Mirai มิไร มหัศจรรย์วันสองวัย ผลงานขนาดยาวลำดับที่ 7 ของ มาโมรุ โฮโซดะ ผู้กำกับแอนิเมชันรุ่นใหม่ที่หลายคนคาดหวังว่าเขาคือหนึ่งในผู้กำกับที่จะมาสานต่อความยิ่งใหญ่ให้กับวงการแอนิเมชันญี่ปุ่นต่อจาก ฮายาโอะ มิยาซากิ ตำนานจากสตูดิโอจิบลิที่บอกว่าจะวางมือมาหลายครั้ง (แต่ก็ยังไม่ได้วางสักที)
ถ้าเป็นคนที่ติดตามผลงานเขามาก่อน หนึ่งในลายเซ็นของโฮโซดะที่ชัดเจนที่สุดคือการหยิบประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัวที่อ่อนไหว สวยงาม หม่นหมอง เต็มไปด้วยปัญหา มานำเสนอผ่านลายเส้นแอนิเมชันที่ร่วมสมัยและเป็นเอกลักษณ์
เช่นเดียวกับใน Mirai ที่เขาเลือกหยิบประเด็นของ คุนจัง เด็กหนุ่มวัย 4 ขวบผู้เคยเป็น ‘หัวใจ’ สำคัญของคนในบ้านที่กำลังอยู่ในสภาวะอ่อนไหวถึงขีดสุด เมื่อรู้สึกว่าสมาชิกคนใหม่อย่าง มิไรจัง น้องสาวผู้แสนน่ารัก กำลังจะมาแย่งชิงทุกสิ่งที่เขาเคยได้รับไป
หากมองในมุมของผู้ใหญ่ หลายคนอาจมองว่านี่คือเรื่องเล็กน้อยที่เด็กทุกคนต้องเผชิญ แต่สิ่งที่โฮโซดะเลือกนำเสนอ เขามองว่านี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นปัญหาสำคัญระดับ coming of age ที่เด็กอายุ 4 ขวบคนหนึ่งต้องเผชิญและผ่านพ้นไปให้ได้ โฮโซดะให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงแรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่องนี้ว่า
“เวลาทำหนังสักเรื่อง ผมจะคิดถึงสถานการณ์ที่ผมอยากมีประสบการณ์กับเรื่องนั้น อย่างในเรื่อง Mirai เป็นช่วงที่ผมเพิ่งมีลูกสาวคนเล็ก ในช่วงเวลาที่ลูกชายคนแรกของผมอายุ 4 ขวบเท่าคุณจังในเรื่องพอดี เพราะฉะนั้นต้นแบบของตัวละครนี้ก็มาจากลูกชายของผมเต็มๆ และผมอยากรู้ว่าเด็กที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้นจะรู้สึกอย่างไร ก็เลยจำลองสถานการณ์ในเรื่องนี้ขึ้นมา”
เพราะหนังสร้างจาก ‘อารมณ์’ และ ‘ความรู้สึก’ ของเด็กอายุ 4 ขวบ เราคงต้องบอกให้คนที่จะเข้าไปดู โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ถูกจริตกับเสียงร้องของเด็กๆ เตรียมใจไว้ก่อนว่าหนังเรื่องนี้จะเต็มไปด้วยฉากร้องไห้เอาแต่ใจ หรือจะเรียกว่าช่วงแรกๆ หนังใช้เสียงร้องและน้ำตาของคุนจังในการดำเนินเรื่องก็ว่าได้ และผู้กำกับอย่างโฮโซดะก็เลือกที่จะไม่ประนีประนอมในจุดนี้ ทั้งยังใส่เสียงร้องระดับบาดแก้วหูใส่คนดูแบบเต็มๆ จนยอมรับว่ามีอยู่หลายครั้งที่เรารู้สึกทนไม่ไหวและอยากพาตัวเองออกไปจากสถานการณ์ตรงหน้าให้ได้เหมือนกัน
แต่ถ้าผ่านพ้นช่วงนั้นไปได้ ผู้กำกับเองก็ไม่ได้ใจร้ายถึงขนาดทำให้เรารู้สึกแย่กับคุณจังไปตลอด หนังค่อยๆ เปิดโอกาสให้คุณจังได้เรียนรู้ความเป็นจริงผ่านเรื่องราวแฟนตาซีจาก ‘สวนหลังบ้าน’ ที่ทำให้รู้ว่าก่อนที่เขาจะถูกมิไรแย่งความรัก เขาเองก็เป็นคนที่เคยแย่งความรักของพ่อแม่มาจากสุนัขประจำบ้านมาก่อนเหมือนกัน
รวมทั้ง มิไร น้องสาวที่เดินทางข้ามเวลามาจากอนาคตที่ค่อยๆ เข้ามาทำให้คุนจังวัยเด็กรู้ว่าทุกๆ สิ่งที่เขากระทำในวันนี้ล้วนส่งผลเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่เชื่อมโยงซึ่งกันและกันต่อไปในอนาคต ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวตนของพ่อแม่ของเขาที่ก็เป็นผลมาจากการกระทำและการตัดสินใจของคนรุ่นปู่ย่าตายาย และแน่นอนว่าผลทั้งหมดก็ตกมาอยู่กับทั้งตัวของคุนจังและมิไรจังเช่นเดียวกัน
จากเดิมที่เรารู้สึกไม่ชอบใจนักกับคุนจังที่พร้อมจะงอแงตลอดเวลา กลายเป็นเราค่อยๆ เปิดใจให้กับความคิดตรงไปตรงมาและหัวใจที่ไร้เดียงสาของเด็กน้อยคนนี้มากขึ้น เพราะถ้าลองคิดดูให้ดีๆ เราล้วนเคยตกอยู่ในความรู้สึกสูญเสียความสำคัญอยู่ตลอดเวลา
เสียงร้องไห้ของคุนจังจะช่วยย้อนภาพต่างๆ กลับมาอีกครั้ง และทำให้นึกขึ้นมาได้ว่าเราเองก็เคยตกอยู่ในความรู้สึกแบบนั้นมาก่อน ซึ่งเรื่องอย่างนี้ไม่ใช่ ‘เรื่องเล็ก’ สำหรับเด็กที่ไม่เคยถูกแย่งความรักมาก่อน เพียงแต่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้นมีเรื่องอื่นให้ต้องคิดมากขึ้น เราจึงหลงลืมความ ‘เจ็บปวด’ ในวันนั้นแล้วไปโฟกัสให้กับความเจ็บปวดใหม่ๆ อย่างการถูกแย่งความรักในความสัมพันธ์แบบหนุ่มสาว การถูกละเลยในกลุ่มเพื่อน การถูกมองข้ามความสำคัญในที่ทำงาน ไปจนถึงเรื่องใหญ่เมื่อถูกกดขี่จากความไม่ยุติธรรมในสังคม
ถึงแม้ว่าในตอนจบเรายังไม่ได้รู้แน่ชัดว่าหลังจากพบเจอสิ่งต่างๆ ในเรื่องแล้ว การกระทำและความรู้สึกของคุนจังที่มีต่อน้องสาวจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน แต่อย่างน้อยที่สุด จากคำพูดที่โฮโซดะบอกกับ THE STANDARD ว่า
“ผู้ใหญ่และเด็กจะมีมุมมองต่อโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผมหวังว่าคนที่มาดูหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะผู้ใหญ่จะสนุกไปกับการได้มองเห็นโลกอีกแบบที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือเคยรู้แต่หลงลืมไปแล้ว และหวังว่าโลกทั้งสองใบของผู้ใหญ่และเด็กจะขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น”
ซึ่งโฮโซดะก็ทำอย่างนั้นได้จริงๆ เพราะจากมุมมองของคนที่ไม่ได้ชื่นชอบเด็กเท่าไรนักก็เริ่มที่จะมองเห็น ‘น้ำตา’ และ ‘เสียงร้อง’ ของเด็กๆ ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป
เรื่องราวใน Mirai อาจจะไม่ถึงขนาดทำให้เรารู้สึกรักเด็กขึ้นมาทันที แต่คิดว่าอย่างน้อยที่สุดเราก็เข้าใจในเหตุผลของเสียงร้องที่แผดกังวานนั้นขึ้นมามากทีเดียว
- ผลงานก่อนหน้าของ มาโมรุ โฮโซดะ ได้แก่ The Girl Who Leapt Through Time ที่เล่าเรื่องผลลัพธ์ของการย้อนเวลาเพื่อไปแก้ไขเรื่องต่างๆ ของเด็กสาวคนหนึ่ง, Summer Wars เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวใหญ่ในวันที่ครอบครัวในสังคมญี่ปุ่นมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ, Wolf Children เล่าถึงความลำบากของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูก 2 คนที่แปลงร่างเป็นหมาป่าได้ ฯลฯ