ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาคงเป็นสวรรค์ของแฟนกีฬาหลายๆ คนในหลากหลายวงการ เมื่อมีการแข่งขันแมตช์สำคัญเกิดขึ้นมากมายที่ส่งเสียงสั่นสะเทือนไปทั่วทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นแหลม ศรีสะเกษ ป้องกันแชมป์โลกครั้งที่ 3 ได้สำเร็จด้วยการเอาชนะ อิราน ดิอาซ ในการขึ้นชกป้องกันแชมป์ครั้งแรกในศึกวัน แชมเปี้ยนชิพ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับวงการมวยสากลไทยในประเทศ
รวมถึงเสียงเชียร์ของแฟนบอลบางกอกกล๊าสที่ต้องพบเจอกับการตกชั้นจากฟุตบอลไทยลีก ฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศ หลังจากไทยลีกฤดูกาลนี้ได้ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ
แต่เสียงที่ดังกระหึ่มขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับวงการมอเตอร์สปอร์ตไทย คงไม่มีเสียงใดดังไปกว่า การจัดการแข่งขันโมโตจีพีครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2018 ที่สนามช้างอินเตอร์ เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์
ตัวเลขของความสำเร็จครั้งนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของรายการนี้ที่ได้เดินทางมาที่ประเทศไทยครั้งแรกที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยตลอดสามวันมียอดผู้เข้าชมการแข่งขันจักรยานยนต์ความเร็วสูงทั้งหมด 222,535 คน สร้างเม็ดเงินสะพัดทำรายได้ให้การท่องเที่ยวของไทยกว่า 3,000 ล้านบาทในการจัดการแข่งขันปีแรก จากการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ 1,200 ล้านบาทสำหรับการแข่งขันทั้งหมด 3 ปี
ขณะที่สถิติในสนามเราได้แชมป์คนแรกของสนามเป็น มาร์ค มาร์เกวซ เจ้าของแชมป์โมโตจีพี 4 สมัยที่วิ่งเข้าเส้นชัยด้วยความเร็ว 1.30.031 น. ส่วนยอดคนดูทั้งหมด 3 วันนั้น ดอร์นา สปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์โมโตจีพีเผยว่า การแข่งขันโมโตจีพีครั้งนี้ในประเทศไทยนับเป็นตัวเลขคนเข้าชมสูงที่สุดในฤดูกาลนี้ จากที่แข่งขันทั้งหมด 15 สนามทั่วโลก
นอกจากนี้ มิสเตอร์คาเมโร ประธานบริษัทดอร์นา สปอร์ต เจ้าของสิทธิ์จัดการแข่งขันโมโตจีพีทั้ง 19 สนามทั่วโลก ยังได้กล่าวชื่นชมการแข่งขันพีทีที-โมโตจีพีที่ประเทศไทยครั้งนี้ว่า เป็นการจัดงานที่ดีที่สุด ประสบความสำเร็จ และราบรื่นเรียบร้อยที่สุดในบรรดาการจัดการแข่งขันครั้งแรกของสนามแข่งใดๆ ตลอด 27 ปีที่ดอร์นา สปอร์ต จัดมา
แต่ความสำเร็จทั้งหมดนั้นมีจุดเริ่มต้นจากไหน THE STANDARD ที่ติดตาม และ เดินทางไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ จะนำคุณไปสู่ไฮไลต์เบื่องหลังความสำเร็จในมิติต่างๆ ของการแข่งขันโมโตจีพีครั้งแรกในประเทศไทย
มาร์ค มาร์เกวซ กับตุ๊กตุ๊กไทย และข้าวหมูแดง
เมื่อวันพุธที่ 3 ตุลาคม ช่วงเช้าตรู่ สื่อมวลชนหลายสำนักเดินทางไปสู่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เพื่อรอให้การต้อนรับแชมป์โลกโมโตจีพี 4 สมัยที่พร้อมเดินทางมาร่วมงานแถลงโปรโมตการแข่งขันโมโตจีพีที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการที่จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคม
ภายในงานมีการถ่ายภาพรวมบริเวณหน้าลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันไปเตรียมรายงานข่าวถึงการปรากฏตัวของนักแข่งระดับหัวตารางของโมโตจีพีฤดูกาลนี้อย่างมาร์เกวซ
แต่ว่าสิ่งที่ทำให้มาร์เกวซ และโมโตจีพีเริ่มเป็นที่พูดถึงในวงการกว้างอย่างจริงจังเกิดขึ้นหลังจากงานแถลงครั้งนั้น ซึ่งมาร์เกวซได้เดินทางไปตามจุดต่างๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อร่วมถ่ายทำคลิปโปรโมตการแข่งขัน
ด้วยการร่วมกิจกรรมขับรถตุ๊กตุ๊ก นั่งกินข้าวหมูแดงนายชุน ก่อนที่จะมีภาพที่สร้างเสียงฮือฮาไปทั่วโลกโซเชียล เมื่อมีภาพของมาร์เกวซปรากฏตัวซ้อนอยู่บนรถจักรยานยนต์ของตำรวจไทย พร้อมกับการสันนิษฐานจากแฟนๆ ในโลกออนไลน์ว่า
มาร์เกวซโดนจับไปเสียค่าปรับหลายข้อหาปรากฏขึ้นพร้อมกับข่าวลือต่างๆ ก่อนที่เรื่องทั้งหมดจะจบลงด้วยเฟซบุ๊กกองบัญชาการตำรวจนครบาล – บช.น. ได้ชี้แจงภาพดังกล่าวว่าเป็นภาพที่มาร์เกวซนั่งพักรอทีมงานใน สน. เพราะข้างนอกอากาศร้อน ไม่ใช่เป็นการไปเสียค่าปรับ จากนั้นประมาณ 10 นาทีต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ไปส่งมาร์เกวซ ไปบริเวณที่ถ่ายทำฉากต่อไป ซึ่งขณะที่มาร์เกวซมานั่งพักรอที่ สน.สำราญราษฎร์ ก็มีประชาชนและตำรวจที่ชื่นชอบได้ขอถ่ายภาพ อาจมีบางส่วนเข้าใจผิดว่ามาร์เกวซถูกตำรวจจับ และได้ยืนยันว่ามาร์เกวซและทีมงานได้ทำการขออนุญาตถ่ายทำ และขับขี่ในพื้นที่ตามกฎระเบียบทุกอย่าง
ก่อนที่ข่าวสารทุกอย่างจะจบลงพร้อมกับความสนใจของหลายๆ คนที่เริ่มมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันโมโตจีพีที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์
วันแรกกับการเปิดตัวของรถอีแต๋นในมหกรรมโมโตจีพีครั้งแรกของไทย
วันที่ 5 ตุลาคม ทีมงาน THE STANDARD เดินทางมาถึงสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต พร้อมกับการพบรถอีแต๋นหลายร้อนคันวนเวียนอยู่โดยรอบบริเวณสนาม ซึ่งเราได้ค้นพบว่านี่คือพาหนะการเดินทางสำหรับแฟนกีฬาในพื้นที่
ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกพาแฟนกีฬาเดินทางไปยังจุดต่างๆ ของสนามแล้ว ยังเป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับการแข่งขันโมโตจีพีครั้งแรกในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
“ภูมิใจมากครับ ปกติรถเหล่านี้เราใช้กับงานเกษตรกรรม แต่ครั้งนี้เราได้มีโอกาสต้อนรับคนจากทั่วโลกด้วยรถของเราเอง
“เราภูมิใจมากนะที่เห็นคนเดินทางมาไม่ใช่แค่จังหวัดเรา แต่ยังไปจังหวัดรอบๆ ทั้งสุรินทร์และนครราชสีมา เราภูมิใจมากในวันนี้” หนึ่งในคนขับรถอีแต๋นได้เปิดใจกับ THE STANDARD ในวันที่พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมกีฬาระดับโลกที่มาจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย
ขณะที่ทางวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในการแข่งขันวันสุดท้ายถึงความประทับใจที่ทาง มิสเตอร์คาเมโร ประธานบริษัทดอร์นา สปอร์ต เจ้าของสิทธิ์จัดการแข่งขันโมโตจีพีทั้ง 19 สนามทั่วโลก มีต่อการใช้รถอีแต๋นและการบริหารจัดการการจราจรในพื้นที่ ซึ่งการแข่งขันในปีนี้สามารถทำได้อย่างดีเยี่ยม
“เขาบอกว่าอันนั้นเป็นของชอบของเขาเลย เขาพบว่าการที่มีเสน่ห์ของท้องถิ่นขึ้นมานำเสนอนั้น จะทำให้สนามของเขา การแข่งขันถูกจดจำ ในขณะเดียวกันเขาก็เห็นว่าการสร้างสนาม การออกแบบเมือง การจราจร การดูแลเรื่องอาหาร การจัดกิจกรรมเสริม หรือแม้กระทั่งการที่เราจัดคอนเสิร์ตมาดึงคนเอาไว้เพื่อให้ลดปัญหาการจราจร โดยดึงคนเอาไว้ให้อยู่ในพื้นที่
“เมื่อสนามแข่งเสร็จแล้วทุกคนไม่จำเป็นต้องวิ่งกลับบ้านในทันที แต่ยังมีกิจกรรมต่างๆ ให้ร่วมทำในพื้นที่ เขาเห็นว่าทำได้ดีมาก”
วันที่สองกับแฟนพันธ์ุแท้ของวาเลนติโน รอสซี
แน่นอนว่าสำหรับแฟนกีฬามอเตอร์สปอร์ตโดยเฉพาะการแข่งขันจักรยานยนต์ โมโต จีพีคือการแข่งขันที่เปรียบได้เหมือนกับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่มาแข่งขันในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนต้องมีแฟนๆ มารอพบเจอกับไอดอลในวงการ
โดยหลังจากงานแถลงข่าววันที่ 6 ตุลาคม ค่ำคืนก่อนการแข่งขันรอบสุดท้าย THE STANDARD ได้พบเจอกับคันธรส ชำนาญกิจ หรือยุ้ย แฟนพันธ์ุแท้ของนักแข่งที่มีชื่อว่า ‘เดอะ ด็อกเตอร์’ วาเลนติโน รอสซี ยอดนักบิดชาวอิตาเลียนเจ้าของแชมป์โลก 9 สมัย ซึ่งวันนี้เธอได้พบเจอกับเขาตัวเป็นๆ และได้รับของที่ระลึกจากเขาอีกด้วย
“ชื่นชอบรอสซีเพราะแพสชันของเขาที่มีให้กับกีฬา เขาจะลูบมอเตอร์ไซค์เขาทุกครั้งก่อนลงแข่งขันเหมือนกับว่ากำลังสื่อสารกับสิ่งมีชีวิต ทุกครั้งที่รถเขาล้ม เขาจะรอจนกว่าทีมงานจะขนรถของเขาด้วยความระมัดระวัง จนกว่ารถของเขาจะออกจากสนามอย่างปลอดภัย รอสซีถึงจะยอมเดินออกจากสนาม นั้นแหละคือสิ่งที่ทำให้ชื่นชอบในตัวเขา
“นอกจากนั้นตัวเขามีช่วงชีวิตที่สูงสุด และตกต่ำจนไม่กลับมาแข่งอีกแล้ว เขาเคยชนเพื่อนสนิทเขาตายในสนามที่เซปัง มาเลเซีย เมื่อปี 2011 ชีวิตเขามีปัญหาตลอด เขาเป็นนักสู้มาก คือถ้าเป็นคนอื่นอาจจะเลิกไปนานแล้ว เขาสามารถวางมือเมื่อไรก็ได้ แต่เขาเลือกที่จะต่อสู้ต่อเสมอ คือพอเราได้ติดตามเรื่องราวของเขา มันมอบพลังให้กับเราในการต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ในชีวิตมาก
“ปกติตามไปดูที่มาเลเซียก็ตื่นเต้น ได้เห็นเขาแข่งจริงๆ แต่มาวันนี้จังหวะที่เขาขี่มอเตอร์ไซค์ออกมาแล้วเขาหันมายิ้มให้คือมีความสุขที่สุดแล้ว เพราะปกติรอสซีจะเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูงมาก ไม่ค่อยยุ่งกับใครเท่าไร”
วันสุดท้ายกับมาร์เกวซ ผู้คว้าสิทธิ์ในการเป็นแชมป์คนแรกของโมโตจีพีในประเทศไทย
เสียงของแฟนกีฬาดังมากขึ้นกว่าปกติในวันนี้ โดยจากยอดของแฟนกีฬาที่เข้าในสนามนั้นสูงขึ้นเกือบเท่าตัว เนื่องจากนี่คือวันตัดสินชัยชนะของโมโตจีพีครั้งแรกในประเทศไทย
ในช่วงเช้าเป็นการแข่งขันของรายการโมโตทรีและโมโตทู ก่อนที่คนทั่วทุกพื้นที่จะเดินทางไปยังสแตนด์ เพื่อรอรับชมการออกตัวของนักแข่งที่จะวิ่งกันทั้งหมด 26 รอบ เพื่อหาผู้ที่ทำความเร็วสูงสุดในสังเวียนแห่งนี้
เวลาผ่านไป 26 รอบของสนามแข่ง ในช่วงโค้งสุดท้ายคือเวลาที่ทุกคนได้ค้นพบกับเสน่ห์ของการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อ อังเดร โดวิซิโอโซ จากทีมดูคาติที่หลายคนมองว่าจะเป็นทีมที่คว้าชัยไปในครั้งนี้ เข้าโค้งด้านในสร้างทีท่าเหมือนจะแซงขึ้นที่หนึ่งเข้าเส้นชัยอย่างง่ายดาย
แต่แล้วมาร์เกวซ ที่ได้รับฉายาว่าเด็กระเบิด ก็ระเบิดฟอร์มที่หลายๆ คนในสนามอุทานออกมาว่า ‘บ้าไปแล้ว’ พลิกกลับเข้าด้านในแซงกลับเข้ามาในตำแหน่งที่หนึ่งและยกล้อเข้าเส้นชัยอย่างฉิวเฉียด สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแข่งคนแรกที่คว้าแชมป์โมโตจีพีสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์
มาร์เกวซฉลองชัยชนะด้วยการหยิบธงของทีมขี่รอบสนามอีกครั้ง พร้อมกับหยุดที่หน้าแฟนกีฬาชาวไทยพร้อมกับทำท่าไหว้ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนและให้กำลังใจพวกเขาในการแข่งขันครั้งแรกที่สนามแห่งนี้ ก่อนจะก้าวขึ้นเวทีเพื่อก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของโพเดียมที่เขาคุ้นเคยอีกครั้ง
สื่อทุกสำนักเดินทางไปเฝ้าคอยที่ห้องแถลงข่าวเพื่อรอฟังความรู้สึกของการเข้าโค้งสุดท้าย จนนำพาเขาและทีมเรปโซ ฮอนด้า เข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่หนึ่งอีกครั้ง โดยทุกสื่อได้มีการสอบถามถึงความรู้สึก มุมมองที่เขามีต่อฤดูกาลนี้ และเป้าหมายในฤดูกาลหน้า
ก่อนที่ทีมงานภายในห้องจะมอบไมค์ให้กับ THE STANDARD เราจึงตัดสินใจถามมาร์เกวซในฐานะแชมป์คนแรกของสนามแห่งนี้ว่า
คุณประทับใจอะไรที่สุดในการมาคว้าแชมป์ที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก
“สิ่งที่ผมรู้สึกคือบรรยากาศที่ยอดเยี่ยม แฟนๆ กีฬาสนับสนุนนักแข่งทุกคนเหมือนกันหมด ซึ่งพวกเรารู้สึกขอบคุณมาก
“บรรยากาศหลังแข่งจบ ตั้งแต่หกโมงเย็นเป็นต้นไปเหมือนปาร์ตี้สำหรับคนในวงการมอเตอร์สปอร์ต เป็นสิ่งที่ดีมาก
“และหวังว่าพวกเขาจะได้รับความสนุกจากการแข่งขันที่เราได้มอบให้กับพวกเขา”
แล้วการขับตุ๊กตุ๊กล่ะ
“ปีหน้าผมอาจต้องขับตุ๊กตุ๊กอีกครั้ง เพราะเป็นสิ่งที่นำพาโชคมาให้ผมในปีนี้”
หลังจากที่ออกจากห้องแถลงข่าวสื่อมวลชน ทีมงานของนักแข่ง และเจ้าหน้าที่ต่างๆ เริ่มต้นขั้นตอนการแพ็กเก็บอุปกรณ์ต่างๆ
สิ่งที่เราพบเห็นคือทีมงานของนักแข่งต่างๆ ทำการขอบคุณเจ้าหน้าที่ชาวไทย หนึ่งในประโยคที่เราได้ยินคือ “พวกคุณทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม และเราหวังว่าจะได้เจอกันในปีหน้า” ก่อนทั้งคู่จะแลกนามบัตรออนไลน์ที่เรารู้จักกันในชื่อเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกันก่อนที่พวกเขาจะกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในปีหน้า และปี 2020 ที่สนามแห่งนี้
เช่นเดียวกันกับสื่อต่างประเทศหลายๆ สำนักที่นั่งทำงานร่วมกันในห้องสื่อมวลชนของสนาม
“ผมเป็นคนอังกฤษที่เดินทางมาจากอิตาลี เพื่อมาทำข่าวการแข่งขันโมโตจีพีครั้งแรกในไทย ผมต้องบอกเลยว่าพวกคุณบริหารจัดการทุกอย่างได้ดีมาก
“ผมเคยมาไทยหลายครั้งแล้วนะ แต่นี่คือครั้งแรกที่ผมเดินทางมาบุรีรัมย์ และต้องบอกเลยว่าประทับใจมากกับการบริหารจัดการทุกอย่าง” สื่อมอเตอร์สปอร์ตจากอิตาลีได้เปิดใจกับ THE STANDARD ระหว่างที่เขากำลังแพ็กคอมกลับเข้าสู่กระเป๋า เพื่อเตรียมเดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่นสำหรับสนามต่อไป
การแข่งขันโมโตจีพีครั้งแรกถือว่าเป็นความสำเร็จในหลายมิติของการแข่งขัน ในสนามเราได้พบเห็นการแข่งขันดุเดือดและสนุกสนาน ซึ่งช่วงเวลาแค่ไม่กี่นาทีแห่งความสำเร็จนั้นต้องแลกมาด้วยการเตรียมพร้อมเป็นเวลาหลายปี พร้อมกับทีมงานอีกหลายร้อยชีวิต
ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นทีมงานจากจังหวัดบุรีรัมย์และพื้นที่ใกล้เคียง ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่สร้างความประทับใจ บวกกับการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จนโมโตจีพีครั้งแรกในไทยเป็นที่พูดถึงในเวทีโลกเป็นที่เรียบร้อย
แต่ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น โดยเนวิน ชิดชอบ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังจบการแข่งขันว่า ทางจังหวัดเตรียมพัฒนาเรื่องของที่พักสำหรับแฟนกีฬาในอนาคต
“เราได้เห็นหลายอย่าง เรารู้ว่าในวันชิงจำนวนของพื้นที่สแตนด์อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของแฟนๆ ในอนาคต นั่นก็เป็นสิ่งที่ผมต้องไปคิดและต้องไปทำ ในส่วนของที่พักในจังหวัดบุรีรัมย์ มันมีข้อจำกัด แต่ผมก็ตัดสินใจไว้ว่า ผมจะทำโฮมสเตย์กับ Airbnb ในบุรีรัมย์ เมื่อถึงโมโตจีพีปีหน้าเราจะต้องทำให้ได้อีก 5,000 ยูนิต นั่นหมายความว่าเราจะมีที่พักรองรับนักท่องเที่ยว 10,000 ยูนิต แล้วทุกอย่างก็จะสมบูรณ์กว่านี้”
ขณะที่ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็เผยว่าแผนในอนาคตเรื่องของการท่องเที่ยวนั้นอาจเตรียมการกระจายตั๋วเข้าชมการแข่งขันให้กับบริษัททัวร์ต่างๆ มารับบัตรไปจำหน่ายด้วยการจัดเป็นทริป หรือทำแพ็กเกจทั้งเที่ยวและชมการแข่งขัน เพื่อให้ประชาคมท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมมากขึ้น
ก่อนจะกล่าวปิดท้ายเรื่องของสัญญากับทางเจ้าของลิขสิทธิ์ในอนาคต หลังจากที่หมด 3 ปีว่า
“ตอนนี้มีสัญญาอยู่ 3 ปี ซึ่งจะต้องทำให้เห็นว่าประสบความสำเร็จ เพื่อที่จะได้นำเอาไปใช้ในการเจรจาต่อสัญญาครั้งต่อไปได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม”
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดของการจัดการแข่งขันระดับโลกในประเทศไทย ความสำเร็จในแง่ของการบริหารจัดการและการต้อนรับแฟนกีฬา นักท่องเที่ยวและตัวนักแข่งเอง มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการสร้างแรงดึงดูดให้กับผู้คนในการย้อนกลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง
“ตัวนักแข่งเองไปให้สัมภาษณ์ว่าเขาชอบมาก หลังจากแข่งแล้วเขาจะอยู่ที่เมืองไทยต่ออีกสักสามวันห้าวัน บางคนจะไปทะเล บางคนไปกรุงเทพฯ ผมคิดว่าตัวเขาเองก็จะช่วยโปรโมตประเทศไทยในมุมต่างๆ ที่เราเองตะโกนอย่างไรคนก็อาจจะไม่ได้ยิน แต่พวกเขาพูดเบาๆ ก็มีคนรอฟังอยู่เยอะแยะ แฟนคลับเขาเองมีเป็นล้านครับ”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์