ซีรีส์ Good Doctor เวอร์ชันญี่ปุ่นที่กำลังออกอากาศอยู่ในตอนนี้นับเป็นการรีเมกครั้งที่ 3 จากต้นฉบับเวอร์ชันเกาหลี น่าสนใจว่าอะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของซีรีส์ที่นำไปสร้างกี่ครั้งก็ได้รับความนิยมล้นหลาม
Good Doctor เล่าเรื่องของนายแพทย์หนุ่มออทิสติกที่เริ่มต้นการทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านในโรงพยาบาลด้วยความช่วยเหลือของผู้อำนวยการที่มีความผูกพันกับเขามาตั้งแต่เด็ก นั่นก็เพื่อพิสูจน์ให้คนได้เห็นว่าอาการออทิสติกของเขาไม่ใช่เรื่องน่าปฏิเสธ กลับเป็นข้อดีที่ทำให้การวินิจฉัยโรคและการรักษาต่างๆ เป็นไปในแบบที่คนธรรมดาคาดไม่ถึง
ทั้ง 3 เวอร์ชันมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป โดยเวอร์ชันเกาหลีและญี่ปุ่นจะใกล้เคียงกันที่สุด ส่วนเวอร์ชันอเมริกามีความแตกต่างออกไปมากที่สุด ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมและเป้าหมายที่จะต่อยอดซีรีส์ออกไปหลายซีซัน แต่ทั้งหมดต่างมีจุดเชื่อมเดียวกันคือการเรียนรู้และหาคำตอบไปพร้อมๆ กับตัวละครว่า ‘การเป็นแพทย์ที่ดีคืออะไร’
Good Doctor (2013)
กำกับ: คีมินซู, คิมจินอู
เขียนบท: ปาร์คแจบอม
นักแสดง: จูวอน, จูซางอุค, ชอนโฮจิน, มุนแชวอน, คิมมินซอ
ออกอากาศ: ช่อง KBS2 จำนวน 20 ตอน (5 สิงหาคม ถึง 8 ตุลาคม 2013)
ในปี 2013 ที่ซีรีส์ Good Doctor ออกอากาศและกลายเป็นปรากฏการณ์ในวงการโทรทัศน์เกาหลีช่วงนั้น ทั้งยังได้รับความนิยมล้นหลามจนกวาดรางวัลจากเทศกาลประกาศรางวัลประจำปีไปจำนวนมากทั้งนักแสดงและทีมงานเบื้องหลัง
Good Doctor เวอร์ชันต้นฉบับเกาหลี เล่าเรื่องราวของ ปาร์คชีอน นายแพทย์หนุ่มที่เพิ่งทำงานในแผนกกุมารเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลชื่อดัง ทั้งที่เขาเป็นอัจฉริยะทางการแพทย์ แต่ด้วยอาการออทิสติก ซาวองก์ ซินโดรม ทำให้เขาต้องต่อสู้ทั้งกับตัวเองในการปรับตัวและอคติจากผู้คนรอบข้างที่ไม่เชื่อว่าเขาจะเป็นหมอที่ดีได้จริง
ตัวละครรายล้อมปาร์คชีอนมีหลากหลายมิติ ทั้งความเย็นชาจาก อาจารย์หมอคิมโดฮัน หัวหน้างานของเขาโดยตรง, ชายุนซอ แพทย์รุ่นพี่ที่อยู่ห้องพักชั้นบนผู้คอยให้คำแนะนำและเป็นกำลังใจเสมอ, บุรุษพยาบาลที่เคยเป็นมาเฟียเก่าก็เป็นตัวละครที่สร้างความสนุกสนานได้ทุกครั้งที่ปรากฏตัว หรือโกชุงมาน หัวหน้าแผนกที่พยายามทำทุกวิถีทางให้เขาพ้นจากการเป็นแพทย์
เส้นเรื่องของซีรีส์นอกจากจะเกี่ยวกับเคสการรักษาอย่างสมจริง ยังมีเรื่องของการเมือง ธุรกิจ และการหาผลประโยชน์ในโรงพยาบาลที่เพิ่มความดราม่าเข้าไปอีก ทั้งยังมีประเด็นในอดีตของปาร์คชีอนเองที่ย้อนกลับมาให้เขาต้องเผชิญหน้าอีกครั้ง รวมไปถึงความรักที่ทำให้หลายช่วงของซีรีส์เรียกรอยยิ้มจากคนดูได้ไม่ยาก
มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อย่างการที่ โกชุงมาน หัวหน้าแผนกกุมารเวชศาสตร์ผู้เลือกรับผลประโยชน์ด้วยการใช้ ‘เฮตาไวเซน’ ซึ่งเป็นยาอันตรายกับคนไข้ และเกือบหลงผิดไปกับทรัพย์สินเงินทอง แต่สุดท้ายก็ได้ปาร์คชีอนที่เขาเคยดูแคลนไว้หนักหนามาเป็นคนช่วยชี้ทางออกให้
“ผมอิจฉามือที่มีผิวหนาและรอยแผลเป็นที่สุด มันหมายความว่าคุณผ่านการผ่าตัดมาแล้วหลายครั้ง คุณมีแผลเป็นมากกว่าหมอคิมโดฮันหรือหมอชายุนซออีก ผมอยากเป็นหมอผ่าตัดเร็วๆ จะได้มีมือแบบนี้ มันเป็นความฝันของผม” คำพูดจากชายหนุ่มออทิสติกในฉากนี้เหมือนเป็นการย้ำเตือนให้หัวหน้าโกรู้ว่าสิ่งที่เขาฝันมาตลอดชีวิตคือการเป็นหมอที่ช่วยชีวิตคนไข้ ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทองภายนอก
หรือการที่ปาร์คชีอนให้ของขวัญวันเกิดกับอาจารย์หมอคิมโดฮันเป็นหูฟังรูปหน้ายิ้ม ซึ่งเป็นตัวช่วยให้อาจารย์หมอผู้เคร่งขรึมเข้าหาคนไข้เด็กๆ ได้ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ นี่ก็เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ทำให้อาจารย์หมอที่ดูแข็งกระด้างและเย็นชากลายเป็นหมอใจดีที่คนไข้เด็กๆ ไม่กลัวอีกต่อไป
ส่วนฉากที่ปาร์คชีอนปลอบใจคนไข้เด็กที่ต้องสูญเสียคนที่รักไป ฉากนี้นับว่าเรียกน้ำตาและสื่อสารกับคนดูได้ถึงหัวใจ เมื่อเขาบอกกับคนไข้ว่า “คนที่จากเราไปแล้ว พวกเขารออยู่ที่ประตูสวรรค์ ถ้าเราคิดถึงก็ให้เคาะที่หัวใจ พวกเขาจะรู้” นี่คือวิธีการรักษาเยียวยาจิตใจในแบบของปาร์คชีอนที่เข้าใจจิตใจของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี
จูวอน ผู้รับบท ปาร์คชีอน ได้ให้สัมภาษณ์ในวันเปิดตัวซีรีส์ว่า “การรับบทนี้มันสำคัญมากเกี่ยวกับมุมมองที่คนทั่วไปมีต่อออทิสติก ตอนที่ผมเตรียมตัวสำหรับบทนี้ ผมได้พบกับผู้คนที่เป็นออทิสติก พวกเขาต่างจากที่ผมคิดไว้ในตอนแรกมาก และได้รู้ว่าออทิสติกแยกออกได้เป็นหลายอาการ หลายคนที่ดูแล้วไม่ต่างจากคนปกติเลยมันทำให้ผมต้องกลับไปทำความเข้าใจว่าจะแสดงบทปาร์คชีอนออกมาอย่างไร”
The Good Doctor (2017)
โปรดิวเซอร์: รอน เฟรนช์, เฟรดดี้ ไฮมอร์, ยูกอนชิก, มินซูแก, ชอว์น วิลเลียมสัน
เขียนบท: เดวิด ชอร์
นักแสดง: เฟรดดี้ ไฮมอร์, นิโคลัส กอนซาเลซ, แอนโทเนีย โทมัส, ชูกุ โมดู, โบ การ์เรตต์, ฮิลล์ ฮาร์เปอร์, ริชาร์ด ชิฟฟ์, แทมลิน โอมิตะ
ออกอากาศ: ช่อง ABC ซีซัน 1 จำนวน 18 ตอน ซีซัน 2 จะเริ่มออกอากาศวันที่ 24 กันยายน 2018
https://www.youtube.com/watch?v=fYlZDTru55g
ในปี 2014 หนึ่งปีหลังเวอร์ชันเกาหลี แดเนียล คิม นักแสดงและโปรดิวเซอร์ชาวเกาหลีได้ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ Good Doctor แล้วนำไปเสนอช่องโทรทัศน์ แต่ยังไม่คืบหน้า จนสุดท้ายเขาได้ร่วมมือกับ Sony เพื่อพัฒนาบทเองร่วมกับทีม แล้วนำไปเสนอช่อง ABC จนได้ออกอากาศในปี 2017 และกลายเป็นซีรีส์ยอดนิยม จนล่าสุดเตรียมออกอากาศซีซัน 2 ปลายเดือนกันยายนนี้แล้ว
แดเนียล คิม เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ปกติซีรีส์เกาหลีจะอยู่ประมาณ 20-24 ตอนจบ ซึ่งแตกต่างจากในอเมริกา แต่สำหรับ Good Doctor ผมมองว่ามันไปได้ไกลกว่านั้น ยิ่งกับ เดวิด ชอร์ เราจึงคิดร่วมกันว่าจะนำคาแรกเตอร์นี้ไปต่ออย่างไรในอนาคต ซึ่งการเป็นซีรีส์อเมริกามันให้อิสระมากๆ ในการทำอย่างนั้นได้”
The Good Doctor ฉบับอเมริกา เขียนบทโดย เดวิด ชอร์ ผู้เขียน M.D.House ซีรีส์แพทย์สุดอัจฉริยะ ในคาแรกเตอร์ปากร้ายเอาแต่ใจที่เคยโด่งดังสุดขีด ชอร์ได้พัฒนาบทให้ใกล้เคียงความเป็นไปได้ในสังคมอเมริกันด้วยการปรับเปลี่ยนบางสิ่งใหม่โดยอยู่บนโครงสร้างเดิม
ในส่วนของชื่อตัวละคร เขาปรับจากชื่อ ชีอน ให้กลายเป็น ฌอน ซึ่งใกล้เคียงเชิงภาษาที่สุด ส่วนตัวละครแวดล้อมยังคงมีทั้งผู้อำนวยการ ดร.อารอน กลาสแมน, หัวหน้าทีมแพทย์ในชื่อ นีล เมเลนเดซ, เพื่อนร่วมทีมแพทย์ แคลร์ และคาลู ซึ่งปรับความสัมพันธ์จากต้นฉบับให้ฌอนไปหลงรัก ลีอา หญิงสาวที่อยู่ข้างห้องเขาแทน
ส่วนของเส้นเรื่องอื่นๆ ในช่วงแรกเป็นการเล่าแบบเดียวกัน การเริ่มงานวันแรกอันแสนลุ้นระทึกของแพทย์ผ่าตัด ฌอน เมอร์ฟี ที่ San Jose St. Bonaventure Hospital เป็นวันเดียวกับที่ผู้อำนวยการเอาตำแหน่งตัวเองเป็นเดิมพันในการให้ฌอนได้ทดลองทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านในแผนกศัลยกรรม ระหว่างเดินทางมาโรงพยาบาล ฌอนได้ช่วยชีวิตเด็กที่ประสบอุบัติเหตุ ฝีมือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในที่เกิดเหตุทำได้ดีจนหมอเมเลนเดซ หัวหน้าทีมของเขายอมรับในฝีมือและยอมให้ฌอนเข้ามาอยู่ในทีมตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งแตกต่างจากเวอร์ชันเกาหลีที่ปาร์คชีอนต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่นานกว่าจะได้ผ่าตัดครั้งแรก
อีกประเด็นที่แตกต่างจากต้นฉบับคือการไม่เน้นดราม่าในธุรกิจโรงพยาบาล แต่กลับพุ่งเป้าไปที่การทำงานโดยแท้ และปรับให้ฌอนเข้าทำงานในแผนกศัลยกรรมแทนที่จะเป็นกุมารเวชศาสตร์ ซึ่งในจุดนี้เอื้อให้เนื้อหาของซีรีส์ไปได้ไกลในแง่ของเคสคนไข้น่าสนใจต่างๆ เพราะตลอดทั้งซีซันเราพบว่ามีความหลากหลายของอาการเจ็บป่วย ทั้งในแง่ของเพศสภาพ ศาสนา เชื้อชาติ ซึ่งก็ตรงกับความตั้งใจของผู้สร้างที่อยากให้ซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความหลากหลาย ทั้งยังมองว่าตัวละคร ฌอน เมอร์ฟี ไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็นออทิสติกที่พยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ตัวละครนี้เข้าไปอยู่ในหัวใจคนดูทุกคนได้
หมอที่ดีคืออะไร เราเชื่อว่าทุกตอนของซีซันแรกเป็นการบอกเล่าผ่านการคิดตัดสินใจที่ฌอนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้ชม อย่างตอนที่ฌอนต้องทำความเข้าใจคนไข้มะเร็งวัยรุ่นชายที่หัวใจเป็นหญิง หรือเรียนรู้ว่ารอยยิ้มมีความสำคัญอย่างไรสำหรับคนไข้วัยรุ่นสาวที่ไม่เคยแสดงอารมณ์ทางใบหน้าได้มาก่อน รวมไปถึงประเด็นใหญ่ๆ อย่างเช่น ตอนของนักโทษประหารที่ยินยอมสละอวัยวะ เราจะมองเรื่องนี้อย่างไร เขาหาโอกาสหลบหนีระหว่างมาโรงพยาบาลหรืออยากทำอะไรไถ่โทษจริงๆ สำหรับคนไข้ เขาจะเปิดใจยอมรับอวัยวะจากนักโทษประหารหรือไม่
Good Doctor (2018)
กำกับ: ฮิโระ คานาอิ, ฮิเดยูกิ ไอซาวา
เขียนบท: ยูอิจิ โทคุนากะ, ฮารุกะ โอกิตะ
นักแสดง: เคนโตะ ยามาซากิ, จุริ อุเอโนะ, นาโอฮิโตะ ฟูจิกิ, อากิระ เอโมโตะ
ออกอากาศ: ช่อง Fuji TV (12 กรกฎาคม 2018)
สำหรับซีรีส์ Good Doctor เวอร์ชันญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเดินตามรอยต้นฉบับเกือบทั้งหมดตามความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการเคารพบทประพันธ์เดิมไว้ให้มากที่สุด แต่ด้วยเอกลักษณ์ของซีรีส์ญี่ปุ่นที่อบอุ่น ให้กำลังใจ ไม่มีตัวร้ายชัดเจน ก็ทำให้โทนอารมณ์ของซีรีส์เต็มไปด้วยความหวัง
ถึงจะดำเนินเรื่องและเลือกนักแสดงที่บุคลิกหน้าตาคล้ายกับเวอร์ชันต้นฉบับ แต่นายแพทย์หนุ่ม มินาโตะ ชินโด ที่รับบทโดย เคนโตะ ยามาซากิ ก็มีเสน่ห์ในแบบของตัวเองซึ่งชวนให้คนดูเอาใจช่วยอย่างไม่รู้ตัว เขาเป็นนายแพทย์หนุ่มออทิสติกที่มีความฝันจะให้เด็กทุกคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ทดแทนที่พี่ชายของเขาต้องเสียชีวิตไปตั้งแต่เด็ก
ทุกๆ ครั้งที่ดูซีรีส์เรื่องนี้ในทุกเวอร์ชันมันเต็มไปด้วยความหวังที่จะมีชีวิตต่อไป ซึ่งพอมองย้อนกลับมาในความเป็นจริง หมอก็เป็นความหวังของคนไข้ เป็นความหวังสุดท้ายเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย อย่างที่ปาร์คชีอนเคยบอกเอาไว้ว่า “ความเชื่อก็เหมือนที่สูบลมจักรยาน ถ้าเติมลมยางจนเต็ม จักรยานก็ขี่ได้เร็วเหมือนสายลม”
วันที่ชีวิตดูแห้งแล้ง สิ้นหวัง หรือขาดกำลังใจ ลองเปิดซีรีส์นี้ดู จะในเวอร์ชันไหนก็ได้ เราเชื่อว่าความรู้สึกของคุณจะกลับฟื้นฟูขึ้นมามีความหวังในการดำเนินชีวิตต่อไปเสมอ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- shimkyungha.wordpress.com/2013/08/05/interview-preview-kbs-montue-drama-good-doctor/
- www.koreatimes.co.kr/www/art/2018/05/688_236164.html
You May Like This
Life (2018)
ซีรีส์ดราม่าในวงการแพทย์ แม้ว่าซีรีส์จะเน้นไปที่เรื่องราวการสอบสวน แต่ซีรีส์เรื่องนี้ได้เปิดเผยแง่มุมของการขาดแคลนบุคลากรและการพยายามหากำไรจากโรงพยาบาล ซึ่งไม่ต่างจากความเป็นจริงทุกวันนี้
Doctors (2016)
เรื่องราวของเหล่าคุณหมอในทีมศัลยแพทย์ระบบประสาทที่จะมีเคสแปลกๆ มาให้เหล่าหมอได้วินิจฉัยและผ่าตัดสมองกันตลอด ทำให้เราได้รู้จักโรคต่างๆ ตามไปด้วย โดยเฉพาะอีพีเรียกน้ำตาของสองพี่น้องแฮและดัลที่ต่างมีเนื้องอกอยู่ในสมองและไม่มีเงินพอจะรักษา
It’s Okay, That’s Love (2014)
ซีรีส์เรื่องนี้นางเอกมีอาชีพเป็นจิตแพทย์ ส่วนพระเอกเป็นนักจัดรายการวิทยุและนักเขียนรูปหล่อที่มีปมในอดีตจนทำให้ป่วยเป็นโรคจิตครอบงำ หรือมองเห็นภาพหลอนนั่นเอง นอกจากการรักษาอาการทางจิตของพระเอกแล้ว เรายังได้เห็นอาการทางจิตหลายๆ แบบที่บางทีก็คิดไม่ถึงเหมือนกันว่าโรคแบบนี้ก็มีด้วย อย่าง OCD หรือโรคย้ำคิดย้ำทำที่แยกย่อยได้หลายประเภท อย่างการรักความสะอาดเกินไป พฤติกรรมการจัดเรียงของที่เป๊ะเกินเหตุ การนอนหลับในห้องน้ำ ฯลฯ