×

“ในหลวงท่านทรงมีเสน่ห์จริงๆ” ความทรงจำในภาพถ่ายของช่างภาพที่ตามเสด็จในหลวงเมื่อครั้งไปอเมริกา พ.ศ. 2503

04.07.2017
  • LOADING...

     วันนี้ 4 กรกฎาคม เป็น ‘วันชาติอเมริกา’

     หากย้อนหลังไป 57 ปี หรือ พ.ศ. 2503 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนอเมริกาครั้งแรก

     ซึ่งในการเสด็จฯ เยือนครั้งนั้น มีช่างภาพคนไทยคนหนึ่งตามบันทึกภาพพระองค์ตลอดระยะเวลาที่เสด็จประพาส

     โดยเขาได้บันทึกความทรงจำครั้งนั้นลงใน ‘ภาพถ่าย’

 

1.

 

     “รูปนี้ถ่ายเมื่อปี 1960”

     ลุงวิจิตร หรือ วิจิตร ไชยวัณณ์ วัย 94 ปี ช่างภาพคนไทยเพียงคนเดียวที่มีโอกาสได้บันทึกภาพ ‘ในหลวง’ ครั้งเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2503 พูดถึงภาพถ่ายใบหนึ่งที่เป็นรูปโปรดของเขา

 

 

     ปีนั้นลุงวิจิตรอายุ 36 ปี เป็นนักข่าวและบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์คนเมือง ของเชียงใหม่ เขาเล่าว่าตลอดระยะเวลาการทำงานหนังสือพิมพ์ ไม่ค่อยมีอะไรน่าจดจำเป็นพิเศษ เพราะส่วนใหญ่ข่าวที่ทำเป็นข่าวทั่วไป เช่น ข่าวเปิดถนนสายใหม่ ข่าวแต่งงานคู่บ่าวสาว งานเลี้ยงเต้นรำตามฮอลล์ แต่ตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นได้พาเขาไปพบกับผู้คนมากมาย จนกระทั่งในค่ำวันหนึ่งเขาพบตัวเองนั่งกินอาหารเย็นร่วมกับเจ้าหน้าที่กงสุลอเมริกา

     อาจเป็นเพราะบทสนทนาบนโต๊ะอาหารออกรส เจ้าหน้าที่กงสุลได้เอ่ยปากเชื้อเชิญเขาให้เดินทางไปอเมริกาในโครงการ The International Visitor Leadership Program (IVLP) พร้อมกับวีซ่า 3 เดือนและพาสปอร์ต

 

 

     ลุงวิจิตรรีบตกปากรับคำทันที “เขาให้ตั๋วเครื่องบินชั้นหนึ่งไป-กลับเลยนะ” เพราะนี่คือโอกาสครั้งแรกของเขาที่จะได้เดินทางไปต่างประเทศ

     โชคหล่นทับบรรณาธิการหนุ่มอีกครั้งระหว่างที่กำลังพิจารณาเรื่องเวลาเดินทาง ก็มีจดหมายส่งมาที่สำนักงาน เป็นจดหมายจากพระบรมมหาราชวังที่ส่งให้สื่อมวลชนทั่วประเทศไทย

     เนื้อความในจดหมายแจ้งข่าวในหลวงจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก หลังทรงพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อ พ.ศ. 2470

     “ลุงรู้ว่าในหลวงกับพระราชินีท่านจะเสด็จฯ เดือนมิถุนายน ลุงก็เลยขอไปก่อน เพื่อไปรู้จักอเมริกา และวางแผนการถ่ายภาพพระองค์ท่านทั้งสองไว้ล่วงหน้า”

     ไม่รู้ว่าเพราะโชคชะตาหรือเหตุบังเอิญ เพราะการไปอเมริกาครั้งนี้เป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของเขา และเป็นการเสด็จฯ เยือนอเมริกาครั้งแรกของในหลวงผู้เป็นที่รักยิ่ง

 

2.

 

     เครื่องบินจากเมืองไทยแวะจอดเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง ระหว่างรอเปลี่ยนเครื่อง ลุงวิจิตรตัดสินใจซื้อกล้องถ่ายรูปตัวใหม่ Yashica MG-1 และ Ricoh ½ Frame พร้อมกับฟิล์มจำนวนหนึ่ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสพิเศษครั้งนี้โดยเฉพาะ

 

 

     นอกจากอุปกรณ์ถ่ายภาพ ในกระเป๋าของบรรณาธิการหนุ่มยังมีจดหมายอีกหนึ่งฉบับ เป็นจดหมายจากทางการซึ่งเสมือนใบเบิกทางให้ลุงวิจิตรเข้าถึงสถานที่สำคัญต่างๆ ที่ในหลวงเสด็จฯ เยือน

     รัฐบาลอเมริกายังอำนวยความสะดวกแก่บรรณาธิการหนุ่มจากเมืองไทย ด้วยเงินพ็อกเก็ตมันนีวันละ 17 เหรียญสหรัฐ และคนขับรถส่วนตัวเพื่อพาเขาไปส่งที่ไหนก็ได้ที่เขาอยากไป

 

3.

 

     เที่ยงตรงของวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2503 เครื่องบินพระที่นั่ง Columbia III มาถึงสนามบินทหาร MATS (Military Air Transport Service Terminal) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

     “พิธีถวายการต้อนรับมีที่นั่น”

 

 

     บรรณาธิการหนุ่มจากเมืองไทยยืนอยู่ในโซนที่ทางการจัดไว้สำหรับสื่อหนังสือพิมพ์และทีวีบนถนนลาดยาง ในมือของเขามีกล้องตัวใหม่และใจที่เตรียมพร้อมกดชัตเตอร์

     แชะ! แชะ! แชะ!

     ในช่วงเวลาไม่กี่อึดใจ ลุงวิจิตรรัวชัตเตอร์ไปแล้ว 72 ภาพ ก่อนจะสาละวนกับการเปลี่ยนฟิล์มม้วนใหม่

     “ตอนนั้นไอเซนฮาวร์เป็นประธานาธิบดีถวายการต้อนรับในหลวงและพระราชินี”

     ปืนใหญ่ยิงสลุต 21 นัด ดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วบรรเลงเพลงชาติอเมริกันในลำดับถัดมา ในหลวงในชุดจอมทัพไทยสีขาวที่เคียงข้างด้วยพระราชินีผู้เลอโฉมในชุดสีชมพูเสด็จพระราชดำเนินตรวจแถวกองทหารอเมริกันทั้ง 4 เหล่าทัพที่รอต้อนรับ

     ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์กล่าวต้อนรับ ในหลวงตรัสตอบสั้นๆ ด้วยภาษาอังกฤษ แม้จะเป็นถ้อยความสั้นๆ แต่ก็ได้ใจความและกินใจอย่างยิ่ง

 

     “I am not a stranger or a visitor…

     (ข้าพเจ้าไม่ได้มาในฐานะคนแปลกหน้าหรือผู้มาเยือนเท่านั้น…)

     “but I come home because I was born at Mount Auburn Hospital…

     (ข้าพเจ้ากลับมาที่บ้าน เพราะข้าพเจ้าเกิดที่โรงพยาบาลเมาต์ ออเบิร์น…)

     “and I come home to visit my birthplace”

     (และข้าพเจ้ากลับบ้าน เพื่อเยี่ยมสถานที่เกิดของข้าพเจ้าเอง)

 

     ลุงวิจิตรพูดทวนคำตรัสของในหลวงที่อยู่ในความทรงจำของเขา  

 

4.

 

     หลังการจับมือกับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์และเสร็จสิ้นพิธีต้อนรับ ในหลวงเสด็จขึ้นรถยนต์พระที่นั่งเข้าสู่เมือง ซึ่งการเสด็จฯ เยือนอย่างเป็นทางการของพระองค์จะเริ่มต้นในวันรุ่งขึ้น

     เมื่อวันใหม่มาถึง ลุงวิจิตรพร้อมคนขับรถมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองเพื่อติดตามขบวนเสด็จ ริมสองฝั่งถนนที่พระองค์จะเสด็จฯ ผ่านเต็มไปด้วยชาวอเมริกันและชาวไทยที่ต่างโบกธง บ้างก็โบกไม้โบกมือรอต้อนรับ

     จากนั้นวันที่สาม ลุงวิจิตรได้ตามเสด็จฯ เข้าไปในทำเนียบขาว วันนั้นในหลวงทรงแลกเปลี่ยนของขวัญกับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ในห้องทำงานรูปไข่ หรือ Oval Office โดยมีเพียงเขา นักข่าว และช่างภาพไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป

     หลังเสด็จฯ เยี่ยมชมกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ลุงวิจิตรและคนขับรถได้ติดตามขบวนเสด็จไปยังมหานครนิวยอร์ก

 

 

   “การต้อนรับที่กรุงนิวยอร์ก มีกระดาษสายรุ้งโปรยลงมาจากข้างบน สวยงามมากๆ”

     ความรู้สึกในวันนั้นยังประทับอยู่ในความทรงจำของเขา

 

 

     “แม้กระทั่งตึกเอ็มไพร์สเตทในกรุงนิวยอร์กสูง 102 ชั้น เป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกเวลานั้น ในหลวงและพระราชินีเสด็จขึ้นถึงยอดตึก

     “และลุงได้ตามขึ้นไปบันทึกภาพข้างบนนั้นไว้ทั้งหมดเลย”

     อดีตบรรณาธิการหนุ่มหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจากเมืองไทยระลึกความหลัง

 

5.

 

     “…I come home to visit my birthplace”

     คำตรัสของในหลวงได้หวนเข้ามาในความคิดของบรรณาธิการหนุ่ม เมื่อเขาได้ตามเสด็จพระองค์ไปที่โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ อันเป็นสถานที่พระราชสมภพ

     วันนั้นในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมคุณหมอดับเบิลยู. สจวร์ต วิตต์มอร์ (Dr. W. Stewart Whittemore) นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติ และเยี่ยมชมห้องที่พระองค์ประสูติ

 

‘ที่นี่เป็นสถานที่ประสูติของกษัตริย์แห่งประเทศไทย’

คือข้อความบนแผ่นทองคำหน้าประตูห้องประสูติ ปัจจุบันห้องนี้สงวนไว้เป็นพื้นที่ส่วนตัว

 

     “พระองค์ท่านพระราชทานของขวัญให้คุณหมอ บนของขวัญมีข้อความว่า To Doctor Whittemore, My first friend in the world

     หรือ ‘แด่คุณหมอวิตต์มอร์ เพื่อนบนโลกคนแรกของฉัน’

     “คุณหมอประทับใจมาก” ลุงวิจิตรเล่าความหลังให้ฟัง พร้อมหยิบรูปถ่ายในห้วงเวลานั้นยืนยันเป็นหลักฐาน

 

 

     “คนอเมริกาก็ชอบในหลวงกันเยอะนะ เพราะในหลวงท่านพูดเก่ง ยิ่งคำว่า I’ve come home คำเดียวเท่านั้นแหละ

     “ในหลวงท่านทรงมีเสน่ห์จริงๆ”

     ปีนี้ลุงวิจิตร ไชยวัณณ์ อายุ 94 ปี แม้ช่วงเวลาที่เขาบันทึกภาพในหลวงเมื่อครั้งเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2503 จะผ่านมาแล้ว 57 ปี

     แต่นี่คือความทรงจำอันแสนพิเศษที่อดีตบรรณาธิการหนุ่มหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจากเมืองไทย

     ยากจะลืมเลือน…

 

https://www.youtube.com/watch?v=AAzp7lMgnsA

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X