×

วิวัฒนาการของ Meme จาก Nyan Cat สู่ Meme สามมิติ!

03.12.2018
  • LOADING...

‘Meme’ หรือมีม เป็นหนึ่งในไอคอนความป๊อปของคนยุคดิจิทัลที่สะท้อนให้เห็นสังคม วัฒนธรรม ทัศนคติของคนในช่วงเวลาหนึ่งๆ ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญมีมยังเป็นไอคอนที่สร้างเสียงหัวเราะจนทำให้คนทั่วโลกเข้าใจภาษามีมแบบเดียวกันได้ด้วย และล่าสุดเราก็กำลังจะได้เห็นมีมรูปแบบใหม่ที่เป็นตัวแทนของยุค Digital Age ได้อย่างดี นั่นคือ ‘3D Meme’ หรือมีมสามมิติ

 

Photo: www.thoughtco.com

 

Meme?

แต่ก่อนจะไปถึงมีมสามมิติ เรายังเชื่อว่าต้องมีบางคนที่ยังไม่รู้จักคำว่า Meme มาก่อน มีม (ไม่ใช่เมม ไม่ใช่มาม ไม่ใช่เมเม่ อ่านว่ามีม) เป็นคำที่ตั้งขึ้นโดย ริชาร์ด ดอว์กินส์ ในปี 1976 ในหนังสือ The Selfish Gene โดยการกร่อนจากคำว่า Mimeme ซึ่งมีความหมายประมาณว่า ‘สิ่งที่ถูกเลียนแบบกันมา’

 

ในบทท้ายๆ ของหนังสือ เขาเขียนถึงการที่มนุษย์มักมีพฤติกรรมและอุปนิสัยที่ไม่ได้มาจากยีน แต่มาจากวัฒนธรรม (Culture) มากกว่า ซึ่งนั่นอาจหมายถึงภาษา แฟชั่น ความเชื่อ ดนตรี กีฬา และสิ่งใดๆ ในกลุ่มวัฒนธรรมนั้นๆ ที่ทำตามๆ กันจนเกิดเป็นมีม

 

โดยในปัจจุบัน มีม หรือให้ชัดเจนมากขึ้นว่า Internet Meme ถูกให้คำจำกัดความว่าเป็นก้อนความคิดที่ถูกส่งต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งจนแพร่หลายกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยๆ ในสังคม ซึ่งมีมสามารถอยู่ในรูปแบบของภาพ GIF ขยับได้ ข้อความ วิดีโอ หรือแม้กระทั่งแฮชแท็ก ซึ่งมีมมีอิทธิพลอย่างยิ่ง ทั้งเพื่อการสร้างกลุ่มของคนที่มีความเห็นใกล้เคียงกัน และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่แบ่งแยกกลุ่มของคนได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีมมักมีจุดมุ่งหมายในการสร้างเสียงหัวเราะ ความประหลาดใจ ความเข้าใจ และความเป็นหนึ่งเดียวกันจากการคัดกลุ่มคนที่มีความคิดเห็น มีไอเดีย มีสไตล์แบบเดียวกันไว้เดียวกัน

 

Photo: www.highsnobiety.com

 

มีมแรกที่มีการบันทึกไว้ (จากเว็บไซต์ www.digitalnext.com.au) และเราอาจจะเคยเห็นผ่านตากันคือ The Dancing Baby (www.youtube.com) ในปี 1996 จนกระทั่งเริ่มมีเว็บไซต์กลุ่มสังคมออนไลน์อย่าง 4Chan (2003) และ Reddit (2005) ทำให้มีมแพร่กระจายรวดเร็วขึ้น จนกระทั่งมีการก่อตั้งเว็บไซต์ Know Your Meme ที่เป็นเหมือนคลังสารานุกรมของมีมโดยเฉพาะให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเข้าไปค้นหามีม อ่านที่มาและความหมายของแต่ละมีมได้ (ซึ่งมีเยอะมากๆ)

 

Photo: s24193.pcdn.co

 

ในปี 2012 มีการตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า The Language of Internet Memes ที่เขียนโดย แพทริก เดวิสัน และเขาก็ได้ให้คำจำกัดความของ Internet Meme อีกครั้งว่ามันคือชิ้นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม มักเป็นมุกตลกซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการส่งต่อกันทางโลกออนไลน์

 

Photo: me.me

 

Photo: www.quickmeme.com

 

ถ้าให้ยกตัวอย่างมีมดังๆ ที่ถูกแชร์กันบ่อยๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตก็มีทั้ง Doge, Forever Alone, Me Gusta, Nyan Cat, Neil deGrasse Tyson Reaction, Y U NO Guy, You Don’t Say, Overly Attached Girlfriend, Ancient Aliens, “Not Bad” Obama Face, First World Problem ไปจนถึงมีมยุคหลังๆ อย่าง American Chopper Argument, Surprised Pikachu, Drake, Gavin Thomas และอีกมากมาย ซึ่งโลกอินเทอร์เน็ตก่อใช้การส่งต่อและดัดแปลงมีมไปจนไม่สามารถระบุที่มาที่ไปของมันได้อย่างชัดเจน แต่เข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ knowyourmeme.com

 

Photo: i.kym-cdn.com

 

Photo: me.me

 

ในประเทศไทยเอง เราได้นำไอเดียของการทำมีมมาใช้เช่นเดียวกัน โดยปรับเอาภาพ หรือคอนเทนต์หลักมาจากสื่อของไทยเอง บางคนอาจจะเคยเห็นเทรนด์ ‘สาจ๋า’ จากเรียลิตี้โชว์ This Is Me Vatanika, #หมดแพชชั่น หรือมีมจากประเทศไทยอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นหนึ่งในมีมที่กลายเป็นตัวนำเสนอวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆ ผ่านโลกออนไลน์

 

 

 

3D Meme?

มีมในปัจจุบันถูกดัดแปลงไปจนล่าสุดที่เฟซบุ๊กมีฟีเจอร์ 3D Photo ปล่อยให้ทดลองใช้โหมดสามมิติเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้เรามองเห็นรูปถ่ายแบบหลายมุม มีความตื้นลึกคล้ายของจริง ไม่ว่าจะดูผ่านนิวส์ฟีดปกติหรือใช้กับ VR ได้เช่นกัน และนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับวิวัฒนาการมีมไปโดยปริยาย เพราะเหล่าผู้สร้างมีมจากทั่วโลกก็สร้างมีมเพื่อรองรับกับระบบ 3D Photo ของเฟซบุ๊ก

 

 

 

มีเพจในเฟซบุ๊กมากมายที่หันมาทำมีมสามมิติ ทั้ง Dimemetional, 4d3d3d3 Engaged, และ 3D Memes For Multi-Dimensional Teebs แต่เพจที่น่าจะเป็นผู้นำและมาแรงแซงทางโค้งที่สุดก็คือเพจ 4d3d3d3 Engaged

 

“มีมกำลังมีวิวัฒนาการ เมื่อไรก็ตามที่มีพรมแดนใหม่เกิดขึ้น มีมก็พร้อมที่จะรับความท้าทายและรับใช้พวกเรา ยืนหยัดข้างเคียงกับเราในยามที่เราต้องการพักจากโลกแห่งความเป็นจริง และตอนนี้มีมก็ได้เข้าสู่ยุคสามมิติ มีมมีมุมมองด้านเดียวมานานแล้ว”

 

ในเพจดังกล่าวเราจึงมีโอกาสได้เห็นมีมสุดฮิตหลายมีมที่ถูกแปลงมาเป็นรูปแบบสามมิติ และผู้ใช้งานเฟซบุ๊กสามารถใช้เมาส์เลื่อนมีมให้เห็นมุมอื่นๆ ได้รอบด้าน และเราก็อาจได้เจอเซอร์ไพรส์ที่สร้างเสียงหัวเราะได้จากมีม 1 มีม

 

แม้มีมจะดูเป็นเรื่องสนุกเบาสมองในโลกอินเทอร์เน็ต แต่อย่างที่เราบอกว่าสิ่งนี้นี่แหละที่เป็นตัวบ่งบอกทัศนคติ แนวคิด และความเชื่อของสังคมในแต่ละกลุ่ม แต่ละยุคสมัยได้อย่างชัดเจน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X