×

“เพราะว่ารักจึงเข้าใจ” ความรักเหลือล้นจากแม่สู่ลูกหลากหลายทางเพศ

12.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ในโอกาสวันแม่ปีนี้ THE STANDARD ตั้งใจพาแม่ลูก 3 คู่ที่มีแง่มุมเรื่องราวของความรักความเข้าใจเรื่องเพศที่น่าสนใจมานั่งคุยกัน ส่งต่อความคิดและทัศนคติที่ว่า ‘การยอมรับลูกที่มีรสนิยมรักชอบเพศเดียวกัน’ ไม่ใช่เรื่องยากเลยแม้แต่นิดเดียว
  • พลวัต กรานเขียว หนึ่งในผู้สนทนาของเรา ตัดสินใจบอกกับแม่ของเขาว่าเป็นเกย์เพราะกลัวตาย หลังจากเข้าโรงพยาบาลครั้งแรกในชีวิตด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ‘We take everything the way is, not the way it should be’ คือประโยคที่คุณแม่สุปราณี ไกรสินธุ์ จดใส่กระดาษ A4 มาโดยเฉพาะ เพราะแม่ชอบความหมายของมันมาก

     “ชีวิตหลังจากเปิดตัวกับแม่ว่าเป็นเกย์เป็นอย่างไร?”

     เพื่อนรอบตัวมักคอยถามผมเสมอถึงการตัดสินใจบอกกับคนที่บ้านถึงรสนิยมทางเพศที่ผมมั่นใจว่านี่คือสิ่งที่ผมเป็นและเชื่อมั่นมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย ในความคิดผม การเป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงสำหรับคนวัยมิลเลนเนียม เราต่างเติบโตมาในวันที่บริตนีย์ สเปียร์ส จูบปากกับมาดอนน่า บนเวที VMA หรือหนังอย่าง Brokeback Mountain ยืนหยัดได้บนเวทีออสการ์ ก็ดูเหมือนจะมีพื้นที่ให้กับพฤติกรรมอื่นๆ ที่มิใช่ชายจริงหญิงแท้ได้แสดงออก จริงไหม? เพราะฉะนั้นการเปิดตัวกับที่บ้านไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเลย มีแต่ผลดีด้วยซ้ำ (ในบางครอบครัว)

     ส่วนถ้ามองบริบทในบ้านเรา เรามักจะได้ยินข่าวจากผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านที่ออกมาทักท้วงเรื่องหนัง ละคร หรือซีรีส์เกย์ต่างๆ และเหมารวมว่าสื่อเหล่านี้คือตัวกระตุ้นที่ทำให้พวกเราเบี่ยงเบนทางเพศ มันก็ฟังดูน่าตลกนะ เพราะขนาดผมเติบโตมาในยุคที่สื่อมีแต่หนังและละครชายหญิง ทอฝันกับมาวิน, สามหนุ่มสามมุม และต่างๆ นานา ผมยังโตมาเป็นเกย์เลย แปลกใจไหมล่ะว่าทำไมสื่อถึงไม่ทำให้ผมเป็นชายจริงหญิงแท้? ช่างน่าขำความคิดเหล่านั้น

     “มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยอมรับ เช่นกัน มันก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะเข้าใจ”

     แต่ในขณะเดียวกัน เราต่างเห็นปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นกับครอบครัวอื่นๆ ที่ไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับสถานการณ์เช่นนี้ได้ หมายรวมไปถึงกลุ่มก้อนทางสังคมที่ใหญ่กว่านั้นที่ยังคงกีดกัน หรือทำให้ ‘เพศอื่นๆ’ แปลกแยกออกไป เกิดการกลั่นแกล้งรังแกกันทั้งทางตรงและทางอ้อม เกิดมุกยั่วล้อต่างๆ ประเภท อัดถั่วดำ, สายเหลือง, ระเบิดถังขี้, อัดตูด, ตีฉิ่ง, ไส้เดือน ที่เชยราวกับผ้าตาตาในเพลงของแม่พุ่มพวง เลิกล้อกันได้แล้ว มันเอาต์มาก!

     ครั้งนี้ในโอกาสวันแม่ ผมเลยตั้งใจพาแม่ลูก 3 คู่ที่มีแง่มุมเรื่องราวของความรักความเข้าใจเรื่องเพศที่น่าสนใจมานั่งคุยกัน เพื่อส่งต่อความคิดและทัศนคติที่ว่า ‘การยอมรับลูกที่มีรสนิยมรักชอบเพศเดียวกัน’ ไม่ใช่เรื่องยากเลยแม้แต่นิดเดียว

     ในการสนทนาครั้งนี้ประกอบไปด้วยสองคู่แม่ลูกเกย์ ‘สุปราณี-ภูมิใจ ไกรสินธุ์’ และ ‘สุขตา-พลวัต กรานเขียว’ พร้อมด้วยอีกหนึ่งบทสนทนาแยกจาก ‘สายฝน-ธันยพร ล่องประเสริฐ’ แม่ที่มีลูกสาวเป็นไบเซ็กชวล พวกเขาทั้ง 6 คือมนุษย์แห่งยุคพุทธศตวรรษที่ 26 อย่างแท้จริง ที่ละทิ้งความคาดหวังในเรื่องเพศไปจนหมดสิ้น เหลือเพียงแต่การใช้ชีวิตที่มีความสุขในแบบฉบับของตัวเอง

ยุคนั้นคนอื่นมองว่ามันเป็นเรื่องน่าอาย ไม่กล้ายอมรับ สมัยแม่ นอกจากคนที่ไม่ใช่เพศชายหญิงทั่วไปจะหาเพื่อนคบด้วยยาก เข้าสังคมยากแล้ว โดยเฉพาะเวลาทำงานนี่แย่กว่าอีกนะ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ

(ซ้าย) คุณแม่สุขตา กรานเขียว และแมค-พลวัต กรานเขียว

 

เพศที่แตกต่าง จากต้น 1980 สู่ 2017

     “แม่เป็นคนที่มีเพื่อนเยอะตั้งแต่เด็กๆ แม่จะสัมผัสกับเพื่อนพวกนี้มาเยอะ ซึ่งตอนนั้นมีหมดทั้งเกย์ ทอม ดี้ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้เรียกเขาแบบนั้นนะ นิยามคำศัพท์เหล่านี้ยังไม่ลึกซึ้ง ซึ่งคนอื่นๆ ก็จะปฏิบัติตัวกับเขาปกติหมดนะ แต่จะมีคำถามมากกว่าว่า ‘ทำไมเขาเป็นแบบนี้’ ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องไปถามหรือว่าเขา มันก็เพื่อนเรา มันก็คนเหมือนกัน” คุณแม่สุปราณีเปิดประเด็นหลังจากผมถามถึงความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยสมัยคุณแม่ยังสาว ซึ่งคงเป็นราวๆ ยุคปี 1980 ต้นๆ

     “ต่างกับแม่ที่ไม่เคยรู้ว่าเกย์หรือตุ๊ดเป็นอย่างไร คำนิยามหมายความว่าอะไร แต่เราจะเข้าใจว่าธรรมชาติมันสร้างเขา บรรยากาศรอบตัวเปลี่ยนเขาไป นี่คือสิ่งที่แม่เข้าใจในตอนนั้น” คุณแม่สุขตาเสริมความคิดเห็นของตนขึ้นมา ซึ่งทำให้มองเห็นภาพของผู้คนที่มีความ ‘ไม่เข้าใจ’ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความแปลกประหลาดอะไร

     “ยุคนั้นคนอื่นมองว่ามันเป็นเรื่องน่าอาย ไม่กล้ายอมรับ สมัยแม่ นอกจากคนที่ไม่ใช่เพศชายหญิงทั่วไปจะหาเพื่อนคบด้วยยาก เข้าสังคมยากแล้ว โดยเฉพาะเวลาทำงานนี่แย่กว่าอีกนะ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ พอคนรู้ เขาก็จะโดนนินทา กระทบกับหน้าที่การงานอีก บางคนทำงานเก่งมากก็ย่ำอยู่กับที่ เพราะหัวหน้าไม่ชอบก็มี” คุณแม่สายฝนกล่าว

     ถ้าหากมองกลับมาในยุคปัจจุบันที่มีพื้นที่สื่อให้กับเพศทางเลือกมากขึ้น ดูเหมือนว่าสังคมพร้อมเปิดรับสิ่งนี้แล้วใช่หรือไม่? ผมโยนคำถามเพื่ออยากทราบความรู้สึกของคนวัยพ่อแม่ต่อยุคที่ซีรีส์และละครเกย์ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในทุกๆ ช่อง

     “แม่เข้าใจนะว่าสังคมเปิดกว้างขึ้น พวกเขายอมรับอยู่แล้วล่ะ แต่ปัญหาคือทำไมในพื้นที่สื่อถึงมีการนำเสนอภาพของกลุ่มคนเหล่านี้ในลักษณะของความเยอะ ความน่ารำคาญ มันดูไม่พอดี ซึ่งมันดูเป็นภาพเดียวกันไปสักหน่อย” คุณแม่สุปราณีตอบอย่างตรงไปตรงมา

