ไม่กี่วันมานี้ในหมู่ของนักอนุรักษ์ด้านโบราณวัตถุสถานได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อปัญหาที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า ‘คนร่วมทาง’ ได้ใช้สีทองอะคริลิกไปทาอุโบสถ วิหาร ใบเสมา พระพุทธรูปทั้งใหม่และเก่าตามวัดหลายแห่งมาก อุโบสถวิหารบางหลังถึงกับสีทองไปทั้งหลังก็มี เช่น วัดโพธาราม วัดไลย์
แน่นอนครับว่าการปฏิสังขรณ์ไม่ให้วัดทรุดโทรมดูหม่นหมองนั้นเป็นหน้าที่ของชาวพุทธ แต่อย่างกรณีที่เกิดขึ้นนี้นับได้ว่าเป็นการทำลายวัดและโบราณสถานแบบหนึ่ง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจว่าหลักการอนุรักษ์ที่ถูกต้องในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจเป็นอันดับต้นๆ คือทำไมคนทั้งสองกลุ่มจึงมีทัศนะที่แตกต่างกัน
ในโลกของพุทธศาสนิกชนนั้น วิถีทางหนึ่งของการทำบุญและสืบทอดพระพุทธศาสนาคือการสร้างหรือการทะนุบำรุงปฏิสังขรณ์ให้วัดแลดูสวยงามและใหม่อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้เองของเก่าในวัดจึงมักไม่ถูกปล่อยให้ทรุดโทรมอยู่นานหากทางวัดหรือญาติโยม (ศรัทธา) มีเงิน ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ยังใช้งานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ วิหาร พระพุทธรูป ใบเสมา ที่ไม่ว่าจะสร้างมาช้านานแค่ไหนก็ตาม
ในขณะที่ในโลกของนักอนุรักษ์นั้น วัดเก่า โบราณสถาน พระพุทธรูป หรือจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ ล้วนแต่มีคุณค่าก็ต่อเมื่อคงความเป็นของแท้ดั้งเดิมเอาไว้ได้ เพราะความเป็นของดั้งเดิมนี้เองที่พร้อมจะบอกเล่าประวัติศาสตร์ในอดีต
โลกที่มีกระบวนทัศน์ (Paradigm) ที่แตกต่างนี้เองที่ทำให้เกิดการปะทะกันทางความคิดและแนวทางของการอนุรักษ์
คราวนี้ปัญหาของการทาสีทองนี้คืออะไรบ้าง
ปัญหาแรก การทำลายโบราณสถานวัตถุ สีทองสมัยใหม่นี้มีปัญหาหนึ่งไม่ได้แตกต่างจากสีทาบ้านมากนักคือเป็นสีที่ติดทน ยากแก่การล้างออก และยังไม่ค่อยจะยอมให้ความชื้นผ่านเข้าออกได้ ดังนั้นในระยะยาว อุโบสถและวิหารที่ถูกทาสีไป ความชื้นที่ทะลุผ่านจากพื้นขึ้นมาตามอิฐและผนังปูนก็จะพยายามหาทางดันตัวออกมา ซึ่งในไม่ช้าก็จะทำให้สีลอก แต่ที่ร้ายแรงคือปูนหลุดร่อน เช่นเดียวกันกับพระพุทธรูปที่ทำจากหินแล้วประทับนั่งอยู่ติดกับพื้นก็จะได้รับผลกระทบทำนองเดียวกันนี้
บางท่านอาจตั้งคำถามว่าแล้วปูนกับสีสมัยก่อนเป็นอย่างไร คือทั้งสีและปูนฉาบผนังแบบโบราณนั้นทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น หินปูน เปลือกหอย และอื่นๆ ดังนั้นเมื่อฉาบไปแล้วจึงยอมให้ความชื้นผ่านออกไปได้ แต่แน่นอนครับว่าผ่านไปนานวันเข้าก็ย่อมเสื่อมสภาพเป็นปกติ แต่ก็ไม่รุนแรงและอยู่ได้เป็นร้อยปี
นอกจากกรณีนี้แล้วยังพบว่าจิตรกรรมฝาผนังบางวัด เช่น วัดลัฏฐิกวัน อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ถูกทาทับบางส่วนด้วยสีทองอะคริลิก ซึ่งส่งผลทำให้ทำลายภาพเก่าหรือทำลายประวัติศาสตร์ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเท่ากับไปทาทับหลักการใช้สีของช่างโบราณ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบหนึ่ง
นอกจากนี้แล้ววัดบางแห่งอาจได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถาน ดังนั้นจึงย่อมผิด พ.ร.บ. โบราณวัตถุ โบราณสถานฯ อีกด้วย ดังที่กรมศิลปากรได้ออกมาประกาศแล้ว เรื่องนี้อย่าไปมองว่าเป็นใช้อำนาจ แต่คือการปกป้องสมบัติชาติที่เป็นของร่วมกันของทุกคน
ปัญหาที่สอง ความงามและความหมาย เดิมทีนั้นสีทองมักจะใช้กับสิ่งก่อสร้างหรือภาพวาดที่มีความสำคัญมากๆ เช่น พระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระแก้ว ภาพของพระพุทธเจ้าในงานจิตรกรรมไทย หรือแม้จะใช้สีทองวาดหรือรดน้ำก็จะเห็นได้ว่ามีการเว้นสีดำให้เป็นพื้นของภาพเพื่อขับเน้นความงามของสีทองให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับวิหารอุโบสถสมัยเก่าที่มีการเลือกที่จะใช้ผนังสีขาวก็เพื่อขับเน้นซุ้มประตูที่ปิดทองอย่างสวยงาม
ดังนั้นการทาสีทองไปเสียทั้งหมดไม่ว่าจะอุโบสถ วิหาร หรือพระพุทธรูป จึงทำให้ขาดทั้งความงามและสูญเสียความหมายของความงามหรือศาสนาไปพร้อมกัน
ปัญหาสุดท้ายคือการทำลายประวัติศาสตร์และแหล่งเรียนรู้ ทุกวันนี้ในขณะที่เราพยายามส่งเสริมให้คนในชาติให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ เพราะบอกเล่าทั้งความเป็นมาของชาติและชุมชน รวมถึงยังสามารถส่งเสริมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีก
ดังนั้นการที่โบราณสถานและโบราณวัตถุถูกทำให้ใหม่จากสีนี้ก็เท่ากับเป็นการทำลายประวัติศาสตร์ดังกล่าว และอนาคตในการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ในอังกฤษและอีกหลายๆ ประเทศนั้นพยายามจะรักษาความดั้งเดิมของวัดที่ยังใช้งานอยู่ ซึ่งบางครั้งมีสถานะเป็นโบราณสถานด้วย เพราะสามารถเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ให้กับเด็กนักเรียนและคนในชุมชน อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาล
เท่าที่ทราบ การทาสีวัด พระพุทธรูป และวัตถุเนื่องในศาสนานี้ แน่นอนว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าอาวาส พระในวัด กรรมการวัด และอาจจะรวมถึงคนในชุมชนด้วย เพราะย่อมเป็นธรรมดาที่อยากจะทำให้วัดที่ดูเสื่อมโทรมกลับมาดูใหม่และเหมาะสมต่อการใช้งาน
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ทางวัดอาจต้องเข้าใจด้วยว่าบางสิ่งนั้นได้มาอาจไม่คุ้มเสีย และการอยากให้วัดดูใหม่นี้ก็สามารถหาทางออกอื่นได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าญาติโยมพร้อมที่จะมาช่วยทั้งเงินและแรง ทางที่ดีวัดควรจะปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศิลปากร นักวิชาการ นักโบราณคดี เพื่อขอคำแนะนำถึงแนวทางการบูรณปฏิสังขรณ์ที่ถูกต้อง จากนั้นจึงค่อยดำเนินการ
แน่นอนครับ บางครั้งอาจช้าไม่ทันใจ แต่การอดทนรอก็ดีกว่าการกลับมาแก้ปัญหาที่ตามมา เช่น ต้องมาลอกสีทองออก ซึ่งใช้ทั้งเวลาและงบประมาณ แถมยังทำให้พื้นผิวและจิตรกรรมเก่าลอกและเสื่อมสภาพไปอีกด้วย เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย ส่วนเรื่องจะได้บุญไหมก็คงได้ หากคิดภายใต้โลกทัศน์ทางศาสนา แต่ถ้าเป็นการทำบุญที่ดีที่ถูกต้องแล้วคงไม่มีใครเขามาวิพากษ์วิจารณ์กันจนเป็นเรื่องใหญ่โต ไม่ใช่พวกเขาเป็นมารศาสนาอะไร แต่ด้วยความหวังดีและเจตนาดี ดังนั้นจึงควรรับฟัง ไม่ควรมีทิฐิ
แต่เอาเป็นว่าเรื่องนี้สะท้อนอะไรในสังคม คือถ้ามองกันในภาพกว้าง มีหลายวัดมากที่ทั้งกลุ่ม ‘คนร่วมทาง’ และศรัทธาอื่นๆ ผมไม่ค่อยแน่ใจนัก แต่คิดว่าการใช้สีทองทาทั้งวัดแบบนี้สะท้อนสองเรื่อง
เรื่องแรก การใช้สีทองอย่างมากล้นนี้เป็นภาพสะท้อนของการดึงดูดคนด้วยวัตถุนิยมแบบหนึ่ง คนอาจเข้าวัดเพราะเห็นอะไรที่แปลกตา แต่จะเข้าใจหลักธรรมของพระศาสดานั้นไหมคงต้องตั้งคำถาม
เรื่องที่สอง วัฒนธรรมการล่าแต้มบุญ คือยิ่งทาสีมากวัดเท่าไรยิ่งได้บุญเท่านั้น มันอาจจะจริงถ้ามองกันในแง่ปริมาณ แต่ต้องนึกถึงคุณภาพที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวกับตัวโบราณวัตถุสถานหรือวัด เพราะสีทองสมัยใหม่นี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายที่ยากจะรื้อฟื้นกลับมาได้
สุดท้ายนี้ผมเข้าใจว่ากลุ่มคนที่ทาสีทองนั้นมีจิตใจและเจตนาที่ดี แต่ศรัทธานั้นไม่เพียงพอต่อการสืบศาสนาและบรรลุธรรมได้ แต่ต้องมีหลักวิชาที่ได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้างด้วยครับ
ภาพ: เฟซบุ๊ก คนร่วมทาง และ TOA Paint
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์