เหมือนภาษิตที่ใครเคยบอกว่า ‘จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว’ การป่วยทางใจดูจะต้องผ่านลำดับขั้นของการรักษาที่ยาวนานกว่า เจ็บปวดกว่า และยังดูเหมือนมีทีท่าจะหายขาดยากกว่า ด้วยความที่จิตใจเป็นเรื่องนามธรรม เวลาป่วยกาย เรายังบอกได้ว่าปวดท้อง ปวดหัว เจ็บแขนขา วิธีรักษาก็มุ่งไปที่จุดเจ็บอย่างเถรตรง ต่างจากความป่วยใจที่ไม่รู้ว่าเจ็บที่ตรงไหน จะบอกว่าเจ็บที่ใจมันก็ไม่ใช่ที่หัวใจเสียทีเดียว แถมกระบวนการรักษาใจก็ดูจะซับซ้อนกว่ารักษากายอย่างเห็นได้ชัด การบำบัดเยียวยารักษานั้นต้องใช้เวลา บ้างเป็นแรมเดือน บ้างก็เป็นแรมปี แถมไม่การันตีว่าเราจะหายเป็นปลิดทิ้งเลยหรือเปล่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพยายาม
แล้วถ้ามีคนมาบอกว่าเขาสามารถทำให้ความเจ็บป่วยทางใจของคุณหายเป็นปลิดทิ้งภายใน 3 วันล่ะ คุณจะสนใจไหม
Maniac คือซีรีส์ตลกร้ายความยาว 10 ตอนที่มีนิวยอร์กซิตี้จากจักรวาลคู่ขนานเป็นฉากหลัง ที่นั่นมีวิทยาการล้ำยุคที่แฝงอยู่ในหน้าตาเครื่องไม้เครื่องมือเรโทรยุค 80s อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ที่โต้ตอบกับคนได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ย้อนยุคขนาดใหญ่ยักษ์ หรือเทคโนโลยีคุยผ่านระบบไวไฟที่ใช้คอมพิวเตอร์วินเทจจอโค้งในการติดต่อ
ในจักรวาลแห่งนี้ บริษัทยาแห่งหนึ่งเคลมว่าสามารถรักษาทุกคนให้หายจากอาการป่วยทางใจหรือจากความทรงจำที่เลวร้ายได้ด้วยการใช้ยา 3 คอร์สเป็นระยะเวลา 3 วัน โดยมีผู้เข้าร่วมการทดลอง 10 คน รวมไปถึงตัวละครหลักคือ โอเวน และแอนนี่
โอเวน (โจนาห์ ฮิลล์ ที่ฉีกลุคดาราตลกตัวอ้วนเสียหมดคราบ) คือลูกชายคนที่ 5 ของมหาเศรษฐีที่มีปัญหาจากอาการจิตเภทเห็นภาพหลอน ส่งผลให้เขาเข้ากับสังคมไม่ได้ทั้งที่บ้านและสังคมภายนอก เขาคือแกะดำของตระกูลที่ไม่มีใครอยากคบค้า แม้แต่ภาพวาดรวมครอบครัวที่ติดอยู่ตรงฝาบ้านยังไม่มีโอเวนอยู่ในนั้นเลย และนั่นยิ่งทำให้โอเวนเป็นคนซึมเศร้า ไม่มั่นใจในตัวเอง เก็บตัวเข้าไปอีก
ส่วน แอนนี่ (เอ็มมา สโตน) เธอคือสาวสวยที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกว่างเปล่า ท้อแท้ ด้วยความรู้สึกผิดจากความสัมพันธ์กับแม่และน้องสาวที่ติดตรึงฝังแน่นจนยากจะทำให้สลายหายไปจากใจได้ ทั้งสองเข้ามาร่วมการทดลองด้วยความหวังเหมือนกับคนอื่นๆ คืออยากจะหายจากความทุกข์ทนเหล่านี้และกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเสียที
แต่คิดหรือว่าคนเขียนบทจะยอมให้ทุกอย่างหายอย่างง่ายดายแบบนั้น สิ่งที่ตัวละครต้องผ่านคือการกินยาเพื่อเรียกความทรงจำในวันที่เลวร้ายที่สุดของเขาและเธอออกมาเผชิญหน้ากับมันอีกครั้ง ก่อนที่วันต่อมาจะเริ่มเข้าสู่ความฝันสุดเซอร์เรียลที่เจ้าของความฝันจะเป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่คู่ผัวเมียที่ต้องขโมยตัวลีเมอร์จากร้านขายเฟอร์ ไปจนถึงเป็นเอลฟ์ในริเวนเดลล์
และในระหว่างการรักษานี้เอง สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น
เหมือนหนังฮอลลีวูดพยายามค้นหาความหมายของความเจ็บปวดทางจิตใจมานานแล้ว ตั้งแต่หนังโรแมนติกไซไฟอย่าง Eternal Sunshine of the Spotless Mind ที่ตัวเอกพยายามลบล้างความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์ด้วยการลบความทรงจำที่มีเธอออกไปให้หมด หรือหนังแอ็กชันไซไฟอย่าง Inception ที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ในจิตใต้สำนึกของคน รวมถึงการปลูกฝังความคิดลงในจิตใจ Maniac ก็เข้าไปสำรวจว่าเราจะสามารถมีกระบวนการรักษาความเจ็บทางใจได้แน่นอนหรือไม่
ผู้กำกับ แครี ฟุคุนางะ จากซีรีส์ True Detective กลับมาร่วมงานกับ Netflix อีกครั้งหลังจาก Beasts of No Nation ภาพยนตร์ที่ฟุคุนางะทำกับ Netflix ได้รับเสียงชื่นชมอย่างสูง ใน Maniac เขาตั้งคำถามกับผู้ชมและตัวละครว่าความทรงจำที่เลวร้ายคือความป่วยไข้จริงหรือ
ในวันที่ความป่วยใจดูจะแพร่หลายและร้ายแรงยิ่งกว่าป่วยกาย คำถามนี้ดูน่าสนใจ แต่กระนั้นซีรีส์ก็ยังแสดงให้เห็นว่าแม้ยาที่บอกว่ารักษาอาการป่วยใจได้ใน 3 วันก็ยังต้องนำตัวละครกลับไปยังวันที่เลวร้ายจนไม่อยากมีชีวิตอยู่
นั่นอาจเพราะความทุกข์ใจก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่เราต้องก้าวข้ามผ่านไป ในโลกแห่งความจริงที่ไม่มียา 3 เม็ดที่เยียวยาความทุกข์ได้อย่างชะงัดใน 3 วัน ความทุกข์ก็อาจมีเพื่อให้จิตใจได้เติบโต
ในโลกที่ผู้คนยอมเสียเงินซื้อยาลดความอ้วนมากิน เพราะอยากหนีความจริงว่าการลดน้ำหนักต้องการความทุ่มเท ไม่มีใครยอมรับหรอกว่าทางเดียวที่จะลดน้ำหนักได้อย่างจริงจังคือต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและยาวนาน
เช่นกัน เราก็คงอยากจะมียาสักเม็ดที่กินแล้วหายทุกข์เป็นปลิดทิ้งโดยไม่ต้องมานั่งทุกข์ทนถอนใจไปเป็นปี แต่ก็นั่นแหละ เรื่องนั้นมันอยู่แค่ในซีรีส์ ในความจริงเราอาจต้องยอมรับว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต
หากการไม่ออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงฉันใด หากผ่านความทุกข์ใจไปไม่ได้ หัวใจก็อดเสริมใยเหล็กฉันนั้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์