 

(ซ้าย) ภูมิใจ ไกรสินธุ์ และคุณแม่สุปราณี ไกรสินธุ์

 

“แม่… ลูกมีอะไรจะบอก”

     “บอกตรงๆ เลยนะ ทุกวันนี้เขายังไม่ได้บอกแม่เลย (หัวเราะ) แต่แม่ก็รับรู้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เรารู้ว่าลูกเราชอบอะไร ลูกเราคบเพื่อนยังไง แล้วแม่จะค่อยๆ เข้าใจได้ด้วยตัวเอง อารมณ์ความรู้สึกเขาเป็นแบบนี้นะ ลูกเขาก็คงค่อยๆ ปรับตัวด้วยส่วนหนึ่ง” คุณแม่สุปราณีเล่าอย่างอารมณ์ดี

     “ทำไมถึงตัดสินใจไม่บอกแม่?” ผมถามภูมิใจ ลูกชายของคุณแม่สุปราณีทันที

     “จริงๆ เราชัดเจนมาตั้งแต่เด็กแล้วนะว่าเราชอบอะไร อยากทำอะไร แม่เขาก็รู้แหละ”

     “แม่รู้มาตลอด แม่เคารพการตัดสินใจของเขา มันไม่ได้เป็นเรื่องที่เสียหาย แม่จะดูเขาอยู่ห่างๆ แม่ตัดสินใจให้เขาดำเนินชีวิตของเขาเอง” คุณแม่สุปราณีเสริม

     “ครั้งแรกที่เขาบอกแม่คือตอนที่เขาป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล ซึ่งแม่รู้สึกเฉยๆ มาก (หัวเราะ) แม่ไม่ตกใจเลย แม่เฉยๆ คือแม่สังเกตมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว รวมไปถึงเพื่อนๆ รอบตัวเขา แม่ก็พอจะเดาได้ แต่วันนั้นที่แม่ไปเฝ้าเขาที่โรงพยาบาล เขาก็บอกแม่มาตรงๆ” คุณแม่สุขตาเล่าถึงครั้งแรกในการ come out ของพลวัต ลูกชายคนเล็กคนเดียวของเธอ

     “ทำไมถึงตัดสินใจบอก?” ผมถามพลวัต

     “กลัวตาย (หัวเราะ) กลัวตายจริงๆ จากที่เราเป็นคนไม่ป่วยเลย แข็งแรงตลอด เข้าโรงพยาบาลครั้งแรกในชีวิตด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้วก็ทรุดเลย เลยรู้สึกว่าต้องบอกแล้วล่ะ เดี๋ยวมีอะไรค้างคาใจ” พลวัตเล่าความรู้สึกของเขา ความเป็นความตายก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ยอมให้มนุษย์เราทำอะไรสักอย่างออกไปด้วยหัวใจจริงๆ

     ส่วนคุณแม่สายฝน ซึ่ง ธันวา ลูกสาวของเธอก็บอกเสมอว่าชอบทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

     “แม่ก็ถามนะว่าแน่ใจแล้วเหรอในสิ่งที่ตัวเองเป็น หรือเป็นเพราะค่านิยมเฉพาะกลุ่มที่มันกำลังฮิต หรือว่าทำตามใครเขาหรือเปล่า แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่แน่นอนคือเราคงต้องยอมรับในตัวเขา ลูกจะเป็นอะไรก็คือลูก ใครจะมองอย่างไรก็แล้วแต่เขา ขอให้ลูกเรามีความสุขในสิ่งที่เขาเป็น” เธอตอบอย่างนิ่งเรียบ

เราก็ถามเขาแหละว่าแน่ใจไหม ลูกบอกว่าไม่รู้ บางทีตื่นมาก็ชอบผู้หญิง บางทีตื่นมาก็ชอบผู้ชาย แม่ก็ไม่เข้าใจหรอก แต่มันเป็นคนทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี ก็ไม่รู้จะไปขัดมันยังไง

(ซ้าย) ธันยพร ล่องประเสริฐ และคุณแม่สายฝน ล่องประเสริฐ

 

     “บางทีก็บ้าผู้ชายไปทั่ว (หัวเราะ) เก็บรูปไว้ในคอมพิวเตอร์หลายสิบรูปก็มี อยู่มาสักพักก็คบผู้หญิง พามาหาแม่ตอนแรกก็งง แต่เราก็ถามเขาแหละว่าแน่ใจไหม ลูกบอกว่าไม่รู้ บางทีตื่นมาก็ชอบผู้หญิง บางทีตื่นมาก็ชอบผู้ชาย แม่ก็ไม่เข้าใจหรอก แต่มันเป็นคนทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี ก็ไม่รู้จะไปขัดมันยังไง ทั้งๆ ที่ในใจก็อยากขัดนะ หลังๆ เลยเลิกคิดแล้ว ลูกก็คือลูก มีความสุข ไม่เดือดร้อนใคร และเป็นคนดีก็พอ”

 

เป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นคนดีก็พอ

     “เอาจริงๆ เป็นวลีที่น่าเบื่อมาก ‘เป็นอะไรก็ได้ขอแค่เป็นคนดี’ คือถ้ามองมุมกลับ เป็นชายจริงหญิงแท้แล้วไม่ต้องเป็นคนดีเหรอ ซึ่งจริงๆ แล้วพ่อแม่ทุกคนก็ต้องหวังให้ลูกเป็นคนดีอยู่แล้ว ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นแค่เกย์หรือเพศอื่นๆ ทุกคนมีสิทธิเป็นได้ทั้งคนดีและคนเลวเหมือนๆ กัน”

     ภูมิใจแสดงทัศนคติเกี่ยวกับวลียอดฮิตดังกล่าวที่แม้แต่แม่ผมเองก็เคยบอกแบบนี้ และไม่ใช่แค่แม่ผม แต่หมายรวมถึงแม่ๆ ทั้งสามที่ผมนั่งคุยด้วยก็ต่างมีวลีนี้อยู่ในใจ และพูดออกมาเสมอเมื่อผมถามถึงการมีลูกเป็นเพศอื่นๆ ที่สังคมไม่ได้ทำห้องน้ำแยกไว้ให้

     “สมมติว่าถ้าเราเป็นคนดีแล้วเราโดนล้อว่าตุ๊ดแบบนี้ เราจะยังต้องเป็นคนดีต่อไปไหม?” พลวัตเติมคำตอบเข้ามาให้เราได้ถามเขาต่อ

     “สมัยเรียนก็ถูกเพื่อนล้อนะว่าเป็นตุ๊ด พวกเพื่อนผู้ชายมารุมล้อเลยตั้งแต่สมัยประถม เราก็ไม่เข้าใจ เรื่องมันเกิดขึ้นง่ายๆ แค่เราร้องเพลงผู้หญิงและคุณครูก็แซว ท้วงติงว่าต้องเป็นผู้หญิงร้องสิ ทำไมล่ะ ผู้ชายร้องเพลงผู้หญิงไม่ได้ โดนล้อเฉยเลย” พลวัตเล่าเรื่องวัยเด็กของเขา

 

 

     ผมเริ่มมองเห็นปัญหาจากสถาบันการศึกษาที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในสังคมเรา อันเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยการกลั่นแกล้งรังแก จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ดูเหมือนว่าสังคมเราจะไม่พยายามเข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศนี้

     “สมัยเราเรียนมัธยมก็ค่อนข้างรุนแรงนะ มีการลิสต์รายชื่อเลยว่าลูกของคุณเบี่ยงเบนทางเพศ อาจารย์จะแจ้งผู้ปกครองในวันประชุมประจำเทอมอะไรแบบนั้น บางคนต้องจ้างพี่วินมอเตอร์ไซค์มาสวมรอยเป็นพ่อ เพราะกลัวที่บ้านจะรู้และโดนทำโทษ มันเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เครียดเหมือนกันนะ มันถูกปลูกฝังให้ปิดบัง ไม่กล้าแสดงออกมานานแล้ว” ภูมิใจเสริมประเด็นนี้จากประสบการณ์วัยมัธยม

 

ส่งความรักและความเข้าใจสู่แม่คนอื่นๆ

     “บอลช่วยอ่านนี่ให้แม่หน่อย”

     คุณแม่สุปราณีหยิบแว่นสายตาและกระดาษที่เธอตระเตรียมคำตอบขึ้นมาอ่าน ท่ามกลางรอยยิ้มของผู้ร่วมวงสนทนา เราต่างตื่นเต้นในความ take serious และกระดาษ A4 ของคุณแม่สุปราณีอย่างมาก และโจทย์ที่ผมต้องการให้คุณแม่ทุกคนตอบก็คือ การส่งต่อทัศนคติที่ดีจากแม่คนหนึ่งสู่แม่คนอื่น ให้เข้าใจในลูกหลากหลายเพศของพวกเขา

     “We take everything the way is, not the way it should be. จดมาโดยเฉพาะ เพราะแม่ชอบมาก มันหมายความว่า คุณควรจะรักในความเป็นลูกคุณ ไม่ใช่รักในสิ่งที่ลูกควรจะเป็น เราควรรักเขาเพราะเป็นเขา” แค่วลีเดียวก็กินใจผมเหลือเกินแล้ว

บางคนต้องจ้างพี่วินมอเตอร์ไซค์มาสวมรอยเป็นพ่อ กลัวที่บ้านจะรู้และโดนทำโทษ มันเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เครียดเหมือนกันนะ มันถูกปลูกฝังให้ปิดบัง ไม่กล้าแสดงออกมานานแล้ว

ภูมิใจ และคุณแม่สุปราณี

 

     “ของแม่ก็คงง่ายๆ คือไม่ว่าจะเป็นอะไร เขาก็เป็นลูกเรา เขามีชีวิตของเขา เราก็ควรจะต้องรักเขาในแบบที่เขาเป็นดีที่สุด” คุณแม่สุขตาตอบผม

     “เราแค่ยอมรับว่าสิ่งที่ลูกเป็นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เขามีสังคมของเขา ซึ่งเราเป็นแค่คนที่ให้กำเนิด ไม่ใช่คนที่จะบังคับเขาให้เป็นอย่างที่เราต้องการได้ แม่อย่างเราๆ เดี๋ยวก็แก่แล้วตายจากมันไป แต่คนที่ลูกเลือกจะอยู่กับมันไปอีกครึ่งชีวิตนี่สิ…” คุณแม่สายฝนตอบอย่างน่าสนใจ และทำให้ผมรู้สึกขนลุกหน่อยๆ จากสายตาที่มุ่งมั่นของคุณแม่

เข้าใจว่าสำหรับคนรุ่นเรา มันน่าจะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทำใจได้ยาก อาจจะไม่ได้ถึงกับเกลียด แต่ก็ไม่มีใครอยากให้มาเกิดขึ้นกับลูกเราหรอก แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว วิธีการจัดการคงเป็นการทำความเข้าใจมากกว่าทำใจ

คุณแม่สายฝน ล่องประเสริฐ

 

     “เข้าใจว่าสำหรับคนรุ่นเรา มันน่าจะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทำใจได้ยาก อาจจะไม่ได้ถึงกับเกลียด แต่ก็ไม่มีใครอยากให้มาเกิดขึ้นกับลูกเราหรอก แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว วิธีการจัดการคงเป็นการทำความเข้าใจมากกว่าทำใจ

     น้ำตาผมคลอเมื่อได้ยินคำตอบเช่นนั้นจากคุณแม่สายฝน

 

Just come out, just tell me.

     “เราเป็นแม่ ก็ดีใจแล้วที่ลูกบอกเราออกมาเลย ได้เห็นสิ่งที่เป็นตัวตนจริงๆ แล้วมันมีความสุข จะเป็นอะไรก็โอเคทั้งนั้น ทุกคนคือลูกของแม่เสมอ”

     คุณแม่สายฝนตอบ เมื่อผมให้คุณแม่ฝากข้อความไปถึงลูกๆ คนอื่นที่ยังไม่กล้าเปิดตัวหรือยังลังเล

     “มันยากนะ ยากมาก จริงๆ แล้วคนเป็นแม่ต้องช่วยลูก หากรู้สึกว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ ค่อยๆ เปิดใจยอมรับสิ่งที่ลูกเป็น ถามเขา หรือลูกก็ควรจะค่อยๆ บอก ค่อยๆ เผยออกไป” คุณแม่สุขตากล่าว

     “คนเป็นลูกควรที่จะกล้าเปิดใจ ถ้าคุณเปิดใจสักครั้ง คุณก็สบายแล้ว แต่ถ้าคุณไม่เปิด ก็จะเก็บไว้ พูดออกมามันจะได้จบ ใช้ชีวิตอย่างสบายใจ ทุกคนจะเข้าใจ พ่อแม่ยังไงก็คือพ่อแม่ ยังไงก็ต้องรักลูก” คุณแม่สุปราณีกล่าวทิ้งท้าย

 

ขอบคุณสถานที่: Rang Mahal Indian Restaurant ชั้น 26 Rembrandt Hotel ซอยสุขุมวิท 18

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X