เชื่อหรือไม่ แม้ทุกคนจะเคยมีประสบการณ์เป็นสิว ไม่ว่าจะเป็นสิวเล็กน้อย หรือเป็นสิวที่สร้างปัญหาใหญ่อย่างสิวอักเสบ หรือสิวหนอง แต่ก็ใช้ยาแต้มสิวแบบผิดๆ โดยไม่รู้ตัว นำไปสู่การดื้อยา ทำให้ทายาเท่าไรสิวก็ไม่หาย ข้อควรรู้เกี่ยวกับการทายาสิวที่ถูกต้องมีอะไรบ้าง เรารวบรวมมาฝากผู้อ่านแล้วดังนี้
ทายาสิวไม่ต่ำกว่า 5 วัน
การทายาสิวอักเสบติดเชื้อ ก็ไม่ต่างจากเวลารับประทานยาปฏิชีวนะรักษาอาการต่างๆ ซึ่งแพทย์มักจะแนะนำเสมอว่าควรทานให้ครบโดส เช่น ทานยาฆ่าเชื้อระบุว่าให้ทานครบ 5 วัน (หรือหมดแผง) ก็ต้องทานให้ครบตามกำหนด (เพื่อป้องกันการดื้อยา) การทายาปฏิชีวนะรักษาสิวก็เช่นเดียวกัน เมื่อทาไปวันสองวันแล้วสิวยุบ บางคนหยุดทายาไปเลย ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ทำให้มีโอกาสดื้อยาสูง ดังนั้นแม้สิวจะยุบหรือหายแล้ว ก็ควรทายาต่อเนื่อง 5 วัน และในการใช้ยาปฏิชีวนะแต้มสิวนั้น ไม่ควรใช้ต่อเนื่องยาวนานเกิน 2 เดือน อีกหนึ่งเคสที่มักเจอบ่อยคือการเปลี่ยนยาทาสิวไปเรื่อยๆ เพราะใจร้อน เมื่อทาแล้วไม่เห็นผลก็เปลี่ยนไปทายาตัวอื่นทันที แบบนี้ก็เสี่ยงทำให้เกิดการดื้อยาและเกิดอาการแพ้ยาได้เช่นกัน การรักษาสิวทุกชนิดต้องอาศัยความอดทนและใช้เวลานาน จึงไม่ควรใจร้อนและควรทายาสิวอย่างมีวินัยจะเป็นผลดีต่อการรักษาที่สุด หากใช้ยาถูกต้องแล้วแต่สิวไม่หายและอักเสบกว่าเดิม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างละเอียดต่อไป
ทายาสิวก่อนเป็นอันดับแรกหลังการล้างหน้า
จริงๆ แล้วสเตปการทายาแต้มสิวนั้นไม่มีกฎตายตัว แต่เภสัชกรมักแนะนำว่าเมื่อใช้กับผิวหน้า ผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามที่มีคุณสมบัติเป็นยา ควรทาก่อนเป็นอันดับแรกหลังการล้างหน้า เพราะว่ายาจะออกฤทธิ์ได้เร็วและซึมซาบเข้าสู่ผิวก่อนจะลงครีมบำรุงตัวอื่นๆ ในลำดับต่อไป ส่วนสเตปการทาครีมบำรุงหลังจากทายาสิวนั้น ให้เลือกลำดับการทาก่อนหลังจากเนื้อผลิตภัณฑ์ ให้เรียงลำดับการทาครีมหรือเซรั่มจากเนื้อเบาที่สุด ไปยังเนื้อหนักที่สุด อะไรที่ทาแล้วซึมเร็วให้ทาลงผิวก่อน อะไรที่ดูหนากว่าให้ทาทีหลัง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาทาครีมนาน แต่ก็แลกมาด้วยประสิทธิภาพของการบำรุงผิวได้อย่างเต็มที่
เลือกยาให้ตรงกับปัญหาสิว
สิวในโลกนี้ประกอบด้วย สิวไม่อักเสบหรือสิวอุดตัน (Comedone) กับสิวอักเสบ (Inflamatory Acne) ดังนั้นการจะทายารักษาสิว เราต้องรู้ก่อนว่าตัวเองเป็นสิวประเภทไหนอยู่ ซึ่งสิวประเภทแรกคือสิวไม่อักเสบหรือสิวอุดตัน จะรู้จักกันในรูปแบบของสิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวเสี้ยน ที่กดแล้วไม่รู้สึกเจ็บ สิวประเภทนี้รักษาได้ง่ายกว่า เพียงกำจัดความมันและผลัดเซลล์ผิว รวมถึงการทายาละลายหัวสิวบางๆ ก่อนล้างหน้า ควรหมั่นรักษาความสะอาด ก็จะช่วยกำจัดสิวเหล่านี้ให้หมดไปได้ ส่วนสิวอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ P.Acnes จากการกดบีบสิว หรือเชื้อโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการเอามือสกปรกมาสัมผัสใบหน้าที่เป็นสิว มักจะมีลักษณะบวม แดง เมื่อใช้มือกดแล้วเจ็บ การรักษาทำได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอกที่มีตัวยาคลินดามัยซิน จะช่วยรักษาสิวอักเสบโดยเฉพาะ โดยใช้หลังการทำความสะอาดผิวหน้า และทาบริเวณที่เป็นสิวอักเสบวันละ 2 ครั้ง
ยารักษาสิวควรทาเฉพาะจุด ไม่ใช่ทาทั่วใบหน้า
หลายคนทายาสิวทั่วใบหน้า เพราะเข้าใจว่าจะเป็นการป้องกันการเกิดสิวใหม่ไปในตัว ซึ่งเป็นวิธีการใช้ยาสิวที่ผิด เพราะการทายาสิวที่ถูกต้องควรทาเฉพาะจุดที่เป็นสิวเท่านั้น เพื่อให้ยาออกฤทธิ์รักษาสิวได้ตรงจุด และไม่สร้างการระคายเคืองให้กับผิวหนังบริเวณอื่นที่ไม่เป็นสิว อย่าลืมว่ายาปฏิชีวนะที่ใช้ทาภายนอกเพื่อรักษาสิวนั้น ไม่ได้ถูกกับผิวพรรณของทุกคน บางคนอาจมีอาการแพ้จากการใช้ยาเกิดขึ้นได้ หากใช้ทาทั่วใบหน้า เมื่อแพ้ยาสิวอาจเห่อทั่วหน้า และสร้างปัญหาใหม่ให้ผิวบอบบางและระคายเคืองมากกว่าเดิม ดังนั้นเวลาจะทายาสิวควรทาเฉพาะจุดที่มีปัญหาสิวเท่านั้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์