×

9 เรื่องน่ารู้ของ Grammy Awards งานประกาศผลรางวัลที่สำคัญที่สุดของวงการเพลง!

03.02.2019
  • LOADING...

อเดล ชนะ บียอนเซ่ สาขาอัลบั้มแห่งปีในปี 2017, เลดี้ กาก้า มาปรากฏตัวในยานไข่, ไมเคิล แจ็คสัน กวาดไป 8 รางวัลในปี 1984, ลอร์ด ไม่ยอมขึ้นแสดงปีที่แล้ว, แกรมมี่จัดครั้งแรกในสองเมือง …นี่คือเหตุการณ์ไฮไลต์ตลอด 60 ปี จากเวที Grammy Awards ค่ำคืนที่สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมดนตรี

 

 

 

1. งานประกาศรางวัลครั้งแรกของ Grammy Awards

งานประกาศผลรางวัล Grammy Awards ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1959 ที่โรงแรม เดอะเบเวอร์ลีย์ ฮิลตัน ในลอสแอนเจลิส และ พาร์ก เชอราตัน ในมหานครนิวยอร์ก โดยเป็นการจัดสองงานในวันเดียวกัน เป็นงานแจกรางวัลของอุตสาหกรรมดนตรีที่สำคัญสูงสุด มีนักดนตรียอดนิยมหลายคนเข้าร่วมงาน ทั้ง แฟรงก์ ซินาตรา, แซมมี่ เดวิส จูเนียร์, ดีน มาร์ติน, เฮนรี แมนซินี และ อันเดร พรีวิน เป็นต้น

 

ในส่วนของผลรางวัลในปีนี้ รางวัลเพลงแห่งปีตกเป็นของเพลง Nel Blu Dipinto Di Blu (Volare) ของ โดเมนิโก โมดักโน ในขณะที่อัลบั้มแห่งปีตกเป็นของอัลบั้ม Peter Gunn โดย เฮนรี แมนซินี และ แฟรงก์ ซินาตรา นักแสดง นักร้อง และโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน หนึ่งในศิลปินผู้ทรงอิทธิพลที่สุดตลอดกาล

 

ด้าน เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ นักร้องเพลงแจ๊สผิวสีชาวอเมริกัน สตรีหมายเลขหนึ่งแห่งวงการเพลงแจ๊ส ก็ได้รับรางวัลในสาขา Best Vocal Performance, Female และ Best Jazz Performance ด้วยเช่นกัน

 

ต่อมางานประกาศผลรางวัล Grammy Awards เริ่มมีการถ่ายทอดสดงานประกาศรางวัลครั้งแรกในปี 1971 ทางช่องโทรทัศน์ ABC

 

 

2. รางวัลพิเศษใน Grammy Awards

รางวัลพิเศษ MusiCares Person of the Year มอบแด่ศิลปินที่อุทิศตัวเพื่อวงการดนตรีและช่วยเหลือสังคม โดยสถาบัน MusiCares จะดำเนินการช่วยเหลือบุคลากรในแวดวงดนตรีที่ขาดแคลนหรือประสบปัญหาเรื่องการเงินและการแพทย์ โดยมีสถานพยาบาลที่คอยช่วยเหลือคือ Faith Family Medical Clinic ให้การดูแลรักษาเบื้องต้น

 

รายชื่อศิลปินที่เคยได้รับรางวัลพิเศษ MusiCares Person of the Year ทั้งหมด 28 คน จากในปี 2018 ย้อนไปจนถึงปี 1991 อาทิ ฟลีตวูด แม็ค, ลิโอเนล ริชี,  บ๊อบ ดีแลน, คาโรล คิง, บรูซ สปริงสทีน และ พอล แม็คคาร์ตนีย์, บาร์บรา สไตรแซนด์, อรีธา แฟรงกลิน, โบโน, เอลตัน จอห์น และ สตีวี วันเดอร์ เป็นต้น

 

โดยศิลปินที่ได้รับเลือกของปี 2019 ให้รับรางวัลนี้ก็คือ ดอลลี่ พาร์ตัน ศิลปินสาวที่ถือว่าเป็นวีรสตรีแนวเพลงคันทรี ซึ่งจะมีคอนเสิร์ตสดุดีอย่างยิ่งใหญ่สองคืนก่อนงาน Grammy พร้อมมีศิลปินมาร่วมแสดง อย่างเช่น พิงก์, ชอว์น เมนเดส, โนราห์ โจนส์ และ มาร์ก รอนสัน เป็นต้น

 

 

 

3. เมื่อ อเดล เอาชนะ บียอนเซ่

สิ่งที่สร้างสีสันให้กับงาน Grammy Awards ได้ไม่น้อย ต้องยกให้เรื่องดราม่าของเหล่าศิลปินที่มักมีเหตุการณ์คาดไม่ถึงเกิดขึ้น อย่างในปี 2017 Adele ได้รับรางวัลอัลบั้มแห่งปีกับ 25 ที่เซอร์ไพรส์นักวิจารณ์ แฟนเพลง และตัว อเดล เองที่เธอเอาชนะ บียอนเซ่ ไปได้ ทั้งที่หลายคนมองว่าอัลบั้ม Lemonade ของ บียอนเซ่ น่าจะชนะแน่นอน

 

โดยตอนที่ อเดล ขึ้นไปรับรางวัลบนเวที เธอยังได้กล่าวชื่นชม บียอนเซ่ และอัลบั้ม Lemonade อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน “ศิลปินที่สุดในชีวิตฉันคือ บียอนเซ่ และอัลบั้ม Lemonade เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เราได้เห็น ได้เรียนรู้ด้านอื่นๆ ของเธอที่ไม่ค่อยเปิดเผยให้ใครได้เห็น เราปลาบปลื้มกับมัน และพวกเรา ศิลปินที่อยู่ในที่นี้ ยกย่องเชิดชูคุณ บียอนเซ่ คุณคือแสงสว่างของพวกเรา

 

“สิ่งที่คุณทำให้ฉันและเพื่อนของฉันรู้สึก เป็นแบบเดียวกับสิ่งที่เพื่อนผิวสีของฉันรู้สึก มันคือพลังที่ทำให้พวกเขาลุกขึ้นยืนด้วยตัวเอง ฉันรักคุณ และจะรักตลอดไป”

 

 

4. Milli Vanilli กับดราม่าคืนรางวัล!

วง Milli Vanilli คู่ดูโอ้แนวเพลง R&B จากประเทศเยอรมนี เคยได้รับรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากงานแกรมมี่ปี 1990 พร้อมผลงานอัลบั้มดังที่ชื่อ Girl You Know It’s True แต่ต่อมาไม่นาน นักร้อง ชาร์ลส์ ชอว์ ได้ออกมาเปิดโปงว่า เขาเป็นหนึ่งในนักร้องที่ แฟรงก์ ฟาเรียน โปรดิวเซอร์เพลง และผู้ก่อตั้งวง Milli Vanilli จ้างให้มาร้องในอัลบั้มชุดนี้ พร้อมกับนักร้องอีก 2 คน ที่ไม่ได้เอ่ยนาม ซึ่งแน่นอนว่า วง Milli Vanilli ที่มีสมาชิกสองคน คือ แฟ็บ มอร์วาน และ ร็อบ พิลาตัส ไม่ได้ร้องเลยสักเพลง

 

เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้ 9 เดือนต่อมา คู่ดูโอ้ได้ออกมายอมรับ หลังสังคมโจมตีอย่างหนัก และคืนรางวัลแกรมมี่ในท้ายที่สุด

 

 

 

5. ศิลปินหญิงและความไม่เท่าเทียม

ในปี 2018 หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดขึ้นมาอย่างกว้างขวางคือ ลอร์ด นักร้องหญิงคนเดียวที่ได้เข้าชิงรางวัลสาขาใหญ่สุด ‘อัลบั้มแห่งปี’ กับผลงานเพลง Melodrama ปฏิเสธการขึ้นแสดงในงาน เพราะทางผู้จัดงานเสนอให้ ลอร์ด ขึ้นเวทีแสดงร่วมกับศิลปินคนอื่นในการแสดงสดุดี ทอม เพ็ตตี้ ในขณะที่ศิลปินอื่นๆ ที่เข้าชิงรางวัลนี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ชาย ได้รับข้อเสนอให้แสดงเดี่ยว อย่างเช่น เคนดริก ลามาร์, ชายล์ดิช แกมบิโน และ บรูโน มาร์ส โดยมีเพียงสาว คาร์ดิ บี ร่วมโชว์ในเพลง Finesse หรืออย่างสมาชิกวงดนตรีรุ่นใหญ่ U2 ที่ได้ขึ้นเวทีปรากฏตัวในการแสดงถึง 3 ครั้ง ทั้งที่ไม่ได้มีชื่อเข้าชิงรางวัล แต่ ลอร์ด ก็ยังแสดงสปิริตมาร่วมงานในภายหลังพร้อมใส่ชุดสีแดงของ Valentino

 

 

 

6. ความสำเร็จของ เทย์เลอร์ สวิฟต์

ในปี 2010 หนึ่งในนักร้องแนวคันทรีที่ยังถือว่าหน้าใหม่ของยุค ได้ปาดหน้าศิลปินรุ่นใหญ่หลายคนไปได้ และคว้ารางวัลใหญ่ ‘อัลบั้มเพลงแห่งปี’ ซึ่งเธอคนนั้นก็คือ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่มาในวันนี้ คนน่าจะรู้จักไม่มากก็น้อย โดยอัลบั้ม Fearless คว้ารางวัลแกรมมี่ไปอีก 3 รางวัล ในค่ำคืนนั้น และ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักร้องที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลแกรมมี่สาขาอัลบั้มแห่งปี ต่อมาในปี 2016 อัลบัมชุดที่ 5 ของเธอ ที่ชื่อ 1989 ก็ได้รับรางวัลแกรมมี่ไป 3 รางวัล พร้อมทำให้เธอเป็นศิลปินคนที่ 5 และศิลปินหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลอัลบั้มแห่งปีถึง 2 ครั้ง แต่เธอก็มีดราม่าจิกกัดกับคู่อริ คานเย เวสต์ บนเวทีตอนรับรางวัลอัลบั้มแห่งปี โดยเธอกล่าวบนเวทีในขณะรับรางวัลว่า

 

“ฉันอยากจะพูดให้กับสาวๆ ทุกคนบนโลกนี้ได้รู้ว่า เรามักจะต้องเจอกับคนที่พยายามจะขัดขวางความสำเร็จของเรา หรือแอบอ้างว่าตัวเองเป็นคนทำให้เราประสบความสำเร็จ แต่หากพวกเธอโฟกัสกับงาน และไม่ปล่อยให้คนพวกนั้นพาเธอหลงทาง สักวันหนึ่ง ความพยายามของเธอจะส่งผลเอง เธอจะได้มองไปรอบๆ และรู้ว่ามีแค่เธอและคนที่รักเธอ ที่พาเธอไปถึงจุดนั้นได้ และนั่นแหละคือความรู้สึกที่ดีที่สุดในโลก”

 

 

 

7. การแสดงของ เลดี้ กาก้า เพลง Born This Way

สีสันงานแกรมมี่ในหลายปีที่ผ่านมา ต้องยกให้ เลดี้ กาก้า เช่นในปี 2011 ที่เธอมาปรากฏตัวด้วยการขดตัวอยู่ในไข่ที่ออกแบบโดย ฮัสเซียน ชาลายัน ทั้งยังมีองครักษ์หนุ่ม และเทพีสาวหามเธอขึ้นเวที พร้อมแสดงและเปิดตัวซิงเกิลแรก Born This Way จากอัลบั้มชุดที่ 3 ของเธอในชื่อเดียวกัน

 

การแสดงนี้ก็แน่นอน เรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมและเหล่าบรรดาศิลปินที่มาร่วมงานได้อย่างล้นหลาม พร้อมเป็นข่าวหน้าหนึ่งทั่วโลก โดยในค่ำคืนนั้น เลดี้ กาก้า ก็ชนะไปสามรางวัลจากผลงานอัลบั้ม The Fame Monster

 

 

 

8. ค่ำคืนประวัติศาสตร์ของ ไมเคิล แจ็คสัน ในงานปี 1984

ในปี 1984 ไมเคิล แจ็คสัน ชนะรางวัลแกรมมี่ไป 8 สาขา รางวัล Album of the Year และ Record of the Year จากอัลบั้ม Thriller, Record of the Year และ Best Rock Vocal Performance จากเพลง Beat It, รางวัล Best Pop Vocal Performance จากเพลง Thriller, รางวัล Best R&B Vocal Performance และ Best Rhythm & Blues Song จากเพลง Billie Jean, ปิดท้ายด้วยรางวัล Producer of the Year และ Best Recording For Children จากอัลบั้มประกอบภาพยนตร์ E.T. The Extra-Terrestrial ของ สตีเฟน สปีลเบิร์ก

 

จากความสำเร็จในคืนนั้น ทำให้เห็นว่า ราชาเพลงป๊อป ไมเคิล แจ็คสัน ได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาล และเชื่อมต่อหลายแนวเพลงเข้าด้วยกัน ในแบบที่ศิลปินกระแสหลักน้อยคนจะทำได้ โดยหากดูผลรางวัลรวมของไมเคิลทั้งหมดจากแกรมมี่ อวอร์ดส์ เขาได้รับไปทั้งสิ้น 13 รางวัล จากการเข้าชิงทั้งหมด 38 ครั้ง

 

 

9. พิพิธภัณฑ์ Grammy Museum

The Grammy Museum เป็นกลุ่มพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับผู้ชนะรางวัลแกรมมี่ โดยที่แรกเปิดในลอสแอนเจลิสเมื่อปี 2008 ความพิเศษอยู่ที่การจัดแสดงแบบอินเตอร์แอ็กทีฟช่วยให้ผู้ชมได้สัมผัสขั้นตอนต่างๆ ในการผลิตเพลง โดยคุณสามารถบันทึกการร้องเพลง และแรปแทร็กของตัวเอง ไปจนถึงการสร้างผลงานเพลงครบวงจร นอกจากนั้นพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดแสดงชุดของนักดนตรีเจ้าของรางวัลแกรมมี่ อาทิ คานเย เวสต์, เจนนิเฟอร์ โลเปซ และ ริฮานนา อีกด้วย

 

ในปี 2016 พิพิธภัณฑ์แกรมมี่ที่รัฐมิสซิสซิปปี้ ได้เปิดให้บริการ โดยพิพิธภัณฑ์สาขานี้มีขนาด 28,000 ตารางฟุต โดยมีจุดเด่นที่การจัดแสดงเกี่ยวกับนักดนตรีในตำนานของมิสซิสซิปปี้ เช่น โรเบิร์ต จอห์นสัน, บีบีคิง และ เอลวิส เพรสลีย์ ล่าสุดในปี 2017 ได้เปิดพิพิธภัณฑ์แกรมมี่ที่พรูเด็นเชียลเซ็นเตอร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ขนาด 8,200 ตารางฟุต ที่เป็นพิพิธภัณฑ์แบบอินเตอร์แอ็กทีฟ นำเสนอผลงานในรูปแบบมัลติมีเดีย ไฮไลต์สำคัญคือ ส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับนักดนตรีที่โด่งดังที่สุดของรัฐนิวเจอร์ซีย์ อย่างเช่น แฟรงก์ ซินาตรา, วิตนีย์ ฮูสตัน, พอล ไซมอน และ บรูซ สปริงสทีน เป็นต้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising