เอเชียนเกมส์เป็นมหกรรมกีฬาที่เป็นพื้นที่สำหรับการพิสูจน์ความเป็นเลิศของทัพนักกีฬาในแต่ละชาติ แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ชาติมหาอำนาจกีฬาแห่งเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ แต่สำหรับกีฬาอย่างเทควันโดที่ไทยสามารถคว้า 2 เหรียญทองและ 2 เหรียญทองแดงมาครองได้สำเร็จก็เป็นบทพิสูจน์ถึงความสำเร็จที่ทางสมาคมกีฬาเทควันโดฯ นักกีฬาทีมชาติไทย และ โค้ชเช ชเวยองซอก ผู้ฝึกสอนชาวเกาหลีใต้ ได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา โค้ชเช หนึ่งในปัจจัยสำคัญของความสำเร็จก็ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนแล้วว่าเขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งกับทัพนักกีฬาไทยตลอดไปด้วยการประกาศสละสัญชาติเกาหลีใต้ และเดินเรื่องขอสัญชาติไทยอย่างเต็มตัว
คำร้องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โค้ชเชซึ่งก้าวเข้ามาคุมทีมชาติไทยตั้งแต่ปี 2545 ได้แสดงความผูกพันกับทัพนักกีฬาและประเทศไทยมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ใกล้เคียงความสำเร็จมากที่สุดสำหรับหัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวเกาหลีใต้หัวใจไทย
โค้ชเชกับจุดเริ่มต้นของวินัยสไตล์เกาหลีใตัในเทควันโดไทย
รังสิญา นิสัยสม, ชัชวาล ขาวละออ, ชนาธิป ซ้อนขำ และพาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คือรายชื่อของนักกีฬาไทยที่คว้าแชมป์โลกได้สำเร็จภายใต้การทำงานของโค้ชเช
รวมถึงเหรียญเงินโอลิมปิกในปี 2008 และ 2016 เหรียญทองแดงโอลิมปิกในปี 2004, 2012 และ 2016 และเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2010, 2014 และ 2018 รวมถึง 6 เหรียญทองในซีเกมส์ครั้งล่าสุดที่มาเลเซียเมื่อปี 2017 คือจุดที่โค้ชเชได้นำพาวงการเทควันโดไทยก้าวขึ้นมาตั้งแต่ที่ได้เซ็นสัญญาเข้ามาคุมทีมชาติไทยครั้งแรก
เรื่องของทักษะและเทคนิคนั้นคงได้รับการพิสูจน์ไปแล้วจากความสำเร็จที่กล่าวมา แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของแนวทางการฝึกซ้อมของโค้ชเชคือวินัยที่มาก่อนความสามารถ
“วันแรกผมจำได้ว่ามี 2-3 คนมาสาย ผมก็ถามว่าทำไมมาสาย เขาบอกว่าก็ตื่นนอนเร็ว เข้าห้องน้ำ มีเหตุผลต่างๆ ผมก็ไม่ให้ซ้อม ให้กลับบ้าน กลับห้อง
“ผมมาครั้งแรก มาเรียนภาษาไทยครั้งแรกบอกสบายๆ ของภาษาไทยบอกปาลีๆ หรือเร็วๆ
“แต่สำหรับเรื่องกีฬาต้องเอาจริงเอาจังแล้ว ต้องสบายๆ ก็หลังจากเหรียญทองแล้ว
“การแข่งขันไม่มีสบายๆ ต้องเอาจริงเอาจัง ต้องเริ่มที่ใจก่อน”
คือปรัชญาการทำงานของโค้ชเชที่ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ คนค้นฅน เมื่อปี 2556 เมื่อถูกถามถึงการปรับรูปแบบวิธีการฝึกซ้อมและมุมมองกีฬาของทัพนักกีฬาไทยให้เข้ากับความสำเร็จของเทควันโดในระดับนานาชาติ
โดยตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา วินัยกับทักษะของโค้ชเช ประกอบกับความสามารถของนักกีฬาไทยก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีโลก
โค้ชเชในวันที่เกือบอำลาทีมชาติไทย
แต่ความสำเร็จที่โค้ชเชได้นำพาจากความมีวินัยนั้น แน่นอนว่าต้องพบกับแรงเสียดทานในบางครั้ง และเหตุการณ์สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดกระแสว่าโค้ชเชอาจอำลาทีมชาติไทยก็เกิดขึ้นเมื่อปี 2557
‘ก้อย’ ย้ำ ‘โค้ชเช’ ต่อยเต็มแรง แฉคนอื่นก็ทนไม่ได้ แต่ไม่กล้าพูด
‘โค้ชเช’ รับลงโทษจริง แต่ไม่ได้ต่อย ‘น้องก้อย’
เจาะข่าวเด่นเปิดใจ ‘ก้อย รุ่งระวี’ นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย
คือสิ่งที่ปรากฏบนหน้าสื่อกระแสหลัก โดยเริ่มจากเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 เมื่อ ก้อย-รุ่งระวี ขุระสะ นักเทควันโดสาวทีมชาติไทยเจ้าของเหรียญทองแดงชิงแชมป์เอเชีย 2014 ออกมาเปิดเผยว่าถูกโค้ชเช หัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวเกาหลีใต้ ลงโทษเกินกว่าเหตุด้วยการทำร้ายร่างกายโดยชกต่อยเข้าที่ใบหน้าและท้องในการแข่งขันเทควันโดที่ประเทศเกาหลีใต้
โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดจากการที่ก้อย รุ่งระวี ไม่พร้อมในการเตรียมอุปกรณ์ป้องกันตัว ทำให้คู่ต่อสู้ต้องมายืนรอในสนามนานถึง 5 นาที แถมฟอร์มในการเตะเมื่อลงสนามดูไม่มีความพร้อมและแพ้ให้กับเจ้าภาพไป 4-15 จนโค้ชเชซึ่งติดตามชมการแข่งขันอยู่ตลอดเรียกก้อย รุ่งระวี มาลงโทษต่อหน้านักกีฬาและทีมงาน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การโพสต์ผ่านโลกโซเชียลมีเดียของก้อย รุ่งระวี และการออกรายการโทรทัศน์ช่องต่างๆ ทำให้หัวข้อนี้กลายเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างว่าการกระทำของโค้ชเชเหมาะสมหรือเกินความจำเป็น
หลังจากนั้นโค้ชเชได้ขอใช้เวลาทบทวนตัวเองที่ประเทศเกาหลีใต้เป็นสัปดาห์จนเกิดกระแสว่าโค้ชเชอาจอำลาทีมชาติไทยและไม่เดินทางกลับมาอีกแล้ว
แต่แล้ววันที่ 20 กรกฎาคม โค้ชเชได้ตัดสินใจกลับมาประเทศไทยพร้อมกับการต้อนรับจากแฟนกีฬาจำนวนมากที่มารอให้กำลังใจที่สนามบินสุวรรณภูมิ และออกแถลงการณ์ว่า
“ผมไม่ได้ทำร้ายก้อย แต่เป็นการทำโทษแบบปกติให้นักกีฬามีระเบียบวินัยดีขึ้น เพราะก้อยเป็นหนึ่งในนักกีฬาความหวังที่มีโอกาสไปแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่อินชอน หากเขาทำผิดแล้วเราไม่ตักเตือนหรือลงโทษก็จะทำให้มีอิทธิพลกับนักกีฬาคนอื่นๆ ที่เหลือ ยิ่งไปกว่านั้นนักกีฬาทุกคนคือลูกชายและลูกสาวของตัวเอง ผมเป็นโค้ช จะทำร้ายลูกตัวเองได้อย่างไร”
เหตุการณ์ในครั้งนั้นจบลงด้วยแถลงการณ์ขอโทษจากทางก้อย รุ่งระวี และโค้ชเช ซึ่งโค้ชเชเองก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
สุดช็อค ‘โค้ชเช’ เตรียมลาไทย โยกซบสหพันธ์จอมเตะโลก
ปี 2559 เป็นอีกหนึ่งครั้งที่กระแสโค้ชเชเตรียมอำลาทีมชาติไทยเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เมื่อสื่อได้เริ่มรายงานว่าจากความพยายามขอสัญชาติไทยของโค้ชเชที่ไม่ประสบความสำเร็จและได้รับการทาบทามจากสหพันธ์เทควันโดโลก
“นอกจากการเป็นโค้ชทีมเทควันโดไทย ตนคงไม่เป็นโค้ชให้ชาติไหนอีก แต่ตอนนี้สหพันธ์เทควันโดโลกได้ทาบทามให้ตนไปช่วยงานที่สหพันธ์ อนาคตตนอาจจะไปทำงานช่วยเหลือสหพันธ์เพื่อพัฒนากีฬาเทควันโดทั่วโลก
“และถ้าตนไม่ได้สัญชาติไทยอาจจะไม่ได้เป็นโค้ชทีมชาติไทย ซึ่งตนรักประเทศไทย รักนักกีฬาทุกคน แต่เมื่อถึงเวลาเราก็ต้องหมดจากการเป็นโค้ช ไม่วันนี้ก็ต้องมีวันหน้า แต่ถ้ายังเป็นพลเมืองที่นี่ ตนจะอยู่และตายที่ประเทศไทย”
เป็นบทสัมภาษณ์ที่โค้ชเชได้กล่าวไว้เมื่อปี 2559 กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าพร้อมทุ่มเทเพื่อเทควันโดไทย และแสดงความต้องการสิทธิ์ในการอยู่ประเทศไทยเหมือนพลเมืองไทย
ซึ่งสุดท้ายโค้ชเชยังคงทำหน้าที่ต่อจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2561 หลังภารกิจที่เอเชียนเกมส์ ซึ่งโค้ชเชได้ประกาศย้ำชัดอีกครั้งว่าพร้อมสละสัญชาติเกาหลีใต้เพื่อเดินหน้ายื่นเรื่องเป็นพลเมืองไทย
วันที่โค้ชเชพร้อมสละสัญชาติเกาหลีใต้
“แต่ติดตรงที่เกาหลีใต้ไม่ให้ชาวเกาหลีถือสองสัญชาติ” คือบทสัมภาษณ์ที่โค้ชเชยอมรับถึงปัญหาก่อนหน้านี้ที่ทำให้ตนไม่สามารถขอสัญชาติไทยได้สำเร็จ
แต่มาถึงวันนี้โค้ชเชได้ยืนยันแล้วว่าเขาพร้อมที่จะสละสัญชาติเกาหลีใต้ โดยเหตุผลหลักที่โค้ชเชได้ตัดสินใจสละสัญชาติเกิดจากการสูญเสียคุณย่าที่โค้ชเชรักและเคารพ ซึ่งก่อนหน้านี้โค้ชจะใช้เวลา 2-3 ครั้งต่อปีเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้เพื่อพบเจอและดูแลคุณย่า
“เดิมทีเขามีครอบครัวที่ทำให้ต้องไป เพราะเขามีคุณย่าที่เลี้ยงเขามาอยู่ที่โน่น เขาก็ยังไปมาบ่อย ยังไม่อยากจะโอนสัญชาติ ก็เป็นห่วงย่า แต่วันนี้คุณย่าได้เสียไปแล้ว เขาก็อยากขอเป็นคนไทย แล้วก็ฝากภาครัฐให้ช่วยดำเนินการให้ด้วยครับ
“ใช่ครับ เขาไม่เอาเกาหลีแล้ว เขาจะเป็นคนไทยครับ”
ผศ.ดร.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ในวันที่ทัพนักกีฬาเทควันโดเดินทางกลับมายังประเทศไทยพร้อมกับความสำเร็จในเอเชียนเกมส์ 2018 อีกครั้งภายใต้การคุมทัพของโค้ชเช
โดยคำยืนยันครั้งนี้ตรงกับบทสัมภาษณ์ที่โค้ชเชได้เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2556 ในรายการ คนค้นฅน เมื่อโค้ชเชเดินทางกลับไปยังเกาหลีใต้เพื่อเข้าพบผู้ฝึกสอนของเขาและคุณย่าจุงคิเมียว ที่ดูแลเปรียบเสมือนเป็นพ่อและแม่ของโค้ชเช
“สำหรับครอบครัวผม จริงๆ ก็มีแค่คุณย่ากับพี่สาว
“จริงๆ ผมตัวอยู่ไทย แต่ใจอยู่เกาหลี ครอบครัวที่นี่ คุณย่าเป็นเหมือนคุณพ่อคุณแม่ สำหรับใจผมก็อยู่ที่นี่ แต่ว่ายังไงก็ต้องทำงานอยู่ที่ไทย
“คุณย่าต้องอยู่ไปจนอายุ 100 ปีเลยนะครับ”
คือสิ่งที่โค้ชเชได้กระซิบบอกคุณย่าในวันนั้น แต่ในปลายปี 2560 โค้ชเชต้องได้รับข่าวเศร้า เมื่อคุณย่าจุงคิเมียวได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 98 ปี
จนมาถึงวันนี้ ผศ.ดร.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ก็ได้ยืนยันแล้วว่าโค้ชเชพร้อมเดินหน้าเป็นคนไทยอย่างเต็มตัวแล้ว
โค้ชเช หรือที่ได้รับชื่อไทยคือ ชัยศักดิ์ เป็นอีกหนึ่งโค้ชต่างชาติที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับทัพนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงและความสำเร็จในเวทีโลก โดยก่อนหน้านี้เป็นโค้ชเซี่ยจื่อหัว โค้ชแบดมินตันชาวจีนที่ร่วมสร้างความสำเร็จให้กับวงการแบดมินตันไทยก็ได้รับข่าวดี เมื่อราชกิจจานุเบกษาประกาศให้แปลงสัญชาติไทยโดยใช้ชื่อ ก่อเกียรติ ชัยประสิทธิโชค เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560
โค้ชเชถือว่าเป็นบุคคลตัวอย่างของวงการกีฬาไทยคนหนึ่ง จากความทุ่มเทต่อหน้าที่ซึ่งถูกต่อยอดไปเป็นความผูกพันที่เขามีต่อนักกีฬา สมาคม และประชาชนชาวไทย จนวันนี้เขาได้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่าเขาอยากเป็นมากกว่าผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อความสำเร็จของเทควันโดไทย แต่อยากเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยด้วยการเป็นพลเมืองไทยแบบเต็มตัว
ตอนนี้ในฐานะแฟนกีฬาชาวไทยคนหนึ่งก็ได้แต่เฝ้าคอยให้ทางรัฐบาลพิจารณาต้อนรับโค้ชเชในฐานะ ชัยศักดิ์ หนึ่งในประชาชนชาวไทยอย่างเต็มตัว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.khaosod.co.th/sports/news_1487164
- www.youtube.com/watch?v=r8BWRpOi_Fw
- www.sanook.com/sport/801835/
- www.youtube.com/watch?v=JLksZMLODJY
- www.komchadluek.net/news/sport/188928
- www.youtube.com/watch?v=JLksZMLODJY
- www.youtube.com/watch?v=L_5gC518DtU
- www.thairath.co.th/content/1097282
- www.bangkokbiznews.com/news/detail/776842
- www.youtube.com/watch?time_continue=323&v=OI6iDa2_8Pk