวเอง

     พะยูน: ก่อนหน้านี้เราขี้เขิน ขี้อาย ไม่กล้าโพสต์งานของตัวเองลงเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม เพราะเราไม่กล้ายอมรับว่าอยากให้คนอื่นรู้จักงานของตัวเอง

     ตอนทำงานที่ Kloset ก็เหมือนกัน เราเคยมีความคิดว่าทำไมแบรนด์ถึงไม่โปรโมตเราสักทีนะ ทำงานมาสักพักแล้ว แต่ทำไมถึงยังไม่มีคนรู้จักว่าเราเป็นคนวาด เราเลยไปคุยกับรุ่นพี่ซึ่งเป็นคนติวเราตั้งแต่ ม.ปลาย เราคุยกันถึงเรื่องการทำงาน วิธีคิดของตัวเอง จนได้เรียนรู้ตัวเองจริงๆ ว่าต้องการอะไร

     เราถามรุ่นพี่ว่า ทำงานมาตั้งหลายปี แต่ทำไมถึงไม่มีคนรู้ว่าเราเป็นคนทำงาน รุ่นพี่เลยถามกลับมาว่า จริงๆ แล้วงานที่ทำเนี่ย เราอยากเก็บไว้ดูคนเดียวหรืออยากจะให้คนอื่นเห็น ต้องตอบตัวเองให้ได้ เมื่อตอบได้แล้วก็ต้องทำให้ได้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้คำตอบนั้นหายไป  

     ตอนนั้นเราตอบตัวเองว่า โอเค เราอยากให้คนอื่นเห็น และสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดคือ ‘โซเชียลมีเดีย’ เราเลยเริ่มเรียนรู้วิธีเล่นอินสตาแกรม เรียนรู้เรื่องการพิมพ์แฮชแท็กเมื่อปี 2015 นี่เอง

     ประกอบกับเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ตอนนั้นแบรนด์ Gucci เปลี่ยนครีเอทีฟไดเรกเตอร์มาเป็น อเลสซานโดร มิเคเล (Alessandro Michele) เราเองเป็นคนติดตามแฟชั่นอยู่แล้ว พอเห็นคอลเล็กชัน Fall/Winter ของ Gucci ก็ชอบ ทำไมดูโรแมนติก ดูแปลกตาจัง พอมาถึงคอลเล็กชันที่สองคือ Resort ที่ชอบมาก จนรู้สึกอยากวาดรูปเสื้อผ้าในคอลเล็กชันนั้น ซึ่งในวิดีโอแฟชั่นโชว์ตอนจบมันมีแฮชแท็ก #GucciCruiseNYC เราก็เลยวาดรูปและโพสต์ผลงานของตัวเอง พร้อมกับใส่แฮชแท็กนั้นลงไปจนคนของ Gucci มาเจอ เขาเลยส่งข้อความมาหาในอินสตาแกรม เราก็รีบโทรหาออสซี่เลย

     ออสซี่: ตอนนั้นพะยูนกรี๊ดกร๊าด “แก มีคนจาก Gucci ทักมา!” เราก็ถามว่าตัวจริงหรือเปล่า เลยช่วยหาข้อมูลให้ กลัวเพื่อนโดนหลอกเหมือนกัน

 

 

จากโปรเจกต์ที่ได้ร่วมงานกันครั้งแรก Gucci Tian มาถึงงานใหม่ที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่ากับ The Wonder Factory หนังสือนิทานในการโปรโมตคอลเล็กชันเครื่องประดับของ Gucci

     ออสซี่: เริ่มต้นจากเราสองคนนัดประชุมกันก่อน เราคุยกันฟุ้งๆ ว่านิทานเล่มนี้เป็นแบบไหนได้บ้าง โจทย์ของเราคืออะไร จากนั้นกำหนดคร่าวๆ ว่าเรื่องจะเกี่ยวกับโรงงานเครื่องประดับนะ แต่เรื่องระหว่างทางเราค่อยๆ ปรับกันไป แล้วเติมรายละเอียดทีหลัง อย่างพะยูนอยากให้ฉากนี้แฟนซีขึ้น เพิ่มความบ้า เพิ่มตัวละครเป็ดแมนดารินได้ไหม จากนั้นก็วาดสตอรีบอร์ดส่งกลับไป หลังจากที่แบรนด์โอเคแล้ว เราก็ทำทั้งภาพและเรื่องไปพร้อมๆ กัน

