องค์การแอมเนสตี้สากลเตรียมริบรางวัลเกียรติยศ Ambassador of Conscience Award ที่เคยมอบให้กับนางออง ซาน ซูจี ขณะถูกกักบริเวณให้อาศัยอยู่แต่ภายในบ้านพักเมื่อปี 2009 เพื่อเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติที่สะท้อนถึงความมุมานะในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคมเมียนมา
โดยสาเหตุสำคัญมาจากทางองค์กรรู้สึกผิดหวังกับบทบาทของนางออง ซาน ซูจี ต่อประเด็นวิกฤตชาวโรฮีนจาที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ชาวโรฮีนจากว่า 700,000 คนต้องอพยพไปยังบังกลาเทศ โดยมีชาวโรฮีนจาถูกข่มขืนและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
คูมิ ไนดู เลขาธิการแอมเนสตี้ ระบุว่า “พวกเรารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่คุณไม่สามารถเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความกล้าหาญ และการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อีกต่อไป”
ก่อนหน้านี้ที่ปรึกษาประเทศเมียนมา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 1991 รายนี้เคยถูกรัฐบาลแคนาดาเพิกถอนตำแหน่งพลเมืองกิตติมศักดิ์ของแคนาดาของออง ซาน ซูจี เนื่องจากละเลยและเพิกเฉยต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ทำให้เธอนับเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของแคนาดาที่ถูกเพิกถอนตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้
ในขณะที่คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลออกมาระบุชัดว่าทางคณะกรรมการไม่มีมาตรการริบรางวัลคืนจากผู้ที่ได้รับรางวัลแล้วทั้งสิ้น เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นมีคุณสมบัติที่จะได้รับรางวัลในช่วงเวลานั้นๆ อย่างแท้จริง
โดยรางวัล Ambassador of Conscience Award เป็นรางวัลที่แอมเนสตี้สากลมอบให้กับบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังนับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา ซึ่งประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้อย่างเนลสัน แมนเดลา, มาลาลา ยูซาฟไซ รวมถึงนักร้องชื่อดังอย่าง อลิเซีย คีย์ส ต่างเคยรับรางวัลอันทรงเกียรตินี้มาแล้วทั้งสิ้น
ในปีนี้รางวัล Ambassador of Conscience Award 2018 ตกเป็นของ โคลิน เคเปอร์นิก นักอเมริกันฟุตบอลผู้คุกเข่าขณะร่วมร้องเพลงชาติสหรัฐฯ เพื่อประท้วงเรื่องความไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติเนื่องจากสีผิว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: