นับเป็นอีกก้าวย่างสำคัญของมวลมนุษยชาติ เมื่อยานหุ่นยนต์สำรวจ InSight ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) สามารถลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จเมื่อเวลา 19.53 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช วันที่ 26 พฤศจิกายน หรือตรงกับเวลา 02.53 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย โดยหลังจากนี้ยาน InSight จะเริ่มภารกิจขุดเจาะผิวดาวเคราะห์แดงเพื่อศึกษาข้อมูลอุณหภูมิและอื่นๆ ต่อไป
ก่อนที่ยานจะแตะพื้นดาวอังคาร บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ควบคุมภารกิจในห้องปฏิบัติการ Jet Propulsion Laboratory (JPL) ในแคลิฟอร์เนียต่างลุ้นอย่างใจจดใจจ่อกับช่วงเวลา 7 นาทีที่ยาน InSight ผ่านขั้นตอนการพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ลดระดับความสูงและลงแตะพื้นผิวดาว เพราะบรรยากาศของดาวอังคารมีความเบาบางเพียง 1% ของโลก ดังนั้นจึงมีแรงเสียดทานที่ช่วยชะลอความเร็วของยานขณะลงจอดได้น้อย แต่ท้ายที่สุดหลังผ่านพ้นไป 7 นาที ยาน InSight ก็ส่งสัญญาณการลงจอดกลับมาได้สำเร็จ ท่ามกลางความยินดีปรีดาของผู้ที่เฝ้าชมการถ่ายทอดสดกับวินาทีแห่งประวัติศาสตร์
เจมส์ ไบรเดนสไตน์ ผู้บริหาร NASA เรียกวันแห่งความสำเร็จนี้ว่า ‘วันที่น่าอัศจรรย์’ พร้อมเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ต่อสายตรงมาแสดงความยินดีด้วยตนเอง ขณะที่ ไมค์ วัตกินส์ ผู้อำนวยการศูนย์ JPL ระบุว่า ความสำเร็จครั้งนี้จะเป็นเครื่องย้ำเตือนกับทุกๆ คนว่า การจะศึกษาวิทยาศาสตร์ได้นั้น เราต้องกล้าหาญและต้องเป็นนักสำรวจ
สำหรับชื่อยาน InSight ย่อมาจาก Interior Exploration using Seismic Investigations, Geodesy and Heat Transport ซึ่งบ่งบอกถึงภารกิจหลักของมัน โดยยานจะใช้อุปกรณ์ขุดเจาะผิวดาวอังคารลึกลงไป 5 เมตร เพื่อเก็บข้อมูลอุณหภูมิของดิน เพื่อศึกษาอัตราการถ่ายเทความร้อนจากแก่นดาวอังคารออกมาสู่พื้นผิว โดยข้อมูลนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์อัตราการถ่ายเทความร้อนในอดีต และสืบสาวไปจนถึงกระบวนการเกิดของดาวอังคารได้
นอกจากการวัดอุณหภูมิแล้ว ยานลำนี้ยังมีภารกิจตรวจจับคลื่นสั่นสะเทือนบนดาว เพื่อช่วยให้นักดาราศาสตร์เก็บข้อมูลโครงสร้างภายในดาวอังคารว่าเป็นอย่างไร เหมือนกับที่นักธรณีวิทยาเก็บข้อมูลแผ่นดินไหวบนโลก เพื่อสร้างแบบจำลองว่าภายในโลกของเรามีสภาพเป็นอย่างไร
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: