นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีหนังสือด่วนมาก แจ้งไปยังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถึงกำหนดการประชุมสภาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 โดยมีวาระการพิจารณาเรื่องด่วนที่น่าสนใจคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ซึ่งได้รับการเห็นชอบในหลักการจาก สนช. ตั้งแต่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. บันทึกวิเคราะห์สรุปให้เหตุผลว่า เป็นการสมควรเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ให้รวมถึงการออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมสำหรับ ข้าราชการตุลาการ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมใหญ่ในชั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้สอดคล้องตามมาตรา 193 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ศาลยุติธรรมมีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสม
2. สาระสำคัญคือ ให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีอำนาจออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมของข้าราชการตุลาการ ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ พร้อมกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรับรองระเบียบคณะบริหารราชการศาลยุติธรรม ว่าด้วยเบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่และการประชุมแผนกคดีอาญาในศาลฎีกาและศาลชั้นอุทธรณ์ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้มีผลบังคับใช้จนกว่าจะออกระเบียบตามร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาให้มีความรอบคอบยิ่งขึ้น จึงเป็นหลักประกันแก่ประชาชนว่า ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมจะมีการพิพากษาเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างละเอียด รอบคอบ และเที่ยงธรรม
พร้อมทั้งเปิดเผยประมาณการรายจ่ายเบี้ยประชุม ดังนี้ ประธานได้รับเบี้ยประชุม 10,000 บาท องค์ประชุมคนละ 8,000 บาท เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการคนละ 6,000 บาท ผู้เข้าร่วมประชุมคนละ 6,000 บาท ใน 12 หน่วยงานศาลคือ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 ที่จะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง รวมปีละ 24 ครั้ง ประมาณการรายจ่ายราย 12 ปี ศาลต่อปีอยู่ที่ 207,360,000 บาท คาดว่า 5 ปีแรกต้องใช้งบประมาณแตะ 1,100 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า