×

อุ่นเครื่อง! โดนัลด์ ทรัมป์เตรียมทีม กดดันเกาหลีเหนือในเวที G20

04.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • โดนัลด์ ทรัมป์ หารือกับผู้นำประเทศพันธมิตร โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อเตรียมกดดันผู้นำเกาหลีเหนือ ก่อนที่ผู้นำทั้งหมดจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7-8 กรกฎาคมนี้ ณ เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี โดยผู้นำโลกทั้ง 20 ประเทศจะหารือในประเด็นการค้าระหว่างประเทศและปัญหาภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก

     ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หารือกับผู้นำประเทศพันธมิตร โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อเตรียมกดดัน คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือที่ยังคงยืนกรานที่จะพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ต่อไปบนคาบสมุทรเกาหลี ก่อนที่ผู้นำทั้งหมดจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7-8 กรกฎาคมนี้ ณ เมืองฮัมบูร์ก ศูนย์กลางด้านการขนส่งที่สำคัญของเยอรมนีและทวีปยุโรป

 

Photo: JIJI PRESS/AFP

 

     สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีได้ตกลงหารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านโทรศัพท์สายตรงเมื่อวานนี้ (3 มิ.ย.) โดยนายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ จะเข้าร่วมกดดันเกาหลีเหนือในการประชุมสุดยอดผู้นำที่จะถึงนี้อีกด้วย

     ทางด้านรองหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นยืนยันว่า ผู้นำทั้ง 3 ประเทศจะจัดการประชุมไตรภาคี (Trilateral Summit) ขึ้น ภายหลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 สิ้นสุดลง เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางรับมือต่อภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้น โดยผู้นำทั้งหมดต้องการที่จะยุติประเด็นปัญหานี้โดยเร็ว และอาจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการกดดันขั้นสูงสุด แต่อย่างไรก็ตามผู้นำทั้งหมดจะยังคงเปิดช่องทางการเจรจากับเกาหลีเหนือ หากมีความจำเป็นและอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสม

 

Photo: Brendan Smialowski

 

     นายมุนแจอิน ผู้นำเกาหลีใต้กล่าวว่า “การประชุมสุดยอด G20 ที่จะถึงนี้คือ โอกาสสุดท้ายของเกาหลีเหนือที่จะสามารถติดต่อเชื่อมโยงกับเวทีการเจรจาของประชาคมโลกได้”

     นอกจากนี้ทรัมป์ยังได้ต่อสายตรงหาประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน ก่อนที่ทั้งคู่จะเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำที่เยอรมนีสุดสัปดาห์นี้

     ในโอกาสนี้ ทรัมป์ยังได้แสดงความรู้สึกผิดหวังต่อท่าทีของจีนในการป้องปรามและกดดันเกาหลีเหนือ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธครั้งที่ผ่านๆ มา

 

Photo: JIM WATSON/AFP

 

     รศ.ดร. กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาและรักษาการหัวหน้าสาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงเป้าหมายของจีนที่มีความขัดแย้งกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อท่าทีของจีนในประเด็นเกาหลีเหนือว่า

     “จีนมีเป้าหมาย 2 อย่างที่ขัดแย้งในตัวเอง เป้าหมายแรก เกาหลีเหนือคือ รัฐกันชน (Buffer State) ในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ของจีน เพราะในเกาหลีใต้มีทหารของสหรัฐฯ ประจำการอยู่ เพราะฉะนั้นการกดดันเกาหลีเหนือมากๆ หรือทำให้ประเทศนี้หายไปจากแผนที่โลก จะทำให้เกิดผู้ลี้ภัยจำนวนมากไหลทะลักเข้าไปในจีน อีกทั้งจีนยังจะต้องจัดกองทัพไปประจำการในแถบนั้นเพิ่มมากขึ้น การที่มีเกาหลีเหนืออยู่ทำให้จีนลดภาระในส่วนตรงนี้ไป

     “อีกเป้าหมายของจีนคือ จีนในฐานะ 1 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และรัฐมหาอำนาจผู้มีความรับผิดชอบ (Responsible Great Power) ของเอเชีย จะต้องถูกทวงถามจากประชาคมโลก ถึงท่าทีต่อประเด็นเกาหลีเหนืออย่างแน่นอน เพื่อที่จะรักษาชื่อเสียงนี้ไว้ อาจจะมีการกดดันเกาหลีเหนือบ้าง เเสดงให้เห็นว่า เราก็ทำหน้าที่นะ แต่ขณะเดียวกันก็จะไม่ละทิ้งประเทศน้องอย่างเกาหลีเหนือเป็นอันขาด เพราะอาจจะกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติของจีนเอง”

 

Photo: FRED DUFOUR/AFP

 

     ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ท่าทีที่ผ่านๆ มาของจีนต่อประเด็นเกาหลีเหนือไม่ชัดเจนและถูกค่อนแคะจากประชาคมโลก โดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา

     ทางด้าน เกิง ฉวง โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีการพูดคุยโทรศัพท์ระหว่างผู้นำของ 2 ประเทศ สหรัฐฯ เข้าใจถึงจุดยืนของจีนต่อประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างดี และยืนยันว่า สหรัฐฯ จะยังคงปฏิบัติตามนโยบายจีนเดียว (One China Policy) โดยถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนต่อไป พร้อมทั้งจะหารือในประเด็นเกาหลีเหนือและการค้าทวิภาคีเพิ่มเติม ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำที่จะถึงนี้

     หลังจากที่ทรัมป์เดินทางเยือนกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมถึงการเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีของอินเดีย เมื่อกลางสัปดาห์ก่อน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับ 2 ประเทศพันธมิตรในเอเชียและตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นสมาชิกสำคัญในกลุ่มประเทศ G20 อีกด้วย

 

Photo: ED JONES/AFP

 

     นับเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้นำสหรัฐฯ ในการนัดแนะและพูดคุยถึงประเด็นภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่อาจกระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรต่างพร้อมดำเนินมาตรการกดดันเกาหลีเหนือขั้นสูงสุดในการประชุมสุดยอด G20 สุดสัปดาห์นี้ หากผู้นำประเทศอย่างคิมจองอึนยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าผลักดันเรื่องการทดสอบและพัฒนาขีปนาวุธต่อไป นอกจากนี้ผู้นำโลกทั้ง 20 ประเทศยังจะหารือในประเด็นการค้าและปัญหาภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

     น่าจับตามองว่า ทิศทางของการเมืองโลกจะเป็นอย่างไร ภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 สิ้นสุดลง นอกจากนี้การประชุมในครั้งนี้ยังเป็นการพบกันระหว่างผู้นำของ 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และรัสเซียอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากที่ทั้งคู่มีข่าวพัวพันเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด และส่งผลให้ทรัมป์คว้าชัยและขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในที่สุด

     THE STANDARD จะเกาะติดและรายงานสถานการณ์การเมืองโลกจากเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำที่จะมีขึ้นในวันที่ 7-8 กรกฎาคมนี้อย่างแน่นอน

 

อ้างอิง:

FYI
  • กลุ่ม G20 คือ กลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ประเทศและ 1 องค์กรระหว่างประเทศอย่างสหภาพยุโรป ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999 ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, อิตาลี, รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่อีก 11 ประเทศ ประกอบด้วย เกาหลีใต้, จีน, ซาอุดีอาระเบีย, เม็กซิโก, ตุรกี, บราซิล, อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, อินเดีย, อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้
  • โดยมีมูลค่าการซื้อขายระหว่างประเทศ คิดเป็นราว 80 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก
  • ประธานการประชุมในปีนี้ (2017) คือ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล ส่วนประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในปีหน้า (2018) คือ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา เมาริซิโอ มากรี (Mauricio Macri)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X