เคยคุยกันระหว่างเพื่อนสาวบ้างไหมว่าทำไมสินค้าความงามที่แฟชั่นเฮาส์ต่างๆ ทำออกมาขายจึงมีราคาสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ ที่ผลิตมานานกว่าหรือมีความเฉพาะทางมากกว่า ดังเช่นสินค้าบิวตี้ตามร้านขายยา (Drugstore) ที่มาในราคาย่อมเยา ทั้งๆ ที่ก็เป็นสินค้าประเภทเดียวกัน บางครั้งส่วนผสมก็ไม่หนีกันสักเท่าไร แล้วทำไมราคาถึงได้ห่างกันหลายเท่าตัว แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องซื้อของแพงก็ได้ หรือเราควรลงทุนเลือกซื้อของแพงไปเลยเพื่อคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีกว่า แต่คำว่า ‘ดีกว่า’ ในที่นี่ ควรดีขนาดไหนถึงจะคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
ทำไมแฟชั่นแบรนด์ถึงอยากมีบิวตี้แบรนด์เป็นของตัวเอง
ปัจจุบันแบรนด์แฟชั่นจำนวนมากต้องการก้าวกระโดดเข้าสู่สนามเครื่องสำอางลักชัวรี อาทิ Chanel ที่เริ่มเข้าสู่วงการบิวตี้ครั้งแรกในปี 1996 ด้วยการออกน้ำหอม Allure ถัดจากนั้นอีก 2 ปี จึงปล่อยน้ำหอมสำหรับผู้ชายกลิ่นแรกในชื่อ Allure Homme แล้วค่อยมาถึงไลน์สกินแคร์อย่าง Précision หลังจากนั้นก็มีลักชัวรีแบรนด์อีกหลายเจ้าตามมาติดๆ ไม่ว่าจะเป็น Gucci, Tom Ford Beauty, Lanvin, Dolce & Gabbana, Burberry, Christian Dior หรือ Christian Louboutin เป็นต้น
หนึ่งในแบรนด์ที่ต้องพูดถึงได้แก่ Tom Ford Beauty เพราะมีทั้งเมกอัปและน้ำหอม เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2007 ฟอร์ดกล่าวว่า “ผมชื่นชอบบิวตี้เมกอัปมาตั้งแต่เด็กๆ เวลามีโชว์ผมจะใช้เวลาเป็นวันๆ พูดคุยกับเมกอัปอาร์ติสเพื่อให้ลุคในโชว์ออกมาเพอร์เฟกต์ที่สุด อีกทั้งบิวตี้ไอเท็มยังทำให้เราเข้าถึงลูกค้าและมีฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นอีกด้วย”
ส่วน ฟิลลิป ลิม (Phillip Lim) เสริมว่า “บิวตี้ทำให้เราได้ลูกค้าเพิ่ม” ในขณะที่ Burberry ก็ตั้งเป้ายอดขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 1 ใน 4 เช่นเดียวกับ Gucci และ Dolce & Gabbana ก็ต่างพึ่งพายอดขายจากน้ำหอมเป็นหลักเช่นกัน
แฟชั่นแบรนด์มองว่าผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ ช่วยให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดีขึ้น ทั้งยังขยายตลาดสู่สินค้าบิวตี้ได้อีกด้วย แต่ต้องมีขั้นตอนการขายเพื่อรักษาภาพลักษณ์หรูหราของแบรนด์ ตั้งแต่ควบคุมการผลิต ช่องทางการขาย และการกำหนดราคา นอกจากนั้นบิวตี้ไอเท็มจากห้องเสื้อหรูเหล่านี้ยังมีโอกาสได้วางจำหน่ายอย่างเอ็กซ์คลูซีฟในบูติกส่วนตัวอีกด้วย รวมถึงช่องทางออนไลน์และเคาน์เตอร์พิเศษในห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมียม
นอกจากแบรนด์ขาประจำที่มีสินค้าความงามออกวางจำหน่ายอยู่แล้ว บางครั้งเรายังมีโอกาสได้เห็นการร่วมมือกันระหว่างแฟชั่นเฮาส์กับแบรนด์บิวตี้ต่างๆ ในการออกไอเท็มพิเศษแบบลิมิเต็ดอิดิชัน ดังเช่นที่ ไดอานา โฮ (Diana Ho) แบรนด์แมเนเจอร์ของ Shu Uemura Hong Kong กล่าวไว้ว่า “การจับมือกันออกสินค้าพิเศษสร้างประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย”
เอาเข้าจริงมันจำเป็นแค่ไหนที่ต้องช้อปปิ้งบิวตี้แบรนด์ที่มีราคาสูง
สิ่งที่ทำให้บิวตี้แบรนด์ระดับไฮเอนด์ต้องตั้งราคาสูงขนาดนั้น เนื่องจากชื่อแบรนด์นั้นมีมูลค่า อย่าลืมว่าโลโก้แบรนด์ที่ประดับบนเสื้อยืดก็ขายได้แล้ว เมื่อไปอยู่บนสินค้าชิ้นนั้นๆ จะยิ่งส่งผลให้แพ็กเกจมีความสวยหรูน่าจับจองเป็นเจ้าของ และดูต่างจากสินค้าบิวตี้ทั่วไป แต่ถ้าพูดถึงส่วนผสมพื้นฐาน ทั้งของแพงและของถูกไม่ต่างกันนัก เว้นเสียแต่ว่าแบรนด์ราคาสูงมักมีส่วนผสมที่เป็นกลิ่นหอมและเม็ดสีต่างๆ เพิ่มเสริมเข้าไป ทำให้ไม่ต้องใช้ในปริมาณมากหรือต้องเติมระหว่างวัน
ชิ้นไหนควรถูก ชิ้นไหนควรแพง?
บางครั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องซื้อแต่ของแพง เพราะบางชิ้นเราสามารถเลือกใช้จากแบรนด์ราคาย่อมเยาได้ ไม่ว่าจะเป็นสกินแคร์ เมกอัป หรืออุปกรณ์แต่งหน้าต่างๆ ถ้าใครไม่ชัวร์ลองดูไกด์ไลน์ที่เราแนะนำให้ด้านล่าง
- รองพื้น ควรเลือกแบรนด์ไฮเอนด์ เพราะช่วยให้ผิวหน้าดูเนียนเรียบเป็นธรรมชาติ ทั้งยังมีเฉดสีให้เลือกค่อนข้างมาก
- คอนซีลเลอร์ เลือกได้ทั้งไฮเอนด์หรือแบรนด์ราคาย่อมเยา เพราะเป็นไอเท็มที่ควรเหมาะกับสีผิวของคุณ ควรทดลองเฉดสีแล้วเลือกดูในแสงธรรมชาติเพื่อให้ได้สีที่ถูกต้องที่สุด แต่ตัวนี้แบรนด์ไฮเอนด์จะมีส่วนผสมที่เป็นเซรั่มสารป้องกันแสงแดด หรือสารกระทบแสง ซึ่งแบรนด์ที่ถูกกว่าอาจจะไม่มีมาให้
- มาสคาร่า เลือกได้ทั้งถูกและแพง เพราะมีส่วนผสมไม่ต่างกันนัก สิ่งที่ทำให้ต่างคือขนแปรงกับเม็ดสีของมาสคาร่า
- บลัชออน ไอเท็มบิวตี้ที่มีอายุบนหิ้งขายยาวนานกว่าชิ้นอื่นๆ ควรเลือกแบรนด์ราคาย่อมเยา ตามที่ โจวิต้า จอร์จ (Jovita George) ซึ่งเป็น Beauty Vlogger ชื่อดังกล่าวไว้ว่า “เชื่อไหมว่าบางครั้งบลัชออนแบบ Drugstoreใช้ได้ดีกว่าแบบไฮเอนด์ มันให้สีที่สวยชัด แถมยังมีเฉดสีที่เข้ากับผิวทุกโทนสีได้ดี”
- ลิปสติก เลือกแบรนด์ไฮเอนด์เพราะมีส่วนผสมที่ช่วยให้เรียวปากชุ่มชื่น ไม่แห้งแตก สีสวยเนียน แต่บางครั้งอยากจะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ราคาสบายกระเป๋าบ้างก็ไม่เป็นปัญหา แต่อาจทำให้ริมฝีปากแห้งเนื้อลิปไม่ติดปาก
- อายแชโดว์กับอายไลเนอร์ เลือกได้ทั้ง 2 แบบเหมือนบลัชออน แต่ราคาที่แพงคือเราจ่ายให้กับอุปกรณ์ที่ให้มาด้วย เช่น แปรงหรือกบเหลา บิวตี้กูรูบางคนจึงชอบผลิตภัณฑ์ที่มาในราคาย่อมเยา เพราะดีทั้งราคาและคุณภาพ
สุดท้ายแล้ว ปัจจัยในกระเป๋าคงเป็นตัวตัดสินใจว่าคุณจะเลือกไปทางไหน บางไอเท็มอาจไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่กลับบางชิ้นเราคงต้องยอมบ้างเพื่อแลกกับความคุ้มค่า แต่จำไว้ว่า ของดีไม่ได้หมายความว่าต้องแพงเสมอไป แต่ถ้าได้หยิบอะไรเก๋ๆ ออกมาใช้บ้างมันก็ย่อมรู้สึกดีกว่าเป็นธรรมดา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Photo: Courtesy of brands
อ้างอิง:
- www.moneycrashers.com/high-end-designer-makeup-worth-it
- liveglam.com/cheap-vs-high-end-makeup-brands
- www.hercampus.com/beauty/drugstore-vs-high-end-which-makeup-products-are-worth-extra-dollars
- www.scmp.com/magazines/style/article/1580577/fashion-houses-and-designers-branch-out-fragrances-and-cosmetics