×

6 ปีของคิมจองอึน กับขีปนาวุธหลายลูกของเขา

26.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • ตั้งแต่คิมจองอึนขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด เกาหลีเหนือก็ทดลองขีปนาวุธถี่ขึ้นเรื่อยๆ แค่ไม่ถึง 6 ปีดี เกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธไปแล้วทั้งสิ้น 79 ครั้ง มากกว่าการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือในเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
  • ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่าเกาหลีเหนือพัฒนาขีปนาวุธเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศ ขณะที่บางส่วนมองว่าเป็นเครื่องมือไว้ใช้ต่อรองกับนานาชาติ เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน
  • ประเทศไทยอยู่ห่างจากเกาหลีเหนือประมาณ 3,700 กิโลเมตร นั่นหมายความว่าประเทศไทยอยู่ในพิสัยการยิงปานกลางของขีปนาวุธเกาหลีเหนือ แต่สิ่งที่น่าวิตกกว่าพิสัยการยิงคือสภาวะตึงเครียดอันมาจากการเตรียมพร้อมสู้รบของฝ่ายสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ และฝ่ายเกาหลีเหนือมากกว่า

     เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ ทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental ballistic missile: ICBM) เป็นครั้งแรก สร้างความกังวลให้กับประเทศรอบข้าง รวมถึงสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเกาหลีเหนืออ้างว่าขีปนาวุธดังกล่าวสามารถยิงถึงที่ใดก็ได้ในโลก

 

Photo: ED JONES/AFP

 

     ตั้งแต่คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือคนปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งแทนคิมจองอิล พ่อของเขาที่ถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อปี 2011 เกาหลีเหนือก็ทดลองขีปนาวุธถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ท่าทีของประเทศข้างเคียงอย่างจีน จากที่เคยเป็นมิตรแท้แนบชิดกัน ก็มีความกังขาต่อท่าทีของเกาหลีเหนือมากขึ้น

     ไม่ถึง 6 ปีดี เกาหลีเหนือภายใต้การนำของคิมจองอึนทดลองขีปนาวุธไปแล้วทั้งสิ้น 79 ครั้ง มากกว่าการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือในเวลาเกือบ 3 ทศวรรษภายใต้การนำของคิมอิลซุงและคิมจองอิล

     โดยในปี 2012 เกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธทั้งสิ้น 2 ครั้ง, ในปี 2013 ทั้งสิ้น 6 ครั้ง, ปี 2014 ทั้งสิ้น 19 ครั้ง, ปี 2015 ทั้งสิ้น 15 ครั้ง, ปี 2016 ทั้งสิ้น 24 ครั้ง และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 ทดลองไปแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง จะเห็นว่าเพียงครึ่งแรกของปี เกาหลีเหนือก็ทดลองขีปนาวุธไปเกินครึ่งของการทดลองในปี 2016 แล้ว

 

 

     สำหรับขีปนาวุธที่ทดลองในช่วงเกือบ 6 ปีที่ผ่านมาก็มีตั้งแต่ขีปนาวุธที่ใช้งานได้แล้ว ไปจนถึงขีปนาวุธที่เพิ่งอยู่ในช่วงทดลอง นอกจากนี้ยังมีพิสัยการยิงต่างกันออกไป โดยขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือครอบครองในปัจจุบันมีตั้งแต่ขีปนาวุธพิสัยใกล้ (ต่ำกว่า 1,000 กิโลเมตร) อันได้แก่ ขีปนาวุธ KN-02, ขีปนาวุธพิสัยกลาง (1,000-3,000 กิโลเมตร) อันได้แก่ ขีปนาวุธฮวาซอง พุกกุกซอง และโนดอง, ขีปนาวุธพิสัยปานกลาง (3,000-5,500 กิโลเมตร) อันได้แก่ ขีปนาวุธมูซูดาน และฮวาซอง-12, ขีปนาวุธข้ามทวีป (มากกว่า 5,500 กิโลเมตร) อันได้แก่ ขีปนาวุธฮวาซอง-14 และอึนฮา-3 และยังรวมถึงขีปนาวุธที่ยิงจากเรือดำน้ำ อันได้แก่ โพลาริส-1 อีกด้วย

 

 

จะมีขีปนาวุธไปเพื่อ?

     สำหรับแรงจูงใจในการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือยังเป็นที่ถกเถียงกันในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือและนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ บางส่วนมองว่าเกาหลีเหนือพัฒนาขีปนาวุธเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศ

     เกาหลีเหนือรู้ดีว่าการมีขีปนาวุธ ซึ่งจำนวนหนึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ คือเครื่องต่อรองที่สำคัญกับนานาประเทศ การที่เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองทำให้ต่างชาติไม่กล้าผลีผลามในการใช้กำลังทางทหารกับเกาหลีเหนือ หรือแม้แต่การเข้าแทรกแซงกิจการภายใน ดังนั้นชะตากรรมอย่างที่ลิเบียหรืออิรักเผชิญจะไม่เกิดขึ้นกับเกาหลีเหนืออย่างแน่นอน

     ส่วนนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า เกาหลีเหนือพัฒนาขีปนาวุธ รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ในการต่อรองกับนานาชาติเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน การวิเคราะห์ในมุมนี้อาจมีน้ำหนักอยู่บ้าง เพราะเมื่อปี 1994 การเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ สิ้นสุดด้วยการลงนามในกรอบข้อตกลง โดยเกาหลีเหนือตกลงระงับโครงการผลิตพลูโตเนียมเพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านน้ำมัน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่องปฏิกรณ์น้ำเดือด

     อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของทั้งสองประเทศก็สิ้นสุดลงหลังเกาหลีเหนือไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ​ (IAEA) ในการเปิดเผยปริมาณพลูโตเนียมในครอบครอง และเริ่มต้นการทดสอบการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งหลายประเทศเชื่อว่าแอบแฝงการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป

     ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ ตกต่ำลงหลังจอร์จ ดับเบิลยู บุช ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนบิล คลินตัน และได้ติดป้ายให้เกาหลีเหนือเป็นหนึ่งใน ‘อักษะแห่งความชั่วร้าย’ รวมกับอิหร่านและอิรัก หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็เข้าสู่ขาลง ประกอบกับความล่าช้าในการสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่องปฏิกรณ์น้ำเดือด จนสุดท้ายเกาหลีเหนือประกาศจะเปิดโรงงานนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และประกาศขับไล่ปฏิบัติการจับตาโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลี ซึ่งดำเนินงานโดย IAEA ออกไปจากประเทศ

     แม้แนวคิดที่เชื่อว่าเกาหลีเหนือต้องการมีขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเป็นเครื่องต่อรองความช่วยเหลือทางการเงินจะสามารถอธิบายแรงจูงใจของเกาหลีเหนือได้บางส่วน แต่ต้องอย่าลืมว่าปัจจัยด้านผู้นำของเกาหลีเหนือเปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่คิมจองอึนขึ้นรับตำแหน่งแทนผู้เป็นบิดา

     ในฐานะผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกที่ไม่เคยมีประสบการณ์ชีวิตจากช่วงสงครามและการสร้างชาติมาก่อน คิมจองอึนผู้ซึ่งเติบโตมาในสถานะ ‘เจ้าชาย’​ แห่งเกาหลีเหนือที่มีทุกอย่างเพียบพร้อม และเคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งของชีวิตในต่างแดน อาจเพียงต้องการพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์เพื่อให้เป็นที่ ‘ยอมรับ’ ของ ‘กลุ่มชาติผู้มีอาวุธนิวเคลียร์’ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกเท่านั้น

     การต่อสู้ของเกาหลีเหนือในปัจจุบันจึงอาจเป็นเพียงการต่อสู้ให้นานาชาติยอมอนุญาตให้เกาหลีเหนือเป็นชาติที่ ‘ติดอาวุธนิวเคลียร์ได้’ เหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะมองว่าการได้รับการยอมรับดังกล่าวถือเป็น ‘เกียรติยศ’ อีกประการของเกาหลีเหนือก็เป็นได้

แล้วไงใครแคร์?

     การทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือทุกครั้งล้วนเป็นที่จับตาของนานาชาติ และมักตามมาด้วยคำประณามจากหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยสองประเทศหลังนั้นเป็นประเทศที่หนาวๆ ร้อนๆ กับการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือมากที่สุด นั่นก็เพราะขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือทดสอบหลายครั้งตกลงในบริเวณทะเลญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และรัสเซีย ขณะที่ขีปนาวุธข้ามทวีปอาจยิงได้ไกลถึงสหรัฐฯ

     ประเทศไทยอยู่ห่างจากเกาหลีเหนือประมาณ 3,700 กิโลเมตร นั่นหมายความว่าประเทศไทยอยู่ในพิสัยการยิงปานกลางของขีปนาวุธเกาหลีเหนือ (มูซูดัน) ซึ่งอยู่ในระหว่างการทดสอบ แต่ความน่าหวาดวิตกยิ่งกว่าในการจัดการปัญหาเกาหลีเหนือไม่ใช่การอยู่ในพิสัยการยิง แต่คือสภาวะตึงเครียดอันมาจากการเตรียมพร้อมสู้รบของฝ่ายสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ และฝ่ายเกาหลีเหนือ ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ ไทยอาจจะถูกบีบให้ต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ชัดเจน

     ยิ่งกว่านั้น ความไม่มั่นคงอันเกิดจากสงครามยังเกี่ยวข้องกับความไม่มั่นคงของคน และอาจนำไปสู่การอพยพของชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากไปยังจีน และเรื่อยมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางอพยพโดยปกติของชาวเกาหลีเหนืออยู่แล้ว

     ที่พูดมาตรงนี้ก็เพื่อจะบอกว่า การแก้ไขปัญหาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีมีความละเอียดอ่อนและอาจส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่าที่คิด และคงยังไม่มีคำตอบแน่นอนให้กับการแก้ไขปัญหานี้

     เพราะแม้แต่จุดประสงค์ในการมีขีปนาวุธและโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ… ก็ยังยากแท้หยั่งถึง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X