×

ย่างก้าวต่อไปของฟุตบอลทีมชาติไทยหลังยุค มิโลวาน ราเยวัช

09.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ‘เปลี่ยนม้ากลางศึก’ ระหว่างรายการที่มีความสำคัญในระดับนี้ เป็นเรื่องที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นเลย แต่อย่างน้อยที่สุด เรายังได้เห็นภาพการบอกลากันด้วยดีระหว่างราเยวัชและลูกทีมทุกคน
  • ภายใต้การนำของโค้ชคนใหม่ โค้ชโต่ย-ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย รักษาการตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทย ร่วมกับ โค้ชโชค-โชคทวี พรหมรัตน์ ที่จะรับหน้าที่ผู้ช่วย มีการคาดกันว่า เราอาจจะได้เห็นทีมช้างศึกเล่นในระบบและสไตล์ที่แตกต่างจากในยุคของราเยวัช
  • สิ่งที่จะทำให้ฟุตบอลทีมชาติประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการประกอบกัน นักฟุตบอล โค้ช สตาฟฟ์ ไปจนถึงลีกภายในชาติ ว่ามีความแข็งแรงมากพอหรือไม่

ยากจะบอกนะครับว่าการตัดสินใจปลด มิโลวาน ราเยวัช พ้นจากตำแหน่งโค้ชทีมชาติไทย ทั้งๆ ที่ทีมเพิ่งจะลงแข่งเพียงแค่เกมเดียวในรายการเอเชียนคัพ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วหรือไม่

 

รู้แค่เพียงว่าแต่ละข้างของหัวใจ ย่อมมีเหตุผลรับรองความรู้สึกของตัวเองทั้งสิ้น

 

ข้างที่เห็นชอบกับการปลด มองเรื่องของสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤตมากกว่าการแพ้อินเดียอย่างหมดสภาพ จนกระทบโอกาสและความหวังในการเข้าสู่รอบต่อไป คือวิกฤตศรัทธาที่แฟนฟุตบอลไทยจำนวนมากไม่ยอมรับในตัวโค้ชชาวเซอร์เบียอีกต่อไปแล้ว

 

รวมถึงนักฟุตบอลในอาณัติของราเยวัชก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าหมดใจให้กับเจ้านายคนนี้ด้วยเช่นกัน

 

อีกข้างที่ไม่เห็นชอบ น่าจะมองเรื่องของความเป็นธรรมที่ควรจะมีให้แก่โค้ชรวมถึงนักเตะทีมชาติทุกคน ที่ควรจะมีโอกาสแก้ตัวจากความผิดพลาดในเกมแรก

 

การพ่ายแพ้ไม่ใช่เรื่องแปลกในเกมกีฬา และการพ่ายแพ้ต่อทีมที่อยู่ในระดับเดียวกัน หรือเหนือกว่า ยิ่งเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเป็นอย่างมาก

 

นอกจากนี้การ ‘เปลี่ยนม้ากลางศึก’ ระหว่างรายการ ที่มีความสำคัญในระดับนี้ เป็นเรื่องที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นเลย เพราะอาจมองเป็นการไม่ให้เกียรติกันได้ง่ายๆ

 

ผมคิดถึงในปี 2010 ทีมชาติฝรั่งเศส อดีตแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1998 ตกอยู่ในสภาวะของความแตกแยกถึงขีดสุด ความสัมพันธ์ระหว่างนักฟุตบอลทีมชาติกับ โค้ชเรย์มงด์ โดเมอเนค ร้าวราน ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อีกต่อไป มีการหยุดซ้อมกลางคัน

 

แต่สุดท้ายโดเมอเนคยังได้ทำงานต่อจนกระทั่งทีมตกรอบ และอำลาตำแหน่งในเวลาต่อมา

 

กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงกะทันหันจริงๆ ที่นึกออกเร็วๆ คือการสั่งปลด ฮูเลน โลเปเตกี พ้นจากตำแหน่งโค้ชทีมชาติสเปน เนื่องจากไปเปิดตัวเป็นโค้ชคนใหม่ของทีมเรอัล มาดริด ทั้งๆ ที่ฟุตบอลโลกกำลังจะเริ่มในเวลาอีกแค่ไม่กี่วัน จนทำให้สหพันธ์ฟุตบอลสเปนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปลดจากตำแหน่ง เพื่อรักษาสิ่งที่สำคัญกว่าของทีมชาติ

 

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ผ่านไปแล้วครับ และอย่างน้อยที่สุด เรายังได้เห็นภาพการบอกลากันด้วยดีระหว่างราเยวัชและลูกทีมทุกคน

 

 

ไม่เหลืออะไรที่ติดค้าง เราก็แค่เคยร่วมงานกันด้วยกัน และมันล้มเหลว ไม่มีอะไรที่มากหรือน้อยไปกว่านั้น

 

แล้วหลังจากนี้ ฟุตบอลทีมชาติไทย ‘ช้างศึก’ เชือกนี้จะทำอย่างไรต่อ?

 

 

ในระยะสั้น เราเหลือเพียงแค่การพยายามอย่างเต็มที่ใน 2 เกมที่เหลือของฟุตบอลเอเชียนคัพกับบาห์เรน และเจ้าภาพ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

สถานการณ์ในกลุ่มนั้น ใช่ว่าไทยจะไม่เหลือความหวังครับ เรายังมี 6 คะแนนให้ไขว่คว้า ถึงจะรู้และเจียมตัวว่ามันคงเป็นเรื่องที่ยากแสนยากก็ตาม

 

บางทีอาจเป็นการดีกว่า หากเรา ไม่ว่าจะเหล่านักฟุตบอลหรือแฟนบอลจะคิดเสียว่า ‘ไม่มีอะไรจะเสีย’

 

การไม่มีอะไรจะเสียหมายถึง เราสามารถเล่นกันได้อย่างหมดห่วง ไม่มีอะไรต้องกังวล ขอแค่เพียงลงสนามด้วยความทุ่มเทอย่างเต็มที่ ให้คุ้มค่ากับความพยายามที่ผ่านมา ให้คุ้มค่ากับความเหนื่อยยาก ให้คุ้มค่ากับสิ่งที่ลงทุนและลงแรง

 

ให้คุ้มค่ากับกำลังใจที่ได้รับ

 

 

ภายใต้การนำของโค้ชคนใหม่ ‘โค้ชโต่ย-ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย’ รักษาการตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทยร่วมกับ ‘โค้ชโชค-โชคทวี พรหมรัตน์’ ที่จะรับหน้าที่ผู้ช่วย มีการคาดกันว่า เราอาจจะได้เห็นทีมช้างศึกเล่นในระบบและสไตล์ที่แตกต่างจากในยุคของราเยวัช

 

ฟุตบอลเกมรับสไตล์ ‘รถบัส’ (ไม่แน่ใจว่าสาย 8 หรือไม่) ที่พยายามปูพื้นมาหลายปี น่าจะถูกพับเก็บไป เพราะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ผลกับไทย เพียงแต่ก็ไม่ใช่ใครจะการันตีได้ครับว่าไทยจะกลับมาเล่นฟุตบอลบนภาคพื้น ต่อบอลสั้น เล่น Tiki-Taka เหมือนวันวาน

 

มันเป็นเพียงสิ่งที่แฟนบอลคาดหวัง และเราต้องรอติดตามกันในสนาม

 

 

และไม่ใช่ว่าการจะเล่นฟุตบอลบนพื้นสวยงาม หรือแค่การเปลี่ยนโค้ชจะสามารถทำให้ไทยได้รับชัยชนะที่ต้องการครับ เพราะทีมชาติไทยไม่ใช่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มีองค์ประกอบพื้นฐานดีเยี่ยมอยู่แล้ว จนทำให้แค่การเปลี่ยนตำแหน่งผู้จัดการทีมเป็น โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ นำไปสู่ช่วงเวลาดีๆ ที่กลับมาคว้าชัยชนะ 5 นัดรวดในทุกรายการ

 

สำหรับทีมชาติไทย สิ่งที่เราได้เห็นเสมอเมื่อถึงเวลาที่ต้องลงแข่งในเวทีใหญ่ เช่น ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชียในรอบที่ 3 แข่ง 10 นัดเราแพ้ถึง 8 และเสมอแค่ 2 หรือในเกมระดับเอเชียนคัพ แม้แต่ทีมที่เรามองว่ามีโอกาสชนะอย่างอินเดีย พวกเขาก็ถล่มเราได้ถึง 4-1

 

นั่นหมายถึง ระยะห่างระหว่างไทยกับทีมในระดับท็อปของเอเชียไม่ได้ ‘ใกล้’ เหมือนอย่างที่เราเคยคิดหรือเชื่อ

 

แม้แต่ในระดับอาเซียน เราก็ถูกตอกย้ำเรื่องนี้ด้วยการที่ไทยพ่ายต่อมาเลเซีย ตกรอบรองชนะเลิศศึกฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ ในสภาพบอบช้ำ

 

 

การที่มีนักฟุตบอลไทยไปเล่นในลีกระดับสูงอย่างเจลีกหรือลีกเบลเยียม ไม่ได้แปลว่ามาตรฐานของทีมชาติจะสูงขึ้นทันที

 

สิ่งที่จะทำให้ฟุตบอลทีมชาติประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการประกอบกันครับ

 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในสนาม เช่น นักฟุตบอลมีระดับฝีเท้าแค่ไหน โค้ชมีฝีมือแค่ไหน สมมติว่าเก่งเรื่องแท็กติกแล้ว เก่งเรื่องจิตวิทยาการสื่อสารด้วยไหม

 

ไม่นับเรื่องของการเตรียมทีม สตาฟฟ์โค้ชพอไหม ดีไหม มีการนำเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยได้อย่างเหมาะสมหรือไม่

 

บางตำแหน่ง เช่น นักวิเคราะห์สถิติ ก็มีความสำคัญในเกมฟุตบอลปัจจุบัน ทีมไหนมีนักวิเคราะห์ที่ดีเยี่ยม ก็มีโอกาสสูงขึ้นที่จะประสบความสำเร็จ

 

เรื่อยไปจนถึงเรื่องของความแข็งแรงของฟุตบอลภายในชาติ ชาติที่มีความแข็งแรง มีพื้นฐานที่ดีในเกมลูกหนัง ซึ่งหมายถึงการมีการแข่งขันที่ดีภายในประเทศ มีลีกที่แข็งแกร่ง มีการพัฒนาฟุตบอลเยาวชนอย่างเป็นระบบ ก็ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าเช่นกัน

 

 

ลองดูกรณีศึกษาจากอินเดีย ชาติที่เมื่อไม่นานมานี้ ไทยปฏิเสธจะอุ่นเครื่องด้วย เพราะมองว่า ‘ระดับ’ ของพวกเขาสูงไม่เท่าเราก็ได้ครับ

 

ถึงจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก แต่อินเดียไม่ใช่ชาติที่โด่งดังในเกมลูกหนังมาก่อน ยุครุ่งเรืองของพวกเขาต้องย้อนกลับไปไกลกว่า 50-60 ปี ในยุค 50s หรือ 60s ซึ่งเวลานั้นพวกเขาเป็นมหาอำนาจของวงการฟุตบอลเอเชีย

 

แต่หลังจากสิ้นสุด ‘ยุคทอง’ ที่คว้าแชมป์เอเชียนเกมส์ได้ 2 สมัย (ปี 1951 และ 1962) อินเดียก็ถอยหลังลงคลอง สิ่งที่เราจดจำเขาได้ นอกเหนือจากอาหารแล้วคือ การที่อินเดียเป็นชาติที่คลั่งไคล้ในกีฬาคริกเก็ตอย่างมาก

 

ฟุตบอลไม่ใช่ชีวิตและจิตใจของพวกเขาเหมือนคนไทย

 

แต่ในช่วงหลายปีหลัง ฟุตบอลกลายเป็นกีฬาที่คนอินเดียจำนวนมากคลั่งไคล้ โดยที่มีการพยายามผลักดันให้กีฬาของมวลมนุษยชาติกลายเป็นกีฬาหลักของชาวแดนภารตะให้ได้

 

ลีกฟุตบอลอาชีพที่แข็งแกร่งคือ สิ่งที่พวกเขาพยายามสร้าง โดยนอกจากการแข่งขัน ไอ-ลีก (I-League) อินเดียยังมีรายการฟุตบอลลีกระดับสูงสุดอีกคือ อินเดียน ซูเปอร์ ลีก (Indian Super League) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2013

 

ถึงแม้จะมีปัญหาในเรื่อง ‘สถานะ’ ของลีกที่อีรุงตังนัง (มาก!) และการแย่งผู้ชมกันเอง แต่ผลดีที่เกิดขึ้นคือ วงการฟุตบอลของอินเดียได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ

 

การได้นักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ของโลกที่ตกลงมาร่วมเล่นกับอินเดียในช่วงบั้นปลายของชีวิตการค้าแข้งมากมาย ก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้วงการฟุตบอลของพวกเขาบูมอย่างรวดเร็ว

 

เป็นเราก็ตื่นเต้นครับถ้าได้เห็น โรแบร์โต คาร์ลอส, ลูซิโอ, อเลสซานโดร เนสตา, อเลสซานโดร เดล ปิเอโร, เดวิด เจมส์, เวส บราวน์, เจอร์เมน เพนแนนท์, ดาวิด เทรเซเกต์, ฟลอร็องต์ มาลูดา, โรแบร์ ปิแรส, ซิเมา ซาโบรซา, เอลเดอร์ ปอสติกา, ร็อบบี คีน, อาเดรียน มูตู, คาร์ลอส มาเชนา, หลุยส์ การ์เซีย หรือ เฟรดริก ลุงเบิร์ก ลงสนาม

 

การได้เล่นกับคนเก่ง ถึงจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้อะไรแน่นอน

 

ขณะที่ทีมชาติของพวกเขา เลือกโค้ชที่ดี เก่ง และเข้าใจอย่าง สเตฟาน คอนสแตนติน มาทำทีมจนทำให้ทีม ‘เสือน้ำเงิน’ (บลู ไทเกอร์ สมญาของพวกเขา) กลายเป็นทีมที่น่าจับตามอง อันดับในฟีฟ่าเวิลด์แรงกิงขึ้นจาก 173 มาอยู่ที่อันดับ 96 ในเวลานี้ ขณะที่ฟุตบอลในระดับเยาวชนก็แข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ

 

หันกลับมามองลีกฟุตบอลของบ้านเรา ปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่า ‘ลำบาก’ สโมสรแบกรับค่าใช้จ่ายในการจ้างนักฟุตบอลมากมายมหาศาล สวนทางกับยอดผู้ชมในสนามที่ลดลง ยอดจำหน่ายสินค้าของสโมสรก็ลดลง ไม่นับสปอนเซอร์ที่หาได้ยากยิ่ง

 

ลีกฟุตบอลของไทยกำลังอ่อนแอลง แม้จะยังไม่ถึงใกล้จะหมดแรง แต่ก็น่าเป็นกังวล

 

 

มันนำไปสู่หลายคำถามนะครับ เช่น ทำไมสโมสรฟุตบอลในไทยจึงยังไม่สามารถเป็นสโมสรอาชีพ ที่สามารถยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ สโมสรฟุตบอลในบ้านเรามองตัวเองอย่างไร ต้องการจะอยู่อย่างยั่งยืนหรือไม่ และรู้หรือไม่ถึงวิธีการที่จะทำให้สโมสรสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน วิสัยทัศน์ในการบริหารเป็นอย่างไร

 

แล้วค่อยคิดถึงคำถามต่อมาว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้แฟนบอลชาวไทยเข้ามาชมการแข่งขันในสนามกันมากๆ ทุกนัด อะไรที่เป็นอุปสรรคบ้าง การเดินทาง เศรษฐกิจ ฟุตบอลไม่สนุก ไปได้จนถึงว่าเรามีการถ่ายทอดสดมากไปหรือเปล่า (ที่อังกฤษมีนโยบายไม่ให้ถ่ายทอดสดหลายๆ คู่ในช่วงการแข่งขัน เพื่อให้แฟนบอลไปชมเกมที่สนาม)

 

เรื่องของโครงสร้างของฟุตบอลในชาติก็เช่นกัน สิ่งที่ได้พยายามวางรากฐานกันนั้นแน่นหนา ถูกต้องและดีแล้วหรือยัง ระบบเยาวชนของไทยเทียบเท่าสากลไหม

 

แล้วระบบและองค์ความรู้นั้นเหมาะสมกับประเทศไทยหรือเปล่า

 

 

ผมเข้าใจนะครับว่ามันอาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานตรงนั้นจริงๆ ที่จะตั้งคำถามไปเรื่อย และผมก็รู้ด้วยว่าสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เองก็พยายามอย่างมากในการที่จะยกระดับฟุตบอลไทยให้เทียบเท่าสากลในทุกมิติ

 

หลายอย่างเราได้ทำแล้ว ได้เริ่มแล้ว และมันอาจจะยังไม่ผลิดอกออกผลในเวลานี้

 

หรือบางอย่างเราอาจจะพลาดไป เหมือนเช่นการเลือกราเยวัชเป็นโค้ช โดยที่สไตล์การทำทีมและสไตล์การทำงานของเขาไม่เข้ากับความเป็นไทย

 

โมงยามของความบอบช้ำแบบนี้ บางครั้งก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ หากเราจะตั้งคำถาม คิดและทบทวนบ้าง เมื่อเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นใช่หรือยัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เหมือนเราเดินถอยหลัง ในขณะที่หลายชาติที่เคยเดินตามหลังเราไล่ตามมาทัน หรืออาจจะแซงไปบ้างในบางจังหวะ

 

ให้เวลาได้ทำหน้าที่ของมัน บางครั้งเราอาจได้คำตอบที่เราต้องการโดยไม่รู้ตัว

 

 

แต่ทั้งหลายทั้งปวง ทำหน้าที่กันให้ดีที่สุดในอีก 2 นัดที่เหลือ ไม่ว่าจะนักฟุตบอลในสนามหรือแฟนฟุตบอลอย่างเราๆ หากจะมีเวลาใดที่ควรจะรวมใจเป็นหนึ่ง ก็ต้องเวลานี้แหละครับ 🙂

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • เมื่อปี 2007 ไทยเคยเป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลเอเชียนคัพ ถึงเราจะตกรอบแรก แต่ก็เคยคว้าชัยชนะได้ 1 นัดเหนือโอมาน (นอกนั้นคือเสมออิรัก แชมป์สมัยนั้นในเกมแรก และแพ้ออสเตรเลียที่นำโดยสตาร์พรีเมียร์ลีกอย่าง แฮร์รี คีลล์ และ มาร์ก วิดูกา)
  • สเตฟาน คอนสแตนติน โค้ชทีมชาติอินเดีย เคยเป็นอดีตผู้จัดการทีมมิลวอลล์ สโมสรดังในอดีตของอังกฤษ และแต่งหนังสือ From Delhi to The Den ที่ว่าด้วยเรื่องราวการเดินทางไปทำงานรอบโลกของเขา เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
  • ซูนิล เจตรี กองหน้าดาวซัลโวของอินเดีย ที่ยิงไทย 2 ประตู สร้างความฮือฮาด้วยการแซงหน้า ลิโอเนล เมสซี กลายเป็นนักฟุตบอลทีมชาติที่ทำประตูมากที่สุดที่ยังคงลงเล่นในปัจจุบัน เป็นรองเพียงแค่ คริสเตียโน โรนัลโด คนเดียว
  • มีการคาดกันว่า ไทยจะไม่มีการหาโค้ชคนใหม่ภายในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากปฏิทินการแข่งขันไม่มีรายการระดับสำคัญ มองแง่ดีคือ จะมีเวลาพิจารณาหาโค้ชคนใหม่อย่างถี่ถ้วน
  • ไทยจะลงสนามในเอเชียนคัพอีก 2 เกม พบบาห์เรน ในวันที่ 10 มกราคม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในวันที่ 14 มกราคม เรายังมีความหวัง และทีมชาติยังต้องการ ‘พลัง’ จากทุกคนเสมอครับ
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X