     ออสซี่: Gucci เลือกพะยูนเพราะชอบงานพะยูนอยู่แล้ว ชอบในฐานะศิลปิน เขาเลยไม่แก้อะไรมาก แล้วเขากำหนดโจทย์มาให้ เราก็คิดเรื่องให้ตอบโจทย์โดยไม่ได้ขายของมากนัก พอส่งกลับไปก็แทบไม่ได้แก้ แค่วาดเพิ่มตามที่เขารีเควสต์สัตว์ 2 ตัว คือเสือดาว และปลาโลมา เพราะเป็นหนึ่งในสินค้าเครื่องประดับของแบรนด์ แล้วก็มีในส่วนที่ต้องวาดเพิ่ม เพราะเขาจะเอาไปทำ window display ให้กับร้านสาขาต่างๆ  

 

 

‘โซเชียลมีเดีย’ ช่องทางสำคัญที่ผลักดันศิลปินหน้าใหม่ให้มีที่ยืนในวงการศิลปะได้ง่ายขึ้น

     พะยูน: ความจริงมันดีนะ โซเชียลมีเดียเป็นโอกาสที่ดีของทุกคน การทำงานเมื่อก่อนเรารู้สึกว่าต้องมีคนช่วย หรือต้องรู้จักกับใคร ถึงจะมีที่ให้เราแสดงงาน แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนมีพื้นที่แสดงงานของตัวเองแล้ว แค่เพียงเราเปิดใจจะใช้ และเรียนรู้ไปกับมัน

     ออสซี่: เป็นโอกาสอันดีนะ คนไทยจะได้สนใจเรื่องศิลปะมากขึ้น ด้วยความที่โซเชียลมีเดียมันกระจายวงกว้างขึ้น มีคนเห็นผลงานหลายกลุ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะกลุ่มเหมือนเมื่อก่อน ถ้ามีคนเริ่มตั้งแต่ในยุคพวกเรา เด็กๆ จะสนใจวงการศิลปะมากขึ้น ผู้ใหญ่หรือหน่วยงานรัฐบาลก็จะสนใจมันมากขึ้น แล้วถ้าเขาจะช่วยสนับสนุน ในวันหนึ่งเราอาจได้รับโอกาสดีๆ และทำให้ประเทศมีจุดขายมากขึ้นไปด้วย อย่างตอนนี้ออสซี่ทำเว็บไซต์อยู่ ส่วนอินสตาแกรมก็เพิ่งทำ @arachacholitgul เมื่อไม่กี่วันนี้เอง ล้าหลังมาก ต้องเรียนรู้ตามพะยูนเหมือนกัน

     พะยูน: ทุกวันนี้เราก็มีฟอลโลเวอร์เยอะขึ้น แล้วก็ได้เจอคนที่ชอบงานเรา ซึ่งมันดีนะคะ มันเป็นกำลังใจให้เราทำงานต่อไปได้อย่างมีความสุข เพราะเรารู้ว่ามีคนที่คอยดูงานเราอยู่นะ แล้วงานของเราบางทีอาจจะช่วยอินสไปร์คนอื่นได้มากขึ้น

 

Photo: @phannapast/Instagram

 

การเป็นที่รู้จัก = ประสบความสำเร็จ?

     พะยูน: เมื่อก่อนไม่กล้าพูดว่า ‘เราอยากเป็นที่รู้จัก’ แต่ด้วยความที่มันเป็นหลักฐานว่างานที่เราทำมันดี มีคนชอบ เราก็เห็นด้วยกับคำพูดนี้นะ ตั้งแต่ตอนที่เราทำอยู่แบรนด์แฟชั่น แล้ววันที่มีสื่อมาสนใจ มีคนเข้ามาหา นั่นแหละคือหลักฐานว่าฉันทำได้ ฉันพร้อมจะก้าวต่อไป ไม่อย่างนั้นเราก็จะกล้าๆ กลัวๆ อย่างที่ผ่านมา

 

ความสำเร็จที่ต้องเดินหน้าต่อ

     พะยูน: เราอาจทำสำเร็จในโปรเจกต์นี้ แต่เรายังอยากจะเดินต่อ ยังมีอีกหลายอย่างที่เราอยากจะทำ มันเป็นนิสัยของเราที่จะมีภาพในหัวคร่าวๆ เอาไว้ก่อนว่า ‘ฉันจะทำแบบนี้นะ แล้วจะจบแบบนี้’ แต่ถ้าระหว่างทางมีอะไร เราก็ทำนะ ถ้าโอกาสเข้ามา เราก็พร้อม

     ตอนนี้เราอยากทำสตูดิโอที่ให้คนเข้ามาดูและเรียนรู้ผลงานเราได้จริงๆ โดยที่ไม่ต้องออกไปไหน อย่างในอินสตาแกรม บางรูปเราตั้งใจเลือกทาตากากเพชร แต่พอสแกนลงคอมพิวเตอร์แล้วมันมองไม่เห็น สุดท้ายถ้าได้ทำสตูดิโอ คนที่เข้ามาดูจะได้เห็นตัวงานจริงของเราชัดๆ

     ออสซี่: ตอนนี้เราก็แอบมีโปรเจกต์ด้วยกันคือทำหนังสือภาพ โดยทั้งออสซี่ และพะยูนจะวาดรูปด้วยกัน แต่ยังเพิ่งเริ่มคุย เป็นแค่ไอเดียคร่าวๆ ซึ่งถ้าเป็นรูปเป็นร่าง เราตั้งใจว่าจะไปเสนอบริษัทต่างๆ หาสปอนเซอร์อีกที เหมือนตอนทำ Gucci ที่เราสนุกกันมาก ฉะนั้นถ้าได้ทำอะไรที่เราสร้างโจทย์เองได้ด้วยก็น่าจะบ้าคลั่งได้มากกว่านี้อีก  

     พะยูน: ที่อยากทำเพราะเราชอบหนังสือ มันสร้างความคิดนะ เล่มแรกๆ ที่เราอ่านคือ ปังปอนด์, มหาสนุก แล้วแม่ก็เริ่มซื้อวรรณกรรมเยาวชนของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ อะไรแบบนี้มาให้อ่าน ทุกวันนี้ก็ยังเก็บไว้อยู่ เราว่าความเป็นหนังสือมันไม่หายไปไหน

 

 

 

การค้นพบลายเส้นของตัวเอง

     พะยูน: ต้องวาดไปเรื่อยๆ เราวาดรูปมาตลอด และการวาดรูปในแต่ละช่วงวัยมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว มันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราก็จะเก็บเล็กผสมน้อย อย่าไปตั้งความหวังว่ากี่ปีมันจะได้ลายเส้นของเรา เมื่อก่อนเราก็เคยสงสัย แต่สุดท้ายมันต้องใช้เวลาจริงๆ เราต้องวาดไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งมันจะรู้จุดเอง

     ออสซี่: ออสซี่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้นะ เรามีสไตล์เป็นของตัวเองอยู่แล้ว เหมือนในชีวิตประจำวันเราจะแยกได้เลยว่าอันนี้ชอบ อันนี้ไม่ชอบเพราะอะไร มันเป็นการสะสมสไตล์ของตัวเองไปเรื่อยๆ อันไหนไม่ใช่ก็โยนทิ้งไป

     พะยูน: ใช่ สิ่งนี้เหมือนของสะสม แต่สุดท้ายสำคัญที่สุดคือการทำงาน ต้องทำไปเรื่อยๆ จะได้รู้ว่าเราชอบสไตล์แบบนี้ ไม่ชอบแบบนี้ อินสไปเรชันทั้งหมดเกิดจากการทำงานนี่แหละ เหมือนเป็นการขีดเส้นของเราให้ชัดขึ้นเรื่อยๆ

     

     เชื่อว่าหลายๆ คนที่เปิดอ่านบทสัมภาษณ์นี้ อาจจะเป็นทั้งนักเรียนดีไซน์ นักศึกษาจบใหม่ กราฟิกดีไซเนอร์วัย 30 หรือแม้กระทั่งบุคคลในวงการอื่นๆ ที่สนใจในงานของพวกเธอ น่าดีใจที่คำตอบและเรื่องเล่าของพวกเธอทั้งสองน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังพยายามเขียนคำจำกัดความของคำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ ในรูปแบบของตัวเองอยู่

     หลังจากพูดคุยกัน เราพบว่าทั้งคู่ไม่ได้มีแค่ความสามารถหรือจังหวะเวลาที่ดีเท่านั้น แต่เบื้องหลังผลงานภาพวาดสัตว์ต่างๆ และเรื่องราวแฟนตาซีที่ถ่ายทอดจินตนาการได้อย่าง ‘เหนือจริง’ แต่ทั้งคู่มีความคิดที่ ‘สมจริง’ มากทีเดียว

     แม้เราจะได้รู้จักกับทั้งคู่ผ่านผลงาน The Wonder Factory และได้พูดคุยกับพวกเธอเพราะผลงานดังกล่าว แต่สิ่งที่พะยูนและออสซี่ถ่ายทอดให้ทั้งเราและผู้อ่าน กลับไม่ใช่ความโชคดีที่ได้ทำงานโปรเจกต์ระดับโลก หรือการเป็นที่ยอมรับจากโลกออนไลน์ แต่มันคือข้อเท็จจริงของชีวิตการทำงาน การเดินทางจากจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้ง่ายดายเสมอไป ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่การรู้จักจัดการ ‘ชีวิต’ และ ‘ความฝัน’ ให้เดินทางไปด้วยกัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X