×

ทำไมสตาร์ทอัพในออสเตรเลียจึงก้าวไปสู่ตลาดระดับโลกได้สำเร็จ สัมภาษณ์พิเศษกับผู้บุกเบิก

27.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • ชาวสตาร์ทอัพในออสเตรเลียนิยมทำงานในโคเวิร์กกิ้งสเปซ (Coworking Space) มากกว่าร้อยละ 70 บรรยากาศการทำงานจึงค่อนข้างจริงจังพอๆ กับการทำงานในออฟฟิศ เพียงแต่มีความยืดหยุ่นสูงกว่า สภาพแวดล้อมช่วยกระตุ้นให้แอ็กทีฟตลอดเวลา
  • อย่ามัวแต่ไล่ตามเทรนด์หรือยึดติดกับโซลูชันที่มีอยู่ในตลาด ผู้ประกอบการควรโฟกัสกับปัญหาที่ยังไม่มีใครแก้
  • ตลาดของผลิตภัณฑ์และบริการด้านซอฟต์แวร์กำลังอิ่มตัว สตาร์ทอัพต้องฉีกแนวทางไปจากเดิม กล้าลงทุนกับการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีอวกาศ และเทคโนโลยีการเกษตร

     เชื่อไหมว่าเมืองซิดนีย์ที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติจะติดอันดับหนึ่งใน 20 เมืองที่โดดเด่นด้าน Startup Ecosystem มากที่สุดในโลก จากการจัดอันดับประจำปี 2017 โดย Startup Genome เราสามารถเห็นพนักงานเมสเซนเจอร์ปั่นจักรยานไปส่งของได้บนถนนแทบทุกเส้นในย่านธุรกิจ (CBD) เช่นเดียวกับโคเวิร์กกิ้งสเปซ (Coworking Space) ที่บูมไปทั่วเมืองและพาธุรกิจไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จมานับไม่ถ้วน

     ช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราได้ตระเวนไปตามโคเวิร์กกิ้งสเปซในซิดนีย์ ร่วมกับคณะ AIS The StartUp, FoodStory, FlowAccount.com, AIYA และ Keyceive เราพบว่าโคเวิร์กกิ้งสเปซแต่ละแห่งมีเสน่ห์เฉพาะตัวที่น่าสนใจ เช่น Haymarket HQ เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซที่เป็น ‘สะพาน’ พาผู้ประกอบการที่สนใจตลาดเอเชียมาเจอกับนักลงทุน ขณะที่ Stone & Chalk เป็นฮับของคนในแวดวง FinTech (ฟินเทค) ที่มารวมตัวกันท่ามกลางบรรยากาศการทำงานสุดแอ็กทีฟและเข้มข้น ทุกคนมีโอกาสพบปะพูดคุยกับนักลงทุน Mentor และบริษัทเอกชนที่แวะเวียนเข้ามาทุกสัปดาห์ได้โดยไม่ต้องรอโอกาสพิเศษ โดยได้รับการสนับสนุนจาก Optus หนึ่งใน operator ของ Singtel Group

     เพื่อที่จะเข้าใจภาพรวมมากขึ้น THE STANDARD จึงชวน ฟิล มอร์ (Phil Morle) นักลงทุนชื่อดังและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Main Sequence Ventures ที่มุ่งสนับสนุนต่อยอดงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปสู่ธุรกิจระดับโลก มาร่วมแชร์ประสบการณ์และมุมมองต่อวงการสตาร์ทอัพ ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจบ่มเพาะสตาร์ทอัพรายแรกในออสเตรเลีย

     ทำไมสตาร์ทอัพในออสเตรเลียจึงก้าวไปสู่ตลาดระดับโลกได้สำเร็จ และอะไรคือความท้าทายใหม่ที่ทุกคนต้องรับมือในยุคที่ใครๆ ก็หันมาทำธุรกิจสตาร์ทอัพ พบคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์นี้

การทำธุรกิจสตาร์ทอัพกลายเป็นวิถีชีวิตและทางเลือกหลักในการประกอบอาชีพหลักสำหรับคนยุคนี้ หลายคนลุกขึ้นมาเปิดกิจการของตัวเองแทนที่จะไปสมัครงานและทำงานให้กับคนอื่น ผมคิดว่าอุตสาหกรรมของเราเติบโตมาถึง ณ จุดนี้ได้ด้วยพลังของทุกคน เราพยายามสร้างสรรค์สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองและช่วยเหลือกันมาโดยตลอด


ธุรกิจสตาร์ทอัพในออสเตรเลียเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

     ผมเปิดบริษัทบ่มเพาะสตาร์ทอัพแห่งแรกในออสเตรเลียเมื่อ 9-10 ปีที่แล้ว ซึ่งก็คือ Pollenizer ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก ‘ระบบนิเวศสตาร์ทอัพ’ เลยด้วยซ้ำ มีคนทำธุรกิจสตาร์ทอัพแค่ไม่กี่รายและเป็นกลุ่มเล็กๆ สมัยนั้นคนไม่ค่อยนิยมเป็นผู้ประกอบการ เพราะความเสี่ยงสูง หน้าที่ของเราคือสนับสนุนให้คนทั่วไปกล้าที่จะเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเอง และเริ่มได้รับเงินทุนช่วยเหลือมาเรื่อยๆ มาจนถึงทุกวันนี้ ระบบนิเวศสตาร์ทอัพของออสเตรเลียเติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะที่เมืองซิดนีย์ การทำธุรกิจสตาร์ทอัพกลายเป็นวิถีชีวิตและทางเลือกหลักในการประกอบอาชีพหลักสำหรับคนยุคนี้ หลายคนลุกขึ้นมาเปิดกิจการของตัวเองแทนที่จะไปสมัครงานและทำงานให้กับคนอื่น ผมคิดว่าอุตสาหกรรมของเราเติบโตมาถึง ณ จุดนี้ได้ด้วยพลังของทุกคน เราพยายามสร้างสรรค์สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองและช่วยเหลือกันมาโดยตลอด

ถ้าเราต้องการจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง เราต้องดึงนักลงทุน ผู้คน และความรู้ใหม่ๆ เข้ามาด้วย เราต้องมองหาว่าเทรนด์ต่อไปที่จะกลายเป็น ‘The Next Thing’ คืออะไร สิ่งที่คุณทำวันนี้อาจจะซ้ำกับอีก 10 บริษัทก็ได้ ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากสนับสนุนธุรกิจที่คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีซับซ้อนขึ้น หรือ ‘DeepTech’

 

เราจะสร้างความแตกต่างได้อย่างไรในยุคที่ใครๆ ก็ทำธุรกิจสตาร์ทอัพ

     ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้พื้นฐานของการเริ่มต้นธุรกิจและกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในตลาดนี้ แต่ถ้าเราต้องการจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง เราต้องดึงนักลงทุน ผู้คน และความรู้ใหม่ๆ เข้ามาด้วย เราต้องมองหาว่าเทรนด์ต่อไปที่จะกลายเป็น ‘The Next Thing’ คืออะไร และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับนักลงทุนในต่างประเทศ เพราะตลาดของมาร์เก็ตเพลสและซอฟต์แวร์เริ่มอิ่มตัวแล้ว สิ่งที่คุณทำวันนี้อาจจะซ้ำกับอีก 10 บริษัทก็ได้ ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากสนับสนุนธุรกิจที่คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีซับซ้อนขึ้น หรือ ‘DeepTech’ และต้องการผลักดันให้ทีมวิจัยก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกให้ได้
     ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเมืองซิดนีย์ก็สะท้อนถึงสถานการณ์ของสตาร์ทอัพโลกในเวลานี้เช่นกัน เราต้องแก้โจทย์ที่ยากขึ้น ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม เช่น ยานขับเคลื่อนอัตโนมัติ การแพทย์ หรือแม้แต่ไปสำรวจอวกาศ ผมรู้จักสตาร์ทอัพรายหนึ่งที่คิดค้นเทคโนโลยีจรวดที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าจรวดของนาซาหรือ SpaceX เสียอีก แถมยังเป็นผลงานของเด็กที่เพิ่งจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย นี่คือสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศของเราเติบโตแข็งแรงมากแค่ไหน จาก 9 ปีที่แล้วที่ทุกอย่างเป็นศูนย์ มาจนถึงวันนี้ที่เรามีนักศึกษาคิดค้นวิธีส่งจรวดไปนอกโลก ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก

 

 

DeepTech คืออะไร ทำไมคุณถึงสนใจและจับตาเทรนด์นี้มากเป็นพิเศษ

     DeepTech เป็นเรื่องใหม่ที่วงการสตาร์ทอัพกำลังพูดถึงกันในตอนนี้ หัวใจสำคัญของ DeepTech คือ วิทยาศาสตร์ ซึ่งหมายรวมถึงศาสตร์ของปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิศวกรรมชีวการแพทย์ (Bioengineering) และควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computing) ที่ผ่านมาเราเรียนรู้วิธีสร้างแอปฯ เว็บไซต์ และซอฟต์แวร์ต่างๆ ในเวลาไม่กี่ปี แล้วทำไมเราไม่นำองค์ความรู้มาต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งที่ซับซ้อนกว่านั้นล่ะ เช่น วัสดุศาสตร์ ยารักษาโรค หรือแม้แต่อาวุธทางการทหาร ยิ่งไปกว่านั้นเรายังต้องการคนที่มีทักษะแบบผสมผสานทั้งด้านธุรกิจและวิทยาศาสตร์ด้วย โลกนี้มีบริษัทสุดล้ำอย่าง Tesla และ SpaceX แล้ว ทำไมเราจะสร้างบริษัทแบบนั้นในออสเตรเลียบ้างไม่ได้ ผมคิดว่าเทรนด์ DeepTech จะเกิดขึ้นทั่วโลกในอีก 5 ปีข้างหน้าแน่นอน

เราต้องแก้โจทย์ที่ยากขึ้น ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม เช่น ยานขับเคลื่อนอัตโนมัติ การแพทย์ หรือแม้แต่ไปสำรวจอวกาศ

 

ปัจจัยสำคัญที่ส่งให้ระบบนิเวศของออสเตรเลียเอื้อกับสตาร์ทอัพอย่างแท้จริงคืออะไร
     ผมคิดว่าก่อนหน้านี้คนไม่ค่อยกล้าเสี่ยงกันเท่าไร เพราะไม่เคยมีใครพิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถประสบความสำเร็จได้จริงๆ เหมือนกับที่ผมขายบริษัท Pollenizer ให้กับ Yahoo ได้ภายในปีเดียวเท่านั้นด้วยมูลค่า 14 ล้านดอลลาร์ เรามีบริษัทอย่าง Atlassian (บริษัทซอฟต์แวร์ชื่อดัง) ที่ทำเงินมหาศาลจากการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น Nasdaq ในอเมริกา ความสำเร็จเหล่านี้ทำให้ทุกคนมองเห็นความเป็นไปได้และต้องการบรรลุเป้าหมาย อย่างไรก็ตามนวัตกรรมมันเปลี่ยนไปเร็วมาก ฉะนั้นเราต้องการคนที่ลงมือทำและสร้างนวัตกรรมมากขึ้นให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป

     ตอนที่ผมไปทำงานในเมียนมาร์ เราเริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย ไม่มี Accelerator ไม่มี Incubator จำนวนคนใช้โทรศัพท์มือถือก็แค่หยิบมือ จนกระทั่งตลาดโตขึ้น กลายเป็นว่าวันนี้ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือกันหมด คนเป็นพันๆ เริ่มเปิดบริษัทของตัวเอง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในเวลาแค่ 6 เดือนเท่านั้น เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และอาเซียน ผมคิดว่าเราควรจะสนใจตลาดในอาเซียนกันมากขึ้น แทนที่จะไปแต่อเมริกา เพราะมันเต็มไปด้วยโอกาสและความสัมพันธ์ที่ดี

 

ทำไมอาเซียนจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจในสายตาของคุณ

     ข้อแรก มันเป็นตลาดใหม่ มีอะไรให้เรียนรู้เยอะ เท่าที่เคยไปเยือนประเทศในแถบนี้ เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กรุงเทพฯ และเมียนมาร์ ผมเห็นหลายๆ บริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่บนพื้นฐานของแอปพลิเคชัน เพราะผู้บริโภคที่นี่เป็นกลุ่ม Mobile-First ขณะที่ตลาดแอปพลิเคชันในออสเตรเลียก็โตเช่นกัน คงจะดีไม่น้อยถ้าหากเราได้ศึกษาตลาดและขยายเครือข่ายในตลาดนี้กันมากขึ้น

นวัตกรรมมันเปลี่ยนไปเร็วมาก ฉะนั้นเราต้องการคนที่ลงมือทำและสร้างนวัตกรรมมากขึ้นให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป

แต่ดูเหมือนว่าฟินเทคจะได้รับความนิยมมากในออสเตรเลีย

     ผมคิดว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ทำเลทางเศรษฐกิจด้วย คุณอาจจะเห็นฟินเทคจำนวนมากมารวมตัวกันที่ Stone & Chalk เพราะโคเวิร์กกิ้งสเปซแห่งนี้ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจ ซึ่งเต็มไปด้วยนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เท่ากับว่าพวกเขามีโอกาสทำความรู้จักกับบริษัทชั้นนำใกล้เคียง ซึ่งอาจจะกลายเป็นลูกค้า ผู้ลงทุน หรือผู้สนับสนุนหลักในอนาคตก็เป็นได้ แต่ถ้าคุณลองไปทางตอนเหนือของออสเตรเลีย คุณจะพบคอมมูนิตี้ของสตาร์ทอัพที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและเกษตรกรรม

     หากผู้ประกอบการได้ทำธุรกิจในทำเลทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม มีแหล่งวัตถุดิบหรือเงินทุน เขาก็จะคิดหาทางแก้ปัญหาใหม่ๆ และเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

 

 

อุตสาหกรรมเหล่านี้จะกลายเป็นเทรนด์สำคัญในอนาคตด้วยหรือเปล่า
     ผมคิดว่าอุตสาหกรรมการแพทย์ การเกษตร และการท่องเที่ยวยังเป็นตลาดใหม่มาก เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาทุกคนมัวแต่พัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้บริการซอฟต์แวร์ ประเทศออสเตรเลียมีบริษัทซอฟต์แวร์ที่ตีตลาดระดับโลกอย่างรวดเร็ว เช่น 99Designs และ Atlassian นั่นเพราะเราเข้าใจตลาดในอเมริกาและยุโรปมากทีเดียว แต่ตอนนี้เมื่อทุกคนหันมาพัฒนาสินค้าเหมือนๆ กันหมด โจทย์ของเราจึงยากขึ้นตามไปด้วย แต่ผมคิดว่า DeepTech จะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่เข้ามาแน่นอน และมีประโยชน์ต่อหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาคการเกษตรที่ต้องการคิดค้นน้ำมันประเภทใหม่ ผมพูดได้เลยว่าสตาร์ทอัพประเภท AgTech (Agriculture Startup) จะเป็นเทรนด์มาแรงถัดจากฟินเทค

 

 

ผู้ประกอบการควรจะรับมือกับโจทย์ที่ยากและท้าทายยิ่งขึ้นอย่างไร
     ผมคิดว่าเราต้องไม่ยึดติดกับ ‘โซลูชัน’ ที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว และพยายามมองหาปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่มีใครแก้ ยกตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่มักจะมองว่ากระแสฟินเทคมาแรงก็เลยอยากทำตามบ้าง ทั้งที่ไม่มีความรู้ความถนัดด้านนี้เลย สุดท้ายคุณจะทำได้แค่เลียนแบบคนอื่น ไม่ได้สร้างอะไรที่เป็น ‘ออริจินัล’ ซึ่งลูกค้าก็ดูออก ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจะเลือกโจทย์ที่ตัวเองสนใจและมีความเชี่ยวชาญจริงๆ ต้องเป็นคนกระหายใคร่รู้ หมั่นสำรวจ และสนใจหาวิธีแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

     อีกอย่าง เราไม่จำเป็นต้องเดินตามหลังประเทศอื่นเสมอไป เหมือนอย่างที่เราเคยตามเทรนด์ของอเมริกามาโดยตลอด แต่จริงๆ แล้วบริบททางสังคมมันแตกต่างกัน เราต้องหาจุดเด่นที่เราทำได้ดี

 

 

อ้างอิง:

 

ติดตามซีรีส์บทความ AIS The StartUp Visits Australia ตอนสุดท้ายได้ในสัปดาห์หน้า

อ่านตอนแรกได้ที่นี่

FYI

 

  • รายงานการสำรวจสตาร์ทอัพในออสเตรเลียปี 2016 โดย Startup Muster ระบุว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่เลือกทำงานในโคเวิร์กกิ้งสเปซมากถึงร้อยละ 72.3 ส่วนสถิติที่น่าสนใจคือ เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่อายุ 35-40 ปี (ร้อยละ 20.5) ขณะที่กว่าร้อยละ 13 เป็นกลุ่มคนอายุ 50-60 ปีขึ้นไป
  • เมืองซิดนีย์มีความโดดเด่นด้าน Startup Ecosystem หรือระบบนิเวศที่เอื้อกับสตาร์ทอัพตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงการขยายตลาด เช่น สถาบันศึกษาที่ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ มีแหล่งเงินทุนมหาศาลจาก Angel Investor กองทุนของบริษัทเอกชนและรัฐบาล
  • เมืองซิดนีย์ติดอันดับที่ 10 ของเมืองที่มีจำนวนธุรกิจที่ Exit มากที่สุดจากการจัดอันดับโดย Startup Genome ปี 2560 หนึ่งในนั้นคือ Atlassian บริษัทซอฟต์แวร์ชื่อดังที่ประกาศเข้าตลาดหุ้น Nasdaq ด้วยการเสนอหุ้นออกขาย (IPO) ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 4,400 ล้านดอลลาร์
  • บริษัทบ่มเพาะสตาร์ทอัพของฟิล มอร์ ปิดตัวลงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงอนาคตของสตาร์ทอัพในออสเตรเลียว่าจะเดินต่อไปในทิศทางไหน
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X