ดูท่าว่ามวลมนุษยชาติอาจจะมุ่งทะยานเข้าใกล้กับยุคระบบการขนส่งความเร็วสูงจากโลกอนาคตตามแนวคิดตั้งต้นของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ด้วย ‘Hyperloop’ ได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะล่าสุดโครงการ Hyperloop One เฟส 2 ประสบความสำเร็จในการทดสอบอย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมาตามเวลาของสหรัฐอเมริกา Hyperloop One ได้ทดลองปล่อยยานพ็อดพุ่งทะยานไปบนรางวิ่ง DevLoop ระยะทาง 500 เมตรที่ตั้งอยู่ในบริเวณทะเลทรายเนวาดา เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดาและสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยระบบแม่เหล็กที่ใช้ลอยตัวก่อนจะเริ่มเบรกและค่อยๆ ชะลอตัวจนหยุดนิ่งในที่สุด
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พวกเขาเคยผ่านการทดสอบระบบวิ่งแบบสุญญากาศ โดยไร้ยานพาหนะสำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน และทำความเร็วจากการทดสอบวิ่งได้มากถึง 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมาแล้ว (คลิกอ่าน: thestandard.co/news-tech-hyperloop-one)
Shervin Pishevar ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการและประธานกรรมการบริหารบริษัทได้ออกแถลงการณ์บนหน้าเว็บไซต์ hyperloop-one.com ว่า “นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นและรุ่งอรุณของยุคใหม่แห่งระบบการขนส่ง พวกเราได้บรรลุความเร็วระดับประวัติศาตร์ที่ 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เราตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่จะได้เผยโฉมยาน XP-1 ที่วิ่งในท่อ Hyperloop One ต่อโลกใบนี้ เเละเมื่อไหร่ที่คุณได้ยินเสียงของ Hyperloop One นั่นก็เท่ากับว่าคุณได้ยินเสียงแห่ง ‘อนาคต’ ”
ด้าน Rob Lloyd ผู้บริหารสูงสุด Hyperloop One กล่าวเสริมว่า “พวกเราได้พิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีของเราเวิร์ก ซึ่งต่อจากนี้เรากำลังจะเข้าไปพูดคุยกับพาร์ตเนอร์ ลูกค้าและภาครัฐบาลทั่วโลกถึงความร่วมมือในการนำเทคโนโลยี Hyperloop ของพวกเราไปใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ
“พวกเรารู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยกับกลุ่มเป้าหมายและเสียงตอบรับที่ได้จากรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ ซึ่งพวกเราจะได้เข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการขนส่งมวลชนและความท้าทายจากตัวโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ”
รู้จักกับยานพาหนะแห่งอนาคต ‘XP-1’
สำหรับยานพ็อดที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้คือ ‘XP-1’ ซึ่งถือเป็นยานพาหนะเจเนอเรชันแรกของบริษัท Hyperloop One ผลิตขึ้นจากวัสดุจำพวกอะลูมิเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ความยาว 8.7 เมตร กว้าง 2.7 เมตรและสูง 2.4 เมตร ทั้งนี้ตัวยานมีขนาดความยาวเพิ่มขึ้นจากข้อมูลที่เปิดเผยออกมาในครั้งแรก 0.2 เมตร
ขณะที่ข้อมูลด้านสเปกและการออกแบบยานสามารถจำแนกออกเป็น 2 ส่วนดังนี้
- ส่วนหัวยาน (Aeroshell) ผลิตขึ้นจากชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์น้ำหนักเบาแต่ทนทานกว่าเหล็ก ผ่านการทดสอบกับโครงสร้างของยานมานับครั้งไม่ถ้วน
- ส่วนตัวถัง (Levitating Chassis) ผลิตขึ้นจากโครงสร้างอะลูมิเนียม ซึ่งอาศัยพลังงานแม่เหล็กให้สามารถลอยตัวและเคลื่อนที่ได้ ด้านการออกแบบถูกดีไซน์ให้มีลักษณะใกล้เคียงกับรถแข่ง Formula 1 แต่ก็ยังคงคอนเซปต์ความเบาแต่ทนทานแข็งแรงเหมือนส่วนหัวยาน
https://www.youtube.com/watch?v=uLh1alyhc1E
‘การพัฒนาที่ก้าวหน้าไปไกลขึ้นทุกที’ ข้อมูลทั่วไปจากการทดสอบในครั้งที่ 2
มีการเปรียบเทียบข้อมูลทั่วๆ ไประหว่างการทดสอบวิ่งในเฟสที่ 1 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม และเฟสที่ 2 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม โดยพบว่าผลจากการทดสอบวิ่งในครั้งที่ 2 นี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องดังนี้
- ทำความเร็วได้มากกว่าเดิมถึง 2.7 เท่า (เฟส 1 – 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง : เฟส 2 – 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
- วิ่งในระยะทางที่ไกลขึ้นกว่าเดิม 4.5 เท่า (เฟส 1 – 96 เมตร : เฟส 2 – 436 เมตร)
- แรงขับที่ไกลขึ้นกว่าเดิม 10 เท่า (เฟส 1 – 30 เมตร : เฟส 2 – 300 เมตร)
- กำลังที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 3.5 เท่า (เฟส 1 – 891 เเรงม้า : เฟส 2 – 3,151 แรงม้า)
การทดสอบในครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นการส่งสัญญานโดย Hyperloop One ว่าพวกเขาอาจกลายเป็นความหวังใหม่ให้กับรูปแบบการเดินทางในอนาคตของมนุษย์ เนื่องจากกระบวนการในการพัฒนารุดหน้ามากขึ้นในทุกขณะ ทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ทดลองวิ่งด้วยยานพ็อดและเพิ่มความเร็วจากการทดสอบครั้งล่าสุดได้มากกว่าเท่าตัว แม้จะน้อยกว่าเป้าหมายความเร็วที่ตั้งไว้ในตอนแรกที่ 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ตาม
เมื่อเป็นเช่นนี้เป้าหมายการทำความเร็วสูงสุดที่ 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนจะเปิดให้บริการจริงในปี 2021 คงไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อมโนขายฝันอีกต่อไป
อ้างอิง