×

ส่องความคิด นิวัติ กองเพียร ในวัย 72 ปี ฉายาเกจินู้ดได้มาเพราะคนไทยไม่เข้าใจศิลปะ

12.11.2018
  • LOADING...

วันหยุดสุดสัปดาห์ เราเดินทางไปที่ ‘เฮือนสวาง’ ริมคลองพระอุดม ย่านลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี บ้านพักอาศัยที่เต็มไปด้วยข้าวของจากทุกช่วงชีวิตของ นิวัติ กองเพียร เจ้าของฉายาเกจินู้ดเมืองไทย

 

การวิพากษ์เรือนร่างสตรีกลายเป็นภาพจำของคนเมื่อเอ่ยถึงชื่อเขา แต่พอคุยกันเข้าจริงๆ นิวัติบอกเราว่าเขาไม่เคยวิจารณ์ตัวบุคคล สิ่งที่เขาทำมาตลอดชีวิตคือวิจารณ์ศิลปะการถ่ายภาพ เพราะผู้หญิงทุกคนในโลกมีมุมที่สวยและไม่สวยของตัวเอง

 

 

นิวัติเล่าว่าการวิจารณ์ครั้งแรกของเขาเริ่มจากการวิจารณ์ภาพถ่าย โดยเริ่มจากเทคนิคการถ่ายภาพ หามุมที่สวยและดูดีของนางแบบแต่ละคน

 

“คุณไปเลือกในส่วนที่ดีของเขามาหรือเปล่า หรือคุณไปถ่ายมุมที่ไม่ได้เรื่องเลยของเขาแต่ก็ยังเอามาลง แบบนี้มันเป็นการทำลายเขา

 

“ผู้หญิงทุกคนมีมุม (ถ่ายภาพ) ที่ดีและไม่ดีของตัวเอง

 

“ลองให้เพ็ญพักตร์หันอีกท่าหนึ่งสิ บ้านนอกเลย”

 

 

นิวัติพาเราเดินชมเฮือนสวาง เราหยุดสนใจเป็นพิเศษที่หนึ่งในห้องนอนเล่นของเขาที่ชื่อว่า ‘ห้องเพ็ญพักตร์’ ดาราในดวงใจของเขา ภายในห้องมีรูปของต่าย-เพ็ญพักตร์ ศิริกุล ในท่าทางเย้ายวนชวนฝันรายล้อมห้อง

 

 

นิวัติบอกว่าคนสวยกับคนที่มีเสน่ห์ทางเพศไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง

 

“สวยก็คือสวย สวยแล้วไม่มีเสน่ห์นี่เยอะมาก โดยเฉพาะคนไทย สวยของผมก็คือเค้าหน้าทั้งหมดพอดีเป๊ะ

 

“แต่เสน่ห์ทางเพศ คุณเลือกได้เป็นอย่างๆ

 

“บางคนปากสวยมาก เย้ายวน ดูแค่ปากก็อยากแล้ว

 

“บางคนสบตาไม่ได้ กระโจนใส่เลย

 

“ที่สำคัญ เสน่ห์ทางเพศหรือ sex appeal คือสิ่งที่ดึงให้ผู้ชายไปหาผู้หญิง

 

พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาให้เอากัน นี่คือทฤษฎี เพราะคุณต้องสร้างเผ่าพันธุ์ สัตว์ทุกชนิดในโลกเขาให้เกิดมาเพื่อสร้างเผ่าพันธุ์ของตัวเอง

 

“เพราะฉะนั้นคุณต้องเอากันเพื่อสร้างเผ่าพันธุ์ เพื่อให้คุณมีมากที่สุด เพื่อครองแผ่นดินตรงนั้น จากนั้นค่อยเริ่มสร้างบารมี สร้างถิ่นฐานและชุมชน นี่คือทฤษฎี”

 

พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาให้เอากัน นี่คือทฤษฎี เพราะคุณต้องสร้างเผ่าพันธุ์ สัตว์ทุกชนิดในโลกเขาให้เกิดมาเพื่อสร้างเผ่าพันธุ์ของตัวเอง

 

เราถามเขาว่า แต่สังคมไทยไม่ค่อยให้พูดเรื่องเอากัน โดยเฉพาะกับเด็กๆ

 

นิวัติตอบสวนทันควันว่าเรื่องเพศมันต้องเปิดกว้างและให้รู้ตั้งแต่เด็ก ที่สำคัญคือห้ามโกหก แต่สังคมไทยมันโกหกหมด หลอกเด็ก ตอบอ้อมค้อม ตอบแบบผิดๆ เด็กก็จำมาอย่างนั้น

 

พอทำแบบนี้มันเลยต้องไขว่คว้าหาเอง เกิดการอยากลอง สังคมไทยทำให้เรื่องเพศกลายเป็นเรื่องไม่ดี จะต้องปกปิด จะต้องไม่ให้เด็กรู้

 

“ตอนผมสอนลูก ผมบอกหมด เพราะการรู้เรื่องแบบนี้ไม่ได้ทำให้ลูกเรามีปัญหากับผู้อื่น เพียงแต่มันรู้มากกว่าลูกคนอื่นเท่านั้นเอง”

 

 

นิวัติพาเราเดินจากห้องเพ็ญพักตร์ข้ามมาที่อาคารปูนเปลือยใต้ถุนสูงที่เขาเรียกว่า ‘ห้องสมุด’ ที่เก็บหนังสือที่เขาสะสมมาทั้งชีวิต

 

สิ่งแรกที่เขานำเสนอคือตู้หนังสืออีโรติก ซึ่งเขาบอกว่าอีโรติกกับนู้ดมันคนละเรื่องกัน สังคมไทยเข้าใจผิดหมด และฉายา ‘เกจินู้ด’ ของเขาคือหลักฐาน

 

 

นิวัติบอกว่านู้ดคือศิลปะ ถ้าพูดคำว่านู้ดคืองานศิลปะ แต่อีโรติกคือภาพที่สร้างการยั่วยุทางเพศ

 

ส่วนฉายาเกจินู้ดก็เพราะเมืองไทยมันเรียกนู้ดหมด เขาไม่รู้จัก Pornography ไม่รู้จักอีโรติก

 

รู้จักแค่นู้ด ใครแก้ผ้านิดหนึ่งก็นู้ด เหมาทุกอย่างเป็นนู้ด แล้วแปลเป็นภาษาไทยว่า ‘รูปโป๊’

 

ถ้าไม่มีเสรีภาพ คุณสร้างงานศิลปะไม่ได้ งานศิลปะมันมาจากความคิดของมนุษย์ซึ่งแสดงอะไรออกมาก็ได้

 

 

แล้วจริงๆ นู้ดคืออะไร เราถามนิวัติ

 

“จริงๆ นู้ดคืองานศิลปะ คือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น โต๊ะ เก้าอี้ หน้าต่างก็คือนู้ด เพราะนู้ดเป็นคำเรียกของศิลปะ มันไม่ใช่รูปโป๊ (หัวเราะ)

 

“นู้ดเหมือนคำว่าคลาสสิก เป็นคำเรียกศิลปะสมัยหนึ่ง แต่ประเทศเราเอามาใช้ผิด”

 

ทำไมคนไทยไม่รู้จักศิลปะ เราถามต่อ

 

“ก็เราสอนวาดเขียน เราจะไปรู้จักงานศิลปะได้ยังไง

 

“เข้ามาในห้องครูก็เอาขวดตั้งไว้ที่โต๊ะ สั่งนักเรียนวาดขวด บ้าหรือเปล่า

 

“คุณต้องสอนศิลปะ สอนเรื่องความงาม ต่อไปด้วยความดี และต่อไปด้วยความจริง

 

“สอนความงาม คือสอนให้เขารู้ว่าอะไรมันงาม

 

“ถ้าหยิบหนังสือขึ้นมา คุณอธิบายความงามของหนังสือนี้ได้ไหม

 

“เอากระดาษมาขยำ คุณอธิบายความงามของกระดาษนี้ได้ไหม

 

“ความงามมันอธิบายได้หมด แต่คุณไม่สอน คุณให้วาดขวด นักเรียน 40 คนจะวาดเป็นกี่คน บางทีเด็กทั้งห้องไม่มีใครวาดเขียนเป็นเลย แต่คุณต้องถูกบังคับให้วาด จนป่านนี้ก็ยังเรียนวาดเขียนเหมือนเดิม”

 

 

แล้วเราจะรู้เรื่องความงามไปทำไม   

 

“ก็เรื่องของคุณ คุณไม่อยากรู้ก็ไม่ต้องถาม

 

“ผมไม่ได้ยัดเยียดให้คุณ ผมไม่ได้บอกว่าถ้าคุณไม่รู้จักความงามแล้วคุณไม่ใช่มนุษย์ มันไม่ใช่”

 

 

อันที่จริงเรือนร่างสตรีไม่ใช่สิ่งเดียวที่นิวัติหมกมุ่น เขายังเป็นนักเขียนและอดีตนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพคืนจากเผด็จการทหารจนอยู่เมืองไทยไม่ได้

 

นิวัติเคยลงชื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ถนอม กิตติขจร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 นิสิตนักศึกษาต้องหนีกันกระเจิง หลายคนหนีเข้าป่า แต่นิวัติบอกว่าเขาอยู่ป่าไม่ได้

 

นิวัติเลือกเดินทางออกนอกประเทศไปใช้ชีวิตที่อังกฤษ โดยมีอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คอยจัดการอยู่เบื้องหลัง

 

 

นิวัติเล่าย้อนให้ฟังว่าไปอยู่ที่อังกฤษก็ไม่ได้ทำอะไร จนกระทั่งมีการตั้งมูลนิธิมิตรไทย ทำหนังสือชื่อ มิตรไทย เป็นสื่อที่จะลงข่าวต่างๆ ที่ไม่ได้ลงในเมืองไทย ตีพิมพ์เสร็จก็จะแอบส่งกลับเข้ามาเมืองไทย และส่งหนังสือไปทั่วโลกที่มีสมาคมคนไทยอยู่

 

“ผมไปนั่งทำหนังสือเล่มนี้อยู่ 4 ปีจนเป็นบรรณาธิการหนังสือ หลายคนเข้าใจผิดว่าผมเรียนศิลปะมาจากประเทศอังกฤษ แต่จริงๆ ไม่ได้เรียนอะไรทั้งนั้น เราเรียนด้วยตัวเอง ศึกษาเอาตามพิพิธภัณฑ์ แต่การไปอยู่อังกฤษทำให้ผมได้วัฒนธรรมอังกฤษมาเยอะ ทั้งการตรงต่อเวลาและตรงไปตรงมา”

 

 

เราถามนิวัติเรื่องศิลปะกับเสรีภาพ

 

นิวัติตอบทันทีว่า “ถ้าไม่มีเสรีภาพ คุณสร้างงานศิลปะไม่ได้ งานศิลปะมันมาจากความคิดของมนุษย์ซึ่งแสดงอะไรออกมาก็ได้

 

“แต่เมืองไทยมีกฎหมายเรื่องวัฒนธรรม มีกฎหมายกำหนดว่าเปิดนมไม่ได้ ส่วนญี่ปุ่นเปิดได้ แต่ห้ามเห็นขน ญี่ปุ่นมันเลยไปโกนขนออก รูปโป๊ญี่ปุ่นเลยไม่เห็นขน จ๊าบไหมล่ะ

 

“เมืองไทยมีกำหนดกฎเกณฑ์สารพัด จากปี 2519 มาถึงปัจจุบัน ศิลปะเมืองไทยก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน”

 

 

แล้วคิดอย่างไรกับคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าในปัจจุบัน เราถามต่อ

 

นิวัติชูมือขึ้นมา ทำท่าเอาเล็บมือนิ้วโป้งจิกที่ปลายนิ้วชี้ แล้วพูดว่า “มีแค่นี้”

 

“ผมไม่เห็นมีคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า ผมเห็นแต่คนที่อยู่ในปัจจุบัน

 

“อาจจะมีบ้าง เช่น ไผ่ ดาวดิน แต่มันต้องมีไผ่ 84,000 คน ถ้ามีเท่านั้น ไผ่ก็จะได้สิ่งเหล่านั้น ซึ่งมันควรจะมี เพราะเราอยากใช้สิทธิของเราแบบที่ไผ่อยากได้ ไผ่เขาแค่ต้องการสิ่งที่เห็นว่ามันต้องแบ่งปันกันบ้าง ไม่ใช่ให้ใครมากำหนดว่าเขาต้องเป็นแบบนี้ก็แค่นั้น”

 

นิวัติพูดต่อว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจเลย ไม่รู้สึกเลยว่าตอนนี้คุณอยู่ในระบบเผด็จการ ซึ่งมันเลวร้ายมาก “คุณไม่พูดถึงกันเลย ไม่แม้แต่จะต่อต้าน คุณยอมรับให้ทหารคนหนึ่งมาเป็นผู้ปกครองประเทศ จะมาทำอะไรก็ได้จากเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นภาษีของเรา”

 

 

คิดว่าทำไมคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจเปลี่ยนแปลงสังคม เราถามเขาต่อทันที

 

“ปัจจัยทางสังคมบีบบังคับคุณ คุณสบายเกินไป คุณไม่ทุกข์ยาก ไม่เคยเห็นกรรมกรทุกข์ยาก สังคมตอนนี้ตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างอยู่กันแต่ในชนชั้นตัวเอง อยากทำอะไรก็ได้ถ้ามีสตางค์ เราก็เลยแสวงหาเงินกันแทน ใครมีเงินมากก็ดี”

 

 

แล้วชีวิตในวัย 72 ปีมีอะไรที่ต้องแสวงหาอีกไหม เราถาม

 

“ใช้ชีวิตมาขนาดนี้ก็พอแล้ว ไม่อยากทำอะไรอีกแล้ว มีแต่รอวันตาย แต่ผมก็ไม่อยากรอวันตายนะ ผมมีความคิดแบบคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ว่าเราควรจะกำหนดการตายของเราเองได้ ซึ่งต้องผลักดันกฎหมายขึ้นมา

 

“ในสวิตเซอร์แลนด์และหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา คุณสามารถเดินเข้าไปหาหมอแล้วบอกว่าผมพอแล้ว ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกแล้ว แล้วคุณก็ตายไป ผมอยากเป็นแบบนี้ อยากมีที่ซึ่งทำให้ผมตายไป

 

“ถึงลูกจะไม่ให้ เมียไม่ให้ก็ไม่เกี่ยว เพราะนี่ชีวิตเรา

 

“คุณอยู่มาจนป่านนี้แล้ว คุณก็ไร้สาระ สิ้นเปลืองผู้อื่น เดือดร้อนผู้อื่น เขาจะไปทำงานก็ต้องมาเป็นห่วงอีก

 

“ตอนนี้ให้เขียนหนังสืออีกก็เขียนซ้ำ เพราะเราตัน ไม่มีอะไรเข้ามาใหม่แล้ว”

 

 

แต่วันที่ 8 ธันวาคมนี้ ที่หอศิลปกรุงเทพฯ จะมีงานที่ชื่อว่า ‘ศิลปะส่องทางกัน’ 72 ปี นิวัติ กองเพียร

 

นิวัติบอกว่าคือการชวนเพื่อนมาคุยกัน เช่น ชาติ กอบจิตติ, นนทรีย์ นิมิบุตร, ธาดา วารีช, หงา คาราวาน, พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, ธเนศ วงศ์ยานนาวา และที่ขาดเสียไม่ได้คือเพ็ญพักตร์ ศิริกุล

 

และมีปาถกฐาพิเศษโดย ธีรยุทธ บุญมี

 

รายชื่อแขกรับเชิญและเพื่อนของนิวัติที่จะมาร่วมงานล้วนไม่ธรรมดา แต่นิวัติบอกว่าเป็นการนัดเพื่อนมาคุยกันธรรมดา มาคุยกันเรื่องศิลปะ ซึ่งไม่ว่าจะแขนงใดก็ล้วนส่องทางให้แก่กัน

 

 

นิวัติพูดต่อว่าแต่ก่อนเราแยกแยะศิลปะออกเป็นแต่ละอย่างคือ จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม นาฏกรรม ดนตรี สถาปัตยกรรม ภาพยนตร์ ภาพถ่าย

 

ภาพถ่ายนั้นมีมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับว่าสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะได้ มันมาทีหลังและได้รับความนิยมเร็ว

 

 

แต่เดี๋ยวนี้เขาแบ่งงานศิลปะออกเป็น 2 มิติอย่างงานจิตรกรรม กับ 3 มิติอย่างงานประติมากรรม

 

แต่ไม่ว่างานนั้นจะสร้างสรรค์จากอะไรก็ล้วนส่องทางให้แก่กันทั้งสิ้น ด้วยการสร้างสรรค์ที่หลากหลายทั้งวัสดุและเทคนิค จึงทำให้ศิลปะเปิดกว้างมากจนไม่ใช่เพียง 7-8 อย่างดังที่เราเข้าใจกัน

 

ศิลปะทั้งหมดนี้จึงเกิดด้วยการอาศัยกันและกัน ศิลปะจึงส่องทางกัน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X