×

แสตมป์ อภิวัชร์ กับการ ‘ลี้ภัย’ ในสมรภูมิทางดนตรี

25.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • แสตมป์ได้รับมอบหมายภารกิจจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้ไปตระเวนเล่นดนตรีเปิดหมวก ระดมทุนเพื่อเด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัยในแคมเปญ Namjai For Refugees
  • สำหรับแสตมป์ ‘ดนตรี’ เป็นได้ทั้ง ‘สมรภูมิ’ และ ‘ค่ายลี้ภัย’ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและมุมมองในการเล่นดนตรีในแต่ละช่วง
  • อัลบั้ม STAMP STH คืออัลบั้มแห่งการลี้ภัยที่เขาตั้งใจสร้างขึ้นมาแบบไม่คาดหวังผลลัพธ์อะไรเลย
  • แสตมป์เคยรู้สึกเหมือนผู้ลี้ภัยที่สุดเวลาไปเล่นคอนเสิร์ตในงานปิดทองฝังลูกนิมิต งานแต่งของคนอินเดีย และงานแซยิดของคุณป้าคนหนึ่ง ซึ่งทุกๆ งานได้มอบประสบการณ์ที่มีค่าบางอย่างกลับมาให้เขาเสมอ

     11.00 น. วันที่ 19 กรกฎาคม 2560

     เสียงเพลงถูกบรรเลงขึ้นพร้อมกับผู้คนรอบข้างที่มารายล้อมกันแน่นสถานีรถไฟฟ้าสยามด้วยความคึกคัก แสตมป์ – อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข คือต้นกำเนิดเสียงเพลงอารมณ์ดีในครั้งนี้

 

 

     แสตมป์ได้รับมอบหมายภารกิจจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้ไปตระเวนเล่นดนตรีเปิดหมวกเพื่อระดมทุนให้เด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัยในแคมเปญ Namjai For Refugees ถึงแม้ในชีวิตเขาจะมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ลี้ภัยไม่มากเท่าไหร่นัก แต่แสตมป์ก็ตั้งใจทำภารกิจนี้อย่างเต็มที่เหมือนทุกๆ งานที่ผ่านมา

     หลังเสียงเพลงจบลงและผู้คนแยกย้ายกันกลับ เราชวนเขาคุยต่อถึงประสบการณ์การ ‘ลี้ภัย’ ในชีวิตที่เคยพบเจอ ถึงแม้ชีวิตของเขาจะไม่ได้มีเรื่องราวดราม่าถึงขั้นสะเทือนใจ แต่ภายใต้รอยยิ้มที่บีบดวงตาเล็กจนแทบมองไม่เห็นนั้นซ่อนมุมมองที่น่าสนใจเอาไว้เสมอ   

 

 

ความสนุกทุกครั้งที่ได้เปิดหมวก

     ครั้งแรกคือสมัยเรียนเมื่อ 15 ปีก่อน ผมไปเล่นดนตรีเปิดหมวกกับรุ่นพี่ชื่อเม้ง (ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ แห่งบริษัทชูใจ กะ กัลยาณมิตร) เล่นกันสองคนที่สถานีรถไฟฟ้าราชเทวี ไปเพราะอยากสนุกอย่างเดียวเลย อ้อ เหล่สาวด้วย (หัวเราะ) มีคนญี่ปุ่นมาหยุดดูเราแล้วนั่งคุยกันว่าชอบฟังเพลงอะไรบ้าง สนุกมาก

     อีกครั้งคือตอนถ่ายปกอัลบั้มแรก Million Ways to Write Part I ไปเปิดหมวกที่สวนจตุจักร จำได้ว่าร้อนมาก แต่สนุกเหมือนเดิม คราวนี้เริ่มมีคนรู้จักเราบ้างแล้ว

 

 

     ผมว่าความสนุกของการเล่นดนตรีเปิดหมวกคือ เราไม่มีความคาดหวัง เพราะฉะนั้นเราไม่กดดันอะไรเลย เหมือนครั้งนี้ที่ UNHCR ชวนเปิดหมวกอีกครั้ง ก็ไม่ได้คิดว่าทุกคนจะต้องร้องเพลงตามเราได้ ร้องกันเสียงสนั่นเหมือนในคอนเสิร์ตตัวเอง มันสนุกที่ต้องทำอย่างไรให้เขาหยุดดู ในเมื่อเราไม่ได้มีสกิลแบบ เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran) ที่สะกดคนดูได้ ต้องอาศัยความกะล่อน ความตลกเข้าสู้

 

 

ความรู้สึกเกี่ยวกับ ‘ผู้ลี้ภัย’

     คิดว่าเขาต้องโดนอะไรมา ชีวิตคงต้องหลบอะไรหลายๆ อย่าง ต้องหลบทั้งเจ้าของบ้านใหม่และเจ้าของบ้านเก่า ที่มาเล่นเปิดหมวกวันนี้พยายามคิดว่าตัวเองเป็นผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง คือเราแค่ร้อน เหนื่อย แต่เขาต้องลำบาก เจ็บปวด ต้องการความช่วยเหลือ หรือที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นตอนไปเล่นดนตรีที่ญี่ปุ่น อยู่ในที่อันตรายกว่าเมืองไทย ต้องทำหลายๆ อย่างเอง แบกกีตาร์โหนรถไฟไปกันเอง ภรรยาผมต้องคอยเซตซาวด์ เซตมอนิเตอร์ให้ มันไม่สะดวกหรอก แต่เล็กน้อยมากถ้าเทียบกับสิ่งที่ผู้ลี้ภัยจริงๆ ต้องเจอ เราเต็มที่แค่ลำบากทางใจ แต่ของเขาทั้งกายทั้งใจ และทุกๆ อย่างเลย

 

 

การต่อสู้ในสมรภูมิทางดนตรี

     สำหรับผมมีอยู่สองสมรภูมิใหญ่ๆ คือตั้งแต่เด็กๆ ที่เริ่มเล่นดนตรี เราต้องแข่งกับความขี้เกียจ แข่งกับความไม่อยากเล่น แข่งกับความอยากทำอย่างอื่นของตัวเอง เป็นสมรภูมิอย่างแรก แต่เป็นสมรภูมิที่ดีเพราะมีแต่คนชนะ แค่เราชอบที่จะเล่นมันแค่นั้นเราชนะแล้ว และยิ่งเล่นเราจะยิ่งเก่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีหรอกที่เล่นดนตรีมากไปแล้วจะห่วยลง

     แต่เมื่อเข้าสู่การทำงานเพลง นั่นคือสมรภูมิจริงที่ต้องมีคนแพ้ ซึ่งผมแพ้มาตลอด แต่ไม่ใช่แพ้คนอื่นนะ แพ้ตัวเองนี่ล่ะ เพราะไม่มีใครหรอกที่มาบอกว่า ชุดนี้มึงแพ้ ชุดนี้มึงยอดวิวน้อยว่ะ คนเดียวที่สนใจเรื่องพวกนั้นคือตัวเราเอง

     เมื่อก่อนสมรภูมิอยู่ในชาร์ตวิทยุ ต้องทำเพลงให้คลื่นวิทยุนั้นเปิด คือต้องทำสิ่งที่คนชอบ ในขณะเดียวกันสิ่งนั้นเราต้องชอบมันด้วย เพราะเราต้องเอาเพลงนั้นออกไปเล่นคอนเสิร์ตทุกคืน ถ้าเราต้องการเอาชนะสมรภูมิความนิยม เราจะแพ้ในสมรภูมิความชื่นชอบของตัวเอง ถ้าทุกเพลงที่เราหยิบออกไปเล่นคือเพลงที่เราไม่ชอบนั่นคือแพ้ หรือถ้าเราออกไปเล่นทุกเพลงที่เราชอบมากๆ แต่คนฟังไม่อิน ร้องตามไม่ได้เลย นั่นเราก็แพ้ในสมรภูมินั้นอีกเหมือนกัน แต่อย่างที่บอกว่าทั้งหมดคือตัวเองทั้งนั้นแหละที่ไปสร้างสมรภูมิพวกนั้นขึ้นมา

 

 

ดนตรีแห่งการ ‘ลี้ภัย’

     อย่างอัลบั้มล่าสุด STAMP STH (อัลบั้มเพลงสากลของแสตมป์) นั่นคือดนตรีสำหรับการลี้ภัยของผมนะ ทำด้วยความรู้สึกสบายมาก ไม่ได้คาดหวังกลุ่มคนฟังเลย ต่อให้ออกไปเล่นแล้วไม่มีคนร้องตามก็ไม่เป็นไร เพราะผมชอบมันแล้ว เหมือนอัลบั้ม Zero ของวงพรู ที่ผมคิดมาตลอดว่าชีวิตหนึ่งอยากมีอัลบั้มแบบนี้ คือทำออกมาแบบไม่คิดถึงผลลัพธ์ของมันเลย ซึ่งวงพรูทำชุดนั้นออกมาแล้วคลาสสิกมาก พอได้ทำอัลบั้มนี้เสร็จผมรู้เลยว่าได้ทำอัลบั้ม Zero ของผมออกมาแล้ว

     ทิศทางต่อไปที่มองไว้คือ อยากทำอัลบั้มต่อไปที่มาตรฐานพอๆ กับอัลบั้มนี้ในแบบภาษาไทย คือมีความเป็นตัวของตัวเอง มีอะเรนจ์เมนต์ มีเมโลดี้ มีเรื่องเล่าที่เราชอบ แต่ไม่ถึงขั้นทิ้งคนฟังขนาดนั้น อย่างน้อยให้คนที่ชอบพอร้องตามเพลงของเราได้บ้าง ไม่คิดตะบี้ตะบันชนะเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้กำลังทำอยู่ ปีหน้าน่าจะได้ฟังกัน

 

 

การลี้ภัยที่แปลกและสนุกที่สุด

     ถ้าสมมติตัวเองเล่นๆ เป็นผู้ลี้ภัยที่รู้สึกแปลกแยกกับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ผมว่าเวลาไปเล่นคอนเสิร์ตในงานที่ไม่ใช่กลุ่มคนฟังของเราน่าจะให้ความรู้สึกแบบนั้นได้ประมาณหนึ่ง อย่างเช่น ผมเคยไปเล่นงานปิดทองฝังลูกนิมิต ที่คนเคยเห็นหน้าผมแค่ในรายการ The Voice แต่ไม่เคยฟังเพลง ก็ต้องพยายามเป็นพวกเดียวกับเขา เอาชนะใจพวกเขาให้ได้ ต้องใช้ไหวพริบและความกะล่อนพอสมควรให้เขาคิดว่าเราเป็นลูกเป็นหลานเขาให้ได้

     เคยมีคนจ้างไปเล่นงานแต่งงานของคนอินเดีย ซึ่งทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวและคนในงานเป็นคนอินเดียหมดเลย มีแค่ทีมของเราที่เป็นคนไทย เจ้าบ่าวพอพูดไทยได้ แต่พอถึงเวลาเล่นเจ้าบ่าวต้องไปเปลี่ยนชุด เท่ากับต้องเล่นให้คนอินเดียที่ไม่น่าจะรู้จักพวกเราเลยฟัง สุดท้ายค้นพบว่าวิธีที่ง่ายที่สุดคือ ถ้าหาทางเป็นพวกเดียวกันไม่ได้ ก็เล่นของเราไป ทำให้เหมือนเวทีเป็นบ้านของเรา แล้วให้เขามาอยู่ในบ้านของเราแทน

     อีกงานคืองานแซยิดของคุณป้าคนหนึ่ง แปลก แต่กลายเป็นงานที่สนุกมากเฉยเลย คุณป้าชอบเราจากรายการ The Voice สามีอยากทำเซอร์ไพรส์เลยมาจ้างให้ผมไปเล่น แอบถามไปก่อนว่าคุณป้าชอบเพลงอะไร ก็ไปแกะพวกเพลง หยาดเพชร หนึ่งในร้อย อะไรเหล่านั้นเตรียมไว้ พอเตรียมตัวไปดี งานนั้นเลยสนุกมาก คุณป้าน่ารัก หลังเล่นเสร็จคุณป้าเขียนจดหมายส่งมาหาที่บ้านด้วย บอกว่า ‘ขอบคุณมากนะลูกที่ทำให้ป้ามีความสุข’

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X