“ฟุตบอลคือกีฬาที่อังกฤษคิดค้นขึ้น คุณเล่น 11 ต่อ 11 คน และสุดท้ายเยอรมนีก็ชนะตลอด” เป็นประโยคดังที่กล่าวโดย แกรี่ ลินิเกอร์ อดีตกองหน้าทีมชาติอังกฤษ หลังจากที่ทีมชาติอังกฤษพ่ายให้กับเยอรมนีตะวันในรอบรองชนะเลิศของศึกฟุตบอลโลกปี 1990 ที่ประเทศอิตาลี ซึ่งปีนั้นเยอรมนีคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จต่อจากการคว้ารองแชมป์โลกเมื่อปี 1986
“ใครก็ตามที่บอกว่าฟุตบอลคือเกมของนักเตะ 22 คนเตะบอลกันในเวลา 90 นาที และสุดท้ายเยอรมนีเป็นผู้ชนะ เป็นคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย และควรจะถูกขับไล่อย่างยิ่ง” เป็นประโยคที่ได้รับการอัปเดตจากแกรี่อีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการกล่าวถึงทีมชาติเยอรมนีในช่วงขาลง
เริ่มตั้งแต่การตกรอบแบ่งกลุ่มฟุตบอลโลก 2018 เป็นครั้งแรกในรอบ 80 ปี รวมถึงความพ่ายแพ้ให้กับเม็กซิโก 1-0 แพ้เกาหลีใต้ถึง 2-0 และสถานการณ์หลังฟุตบอลโลกก็ยังไม่ดีขึ้นสำหรับแชมป์โลก 4 สมัย เมื่อพวกเขาพ่ายแพ้ให้กับเนเธอร์แลนด์ 3-0 แพ้แชมป์โลกฝรั่งเศสอีก 2-1 แม้ว่าจะกลับมาได้ด้วยการเอาชนะรัสเซียไป 3-0 และเสมอกับเนเธอร์แลนด์ในเกมล่าสุดไป 2-2 แต่พวกเขาได้ตกชั้นและเตรียมลงไปเล่นในลีก B หลังจากแข่งขันครบหมด 4 นัด มีเพียง 2 แต้ม จบอันดับสุดท้ายของกลุ่ม 1 ซึ่งนับเป็นสองทัวร์นาเมนต์ติดต่อกันที่เยอรมนีไม่สามารถผ่านรอบแบ่งกลุ่มได้สำเร็จ
ภาพ: Reuters
จากสถานการณ์ปัจจุบันของอินทรีเหล็กที่กำลังเข้าสู่ช่วงขาลง THE STANDARD ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ เคลาส์ ออเกนธาเลอร์ อดีตกองหลังทีมชาติเยอรมนีตะวันตก และเป็นตำนานของบาเยิร์น มิวนิก ผู้ที่ผ่านช่วงเวลาแห่งความยิ่งใหญ่ของเยอรมนีในฐานะนักเตะเมื่อปี 1990 ชุดที่เอาชนะทีมชาติอังกฤษ จนนำมาสู่คำพูดอันโด่งดังของแกรี่ ลินิเกอร์
เกิดอะไรขึ้นกับทีมชาติเยอรมนี
หลังจากได้แชมป์โลก พวกเขาก็หมดความกระหายความสำเร็จในทันที ซึ่งการคว้าแชมป์ครั้งต่อไปคุณต้องทำงานอย่างหนัก แต่ในวันที่คุณเป็นแชมป์ไปแล้ว นักเตะบางคนมั่นใจเกินไปกับความสำเร็จที่พวกเขาได้มา พวกเขาจึงไม่มีความกระหายที่จะทำงานหนักในการฝึกซ้อมและลงเล่นเหมือนเมื่อก่อน
ถึงเวลาที่เยอรมนีต้องรีบู๊ตใหม่เหมือนปี 2000 หรือยัง
มันไม่ใช่เวลาสำหรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เราต้องเข้าใจกันก่อนว่าฟุตบอลคือเกมที่เรียบง่าย แต่ช่วงปีที่ผ่านมาเราทำให้มันซับซ้อนจนเกินไป ดังนั้นเราจำเป็นต้องกลับไปแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาและเล่นฟุตบอลที่เรียบง่ายกัน
โยอาคิม เลิฟ ยังคงเหมาะสมที่จะเป็นโค้ชทีมชาติเยอรมนีหรือไม่ในความคิดของคุณ
12 ปีที่ผ่านมา เขาทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยมในฐานะโค้ชทีมชาติเยอรมนี เขาคว้าแชมป์โลกปี 2014 แต่ตอนนี้ที่ฟอร์มการเล่นของทีมที่ไม่ดี และในช่วงเวลานี้ก็จะมีหลายคนออกมาโจมตีเขาว่าทำไมถึงยังเป็นโค้ชได้ แต่ทุกคนลืมไปหมดแล้วว่าผลงาน 12 ปีที่ผ่านมาของเขานั้น เขาพัฒนาทุกอย่างมาจนถึงแชมป์โลกปี 2014
