×

ถอดรหัสความสำเร็จ WeWork โคเวิร์กกิ้งสเปซที่มีมูลค่าสูงกว่าทวิตเตอร์

11.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • WeWork กวาดเงินจากการระดมทุนรอบใหม่สูงถึง 760 ล้านดอลลาร์ ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ แถมยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง SoftBank หนุนหลังอยู่
  • ปัจจุบัน WeWork ขยายธุรกิจจากการให้แชร์พื้นที่ทำงาน มาสู่คอมมูนิตี้ที่สร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ เพิ่มบริการแชร์ที่พัก WeLive และมุมฟิตเนส WeWork Wellness ในโคเวิร์กกิ้งสเปซ

     ใครจะคิดว่าโคเวิร์กกิ้งสเปซจะมาถึงจุดบูมสุดๆ จนกลายมาเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าแซงหน้าทวิตเตอร์ไปแล้ว เรากำลังพูดถึง WeWork ผู้สร้างอาณาจักรโคเวิร์กกิ้งสเปซที่มีสาขามากถึง 156 แห่งใน 15 ประเทศจากทั่วโลก และเพิ่งจะได้เงินระดมทุนรอบใหม่ (Series-G) จำนวน 760 ล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ทันที!

     เว็บไซต์ Business Insider ชี้ว่ามูลค่าของ WeWork นั้นสูงกว่าสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอย่าง Twitter (12,960 ล้านดอลลาร์) Box บริการแชร์ไฟล์ออนไลน์ (2,440 ล้านดอลลาร์) และ Blue Apron (1,540 ล้านดอลลาร์) บริการจัดส่งวัตถุดิบทำอาหาร รวมกันทั้ง 3 บริษัทด้วยซ้ำ!

     เบื้องหลังความสำเร็จของอาณาจักรแห่งโคเวิร์กกิ้งสเปซเจ้านี้คงไม่ใช่แค่การแชร์พื้นที่ให้กับเหล่าฟรีแลนซ์หรือคนรุ่นใหม่ที่เบื่อสไตล์การทำงานแบบเดิม พร้อม Wi-Fi ฟรีแน่ๆ

 

 

พลิกโอกาสจากวิกฤต สร้างคอมมูนิตี้ที่เป็นมากกว่าการแชร์พื้นที่นั่งทำงานร่วมกัน

     WeWork ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดย Miguel McKelvey กับ Adam Neumann เริ่มจากเปิดพื้นที่ออฟฟิศให้คนมาทำงานร่วมกันในตึกเล็กๆ แห่งหนึ่งในย่าน Soho ของนิวยอร์ก ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอเมริกายังไม่ฟื้นตัวดีจากวิกฤตทางการเงินโลกปี 2008 และฟองสบู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่อยากเริ่มต้นธุรกิจในราคาประหยัด และบริษัทที่อยากรัดเข็มขัดจากค่าเช่าตึกสำนักงาน

     ที่สำคัญ ธุรกิจมาถูกทาง เพราะจับกระแสช่วงที่ Digital Nomad และสตาร์ทอัพกำลังมาแรงพอดี กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ (ขอแค่มีอุปกรณ์กับอินเทอร์เน็ต) และใฝ่ฝันจะเป็นเจ้าของธุรกิจ สิ่งที่ WeWork ทำจึงไม่ใช่แค่ออกแบบพื้นที่น่านั่งทำงาน แต่ยังสร้างวัฒนธรรมการทำงานขึ้นมาใหม่ด้วย เช่น จัดกิจกรรม Business Networking เน้นสร้างคอมมูนิตี้และคอนเน็กชัน ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงโอกาสทางธุรกิจและการทำงานมากขึ้น

     WeWork ยังจับมือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในแต่ละประเทศ เพื่อกระโจนเข้าสู่ตลาดต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เบอร์ลิน, เม็กซิโกซิตี้, บัวโนสไอเรส, ปารีส, เซาเปาโล โดยเน้นทำเลย่านใจกลางเมือง แถมยังตั้งเป้าว่าจะบุกตลาดมุมไบ โบโกตา และเมลเบิร์นภายในปีนี้ด้วย

 

 

ไม่ยึดติดกับไลน์ธุรกิจเดิม

     เอาเข้าจริง โมเดลธุรกิจ WeWork คล้ายกับ Airbnb ที่เน้นตอบสนองความต้องการแบบ on-demand เพียงแต่ Airbnb สร้างคอมมูนิตี้สำหรับให้เช่าที่พักอาศัย โดยไม่ได้เป็นเจ้าของที่พักเอง ขณะที่ WeWork ไม่ได้มองว่าตัวเองทำแค่ธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซ แต่มองว่าพื้นที่ทุกตารางเมตรคือโอกาส จึงเพิ่มบริการตั้งแต่การเช่าโต๊ะทำงานในโคเวิร์กกิ้งสเปซ ห้องประชุม ไปจนถึงออฟฟิศส่วนตัว ควบคู่กับขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มฟรีแลนซ์และสตาร์ทอัพ มาจับตลาดของบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการปรับเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน เช่น GM, IBM, Microsoft, BuzzFeed และ Spotify

     นอกจากนี้ WeWork ยังแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ได้แก่ WeLive บริการแชร์ที่พักให้กับคนทั่วไป (Coliving) และ WeWork Wellness ฟิตเนสในโคเวิร์กกิ้งสเปซแห่งแรกที่ WeWork สาขานิวยอร์ก หวังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองแบบครบวงจร

 

     

     ถึงธุรกิจจะโตเร็ว แต่ดูเหมือนว่า WeWork จะปรับโมเดลธุรกิจตามกระแสและความต้องการของตลาดใหม่ๆ ได้ค่อนข้างเร็วและยืดหยุ่น จนเข้าตานักลงทุนรายใหญ่อย่าง SoftBank ซึ่งทุ่มเงินลงทุนกับบริษัทสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
     เป็นไปได้ว่าแม้แต่นักลงทุนเองก็มองเห็นความเชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพย์สินของ WeWork ไม่แพ้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือโรงแรม จึงน่าจะมีโอกาสไปได้ไกล แม้ว่าธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซจะมาถึงจุดอิ่มตัวเหมือนกับเจ้าอื่นๆ ในตลาดในท้ายที่สุดก็ตาม

 

Photo: wework.com

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X