×

“ทุกปัญหามีค่าแก่การรับฟัง” อ่านก่อนที่เกิดการฆ่าตัวตายรายต่อไป

10.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • เราคงได้เห็นข่าวบุคคลที่มีชื่อเสียงและอยู่บนจุดสูงสุดของหน้าที่การงานตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทั้ง โรบิน วิลเลียมส์, อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน, เคท สเปด ฯลฯ และคงทำให้เราสงสัยเหลือเกินว่า ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับเรา หรือแม้กับคนใกล้ตัวของเรา เราจะทำอย่างไร และเราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร

คุณเคยคิดฆ่าตัวตายไหมครับ

 

เมื่อก่อนผมเคยคิดว่าชีวิตตัวเองห่างไกลจากการฆ่าตัวตายเหลือเกินครับ จนกระทั่ง 4 ปีก่อน พี่ที่เคารพรักท่านหนึ่งเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าคนที่ดูสดใส ทัศนคติเป็นบวก และเป็นกำลังใจให้กับทุกคนรอบตัวจะเป็นคนที่มีความคิดฆ่าตัวตายขึ้นมาได้ นอกจากนั้น ที่ผ่านมาเราคงได้เห็นข่าวบุคคลที่มีชื่อเสียงและอยู่บนจุดสูงสุดของหน้าที่การงานตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทั้ง โรบิน วิลเลียมส์, อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน, เคท สเปด ฯลฯ และคงทำให้เราสงสัยเหลือเกินว่า ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับเรา หรือแม้กับคนใกล้ตัวของเรา เราจะทำอย่างไร และเราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร

 

ในโอกาสที่วันที่ 10 กันยายนของทุกปี คือวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ผมได้มาพูดคุยกับ คุณตระการ เชนศรี นายกสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย องค์กรซึ่งเชื่อว่าการฟังด้วยใจช่วยทั้งตัวเราเองและผู้อื่น และเปิดคอลเซ็นเตอร์ทำหน้าที่รับฟังและให้คำปรึกษาคนที่มีความคิดฆ่าตัวตายในประเทศไทย เพื่อฉายภาพของสถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทย สำรวจจิตใจของคนที่ฆ่าตัวตาย คิดสั้น คิดมาก ไม่รักตัวเองอย่างที่คนคิดจริงไหม ตลอดจนวิธีการรับมือกับความคิดอยากฆ่าตัวตาย

 

อยากให้คุณอ่านบทความนี้ครับ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกว่าการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งไกลตัวหรือเปล่า เพราะเราไม่รู้ได้เลยว่าวันหนึ่งเราอาจได้ใช้สิ่งนี้กับคนที่เรารัก หรือแม้กระทั่งกับตัวเอง

 

 

สถานการณ์ความรุนแรงของการฆ่าตัวตายในประเทศไทยและทั่วโลก

  • ประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลกคือประเทศกรีนแลนด์ รองลงมาคือประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก ในเอเชียประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดคือเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และศรีลังกา
  • โดยเฉลี่ยประเทศไทยมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จปีละ 4,000 คน เท่ากับว่าทุก 2 ชั่วโมงจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 2 คน และในทุกประชากร 100,000 คน จะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 6 คน
  • 10 อันดับของจังหวัดที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดนั้นมีถึง 9 จังหวัดที่เป็นจังหวัดในภาคเหนือตอนบน โดยในประเทศไทย จังหวัดลำพูน ครองสถิติการฆ่าตัวตายสูงสุดติดต่อมาหลายปีแล้ว
  • ข้อสังเกตหนึ่งก็คือ ประเทศและพื้นที่ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงนั้นล้วนเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการรักษาหน้า ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความทุกข์ก็มักจะไม่ยอมเปิดเผยหรือระบายให้คนรอบข้างฟัง หรือไม่สามารถรับความรู้สึกล้มเหลวที่กระทบต่อภาพลักษณ์ได้ เมื่อทุกข์ก็จะยิ่งรู้สึกทุกข์หนักกว่าเดิม
  • นอกจากนั้นยังพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนทำให้เกิดการฆ่าตัวตายได้เช่นกัน เนื่องจากแอลกอฮอล์เร่งความรู้สึกโศกเศร้า และทำให้ไม่สามารถควบคุมสติได้
  • ช่วงอายุที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดอยู่ในช่วงวัยทำงาน อายุ 30-35 ปี
  • ผู้ชายเป็นเพศที่มีการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง อธิบายได้ว่าผู้ชายเป็นเพศที่มักจะเก็บความรู้สึกไว้ไม่ยอมบอกใคร เปิดเผยไม่ได้ว่ามีความทุกข์ นอกจากนั้น ผู้ชายยังใช้วิธีการฆ่าตัวตายที่รุนแรง ทำให้การฆ่าตัวตายนั้นสำเร็จด้วย
  • ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ การฆ่าตัวตายไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบต่อผู้เสียชีวิต แต่ผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 คนจะสร้างผลกระทบทางจิตใจไปยังผู้คนใกล้ชิดอย่างน้อยอีก 5 คน นั่นเท่ากับมีคนมีความทุกข์เป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มีคนฆ่าตัวตาย

 

ประเด็นที่ทำให้คนคิดฆ่าตัวตายมากที่สุดตามที่โทรเข้ามาหาคอลเซ็นเตอร์ของสะมาริตันส์ คือประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว ทั้งระหว่างสามี-ภรรยา คนรัก และระหว่างพ่อแม่-ลูก

 

สาเหตุของการฆ่าตัวตายคืออะไร

การที่คนฆ่าตัวตายไม่ใช่เพราะเขาไม่สามารถแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้ แต่มาจากความรู้สึกหลักคือการรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกว่าต้องเผชิญปัญหาโดยลำพัง เพราะฉะนั้น ปัญหาไม่ได้ทำให้คนฆ่าตัวตาย แต่ความรู้สึกว่าเขาโดดเดี่ยว ไม่เหลือใคร ไร้ค่า ต้องสู้กับปัญหาเพียงคนเดียวในโลกต่างหากที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย

 

ประเด็นที่ทำให้คนคิดฆ่าตัวตายมากที่สุดตามที่โทรเข้ามาหาคอลเซ็นเตอร์ของสะมาริตันส์ คือประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว ทั้งระหว่างสามี-ภรรยา คนรัก และระหว่างพ่อแม่-ลูก

 

หลายคนที่เคยฆ่าตัวตายและไม่สำเร็จ เมื่อผ่านสภาวะวิกฤตและไม่รู้สึกอยากฆ่าตัวตายแล้ว มักจะสะท้อนความรู้สึกว่า ที่จริงความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายเป็นความรู้สึกชั่ววูบที่มาจากความรู้สึกว่าเขาไม่มีคุณค่า รู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวในโลก รู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจเขา รู้สึกว่าสิ่งที่เขาเจออยู่เป็นความผิดจนไม่กล้าให้คนอื่นรู้ เพราะกลัวคนอื่นจะตัดสินเขาหรือทำให้คนอื่นผิดหวัง แต่พอได้รู้สึกว่ามีคนเคียงข้างเขา มีคนที่ไม่ตัดสินเขา ก็จะรู้สึกมีกำลังใจมากพอที่จะไม่อยากคิดฆ่าตัวตายแล้ว

 

คนที่ฆ่าตัวตายคือคนไม่รักตัวเอง เป็นคนคิดสั้น?

คนเรามีศักยภาพในการแก้ปัญหาได้เมื่ออยู่ในสภาวะจิตใจที่เป็นปกติ แต่เมื่ออยู่ในสภาวะวิกฤตหรือกำลังมีความทุกข์ ความสามารถในการตัดสินใจจะน้อยลง อย่างที่บอกคือคนฆ่าตัวตายไม่ใช่เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่เพราะเขารู้สึกว่ากำลังเผชิญปัญหาโดยลำพังและไร้ค่าเกินกว่าที่จะมีชีวิตอยู่

 

