×

การค้นหาตัวเองช่วงรักแรกของ Call Me By Your Name นิยามใหม่ของหนังแนว Coming of Age

13.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ความสำเร็จของ Call Me By Your Name เกิดขึ้นจากความ ‘กลมกล่อมและละมุนละไม’ ของทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่บทภาพยนตร์ ดนตรีประกอบ สถานที่ถ่ายทำ นักแสดง หรือแม้แต่การเก็บรายละเอียดเสื้อผ้าที่ไม่ได้ดูพยายามเกินไป
  • การแสดงของ ทิโมธี ชาลาเมต์ ในบทบาทเอลิโอ ถือว่ายอดเยี่ยมและเป็นหัวใจสำคัญของหนังเรื่องนี้ที่ช่วยกระตุ้นความรู้สึกของผู้ชมให้นึกถึงช่วงชีวิตที่เรามักตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า “ตกลงเราต้องการอะไรในชีวิต”
  • อีกหนึ่งไฮไลต์ของ Call Me By Your Name ก็ต้องยกให้เสื้อผ้า ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังก็คือ Giulia Piersanti ที่เพิ่งหันมาทำคอสตูมภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ 2 ในชีวิต และยังคงทำงานเป็นดีไซเนอร์ให้กับแบรนด์ Céline

 

 

*บทความนี้มีการเปิดเผยเรื่องราวภาพยนตร์

 

ทันทีที่ออกมาจากโรงภาพยนตร์ หลังจากใช้เวลา 132 นาทีรับชมภาพยนตร์ Call Me By Your Name บางคนอาจจะรู้สึกดี รู้สึกเย็นชา หรือต้องการกลับเข้าไปดูอีกรอบ เพราะพลังของ ‘รักแรก’ มันเป็นสิ่งที่ไร้ขอบเขตและสามารถดึงความรู้สึกที่ติดตัวมนุษย์ออกมาไม่มากก็น้อย แต่แค่ว่าคนเราจะแบกรับมันได้ขนาดไหนนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่หนังเรื่องนี้ถาม

 

Call Me By Your Name หนังแนวโรแมนติก Coming of Age ของผู้กำกับชาวอิตาเลียน ลูกา กัวดาญิโน ได้รับการดัดแปลงจากนิยายขายดีปี 2007 ของ André Aciman นักประพันธ์ชาวอียิปต์ และต้องรอเกือบ 8 ปีกว่าจะเริ่มถ่ายทำ เพราะมีปัญหาด้านทุนสร้าง ทั้งยังมีการเปลี่ยนผู้กำกับและนักแสดงอยู่หลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ไปลงตัวที่ผู้กำกับลูกาที่เคยทำหนังเรื่อง I Am Love (2010) และ A Bigger Splash (2015) ส่วนบทภาพยนตร์ก็ได้ เจมส์ ไอวอรี มาเขียนให้ ซึ่งตอนแรกหนังเรื่องนี้มีความยาวเกือบ 4 ชั่วโมง ก่อนที่ลูกาจะตัดให้สั้นลงภายในเดือนเดียวช่วง Post-Production

 

หนังเล่าเรื่องราวความรักที่เกิดขึ้นระหว่าง เอลิโอ หนุ่มอายุ 17 ปี กับ โอลิเวอร์ หนุ่มนักเรียนปริญญาเอกวัย 24 ปี ที่ได้มาอาศัยอยู่บ้านของครอบครัวเอลิโอราว 6 สัปดาห์ในช่วงซัมเมอร์ปี 1983 เพื่อมาช่วยพ่อของเอลิโอ Mr. Pearlman ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีช่วงการทำวิจัย โดยความรักนี้ได้เกิดขึ้นกับเอลิโอในช่วงชีวิตที่คนเรากำลังค้นหาตัวเอง ทั้งด้านใจและกาย และถึงแม้ความรักนี้จะเกิดขึ้นภายในเวลาแค่ 6 สัปดาห์ แต่มันก็สวยงามและยิ่งใหญ่มากพอที่การสูญเสียมันไปก็ทำให้เห็นว่าสิ่งที่วิเศษสุดก็เป็นสิ่งที่ทำร้ายจิตใจได้มากที่สุดเช่นกัน

 

ต้องบอกว่าความสำเร็จของ Call Me By Your Name เกิดขึ้นจากความ ‘กลมกล่อมและละมุนละไม’ ของทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่บทภาพยนตร์ ดนตรีประกอบ สถานที่ถ่ายทำ นักแสดง หรือแม้แต่การเก็บรายละเอียดเสื้อผ้าที่ไม่ได้ดูพยายามเกินไป ถึงแม้คุณจะไม่ได้เกิดในยุค 80s, รักเพศเดียวกัน หรือเติบโตในวัฒนธรรมตะวันตกที่กินพาสต้าทุกมื้อ แต่หนังก็ยังมีนามธรรมต่างๆ ที่เป็นกระจกสะท้อนชีวิตคุณได้อย่างแน่นอน หากคุณค้นหาในตัวเอง

 

 

การแสดงของทิโมธี ชาลาเมต์ ในบทบาทเอลิโอ ถือว่ายอดเยี่ยมและเป็นหัวใจสำคัญของหนังเรื่องนี้ที่ช่วยกระตุ้นความรู้สึกของผู้ชมให้นึกถึงช่วงชีวิตที่เรามักตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า “ตกลงเราต้องการอะไรในชีวิต” ทิโมธีได้สร้างตัวละครที่มีกราฟอารมณ์ที่เชื่อถือได้ ตั้งแต่ความมั่นใจในตัวเองจากฉากแรกๆ ของหนัง จนถึงช่วงที่เริ่มสับสนในตัวเองกลางเรื่อง และการเห็นตัวเองสิ้นหวังในช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งสำหรับนักแสดงที่ในชีวิตจริงรักเพศตรงข้าม การจะเข้าใจตัวละครที่รักเพศเดียวกันไม่ใช่สิ่งที่ทำกันง่ายๆ ซึ่ง ลูกา ผู้กำกับก็คิดถูกที่บอกให้ทิโมธีและอาร์มีเดินทางไปเมืองครีมา ประเทศอิตาลี สถานที่ถ่ายทำก่อนหนึ่งเดือน เพื่อให้ทั้งคู่ซึมซับบรรยากาศ ไปใช้ชีวิตแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วยกัน เข้าใจวัฒนธรรม และช่วยกันเนรมิตสองตัวละครนี้ให้ดูสมจริงที่สุด ซึ่งผลลัพธ์คือเคมีที่ไม่ดูแปลกปลอม และทุกวันนี้หากไปดูสัมภาษณ์ที่ทั้งคู่ให้ตอนโปรโมตหนังเรื่องนี้ก็ยังเห็นเคมีนี้อยู่

 

แต่ถ้าต้องเลือกหนึ่งฉากที่จะเป็นจุดไคลแมกซ์และชี้วัดความสำคัญของหนังเรื่องนี้ (มากกว่าฉากลูกพีชที่กลายเป็นการมาร์เก็ตติ้งของ Call Me By Your Name ไปแล้ว) ก็ต้องยกให้ฉากท้ายเรื่องที่ Mr. Pearlman พ่อของเอลิโอ (แสดงโดย ไมเคิล สตัลเบิร์ก) ได้พูดคุยเชิงปรัชญากับลูกชายตัวเองเกี่ยวกับการที่คนเราต้องยอมรับตัวเอง ไม่วิ่งหนีความจริง และต้องมีชีวิตอยู่กับความทุกข์และความสุขควบคู่กันไป ถึงมันจะเป็นฉากที่ไม่ได้มีอยู่จริงในสังคมเสมอไป แต่เป็นสิ่งที่หลายคนอยากให้เกิดขึ้นจริงกับพ่อตัวเอง บุคคลที่เราดำเนินชีวิตเพื่อที่จะทำให้เขาภูมิใจในตัวเราเสมอ แม้เราจะไม่ได้เป็นตัวของตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์

 

ด้านเทคนิคของหนังก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ความสำเร็จด้าน Cinematography ของ Call Me By Your Name เกิดขึ้นจากฝีมือของคนไทยอย่าง สยมภู มุกดีพร้อม ที่เคยฝากผลงานในภาพยนตร์หลายเรื่องของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เช่น ลุงบุญมีระลึกชาติ ซึ่งเบื้องหลังการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ก็ถือว่าทรหด เพราะฝนตกที่เมืองครีมาตลอดเวลา แต่สยมภูและลูกทีมสามารถถ่ายทำและปรับแต่งภาพให้ออกมาเป็นซัมเมอร์ในวันวานที่เปี่ยมไปด้วยความฉ่ำ โรแมนติก และเป็นช่วงเวลาที่หลายคนยังอาลัยอาวรณ์จนต้องกลับไปดูในภาพฟิล์มเก่าๆ ที่ติดไว้ใน Photo Album ภาพของวันวานก่อนที่ทุกวันนี้ไม้เซลฟีจะเข้ามาทุกเฟรม

 

 

อีกหนึ่งไฮไลต์ของ Call Me By Your Name ก็ต้องยกให้เสื้อผ้าที่เปรียบเสมือนอีกหนึ่งตัวละครประกอบที่ทำให้หนังเรื่องนี้รู้สึกสมบูรณ์แบบ ผู้อยู่เบื้องหลังก็คือ Giulia Piersanti ที่เพิ่งหันมาทำคอสตูมภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ 2 ในชีวิต และยังคงทำงานเป็นดีไซเนอร์ให้กับแบรนด์ Céline ในทุกวันนี้ ความโดดเด่นของเสื้อผ้าในเรื่องนี้คือ Giulia ฉลาดเลือกไอเท็มที่มีความ Nostalgic ทำให้ระลึกถึงความหลังของวัยเยาว์ที่ไม่ได้รู้สึกเป็นหนังพีเรียดเกินไปและจะกลับมาใส่ไม่ได้ ทั้งเสื้อโปโลของแบรนด์ Fido Dido และ Lacoste ของตัวละครเอลิโอ หรือเสื้อเชิ้ตตัวหลวมแมตช์คู่กับกางเกงว่ายน้ำสีโทนร้อนและรองเท้าสนีกเกอร์ Converse ของตัวละครโอลิเวอร์ ที่เพิ่มความเย้ายวนให้กับผู้ชายอเมริกันคนนี้ที่มาในมาดภูมิฐานดั่งนายแบบในภาพถ่ายของบรูซ เวเบอร์ ที่ Giulia ได้ใช้เป็นเรฟเฟอเรนซ์

 

Call Me By Your Name คือการต่อยอดเทรนด์ภาพยนตร์ LGBTQ ที่ฮอลลีวูดได้หันเอามาอยู่ในอ้อมกอด และช่วยให้อยู่ในกระแสหลักเหมือนที่เกิดขึ้นกับ Moonlight, Carol, Brokeback Mountain หรืออีกเรื่องหนึ่งของปีนี้ที่ชื่อ Beach Rats ของผู้กำกับ เอลิซา ฮิตต์แมน หรือไม่?

 

ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้อาจเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าอุตสาหกรรมฮอลลีวูดมีคนรอชมหนัง LGBTQ และเป็นสิ่งน่ายินดีว่า มีนาคมปีหน้าจะมีหนัง Love, Simon ของผู้กำกับ เกร็ก เบอร์ลานติ ที่เป็นหนังรักคอเมดี้เกย์ทีนเรื่องแรกๆ ที่ค่าย 20th Century Fox ลงทุนสร้างและมาร์เก็ตติ้งเองแบบภาพยนตร์กระแสหลัก ซึ่งก็ต้องดูว่าจะทำรายได้มากขนาดไหน และด้านของกระแสสังคมโดยเฉพาะในอเมริกาที่เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นละเอียดอ่อน

 

ช่วงนี้เราน่าจะได้ยินชื่อของหนัง Call Me By Your Name อยู่เรื่อยๆ เพราะถูกเสนอชื่อเข้าชิงงานแจกรางวัลหลายเวที ทั้งเวทีลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และนักแสดงยอดเยี่ยมสำหรับทิโมธีและอาร์มี ส่วนล่าสุดหนังก็ได้เข้าชิง 4 รางวัลออสการ์ ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมสำหรับทิโมธี ชาลาเมต์,ภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมสำหรับ James Ivory และเพลงประกอบยอดเยี่ยมสำหรับเพลง Mystery of Love ของ Sufjan Stevens

 

แม้หนังเรื่องนี้หากเทียบกับคู่แข่งจะไม่ได้หวือหวาที่สุด ดราม่าเข้มข้นที่สุด มีฉากรบในสงครามโลก หรือมีอะไรให้ตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา แต่เพราะความบริสุทธิ์ของหนังอาจเป็นสิ่งที่เข้าตากรรมการ และมากไปกว่าแค่การชิงรางวัล หนังเรื่องนี้กำลังเข้าไปอยู่ในใจของคนหลายยุคสมัย สร้างบทสนทนาให้สังคมในช่วงเวลาที่จำเป็นอย่างมาก และต่อไปก็น่าจะเป็นภาพยนตร์ที่คนต้องกลับมาดูและใช้เป็นตัวอย่างของการมองชีวิตตัวเองเมื่อเผชิญเหตุการณ์คล้ายๆ กัน ไม่ว่าในฐานะอะไร

 

 

FYI
  • หนังเรื่องนี้เปิดตัวที่เทศกาล Sundance Film Festival และทางค่าย Sony Pictures Classics ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปฉาย ส่วนที่เทศกาลหนัง New York Film Festival ก็ทำสถิติมีคนยืนตบมือยาวนานกว่า 10 นาทีตอนหนังฉายจบ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising