วิเคราะห์บอลจริงจัง เป็นหนึ่งในเพจที่สร้างพื้นที่บนโลกออนไลน์ได้อย่างน่าประทับใจด้วยงานเขียนความถี่ 24 ชั่วโมงต่อ 1 ครั้งที่มอบทั้งแง่คิด ความรู้สึก และมุมมองผ่านประสบการณ์ในวงการกีฬาของ วิท-วิศรุต สินพงศพร อดีตพิสูจน์อักษรของ คิกออฟ หนังสือพิมพ์กีฬารายวัน, คอลัมนิสต์นิตยสาร Mars และผู้สื่อข่าวสื่อกีฬาชั้นนำของประเทศอย่าง สยามกีฬา
ซึ่งล่าสุดหลังจากการร่วมงานมา 9 ปี วิศรุตได้ตัดสินใจก้าวออกมาหาความท้าทายใหม่พร้อมกับชื่อเสียงที่ได้รับจากการทำเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง และสร้างความนิยมเกิน 100,000 ไลก์ในเฟซบุ๊กไปแล้ว
“ปาฏิหาริย์ไม่เคยเกิดขึ้นเอง”
“ไม่เชียร์ไม่ว่า อย่าทำร้ายกัน”
“เริ่มต้นจากศูนย์ สู่ความไร้เทียมทาน”
คือตัวอย่างของความพยายามนำเสมอมุมมองโลกกีฬาของวิศรุตที่ต้องการสร้างสังคมกีฬาที่มอบทั้งกำลังใจ ความรู้ และแง่คิดให้กับทุกคนที่กดติดตามหรือเข้ามาสู่พื้นที่เสมือนจริงแห่งนี้
วันนี้ THE STANDARD ได้รับโอกาสพิเศษที่จะนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแง่คิดเบื้องหลังการจรดนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ในแต่ละวัน จนกลายเป็นผลงานที่สร้างวิศรุตให้เป็นรู้จักในฐานะเจ้าของเพจวิเคราะห์บอลจริงจังในวันนี้
สาเหตุที่ลุกขึ้นมาเขียนเรื่องเหล่านี้คืออะไร
ทุกวันเรามีสิ่งที่อยากบอก เรามีมุมมองในเรื่องนี้และคิดเรื่องนี้อย่างไร เมื่อก่อนสื่อมีข้อจำกัดเยอะ มีข้อกำหนดหลายอย่าง มีบางเรื่องเขียนไม่ได้ บางเรื่องยาวไป พื้นที่หน้ากระดาษมีจำกัด เราก็เลยคิดว่าอะไรมันจะตอบโจทย์เรา ตอนแรกก็เขียนลงในเฟซบุ๊กของตัวเอง แต่ว่าเราอยากจะสื่อสารถึงคนได้มากกว่านั้น ก็เลยลองเปิดเพจเพื่อจะได้ไปสู่วงกว้างมากขึ้น เราค่อยๆ เขียนไปเรื่อยๆ ตอนแรกก็ไม่ได้กะเกณฑ์อะไร แต่ก็ตั้งใจอยากจะเขียนทุกวันและเขียนมาเรื่อยๆ
ในวันที่บทบาทหน้าที่ของสื่อถูกนำเสนอผ่านช่องทางใหม่ทุกวัน เราเรียกตัวเองว่าอะไร
มันจะมีแคปชันตอนที่เปิดเพจให้กรอกว่าเราจะเรียกตัวเองว่าอะไร ผมเขียนไปว่า Journalist ก็คือเป็นนักข่าว แต่ว่าตอนนี้ผมเปลี่ยนบทบาทไปแล้ว เพราะผมออกจากการเป็นนักข่าวแล้ว ดังนั้นผมคิดว่าตัวเองเป็นบล็อกเกอร์ เพราะบางทีก็ไม่ได้เขียนแบบนักเขียนจริงๆ แต่แค่ถ่ายทอดความรู้สึกของเราออกไป คือผมอยากจะให้คนอ่านรู้สึกเหมือนกับว่าเราเป็นเพื่อนคนหนึ่งของเขา เราเจออะไร เราเห็นอะไร เราคิดอะไร เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาคุยกัน
กระบวนการเขียนงานแต่ละชิ้นของคุณเป็นอย่างไร
ผมจะแบ่งเวลาจากการทำงานประจำในแต่ละวันมาเขียนบทความลงเพจ ใช้เวลาน้อยที่สุดคือ 3 ชั่วโมงต่อ 1 ชิ้น นานที่สุดคือ 3 วัน เพราะเราคิดหลายรอบว่าถ้ามันยังดีไม่พอก็คือยังปล่อยไม่ได้ แต่ว่าโดยเฉลี่ย 1 วันต้องมีประมาณ 5-6 ชั่วโมงต่อ 1 ชิ้น
เราใช้ความรู้สึกของเราเองตัดสินคุณภาพของงาน คือบางทีเราก็ปรับบทบาทตัวเองว่าถ้าเราเป็นคนอ่านธรรมดาคนหนึ่ง เราลองไล่อ่านดู เราจะชอบสิ่งที่เราเขียนหรือเปล่า บางชิ้นเขียนไป 99% เหลือบรรทัดสุดท้ายมันหาข้อสรุปไม่ได้ ผมก็เก็บไว้ ยังไม่โพสต์ แต่วันหนึ่งในอนาคตเราอาจจะมาเติม 1% ให้ลงตัวก็ได้ แต่ถ้ามันยังไม่ 100% ยังไงก็ยังปล่อยไม่ได้
ช่วยเล่าย้อนกลับไปในวันที่เริ่มต้นสร้างเพจหน่อยว่าวันนั้นเป็นอย่างไร
ผมจำวันได้ครับ 25 กันยายน 2016 วันนั้นลุกขึ้นมาเปิดเพจเลย แล้วก็ไม่รู้จะใช้ชื่อว่าอะไรด้วย ก็เห็นหลายๆ เพจเอาฮาบ้าง เอาตลก เอาเร็ว แต่เราอยากมีสักพื้นที่หนึ่งให้คนที่อยากจะพูดคุยแบบจริงจัง ไม่เล่น ผมก็เลยใช้ชื่อนี้ เหมาะเลย วิเคราะห์บอลจริงจัง
ตอนแรกคนก็แซวกันทุกรูปแบบ วิเคราะห์บอลจ๊ะทิงจา อะไรต่างๆ ซึ่งแรกๆ ไม่เวิร์กเลย เพราะเป็นชื่อที่ไม่ติดหูคน ไม่ใช่ชื่อสั้นๆ เท่ๆ แต่ว่าไม่เป็นไร เพราะเราใช้ชื่อนี้ไปแล้ว
1 ปีผ่านไป วันที่ 25 กันยายน 2016 ถึง 25 กันยายน 2017 คนไลก์เพจ 3,600 (หัวเราะ)
คือเขียนแบบนี้แหละ อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้แหละ เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองเลยนะว่า เฮ้ย ไม่มีคนอ่านเลยเหรอ เราตั้งใจเขียนมากนะ เราทุ่มเทกับมันมาก
มันก็มีลูกเพจบางคนหลังไมค์มา เฮ้ย คุณเขียนยาวไป เราเสพไม่ไหว คืองานเขียนคุณต้องใช้เวลา 10-15 นาทีในการอ่าน เราว่ายาวไป คุณทำเป็นอินโฟกราฟิกได้ไหม ตัดเป็นคลิปสั้นๆ แบบเพจอื่นได้ไหม
เราก็เลยมาทบทวนตัวเองว่าหรือมันยาวไปจริงๆ คือผ่านไป 1 ปีก็เป็นคำถามที่เราต้องคิดเหมือนกัน พอถึงจุดหนึ่งเราก็มาถามตัวเองว่าเราจะเปลี่ยนตามเขาหรือว่าจะทำในแบบที่เราอยากทำจริงๆ ทีนี้พอได้คำตอบว่ายังไงเราก็อยากจะเขียนยาว ยังไงเราก็อยากเขียนในสิ่งที่เราอยากจะสื่อ เราไม่อยากตามใคร ก็เลยเขียนไปเรื่อยๆ
พอผ่านปีที่ 1 ไปคนก็เริ่มอ่านเยอะขึ้นเรื่อยๆ คนอ่านบอกกันปากต่อปาก มันก็มาถึงวันนี้ที่ 120,000 กว่าไลก์ ก็ถือว่าเป็นปีที่โอเค ส่วนตัวพอใจ
ตั้งความหวังไว้อย่างไรในวันที่ยอดไลก์ยอดแชร์ยังไม่เป็นไปอย่างที่หวัง
คือการเขียน ผมตั้งมาตรฐานตัวเองไว้สูง ถ้าไม่ดีก็ไม่ปล่อย สมมติว่าถ้าเราเขียน 5 ชั่วโมง คนไลก์ 70 คน มันก็เศร้า เฮ้ย หรือมันไม่เวิร์ก หรือต้องเป็นแบบในทฤษฎีที่ทุกวันนี้คนชอบบอกว่าต้องเร็ว ต้องกระชับ
แต่เราก็คิดว่ามันจะไม่มีพื้นที่ให้กับคนที่รักการอ่านเลยเหรอ พอทำไปเรื่อยๆ ผ่านไป 1 ปีก็มีลูกเพจบางคนหลังไมค์มาบอกว่า พี่อย่าหยุดทำนะ พี่เขียนต่อนะ อย่างน้อยก็มีผมอ่านอยู่คนหนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นแรงผลักดันให้เราเห็นว่าจริงๆ สังคมไทย 70 ล้านคนมันต้องมีคนชอบอ่านและรักการอ่านจริงๆ บ้าง
เราก็เลยตัดสินใจทำต่อ ซึ่งนั่นก็เป็นแรงผลักดันสำคัญเหมือนกัน
มีวิธีเลือกมุมมองในการเขียนแต่ละเรื่องอย่างไร เพราะเท่าที่ติดตามจะเห็นว่าค่อนข้างต่างจากสื่ออื่นๆ ที่เน้นการนำเสนอเรื่องผลการแข่งขันเป็นหลัก
การเขียนแต่ละชิ้น เราคิดถึงแค่ความรู้สึกของตัวเองก่อน คือเราเห็นหลายคนมองเห็นผลของการแข่งขันอย่างเดียว แต่จริงๆ ผลของกีฬามันมีเรื่องราวมากกว่านั้น คือนักเตะบางคนต้องฝ่าฟันอะไรมาเยอะมากๆ กว่าที่เขาจะมายิงประตูหนึ่งและชูมือดีใจ มันไม่ใช่แค่เรื่องในสนาม แต่มันมีเรื่องราวที่ซ้อนทับอยู่
คือผมสังเกตว่าคนที่เขียนในไทยส่วนใหญ่จะเขียนเรื่องผลการแข่งขัน วิเคราะห์เกม แต่มีน้อยคนที่จะลองมองในมุมอื่นๆ เช่น มองเรื่องสังคม ประวัติศาสตร์ ความรู้สึก เรื่องของความรัก
เราคิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้านำเสนอก็คิดว่าน่าจะมีคนชอบ เราก็ลองเขียนดู แล้วมันก็มีคนชอบจริงๆ
นิยามความสำเร็จในวันนี้ของคุณคืออะไร
ทุกอย่าง เราโกหกตัวเองไม่ได้หรอก สมมติว่าเราตั้งใจทำชิ้นงานหนึ่งแล้วไม่มีคนอ่าน ไม่มีคนแชร์ ไม่มีคนไลก์ ลองคิดดูว่าถ้าเราเขียนงานแบบโคตรตั้งใจแล้วได้แค่ 10 ไลค์ 2 แชร์ เฮ้ย ร้องไห้เลยนะ
เพราะฉะนั้นตัวเลขก็เป็นมาตรวัดได้เหมือนกันว่างานชิ้นไหนโอเค เราไม่ได้เขียนอะไรพลาด
อีกอย่างหนึ่งที่ชอบคือคนสามารถเอางานของเราไปเป็นพลังให้เขาได้ คือมีครั้งหนึ่งผมเขียนเรื่อง เมจิก จอห์นสัน ที่เขาเป็น HIV เมื่อก่อนทุกคนคิดว่าเป็นโรคนี้ต้องตายแน่ แต่เรื่องราวของเขาได้เปลี่ยนความคิดของคนเป็น HIV ว่าคุณติดเชื้อไม่ได้แปลว่าคุณเป็นเอดส์แล้วตายนะ
หลังจากเขียนไปก็มีคนที่เป็น HIV หลังไมค์มาบอกว่าขอบคุณที่เขียน คือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ เราเขียนบางเรื่องไปแล้วมันมีผลกับเขาบางอย่าง คือมันมีความหมายกับเรามากจริงๆ
ผมอยากจะบอกว่าผมอ่านทุกคอมเมนต์นะ เป็นพันก็อ่าน คนแชร์ผมดูหมด คือมันมีความหมายกับเรามาก
เหมือนคนบ้าเลย (หัวเราะ) คือใช้เวลาเขียนก็เยอะแล้ว ต้องใช้เวลาในการอ่านคอมเมนต์ด้วย คือเวลาเราโพสต์อะไรไปก็ไม่ใช่ปล่อยไปเลย เพราะบางทีลูกเพจเขาก็อยากจะสื่อสารกับเรา
เพราะผมตั้งใจให้เพจเป็นคอมมูนิตี้ ให้คนสามารถคุยกันได้หมด ขอเพียงแค่สุภาพ ให้เกียรติกัน และเราเองก็ต้องรับฟังเขาด้วย
ชุมชนในเพจวิเคราะห์บอลจริงจังที่คุณต้องการสร้างเป็นอย่างไร
หลายๆ คนก็บอกว่าในเพจยุคปัจจุบันคนมักจะด่ากัน แฟนบอลต่างทีมก็ด่ากัน ทั้งหมาแดง เป็ดกาก เราเห็นกันหมด กลายเป็นว่าเวลานี้สงครามมันรุนแรงขึ้นแล้ว อย่างบอลไทยเราก็จะเห็นว่ามีกองเชียร์ซิโก้ อีกฝั่งก็อาจจะเชียร์สมยศ ทุกคนก็จะด่ากัน
เราก็จะบอกลูกเพจตลอดว่าคุณคุยกับเราได้นะ อยู่ที่นี่คุณแชร์ได้หมด เรื่องอะไรก็ตาม ขออย่างเดียวให้สุภาพ เน้นแลกเปลี่ยนความรู้กัน คืออยากให้เป็นสังคมแบบนี้ เหมือนเป็นที่พักใจ เหมือนว่าคุณจะไปรบที่ไหนก็ตาม คุณสามารถมาพักใจคุยกันที่นี่ได้
ผมก็เคยเห็นนะ แฟนบอลลิเวอร์พูลไปด่าแฟนแมนฯ ยูไนเต็ดว่าไอ้หมาแดงในเพจอื่น แต่พอมาโพสต์ในเพจเราก็แบบ ครับๆ พี่ๆ ทุกคน เราโอเคเลยที่มาเพจเราแล้วเขาสุภาพ
สาเหตุที่ตัดสินใจเดินทางออกจาก สยามกีฬา ที่มอบโอกาสและประสบการณ์ให้กับคุณตลอด 9 ปีที่ผ่านมาคืออะไร
ก็อยู่มาปีที่ 9 ถือว่าอยู่มานานพอสมควร รักมากด้วย สนิทกับคนทุกแผนก เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ แต่มันมีขั้นตอนต่อไปที่เราตัดสินใจไว้แล้ว เรารักเขา แต่เราอยากลองก้าวสเตปต่อไปดู คือเราไม่มีทางรู้หรอกว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่มาถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องลองท้าทายตัวเองดู จะผิดหรือถูกอย่างน้อยเราก็เลือกเอง อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ตัดสินใจเลือกเลย
ภาพ: วิเคราะห์บอลจริงจัง
บุคคลที่สร้างความประทับใจมากที่สุดจากประสบการณ์สายข่าวกีฬาคือใคร
จริงๆ คนหนึ่งที่ผมอยากคุยมากคือ ธีรศิลป์ แดงดา กองหน้าทีมชาติไทย นักเตะในฝันเลย เขียนถึงเขาบ่อย สักวันหนึ่งก็อยากเจอ
ส่วนคนที่เจอแล้วประทับใจมากคือ จอห์น เทอร์รี กับโฆเช มูรินโญ
วันนั้นเชลซีมาทัวร์ไทยแล้วเขาให้สื่อไทยได้สัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ทีนี้ สยามกีฬา ก็ส่งผมไปคุยกับสองคนนี้
คือในสายตาคนอื่น มูรินโญอาจจะดูเกรี้ยวกราด ขี้โมโห แต่พอคุยกับสื่อจริงๆ เขาเป็นมิตรมาก เขาไม่เหมือนที่คนอื่นเข้าใจเลย เขาสบายๆ คุยกันง่าย มืออาชีพจริงๆ ไม่มีเกี่ยงที่จะคุยอะไร เขาเป็นคนมีเสน่ห์จริงๆ แต่วันนี้ก็ไม่รู้เป็นยังไงนะ ถ้าไปสัมภาษณ์เขาตอนนี้ เขาอาจจะขี้โมโหก็ได้
คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเปิดเพจจากประสบการณ์ของวิเคราะห์บอลจริงจัง
มีน้องๆ ถามมาเหมือนกัน ผมก็ให้คำแนะนำไปสองข้อ
คือเพจผมเองก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมาก ก็แค่แสนกว่าไลก์ แต่สิ่งสำคัญสำหรับผมคืออย่าสะกดผิด ไม่ว่าคุณจะเขียนอะไรก็ตาม แค่คุณสะกดผิดหนึ่งตัว มันไม่น่าเชื่อถือแล้ว
คือคนบางคนเห็นสะกดผิดก็ไม่อ่านแล้ว เท่ากับว่าสิ่งที่เราตั้งใจจะโดนมองข้าม ทั้งที่เราตั้งใจมาก
อีกข้อหนึ่งคือถามตัวเองก่อนว่าเราชอบอะไรจริงๆ อะไรที่เราไม่ชอบ เราทำไม่ได้นานหรอก คือเมื่อก่อนตอนทำนิตยสาร Mars นิตยสารแนวไลฟ์สไตล์ ก็เหมือน FHM แต่อาจจะเป็นผู้ใหญ่กว่าหน่อย ผมก็ทำเรื่องไลฟ์สไตล์ มีพูดถึงแก็ดเจ็ต แล้วก็ไปสัมภาษณ์ ผมทำได้แค่ 4 เดือนแล้วพบว่ามันไม่ใช่ตัวเราเลย
แล้วพอเรากลับมาทำกีฬาอีกครั้งทั้งในเพจและ สยามกีฬา มันไม่มีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกติดขัดหรือมีปัญหาจนทำให้ไม่อยากทำงาน คือมีความสุขในการเขียนเพจทุกวัน เพราะมันเป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ พอเป็นแบบนั้นก็ทำได้นาน เลยบอกน้องๆ ไปว่าต้องลองดูว่าเราชอบจริงหรือเปล่า ถ้าเราไม่ชอบจริงๆ ทำไปงั้นๆ แป๊บเดียวก็เบื่อ ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มอะไรก็ตาม ไม่ต้องรีบหรอก เพราะแพลตฟอร์มมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ วันนี้เป็นเฟซบุ๊ก พรุ่งนี้อาจจะเป็นอย่างอื่น เป็นทวิตเตอร์ หรือทวิตช์หรือเปล่าที่จะมาครองโลก หาตัวเองก่อน พอหาเจอปุ๊บก็ค่อยไปต่อ
ต้องมีต้นทุนก่อนจะสื่อสารออกไป
การสร้างความยั่งยืนของเพจผ่านการแข่งขันอันรวดเร็วบนโลกออนไลน์เป็นไปได้แค่ไหน วางตัวอย่างไรในการแข่งขัน
การแข่งขันในโลกออนไลน์ค่อนข้างสูง บางคนทำอินโฟกราฟิก แต่เพจผมเขียนอย่างเดียว เพราะมีตัวคนเดียว (หัวเราะ) คือผมทำรูปเอง เขียนเอง โพสต์เอง ติดต่อโฆษณาเอง อ่านคอมเมนต์อง คือตัวคนเดียว แต่เพจอื่นๆ มีกราฟิกสวยๆ โพสต์ 1 รูปคนแชร์เป็นพัน ผมเองก็ตกใจ
แต่พอถึงจุดหนึ่ง สุดท้ายเรามาย้อนคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือโพสิชันมากกว่า ในเมื่อเรามีจุดเด่นและกลุ่มคนอ่านของเราอยู่แล้ว คนรักการอ่านเลือกเข้ามาที่เพจเรา เราก็มีความสุขแล้ว จริงๆ เราก็ไม่ต้องไปสู้กับทุกคนก็ได้ เราแค่หาพื้นที่เล็กๆ ของตัวเองที่เราจะอยู่ได้อย่างมีความสุขกับคนที่รักแล้วก็ชื่นชมเรา ค่อยๆ ขยายฐานของตัวเองไปก็ได้ ไม่ต้องไปฉีดเร่งให้มันโต ค่อยๆ ไป คือเห็นเขาอยากจะปัง อยากจะเปรี้ยง ก็ให้เขาไปทางของเขา
“ส่วนเรา เมื่อเจอจุดที่ชอบแล้วก็ไปตามความเร็วของเรา”
ในวันนี้ที่การแข่งขันเชิงคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ดุเดือดขึ้นทุกวันกับการพาดหัวที่เชิญชวนคนเข้ามาคลิกอ่านตั้งแต่ ‘เรื่องต้องรู้ (มีคลิป)’ ทุกวันนี้พื้นที่ของเฟซบุ๊กแทบจะไม่ต่างกับการเดินเข้าสู่ตลาดสำเพ็งที่แม่ค้าพ่อค้าต่างตะโกนคำว่า ถามได้นะครับ ช่วงราคาพิเศษ ลดได้อีก เพื่อเป็นการเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาหน้าร้าน
แต่สิ่งที่เราได้ค้นพบจากการนั่งสนทนากับเพจวิเคราะห์บอลจริงจังทำให้นึกถึง แฟรงก์ ซินาตรา ตำนานนักแสดง นักร้อง และโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน ที่เคยกล่าวกับ โทนี่ เบนเนต อีกหนึ่งตำนานนักร้องชาวอเมริกันไว้ว่า Don’t sing cheap songs. หรืออย่าร้องเพลงที่คุณคิดว่าไม่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นบทสะท้อนภาพลักษณ์ผ่านบทเพลงของเขาได้เป็นอย่างดี
ทุกวันนี้ทุกคนจะพูดถึงแฟรงก์ในฐานะบุคคลที่มีเสียงร้องในสไตล์ของตัวเองและมีบทเพลงอมตะมากมาย แม้ว่าเพลง My Way, Fly Me To The Moon, Theme From New York New York ที่เขาร้องจะไม่ใช่เพลงที่เขาแต่งขึ้น แต่กลับสามารถขับร้องสื่อสารมุมมองและประสบการณ์ของเขาผ่านท่าทางและเสียงร้องตามทำนองได้อย่างมีเอกลักษณ์และน่าหลงใหล
เช่นเดียวกัน เหตุการณ์ในวงการกีฬาต่างๆ ที่วิเคราะห์บอลจริงจังหยิบยกขึ้นมาเล่าอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวของผู้เขียนโดยตรง และอาจจะไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้ยินเรื่องราวเหล่านี้
แต่ด้วยความสม่ำเสมอ ความเชื่อมั่นที่จะนำเสนอมุมมองของตัวเอง พร้อมกับความต้องการสร้างสังคมแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการเขียน ก็ทำให้แฟนเพจหลายคนเฝ้ารอติดตามอ่านมุมมองของเขาที่มีต่อเหตุการณ์ในวงการกีฬาที่เกิดขึ้น
การนำเพจสู่ความสำเร็จของวิศรุตจึงไม่ต่างกับสไตล์การขับร้องเพลง My Way ของแฟรงก์ ซินาตรา ที่ทำให้ทุกคนแทบจะลืมไปแล้วว่า พอล แองคา เป็นผู้แปลเนื้อร้องเพลงนี้มาจากเพลงฝรั่งเศส และมีเวอร์ชั่นที่พอล แองคา ขับร้องเองอีกด้วย
มาถึงวันนี้ สไตล์การเขียนของวิเคราะห์บอลจริงจังพิสูจน์ให้เห็นว่าหากคุณมีความเชื่อมั่นประกอบกับความสม่ำเสมอในการลงมือทำทุกวัน สักวันหนึ่งความพยายามของคุณก็จะออกดอกออกผลจนเป็นฐานที่มั่นคงและสร้างโอกาสใหม่ในอาชีพให้กับตัวเองได้
วิเคราะห์บอลจริงจังมองฟุตบอลไทย
ก่อนที่เราจะจบบทสนทนา THE STANDARD ได้ขอให้เจ้าของเพจวิเคราะห์บอลจริงจังทำในสิ่งที่เขาถนัดที่สุด โดยให้เขาวิเคราะห์ฟุตบอลไทยกับบทสะท้อนจากผลงานตกรอบแรกในเอเชียนเกมส์ 2018 อย่างจริงจัง และนี่คือมุมมองของเขา
ผมว่าสิ่งที่เราต้องหาคือสไตล์การเล่นที่เหมาะกับเราว่าเราควรไปทางไหน คือผมคิดถึงทีมชาติอังกฤษที่ก่อนหน้านี้ก็เคยหลงทาง จุดเด่นของทีมชาติอังกฤษคือความดุดัน ความใจสู้ ลูกกลางอากาศ ลูก set piece ไม่มีใครสู้เขาได้ตั้งแต่ยุค 80s-90s
แต่พอเข้าสู่ยุค 2000 ทีมอังกฤษดันไปเลียนแบบสายเทคนิคแบบสเปน แบบบราซิล ซึ่งมันไม่ใช่ตัวตนของเขาเลย แต่มาในฟุตบอลโลกครั้งนี้อังกฤษกลับมาสู่ตัวตนของเขาเอง เน้น set piece เน้นหนักแน่น ระบบจาก 4-4-2 ไปเป็น 3-5-2 ซึ่งเป็นแผนดั้งเดิมของอังกฤษ และประตูที่ได้ในบอลโลกก็ set piece ทั้งนั้น เขาก็เจอตัวตนแล้วว่ามันเป็นสไตล์แบบที่เหมาะกับเขา
ผมคิดว่าไทยก็ไม่ต่างกัน สิ่งแรกที่ต้องหาคือหาสไตล์ก่อน สไตล์แบบไหน โยนโหม่งหรือเปล่า เอเชียนเกมส์ครั้งนี้ 2 ประตูที่ได้มาจากลูกโยนโหม่งกับเตะมุม หรือว่าเราจะกลับมาเล่นแบบต่อบอลสั้นเหมือนในยุคของซิโก้ไหม ต่อบอลสั้นๆ เน้นความเร็ว เหมาะกับสภาพร่างกายของนักเตะไทย คือผมว่าถ้าเรายังไม่เจอสไตล์ที่เหมาะ มันไปต่อไม่ได้หรอก ไม่ว่าจะเอาใครมาคุม
คือลองคิดดูว่าถ้าเรายังไม่เจอสไตล์ คนที่เลือกโค้ชก็ไม่รู้ว่าจะเลือกใครมา จะเอาใครก็ได้เหรอ หรือเอาคนที่มีชื่อเสียง แต่ถ้าเรารู้แล้วว่าสไตล์ไหนเหมาะกับทีมชาติไทยล่ะ ตัวเลือกโค้ชก็จะแคบลง เราก็จะดูโค้ชที่มีสไตล์ต่อบอลแบบนั้นก็อาจจะเหมาะกว่าบอลอุดหรือบอลโยน
ดังนั้นก่อนจะพูดถึงเรื่องโค้ช เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าทีมชาติไทยเหมาะกับสไตล์แบบไหน ถ้าเราไปถูกทางก็ต่อยอดได้ ถ้าไปผิดทางก็จบ เริ่มต้นใหม่
เราเคยเจอสไตล์ของเราในยุคซิโก้ไหม
ผมว่ามันก็ต้องเป็นแบบนั้น คือประเทศไทยเรา นักเตะเรา เราจะไปอุดแน่นโยนโหม่งเหรอ คือในยุคของซิโก้เนี่ย ตัดเรื่องนอกสนามออกไป มองแค่แท็กติกในสนาม อย่างน้อยเราก็รู้ว่าเหมาะกับทีมชาติไทย คือโอเค พอเจอระดับสูงขึ้น อย่างเจอซาอุดีอาระเบีย เจอญี่ปุ่น เราก็แพ้เขาเละ เพราะระบบเกมรับเราก็ยังไม่ค่อยเก่ง แต่ว่ามันเห็นแววของการพัฒนา
ถ้าเราจับระบบแบบนั้นมาแล้วเสริมความเคี่ยวเข้าไป คือไม่ใช่แผนนั้นจะโดนยิงเละเทะไปตลอด เพราะมันก็จะมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ นักเตะก็จะค่อยๆ เก่งขึ้น ถ้าเลือกแผนได้ถูก ทุกอย่างก็จะเดินหน้าต่อไป แต่ว่าตอนนี้มันต้องมาเริ่มแผนกันใหม่
เหมือนสไตล์การทำเพจในความเร็วของเราเองใช่ไหมครับ
ใช่ครับ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
3 เหตุการณ์ที่ประทับใจที่สุดจากวงการฟุตบอล
อันดับที่ 1 แน่นอน ฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศ ปี 2014 ที่บราซิล เราขอตั๋วนักข่าวไป ซึ่งถือเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว ยิ่งนัดชิงฯ ด้วย แล้วเราเป็นสื่อไทยด้วย ไม่ใช่ชาติอย่างเยอรมนีหรืออาร์เจนตินาที่เข้าชิงฯ ซึ่งถ้าขอไปก็คงได้เลย
แต่ว่าเราเป็นใครก็ไม่รู้ ประเทศไทยก็ไม่ได้เข้าบอลโลกด้วยซ้ำ ขอไปก็ไม่รู้จะได้หรือเปล่า แต่สุดท้ายเขาก็ให้ ซึ่งสนามที่แข่งรอบชิงฯ คือมาราคาน่า ที่นับว่าเป็นเมกะของวงการฟุตบอล ใครๆ ก็ฝันอยากเข้าไปดู แล้วเราได้เข้าไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ
คือมุมที่ผมเห็นกับจังหวะที่ มาริโอ เกิทเซ ยิงประตูชัยมันใกล้กันมาก เราเห็นภาพโมเมนต์นั้น เราไม่ลืมเลย เป็นโมเมนต์ที่ยิ่งใหญ่มากๆ
อันดับที่ 2 เป็นฟุตบอลทีมชาติไทย ผมดูทีมชาติไทยตลอดอยู่แล้ว โดยเฉพาะฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก เราดูทุกเกม เกมที่ชอบมากคือเกมที่ไทยเจออิรัก เกมนั้นเสมอกัน 2-2 ไทยโดนนำก่อน 2-0 และตีเสมอกลับมาได้ คือเราเห็นบรรยากาศที่แฟนบอลเต็มสนามจริงๆ ประทับใจมาก
อันดับที่ 3 เป็นเรื่องในวัยเด็ก ช่วงประถมผมเตะบอลเล่นกับพ่อที่บ้าน คือเราก็เห็นว่าพ่อพยายามปลูกฝังให้เรารักกีฬา ตอนเด็กๆ ก็ไม่เข้าใจว่าพ่อจะชวนเล่นทำไม แต่พอโตขึ้นมาเราก็รู้ว่าจริงๆ แล้วคุณพ่ออยากปลูกฝังให้เรารักกีฬาตั้งแต่ตอนนั้น มันก็ค่อยๆ ซึมซับเข้าไป