จากกรณีที่สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า สายลับจีนได้ใช้ไมโครชิปในการแฮกเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ราว 30 แห่ง รวมทั้ง Apple และ Amazon ล่าสุด ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ว่า การโจมตีของจีนเป็นสัญญาณเตือนถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งตอกย้ำว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรมียุทธศาสตร์ปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุกของตนเอง
จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวที่ทำเนียบขาวว่า การที่จีนพยายามคุกคามไซเบอร์สเปซและสเปกตรัมเทคโนโลยีสารสนเทศของสหรัฐฯ ถือเป็นวาระสำคัญระดับชาติ ดังนั้นสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องจัดตั้งกลไกป้องกัน เพื่อหยุดยั้งไม่ให้จีนทำแม้กระทั่งคิด รวมถึงดำเนินมาตรการเชิงรุกทางไซเบอร์ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อนุมัติ
อย่างไรก็ตาม โบลตันไม่ยืนยันว่า ทำเนียบขาวได้รับแจ้งเรื่องการแฮกระบบบริษัทอเมริกันก่อนที่ Bloomberg จะรายงานหรือไม่ บอกแต่เพียงว่า เขาจะไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับข่าวกรองที่มีความเฉพาะเจาะจง
เมื่อวานนี้ Bloomberg Businessweek รายงานว่า สายลับจีนได้อาศัยช่องโหว่ของระบบห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีในการแทรกซึมเข้าไปในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เกือบ 30 แห่ง ซึ่งรวมถึง Apple Inc., Amazon.com Inc. และบริษัทที่พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับส่งภาพฟุตเทจจากโดรนไปยังสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) และระบบสื่อสารที่ใช้ติดต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ด้วย
ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีการลักลอบฝังไมโครชิปขนาดจิ๋ว ซึ่งใหญ่กว่าเม็ดทรายเล็กน้อย ในระหว่างการผลิตอุปกรณ์ของซับคอนแทรกเตอร์ของบริษัท Super Micro Computer ในโรงงานที่จีน โดยบริษัทดังกล่าวเป็นซัพพลายเออร์แผงวงจรหลักเซิร์ฟเวอร์รายใหญ่ของโลก
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนพบว่า ไมโครชิปจิ๋วเหล่านั้นช่วยให้บรรดาแฮกเกอร์สามารถสร้างประตูลับ เพื่อเจาะเข้าสู่เครือข่ายใดก็ได้
ด้าน อดัม สคิฟฟ์ ส.ส. พรรคเดโมแครต จากรัฐแคลิฟอร์เนีย และหนึ่งในกรรมาธิการด้านการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าวิตก หากจีนพยายามแทรกซึมห่วงโซ่การผลิตชิปคอมพิวเตอร์จริง และนี่เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า จีนจะขโมยข้อมูลลับของรัฐบาลและบริษัทอเมริกัน”
สคิฟฟ์เผยว่า ทางคณะกรรมาธิการฯ กำลังตรวจสอบความชัดเจนจากหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ และจะติดต่อไปยังบริษัทที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม เดวิน นูเนส ส.ส. พรรครีพับลิกัน และประธานคณะกรรมาธิการด้านการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ขณะที่ มาร์ก วอร์เนอร์ วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์จิเนีย และกรรมาธิการด้านการข่าวกรองของวุฒิสภา ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานชิ้นนี้ว่า เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่บ่งชี้ว่า จีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติและความเสี่ยงในระบบห่วงโซ่การผลิตของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ทั้ง Apple และ Amazon ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธรายงานข่าวของ Bloomberg โดยยืนยันว่า เซิร์ฟเวอร์ของทั้งสองบริษัทไม่ได้ถูกแฮกโดยจารชนจีน แม้ว่ารายงานจะกล่าวอ้างว่า Apple และ Amazon เป็นคนค้นพบชิปเหล่านั้นด้วยตัวเอง และแจ้งกับทางการสหรัฐฯ
Amazon ระบุในแถลงการณ์ว่า มันไม่เป็นความจริงที่ระบุว่า Amazon Web Services (AWS) ทราบเรื่องเกี่ยวกับการถูกเจาะระบบห่วงโซ่การผลิตด้วยชิปหรือฮาร์ดแวร์ที่ผ่านการดัดแปลง และมันก็ไม่จริงอีกเช่นกันว่า AWS ทราบเรื่องเซิร์ฟเวอร์ มีชิปแปลกปลอมในดาต้าเซ็นเตอร์ที่ประเทศจีน นอกจากนี้ทาง Amazon ยังปฏิเสธรายงานที่ว่า AWS กำลังร่วมมือกับสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) เพื่อมอบข้อมูลเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ที่ถูกฝังไมโครชิป
ขณะที่ Apple ระบุว่า ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา Bloomberg ได้ติดต่อมาที่บริษัทหลายครั้ง พร้อมคำถามเกี่ยวกับการแฮกระบบ ซึ่งบางครั้งมีความคลุมเครือ และบางครั้งดูซับซ้อน ทว่า แต่ละครั้ง ทางบริษัทได้ตรวจสอบกันภายในตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่พบหลักฐานที่พิสูจน์ข้อกล่าวอ้างนั้น และจากกรณีล่าสุด Apple ขอย้ำว่า ไม่เคยพบชิปแปลกปลอม, การดัดแปลงฮาร์ดแวร์ หรือความเปราะบางในระบบเซิร์ฟเวอร์ นอกจากนี้ Apple ก็ยังไม่เคยติดต่อกับ FBI หรือหน่วยงานใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- www.bloomberg.com/news/articles/2018-10-04/chip-hack-a-sign-of-chinese-cyber-threats-to-u-s-officials-say?utm_source=line&utm_content=bloomberg&utm_campaign=article&utm_medium=news
- www.bloomberg.com/news/articles/2018-10-04/the-big-hack-amazon-apple-supermicro-and-beijing-respond
- www.theverge.com/2018/10/4/17936968/apple-amazon-deny-servers-chinese-spy-chips