เราไม่ควรตัดสินว่าใครอ่อนแอ ใครไม่รักตัวเอง ใครคิดสั้น เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าถ้าเราเจอปัญหาแบบเดียวกับเขาและอยู่ในสภาวะทางจิตใจแบบเดียวกัน เราจะทำแบบเดียวกับเขาหรือเปล่า สิ่งที่เรารู้สึกว่าคนฆ่าตัวตายไม่รักตัวเองมาจากความรู้สึกเมื่อเราอยู่ในสภาวะปกติแล้วมองไปยังคนที่อยู่ในสภาวะวิกฤต เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางเหมือนกัน เราไม่ควรไปตัดสินเขา

 

สัญญาณบอกเหตุว่าคนใกล้ตัวอาจกำลังคิดฆ่าตัวตายคืออะไร

สังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพโดยเฉียบพลัน ทั้งจากปกติร่าเริงกลายเป็นคนเศร้า เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังรู้สึกไม่เหลือใคร หรือแม้กระทั่งเมื่อก่อนเคยเป็นคนเงียบๆ จู่ๆ กลายเป็นคนร่าเริงมากๆ ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะอาจแปลว่าเขาได้เตรียมตัวทุกอย่างไว้แล้ว ไม่มีอะไรต้องห่วงแล้ว

 

นอกจากนั้นสามารถสังเกตได้จากคำพูดของเขาที่แสดงลักษณะความโดดเดี่ยว เช่น “ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม” “เราไม่มีค่าอะไรเลย” “ถ้าไม่มีเราสักคนคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรอก” แม้กระทั่งถ้ามีการพูดออกมาตรงๆ ว่าเขาคิดฆ่าตัวตาย ก็เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงเช่นกันว่าเขาอาจจะกำลังคิดฆ่าตัวตายจริงๆ

 

ถ้ามีคนอยากฆ่าตัวตาย สิ่งที่เราควรทำคืออะไร

  • รับฟัง ให้เขาระบายความรู้สึกออกมาให้มากที่สุดจนกว่าเขาจะรู้สึกดีขึ้น แม้กระทั่งถ้าเขารู้สึกอยากฆ่าตัวตายก็ปล่อยให้เขาพูดออกมาว่าเขารู้สึกอย่างไร เพราะเมื่อเขาพูด มันจะลดพลังในการอยากตายลง
  • สิ่งที่ควรพูดคือ “เรามีเวลาให้คุณ ระบายมาได้ เรายินดีรับฟัง”
  • หลีกเลี่ยงคำพูดที่มีน้ำเสียงของการตัดสิน เช่น
    • “ใจเย็นๆ” เพราะเขารู้สึกว่าทุกข์ร้อนขนาดนี้จะให้ใจเย็นก็คงไม่ไหว
    • “เรื่องแค่นี้เอง” เพราะพูดแบบนี้คนฟังจะรู้สึกตัวเองไม่ฉลาดพอที่จะรับมือกับปัญหาได้ เหมือนไปดูถูกเขา ที่จริงแล้วทุกข์ของใครก็ใหญ่ที่สุดสำหรับเขา และความทุกข์จะเล็กเสมอเมื่อไม่ได้เป็นความทุกข์ของเรา
    • “ไม่เป็นไรนะ” เพราะแสดงว่าเราไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เขาเจออยู่เป็นเรื่องสำคัญ แต่สำหรับเขามันเป็นเรื่องสำคัญมาก
    • “อย่าคิดสั้น” เพราะเป็นคำสั่ง เขาอาจจะโดนคนตัดสินมาเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นเขาไม่ต้องการให้มีใครสั่งเขา เขาแค่ต้องการคนที่รับฟัง คนที่เข้าใจ คนที่ไม่ตัดสินเขา
    • “อย่าคิดมาก” เพราะเมื่อเขารู้สึกว่าปัญหามันใหญ่เกินกว่าที่เขาจะรับมือได้ จะห้ามไม่ให้เขาคิดมากได้อย่างไร
    • “ทำไมไม่รักตัวเอง ไม่คิดถึงพ่อแม่บ้างเหรอ” เพราะเป็นการตัดสินเขา และเขาเองก็อาจจะทุกข์มากจนไม่อยากบอกพ่อแม่ เขาทุกข์มากอยู่แล้ว ทุกคนก็มีความรักตัวเองทั้งนั้น เพียงแต่ ณ เวลานั้นเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าพอ
    • “แล้วมันจะผ่านไป” พูดได้ แต่อย่าเพิ่งพูดคำนี้เร็วไป รอให้สภาวะทางจิตใจเขาเริ่มสงบก่อนแล้วอาจจะพูดได้ เพราะถ้าพูดเร็วไป เขาจะรู้สึกว่า “ก็นี่ไง มันยังไม่ผ่านไป มันต้องรออีกเท่าไร จะรอไม่ไหวแล้ว”
  • ไม่ควรเปลี่ยนเรื่องพูด ควรปล่อยให้เขาได้พูดมากที่สุด และให้เขารู้สึกว่าเราให้เขาเป็นคนที่สำคัญที่สุด ณ เวลานี้ที่เราอยู่รับฟังเขา
  • ไม่จำเป็นต้องบอกวิธีการแก้ปัญหา เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่คนฟังต้องการ กลับไปที่หลักการเดิมว่า เราต้องเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการคิด การหาทางออกด้วยตัวเองเมื่ออยู่ในสภาวะจิตใจที่เป็นปกติ หน้าที่ของเราไม่ใช่การเข้าไปช่วยแก้ปัญหา แต่ทำหน้าที่ให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้เผชิญปัญหาเพียงลำพัง ยังมีคนที่ไม่ตัดสินอะไรเขาเลยไม่ว่าเขาจะไปทำอะไรมาหรือเจอเรื่องราวเลวร้ายแค่ไหนในชีวิต เราควรทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ช่วยปรับสภาวะทางจิตใจของเขาจากภาวะวิกฤตให้กลายเป็นปกติ เป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่เขาคิด เมื่อเขาได้ยินสิ่งที่ตัวเองคิดเรื่อยๆ เขาจะเริ่มทบทวนได้เองว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เราไม่ได้อยู่ในสถานะคนที่จะไปแก้ปัญหาให้เขา ไม่ต้องบอกเขาว่าเขาควรทำอย่างไร เพราะเมื่อจิตใจเขาอยู่ในสภาวะปกติแล้ว เขาจะคิดได้เอง และเราต้องเคารพสิทธิ์ในการเลือกทางเดินชีวิตของเขา
  • ต่อให้เรารับฟังความรู้สึกของเขาแล้ว ไม่ได้แปลว่าเขาจะล้มเลิกการฆ่าตัวตายไปเลยในทันที สิ่งที่เราทำได้คือ ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้เผชิญปัญหาเพียงคนเดียว รับฟังเขาจนกว่าเขาจะสบายใจขึ้น
  • การฆ่าตัวตายเป็นหนึ่งในทางออกของปัญหา แต่ทุกปัญหาไม่มีทางออกเดียวคือการฆ่าตัวตาย หน้าที่ของเราคือช่วยให้เขาอยู่ในสภาวะที่ปกติพอจะพิจารณาเห็นทางออกในชีวิตให้ได้มากที่สุด และให้เขาเป็นผู้เลือก ถ้าเขาได้พิจารณาด้วยตัวเองแล้วว่าชีวิตมีทางออกอื่นๆ อีกนอกจากการฆ่าตัวตาย แนวโน้มที่เขาจะฆ่าตัวตายก็จะมีน้อยลง ขณะเดียวกันถ้าเขาได้พิจารณาทุกทางเลือกแล้ว และยังคงรู้สึกว่าการเลือกทางออกที่การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่เขาต้องการ นั่นก็เป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของเขา ประเด็นสำคัญคือการที่เขาได้เลือกเส้นทางเดินชีวิตของตัวเอง และเราต้องเคารพการตัดสินใจของเขา

 

ไม่ว่าเขาจะผ่านอะไรมาก็ตาม เราไม่ได้มีหน้าที่ไปช่วยเขาแก้ปัญหา แต่มีหน้าที่รับฟังและทำให้เขามีกำลังใจพอที่จะเผชิญปัญหานั้นด้วยความรู้สึกที่ไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป

 

เราจะป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายได้อย่างไร

ที่จริงทุกปัญหามีค่าสำหรับการรับฟังเสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือปัญหาใหญ่ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีคนบอกว่าอยากฆ่าตัวตาย แต่เมื่อไรที่มีคนรู้สึกมีความทุกข์ เราต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่อยู่คนเดียวในโลกนี้ เขามีคุณค่าสำหรับเรา เราไม่ตัดสินเขา ไม่ว่าเขาจะผ่านอะไรมาก็ตาม เราไม่ได้มีหน้าที่ไปช่วยเขาแก้ปัญหา แต่มีหน้าที่รับฟังและทำให้เขามีกำลังใจพอที่จะเผชิญปัญหานั้นด้วยความรู้สึกที่ไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป

 

เช่นเดียวกัน เมื่อไรที่เรามีความทุกข์ การได้พูด ได้ระบายออกมา จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น อย่าตัดสินตัวเองว่าปัญหาที่เราเผชิญอยู่นี้ไม่มีค่าพอที่ใครจะรับฟัง หาคนที่เราสามารถระบายได้ การระบายออกมาอาจไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่มันคือการทำให้เรามีกำลังใจมากพอที่จะเผชิญปัญหา และปรับสภาวะจิตใจให้เป็นปกติ ซึ่งเอื้อต่อการคิดหาทางออกได้ ที่สำคัญมันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เผชิญปัญหาคนเดียวในโลก แล้วที่เหลือเราจะพบทางออกด้วยตัวเอง หรือถ้ารู้สึกอยากฆ่าตัวตาย โทรมาที่คอลเซ็นเตอร์ของสะมาริตันส์ที่หมายเลข 0 2713 6793 ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น. มีคนที่พร้อมรับฟังอยู่

 

จะให้ความช่วยเหลือเพื่อรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างไร

ปัจจุบันอาสาสมัครของสะมาริตันส์ที่ทำหน้าที่รับฟังให้คำปรึกษาในฐานะคอลเซ็นเตอร์มีอยู่ไม่ถึงร้อยคน ในขณะที่มีผู้โทรเข้ามาปรึกษาเป็นหลักหมื่น เพราะฉะนั้น สมาคมจึงยังต้องการอาสาสมัครเพิ่มเป็นจำนวนมาก โดยสามารถสมัครเป็นอาสาสมัครเพื่อเข้าฝึกอบรมได้ที่ 0 2713 6790

 

อาสาสมัครของสะมาริตันส์ได้รับการอบรมอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 4-6 เดือนกว่าที่จะได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา เพื่อให้มีความพร้อมที่สุดในการทำหน้าที่ช่วยชีวิตของคนอื่น

 

ทักษะที่อาสาสมัครจะได้รับคือการเปลี่ยนเป็นคนที่ ‘ฟังเร็วขึ้น แต่พูดช้าลง’ คือกลายเป็นคนที่รับฟังคนอื่นด้วยความเต็มใจ ไม่ตัดสินใครจากบรรทัดฐานของตัวเอง เป็นคนเคารพความแตกต่างของคนอื่น ทะเลาะกับคนน้อยลง และให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ตรงหน้าเสมอ ซึ่งเป็นทักษะที่สามารถเอาไปใช้กับคนใกล้ตัวได้ และได้ช่วยชีวิตของคนอื่นด้วย

 

อาสาสมัครของสะมาริตันส์ทุกคนจะต้องรักษาความลับ ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนกับผู้คนภายนอกได้ว่าเป็นอาสาสมัคร เพื่อให้คนที่โทรเข้ามาปรึกษารู้สึกปลอดภัยอย่างแท้จริง ทุกอย่างเป็นความลับ และไม่มีการนำสิ่งที่ผู้รับคำปรึกษาเล่าให้ฟังไปบอกต่อเป็นอันขาด

 

นอกจากนั้นสะมาริตันส์ยังเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรอย่างแท้จริง และอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว สามารถติดต่อเพื่อบริจาคเงินสมทบทุนได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2713 6790 และสามารถติดตามข้อมูลของสมาคมได้ที่ Facebook.com/Samaritans.Thailand

 

ภาพประกอบ: Pichamon W.

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X