ดังนั้นคำถามที่เราต้องหาคำตอบอาจเป็นเราควรเปลี่ยนนักเตะหรือไม่ หรือทำไมเราต้องเปลี่ยนโค้ช เพราะเมื่อนักเตะเหล่านี้ได้แชมป์โลก พวกเขาอาจจะไม่มีแรงบันดาลใจในการคว้าชัยชนะอีกต่อไปแล้ว
ในฐานะที่เคยได้แชมป์โลก ในวันนั้นตัวคุณเคยรู้สึกหมดความกระหายไหม
หลังจากที่คว้าแชมป์โลกปี 1990 เรามีเวลาพักผ่อนเพียงแค่ 2-3 วันก่อนจะต้องกลับไปเริ่มต้นพรีซีซันกับสโมสร ดังนั้นนักเตะจึงมีความกระหายตลอดเวลา เพราะในโลกฟุตบอล ไม่มีใครสนใจความสำเร็จในอดีต ทุกคนสนใจแต่สิ่งที่คุณทำในตอนนี้และสิ่งที่คุณกำลังจะทำในอนาคต
คุณต้องไม่ฉลองความสำเร็จทุกวัน
นักฟุตบอลยุคนี้กับยุค 90s ในตำแหน่งกองหลังมีความแตกต่างกันอย่างไร
ผมอยากเปรียบเทียบตัวผมกับกองหลังของบาเยิร์น มิวนิก และเยอรมนีชุดแชมป์โลก (มัตส์ ฮุมเมลส์ และเยโรม บัวเต็ง) ผมอยากเปรียบเทียบตัวเองกับฮุมเมลส์ว่าสิ่งหนึ่งที่ฟุตบอลยุค 90s และปัจจุบันมีเหมือนกันคือการตั้งรับแบบคุมโซน เล่นเหมือนกันและคล้ายกัน
แต่สิ่งที่ต่างกันระหว่างผมกับกองหลังบาเยิร์น มิวนิก ในยุคปัจจุบันที่เป็นคู่กองหลังแชมป์โลก ผมมองว่ายังขาดภาวะความเป็นผู้นำ ในสมัยที่ผมเป็นแชมป์โลก เราเล่นด้วยความแข็งแกร่ง มีความเป็นผู้นำ นำทีมจากแดนหลัง ต่างกับคู่เซ็นเตอร์แชมป์โลกตอนนี้ที่เล่นแล้วอาจจะดูขาดภาวะความเป็นผู้นำ
สิ่งที่ผมเคยเป็นคือผมเป็นผู้นำ เรารับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับทีม เราจึงคาดหวังให้พวกเขาเป็นผู้นำเหมือนกัน
ความสำเร็จของสโมสรจากบุนเดสลีกา เยอรมนี ในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก กับความสำเร็จของทีมชาติเยอรมนีในระหว่างปี 2012-2014 มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร
แน่นอน เพราะบาเยิร์น มิวนิก มีนักเตะทีมชาติ 5-6 คน เช่นเดียวกัน ในทีมชั้นนำทีมอื่นของเยอรมนีก็มีนักเตะทีมชาติอีก 4-5 คน ดังนั้นเป็นเรื่องง่ายที่จะสร้างทีมที่มีสปิริต ซึ่งเป็นบรรยากาศเหมือนกับในปี 1990 ที่มีนักเตะทีมชาติจากแค่สองสโมสร ดังนั้นแคมป์ทีมชาติที่เต็มไปด้วยนักเตะจากสโมสรเดียวกันจึงมีสปิริตที่ดีและสามารถนำพาไปสู่แชมป์โลกได้
แต่ในปี 1986 ที่ได้รองแชมป์ เรามีนักเตะจากบาเยิร์น มิวนิก เพียงแค่ 3 คนและทีมอื่นๆ ผสมกัน จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะสร้างทีมที่มีสปิริตที่ดีจากนักเตะที่มาจากหลายสโมสร
ทีมชาติไทยสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพัฒนาการของเยอรมนี จากการรีบู๊ต จนถึงช่วงขาลงในวันนี้
ในวันนี้ที่ทีมชาติไทยลงสนามแข่งขันฟุตบอลอาเซียนพบกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และหลายๆ ทีมที่อยู่ในระดับเดียวกัน สิ่งที่ทีมชาติไทยต้องการคือการพบเจอกับทีมระดับสูงจากยุโรป อิตาลี สเปน อังกฤษ เพื่อพัฒนาการเล่นฟุตบอลขึ้นไปอีก
แม้ว่าพวกเขา (ทีมชาติไทย) จะผ่านเข้ารอบลึกในทัวร์นาเมนต์ระดับเอเชียและไปพบทีมอย่างออสเตรเลียหรือญี่ปุ่น แต่ทีมเหล่านี้ไม่ใช่ทีมที่ดีที่สุดในโลก ไทยต้องเจอกับทีมชั้นนำของโลกเพื่อจะพัฒนาตัวเอง
จากที่ได้สัมผัสกับฟุตบอลไทยในช่วงเวลาหลายวันที่ผ่านมา รู้สึกอย่างไรกับความตื่นตัวต่อกีฬาฟุตบอลในไทย
ผมเห็นเยาวชนไทยที่มีศักยภาพสูงจนถึงอายุ 15-16 ปี แต่พอโตจากนี้ไปแล้ว เด็กเหล่านี้กลับไม่ได้รับโอกาสไปค้าแข้งกับสโมสรในต่างแดน นั่นคือคำถามที่ต้องหาคำตอบ
นักเตะไทยมีแพสชันในการเล่นฟุตบอลมาก อย่างช่วงพักระหว่างทัวร์นาเมนต์ที่สุพรรณบุรี มีเด็กคนหนึ่งอายุประมาณ 10 ปี ช่วงพักทุกครั้งเขาจะมาเล่นฟุตบอลต่ออยู่คนเดียว ผมจึงเข้าไปเล่นกับเขา และพบว่าถ้าเด็กคนนี้ได้รับการโค้ชที่ดีอย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าเด็กคนนี้จะเป็นนักเตะอาชีพได้อย่างแน่นอน
แน่นอน นักเตะทีมชาติไทยสามารถเล่นได้ในลีกรองของเยอรมนี บางคนก็สามารถเล่นได้ในลีกสูงสุด แต่หากพวกเขาไปเล่นก็จำเป็นต้องเล่นในทีมที่มีระบบที่ดี เพราะเมื่อพวกเขาเล่นในระบบที่ดี พวกเขาจะสามารถปรับตัวเข้ากับระบบได้ดี
จะบอกนักเตะที่ขาดแรงบันดาลใจในการพัฒนาอย่างไร และเราควรรับมือกับความพ่ายแพ้อย่างไร
เมื่อใดก็ตามที่แพ้ แน่นอนว่าโค้ชก็หงุดหงิดเช่นกัน ดังนั้นโค้ชจำเป็นต้องใจเย็นก่อน และทุกคนจำเป็นต้องมีแรงผลักดันของตัวเอง และจากความพ่ายแพ้นั้นก็ขึ้นอยู่กับทุกคน นักเตะ ทีมงาน และโค้ชที่จะวางแผนใหม่ หาทางแก้ไข และกลับมาคว้าชัยชนะได้อีกครั้ง
แล้วเขาจะรับมือกับความสำเร็จอย่างไร
นั่นเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อย่ายึดติดความสำเร็จในอดีต แต่ต้องมีความกระหายอย่างต่อเนื่อง แม้ในซูซูกิคัพเองก็มีทีมงานแมวมองจากสโมสรชั้นนำของยุโรปมาสำรวจนักเตะอาเซียน ดังนั้นพวกเขาพวกจะมีแรงผลักดันตัวเองให้ไปได้ไกลกว่านี้ เพราะพวกเขาอาจได้รับมากกว่าการเป็นแชมป์ แต่อาจได้สัญญากับสโมสรชั้นนำของยุโรปอีกด้วย
จากบทสนทนากับเคลาส์ เราได้ค้นพบคำตอบที่ชัดเจนว่าความสำเร็จในวันนี้อาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เพราะการทำงานหนักเพื่อชัยชนะในนัดต่อไปนั้นอาจยากลำบากยิ่งกว่าชัยชนะทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรับมือกับวัฏจักรฟุตบอลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทีมชาติเยอรมนีกำลังพบเจอกับความท้าทายครั้งใหม่ แต่ครั้งนี้แตกต่างจากการรีบู๊ตระบบพัฒนาฟุตบอลเยาวชนที่พวกเขาใช้ในช่วงปี 2000 ที่สร้างให้เกิดยุคทองของทีมชาติเยอรมนีอีกครั้ง
ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินถึงประสิทธิภาพของฟุตบอลเยอรมนีที่แม้ว่าจะหวือหวา แต่ความสม่ำเสมอคือจุดเด่นที่ทำให้พวกเขายืนระยะในเกมการแข่งขันระดับสูงได้ แต่มาถึงวันนี้ที่พวกเขากำลังก้าวสู่ขาลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีเพียงหนทางเดียวคือเร่งหาทางแก้ไขความกระหายชัยชนะที่หายไป และเติมเต็มทีมด้วยเยาวชนรุ่นต่อไปที่จะมาสานต่อตำนานความยิ่งใหญ่ของอินทรีเหล็กในเวทีฟุตบอลระดับโลก
สำหรับฟุตบอลทีมชาติไทย เคลาส์มองว่าไทยต้องเริ่มจากการต่อยอดเยาวชนที่มีศักยภาพในวัย 15 ปีขึ้นไปสู่การแข่งขันระดับสูงในลีกยุโรป ขณะที่ทีมชาติไทยจำเป็นต้องหาโอกาสลงสนามแข่งขันทีมชั้นนำของโลก เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับที่เคลาส์ได้กล่าวสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมเยอรมนีเพียงสั้นๆ ว่า
“สำหรับโลกฟุตบอล คุณก้าวช้าไปเพียงก้าวเดียวก็แพ้แล้ว”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์