หลังจากปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ความอุดมสมบูรณ์มีแนวโน้มกลับมาอีกครั้ง หลังจากมีการเผยภาพจากทีมวิจัยฟื้นฟูอ่าวมาหยา เป็นภาพฝูงฉลามหูดำที่กำลังแหวกว่ายในน้ำเพื่อหากินแพลงตอนและลูกปลาบริเวณหาดมาหยาเป็นเวลานานถึง 4 ชั่วโมง ก่อนจะว่ายกลับออกไปสู่แนวปะการังน้ำตื้น
29 พฤศจิกายน นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เผยว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อ่าวมาหยา ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเดินตรวจตราบริเวณชายหาดของอ่าวมาหยา ได้พบปลาฉลามหูดำ ซึ่งคาดการณ์ว่ามีจำนวนมากกว่า 60 ตัว โดยฉลามหูดำเหล่านี้มีขนาดตัวยาว 1 เมตร ถึง 1 เมตร 20 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 20-25 กิโลกรัม ที่ออกมาอยู่บริเวณน่านน้ำห่างจากชายหาดเพียง 2 เมตร ภายใต้ความลึก 30 เซนติเมตร มีลักษณะเหมือนการออกมาหาอาหารกินเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง ก่อนที่จะว่ายกลับออกไปในแนวปะการังน้ำตื้นที่อยู่ห่างออกไป
นอกจากนี้ นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม ยังได้กล่าวเสริมจากกรณีดังกล่าวว่า การที่ฝูงฉลามหูดำเข้ามาแหวกว่ายเล่นน้ำและหากินติดชายหาดอ่าวมาหยา เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เป็นจำนวนมากในครั้งนี้ ซึ่งถือว่ามากที่สุดกว่า 60 ตัว นับเป็นฝูงฉลามหูดำที่มีจำนวนมากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบมาก่อนในรอบหลายสิบปี ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลอันดามันในพื้นที่เกาะพีพีเล ทำให้ฉลามหูดำเข้ามาอาศัยและหากินได้อย่างมีความสุข
โดยก่อนหน้านี้ทีมเจ้าหน้าที่พบฝูงฉลามหูดำได้เวียนว่ายเข้ามายังเขตของอ่าวมาหยาเป็นอย่างน้อย 4 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะพบจำนวนที่ต่างกันไป และครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพบฉลามหูดำเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สั่งปิดอ่าวมาหยา เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา และหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเข้าเดือนที่ 6
ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ผลักดันการปฏิรูปสิ่งแวดล้อมและท้องทะเลไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จากเหตุการณ์นี้น่าจะทำให้เป็นอ่าวไม่กี่แห่งที่เป็นจุดที่ฉลามชุกชุมที่สุดในประเทศไทย และหากเทียบแบบพื้นที่เท่ากัน คงมีเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่จะมีฉลามชุกชุมถึงขนาดนี้ ถือเป็นอีกผลพวงมาจากการปิดปรับปรุงพื้นที่ 6 เดือนของโครงการฟื้นฟูธรรมชาตินี้ ซึ่งตอนนี้ทีมวิจัยกำลังลงไปศึกษาพฤติกรรม และรวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาต่อไป
ภาพ: ทีมวิจัยการฟื้นฟูอ่าวมาหยา กรมอุทยาน และ ม.เกษตรศาสตร์
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: