ออกตัวก่อนว่าปกติเป็นคนไม่ชอบเที่ยวปางช้าง หรือโชว์เกี่ยวกับสัตว์สักเท่าไร เพราะทราบดีว่า ก่อนที่หน้าม่านจะแสดงความสามารถน่ารักๆ ชวนตะลึง เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้นมีความทุกข์ทรมานซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการฝึก หรือแม้แต่การขึ้นโชว์จริงที่ใช้เครื่องทรมานสัตว์สารพัดชนิด ยิ่งเป็นสัตว์ใหญ่ด้วยแล้ว ยิ่งโหดร้ายทรมานมากกว่าสัตว์เล็กหลายเท่าตัว ระหว่างโชว์ก็มีเคียวง้าวข้าวขอบังคับให้ทำตามสั่ง ในขณะที่ชีวิตหลังม่านยังได้รับการดูแลไม่ดีพอ ฉะนั้นยามเมื่อรู้ตัวว่าต้องไปเยือนปางช้างที่ภูเก็ต ใจมันก็จะต่อต้านหน่อยๆ อิดออดไม่อยากไป เพราะไม่อยากสนับสนุน ปากก็บ่นไปด้วยว่าเบื่อบ้างล่ะ ไม่ชอบดูโชว์ช้างบ้างล่ะ แต่เมื่อคนท้องถิ่นเอ่ยปาก และกล่อมด้วยประโยคที่ว่า “ที่นี่ไม่มีโชว์ช้าง” สุดท้ายเลยยอมลดราวาศอก ไปเยือนจนได้ แล้วก็พบว่า Phuket Elephant Sanctuary นั้นไม่เหมือนปางช้างที่เคยเข้าใจจริงๆ
ช้างและควาญช้าง
Phuket Elephant Sanctuary เป็นปางช้างยุคใหม่ของภูเก็ต สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักพิงของช้างงานที่ทำงานหนักจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโชว์กายกรรมช้าง เที่ยวบนหลังช้างฯลฯ โดยมีแนวคิดที่ว่า ช้างทุกเชือกสมควรมีชีวิตที่ดีตามธรรมชาติหลังปลดเกษียณ และไม่สมควรทำงานจนตาย ช้างที่อาศัยอยู่ที่นี่จึงมีอิสระเสรี อยากเดินไปตรงไหนหรือกินอะไรก็ได้ ชอบเล่นน้ำก็เล่น เบื่อก็พัก โดยจะมีควาญช้างคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ ระวังไม่ให้ช้างเกิดอุบัติเหตุ หรือนักท่องเที่ยวเข้าใกล้มากเกินไปจนได้รับอันตราย
เยี่ยมชมแบบห่างๆ โดยมีควาญช้างและผู้นำทัวร์ให้ความรู้ตามประกบ
พื้นที่ราว 76 ไร่ มีช้างอาศัยอยู่แค่ 8 เชือก เนื่องจากเจ้าของ มนตรี ทดแทน กล่าวว่าต้องใช้เงินมหาศาลในการไถ่ช้าง 1 เชือกจึงค่อยเป็นค่อยไป ผนวกกับช้างที่ได้รับความช่วยเหลือ มักบาดเจ็บสาหัสจากการทำงานหนัก บางตัวตาบอด มองทางไม่เห็น บางเชือกขาพิการต้องผ่าตัดเดินไม่ได้เป็นแรมปี ต้องใช้เม็ดเงินในการรักษา และสร้างสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การอาศัย
บน: บางจุดเป็นดินโคลน ต้องใส่รองเท้าบู๊ตที่ทางปางช้างจัดเตรียมไว้ให้
ล่าง: บรรยากาศในปางช้าง พบแหล่งน้ำตามธรรมชาติเยอะมาก
ช้างเชือกนี้ตาบอด
ควาญช้างจึงต้องให้สัญญาณตลอด หากเดินเข้าใกล้คนมากเกินไป
การเที่ยวชมช้างที่ Phuket Elephant Sanctuary แบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก คือ เช้าและบ่าย ไม่ว่ารอบไหนก็เริ่มต้นด้วยคลิปวิดีโอ อธิบายปัญหาของการทารุณกรรมช้าง วิถีชีวิตของช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตามด้วยการเดินทัวร์ชมปางช้าง และปิดท้ายด้วยอาหารพื้นถิ่นท่ามกลางธรรมชาติ เวลาทัวร์ผู้นำทัวร์จะนำลูกทัวร์ไปทำความรู้จักกับช้างตามจุดต่างๆ โดยเล่าถึงประวัติความเป็นมาของช้างตัวนั้นว่าเคยผ่านงานอะไรมาก่อน และป่วยเป็นโรคอะไร เว้นระยะห่างระหว่างช้างและคนดูประมาณ 3-4 เมตรเป็นอย่างน้อย ซึ่งจากที่สังเกตดู ผู้เขียนเห็นว่าช้างแต่ละเชือกมีสุขภาพจิตดีมาก บางเชือกที่คุ้นเคยกับคนก็จะชอบอวดตัวให้เห็น มองกล้อง หยอกล้อกับควาญช้าง บางเชือกก็เหมือนเด็กแงงอน เมื่อโดนบังคับให้เดินในน้ำเพราะต้องทำกายภาพบำบัดกับคุณหมอ
ช้างคู่นี้เป็นเพื่อนกันตั้งแต่ฟาร์มเก่า
ไกด์เล่าว่าตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ ก็อยู่ด้วยกันตลอด ไม่ห่างกันเลย
ช้างทุกเชือกรู้ว่าตนเองต้องนอนคอกหมายเลขใด และควรเข้าห้องนอนตอนกี่โมง พอถึงเวลาก็จะเดินเข้าคอกเองอัตโนมัติ ในคอกมีฟางไว้สำหรับนอน มีน้ำ และอาหารเตรียมไว้เผื่อหิว และที่สำคัญคือสะอาดสะอ้าน มีคนดูแลตลอดเวลา
วันนี้ฝนตก อากาศชื้น ช้างงอแงไม่อยากลงน้ำทำกายภาพบำบัด
เลยลงไป 1 นาที แล้วขึ้น
ซ้าย: บางจุดก็เดินลำบากเล็กน้อย
ขวา: เชือกนี้ชอบกล้องและคุ้นคนมาก
ไกด์เล่าว่าสมัยก่อนเป็นนักแสดงต้องถ่ายรูปกับคนบ่อยๆ
แม้ที่นี่จะไม่มีกิจกรรมโชว์ช้าง อวดอ้างความสามารถพิเศษต่างๆ แต่ก็เพลิดเพลินไปกับธรรมชาติและเรื่องราวของช้างแต่ละเชือกได้ไม่น้อย ค่อยๆ ละเลียดดูวิถีชีวิตและลักษณะนิสัย ทั้งหมดล้วนเป็นกิจกรรมที่ช้างควรจะทำตามธรรมชาติ ให้ความรู้สึกเหมือนมาเที่ยวสวนสัตว์เปิดในป่าใหญ่ ที่ทำให้เรากลับบ้านไปพร้อมจิตสำนึกแห่งการรักษ์ช้าง บวกความรู้สึกดีๆ ถ้าคิดจะเที่ยวปางช้าง เราก็ขอให้คุณสนับสนุนปางช้างลักษณะนี้ ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ในภูเก็ต เชียงใหม่ สุรินทร์ กาญจนบุรี และสมุย ในชื่อที่ต่างกันออกไป ใครสนใจสามารถหาข้อมูลได้ในเว็บไซต์ของ Phuket Elephant Sanctuary
ฝากไว้ว่า อย่าให้ความสนุกชั่ววูบจากการโชว์สัตว์ ทำลายพวกเขาไปทั้งชีวิตอีกเลย
Phuket Elephant Sanctuary
Address: 100 หมู่ 2 ตำบลป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต
Open: 8.30-17.30 น.
Tel.: 07 6529 099 (8.30-17.30 น.), 0 2767 7111 (7.3 -10.00 น.)
Website: www.phuketelephantsanctuary.org
Map: