บรรดาผู้นำจาก 19 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ และผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) จะเริ่มต้นการประชุมซัมมิต G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในวันนี้ (30 พ.ย.) ซึ่งแน่นอนว่า ‘สงครามการค้า’ ครอบงำวาระการประชุมครั้งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
นับตั้งแต่สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (หรือย้อนกลับไปจนถึงช่วงหาเสียงเลือกตั้ง) โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงจุดยืนมาตลอดว่าเขาไม่สนใจความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการค้าและเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามกับประเทศที่เหลือในกลุ่ม G20 ที่ต้องการให้ทุกประเทศเคารพกฎกติกาการค้าระดับพหุภาคี ด้วยเหตุนี้การปะทะกันทางนโยบายจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้บนเวทีใหญ่ส่งท้ายปีนี้
ซัมมิต G20 ปีนี้สำคัญอย่างไร มีส่วนกำหนดทิศทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศและระเบียบการค้าโลกในปีหน้าอย่างไร
การเดิมพันครั้งใหญ่
ถ้าจะกล่าวว่าชะตากรรมของโลกอาจแขวนอยู่กับผลการเจรจาในที่ประชุมซัมมิต G20 ครั้งนี้ก็คงไม่ผิดนัก
เป็นที่คาดหมายว่าถ้าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ตกลงแก้ไขข้อพิพาททางการค้ากันไม่ได้ ทรัมป์จะตัดสินใจทำสงครามการค้ากับจีนต่อ ซึ่งในปีหน้าจะมีความดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้น และส่งแรงกระเพื่อมแบบสึนามิต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ทรัมป์ยืนยันหนักแน่นว่า ถ้าการพูดคุยกับสีจิ้นผิงล้มเหลว เขามีแผนขยายกรอบกำแพงภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากอัตรา 10% เป็น 25% โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า
ไม่เพียงเท่านี้ ทรัมป์ยังขู่ว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีอากรสินค้านำเข้าที่เหลือรวมมูลค่า 267,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อัตรา 10-25% อีกด้วย
เราย้อนกลับไปดูสงครามภาษีระหว่างสองยักษ์เศรษฐกิจรุ่นซูเปอร์เฮฟวีเวตในรอบ 1 ปีที่ผ่านมากันสักนิด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คณะบริหารของทรัมป์ได้ประกาศมาตรการภาษีกับเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากจีนและหลายประเทศ ซึ่งจีนตอบโต้ด้วยกำแพงภาษีกับสินค้ามูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน จากนั้นในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้บังคับมาตรการภาษีกับสินค้าส่งออกของจีนอีกรวมมูลค่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกันกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ รวมมูลค่า 110,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด นักวิเคราะห์จาก Capital Economics มองว่าในการประชุม G20 ปีนี้ สีจิ้นผิงไม่น่าจะมีข้อเสนอที่ทำให้ทรัมป์พอใจและเปลี่ยนใจได้ และเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นบวกนัก
“ถ้าพวกเขาคว้าน้ำเหลวในการทำข้อตกลงสงบศึกการค้า แน่นอนว่าสหรัฐฯ จะขยับขึ้นภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนมกราคม ปี 2019 และอาจขยายกำแพงภาษีครอบคลุมสินค้านำเข้าที่เหลือด้วย” อีแวนส์-พริตชาร์ดกล่าว
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ก่อนที่ซัมมิต G20 จะเปิดฉากขึ้นในลาตินอเมริกาครั้งแรก คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าความขัดแย้งทางการค้าและกำแพงภาษีที่สูงขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อการค้าทั่วโลกโดยรวม
เธอเผยผลการวิจัยว่า หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด มาตรการภาษีที่ใช้กันอยู่จะสร้างผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั่วโลกราว 0.5%
แต่นั่นเป็นเพียงแรงกระเพื่อมบนผิวน้ำที่เห็นได้ชัดเท่านั้น เพราะคลื่นใต้น้ำที่เกิดจากมาตรการอื่นๆ อาจเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและส่งผลกระทบมากกว่า
ในปีหน้า หากทั้งคู่แลกหมัดกันด้วยมาตรการภาษีโดยตรง สหรัฐฯ อาจกุมความได้เปรียบตรงที่มีไพ่ในมือเหนือกว่า เพราะสำหรับจีนซึ่งมียอดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ น้อยกว่ายอดส่งออกแล้ว ถือว่ามีข้อจำกัดในการตอบโต้สหรัฐฯ ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงมองว่าจีนอาจงัดมาตรการอย่างอื่นมาเล่นงานสหรัฐฯ แทน เช่น การผ่อนคลายนโยบายการคลังและการเงิน หรือปล่อยให้สกุลเงินหยวนอ่อนค่าลง ซึ่งนั่นอาจสร้างความผันผวนที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงินทั่วโลก
ข้อตกลงฉบับแทน NAFTA, เจ้าชายบิน ซัลมาน และอื่นๆ ที่น่าจับตา
นอกจากมวยคู่เอกระหว่างทรัมป์กับสีจิ้นผิงที่ทั่วโลกจับตาอย่างมากแล้ว ทรัมป์ยังมีกำหนดการหารือระดับทวิภาคีและไตรภาคีกับผู้นำหลายคน โดยหนึ่งในไฮไลต์คือการพบกันระหว่างทรัมป์กับจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา และอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ว่าที่ประธานาธิบดีเม็กซิโก เพื่อลงนามในดีลการค้า 3 ฝ่ายแทนข้อตกลง NAFTA ฉบับเดิมที่ทรัมป์หันหลังให้อย่างไม่แยแส
อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือการเสด็จไปร่วมประชุมของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งหลายฝ่ายจับตามองว่าทรัมป์กับบิน ซัลมาน จะส่งยิ้ม จับมือ พูดคุย หรือลงนามในข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบียหรือไม่ หลังเจ้าชายถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม จามาล คาช็อกกี นักข่าวอิสระชาวซาอุดีอาระเบีย ภายในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียประจำนครอิสตันบูล เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ทั่วโลกยังจับตาการพบกันของทรัมป์และเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อวิเคราะห์ท่าทีและภาษากายของทั้งสอง หลังทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลง Brexit ที่ผลักดันโดยเมย์อย่างเผ็ดร้อน โดยเขาเห็นว่าข้อตกลงนี้เป็นประโยชน์กับสหภาพยุโรปมากกว่าสหราชอาณาจักร
ไม่เพียงแต่ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเท่านั้น ฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เตรียมใช้เวที G20 ครั้งนี้เร่งสะสางปัญหาภาษีเหล็กและรถยนต์กับสหรัฐฯ หลังการเจรจาระดับทวิภาคีในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาเผชิญกับภาวะชะงักงัน สืบเนื่องจากยุงเกอร์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของคณะบริหารทรัมป์ที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์แห่งชาติมากกว่ากฎกติกาแบบพหุนิยม
น่าเสียดายที่การหารือกันนอกรอบระหว่างทรัมป์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียจะไม่เกิดขึ้น หลังทรัมป์ประกาศยกเลิกกำหนดการดังกล่าวท่ามกลางปัญหาตึงเครียดบนคาบสมุทรไครเมีย สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่รัสเซียยึดเรือของยูเครน 3 ลำ พร้อมควบคุมตัวลูกเรือไว้ 24 คน โดยรัสเซียกล่าวหาว่าเรือเหล่านี้ล่วงล้ำน่านน้ำของพวกเขาอย่างผิดกฎหมาย หลังพยายามแล่นผ่านช่องแคบเคิร์ชไปยังทะเลอะซอฟ ขณะที่ทรัมป์ได้แสดงท่าทีไม่พอใจกับพฤติการณ์ที่ ‘ก้าวร้าว’ ของรัสเซีย
การยกเลิกพบปะระหว่างผู้นำสองประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ย่อมหมายถึงการปิดประตูเจรจาเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการควบคุมขีปนาวุธพิสัยกลางภายใต้ข้อตกลงไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (INF Treaty) ขณะที่ทรัมป์เคยขู่ก่อนหน้านี้ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวจากสนธิสัญญาดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลว่ารัสเซียไม่ยอมปฏิบัติตามกฎกติกา ถึงแม้ว่ารัสเซียจะปฏิเสธมาตลอดก็ตาม
อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีการประชุมระดับทางการหรือไม่เป็นทางการระหว่างทรัมป์กับปูติน แต่ทั่วโลกก็ยังจับตาดูท่าทีและภาษากายระหว่างท้ังสองอยู่ไม่น้อย
สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน โดยสิ้นสุดในวันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค.) ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าที่ประชุมจะส่งสัญญาณบวกเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาการค้าเพื่อลดแรงเสียดทานระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในปีหน้า อย่างไรก็ตามก็มีความเป็นไปได้ที่เวทีประชุมครั้งนี้อาจไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และลงเอยเหมือนกับเวทีประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งล่าสุด โดยที่ผู้นำไม่สามารถออกแถลงการณ์ที่เป็นจุดยืนร่วมกันต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ได้ เนื่องจากแนวคิดต่างขั้วระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศที่เหลือไม่อาจประสานให้ลงรอยได้ภายในเวลาอันสั้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: