×

จี้ รมว.คลัง แจงขาดทุนโครงการจำนำข้าวไม่มีจริงใช่หรือไม่ เหตุไม่ปรากฏในรายงานการเงินแผ่นดิน

18.08.2018
  • LOADING...

“…ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นโยบายดังกล่าวขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการทุจริตเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน แม้ว่าบางขั้นตอนอยู่ในฝ่ายปฏิบัติ ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้กรอบวงเงินเกิน 5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง วงเงินไม่เพียงพอรับจำนำข้าวเปลือกตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และสำนักงบประมาณจัดสรรเพื่อชำระหนี้แก่ ธ.ก.ส. โดยไม่ต้องรอการระบายข้าว แต่สำนักงบประมาณไม่สามารถจัดสรรเงินให้ได้ เนื่องจากขัดรูปแบบการเงินของการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ…”

 

นี่คือส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งตัดสินให้พิพากษาจำคุก 5 ปี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติต่อหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

 

ข้อเท็จจริงดังกล่าวที่ปรากฏในคำพิพากษา เป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้สาธารณชนรับฟังได้ว่า โครงการนี้ใช้วงเงินเกินกรอบกำหนด 5 แสนล้านบาท

 

ล่าสุด นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตามที่ สนช. ได้มีวาระประชุมรับทราบรายงานการเงินแผ่นดินสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 และ 2557 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีการเปิดเผยเอกสารประกอบการพิจารณาไว้ด้วยจำนวน 41 หน้า ซึ่งรายงานการเงินแผ่นดินดังกล่าวตรวจสอบรับรองโดย สตง. แล้ว และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตามที่ รมว.คลัง เสนอ ซึ่งในรายงานดังกล่าวแสดงไว้ชัดเจนว่า ไม่มีผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557 จำนวน 536,908.30 ล้านบาท รวมอยู่ด้วยแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง คดีแดงที่ อม. 211/2560 เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560 หรือคดีโครงการรับจำนำข้าว ปรากฏว่า ในหน้า 62 ได้ระบุถึงผลขาดทุนจำนวน 536,908.30 ล้านบาทไว้ด้วย ดังนั้น ผลขาดทุนดังกล่าวหากมีจริงก็ควรมีอยู่ในรายงานการเงินแผ่นดิน ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557 ด้วยเช่นกัน

 

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า แต่ตามข้อมูลที่ ครม. เสนอ สนช. มีเพียงตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ 301,100.79 ล้านบาท โดยไม่มีเรื่องผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวปรากฏอยู่ในเอกสารทั้ง 41 หน้า แต่อย่างใด กรณีดังกล่าวจึงมีข้อสังเกตว่า ผลขาดทุนจำนวน 536,908.30 ล้านบาท ที่ถูกนำไปกล่าวอ้างในคดีนั้นไม่มีอยู่จริงใช่หรือไม่ เพราะหากผลขาดทุนจำนวน 536,908.30 ล้านบาท มีอยู่จริงตามข้อมูลที่ปรากฏในคำพิพากษา ผลขาดทุนดังกล่าวก็จะต้องนำไปบันทึกบัญชีไว้ในรายงานการเงินแผ่นดินด้วย ซึ่งจะทำให้มีตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้เป็นจำนวน 536,908.30 + 301,100.79 = 838,009.09 ล้านบาท แต่เมื่อ สตง. ตรวจสอบรับรองแล้วกลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้ ผลขาดทุนที่ใช้ในคดีนั้นเกิดจากการตีค่าคุณภาพข้าวให้เสื่อมกว่าความเป็นจริง แต่ผลจากการตรวจสอบรับรองโดย สตง. ย่อมแสดงว่าข้าวในขณะนั้นเป็นข้าวดี ไม่ได้เสื่อมสภาพแต่อย่างใด จึงมีเหตุให้คิดตามว่า การที่ต่อมารัฐบาลปัจจุบันมีการนำข้าวดีไปขายเป็นข้าวเสื่อมนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐหรือไม่ และมีใครได้ส่วนต่างจากการขายข้าวหรือไม่ รวมทั้งยังมีข่าวว่า มีข้าวหายอีกกว่า 1 ล้านตันด้วย  

 

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้ ตนจึงจะไปยื่นหนังสือให้ รมว.คลัง ตรวจสอบ และชี้แจงต่อสังคม ว่าเหตุใดในรายงานการเงินแผ่นดิน ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557 จึงไม่มีผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว และเมื่อผลการตรวจสอบของ สตง. ถูกต้องแล้ว รวมทั้ง ครม. และ สนช. รับทราบไปแล้วนั้น ย่อมแสดงว่า ผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557 จำนวน 536,908.30 ล้านบาท ไม่มีอยู่จริงใช่หรือไม่ และจะขอให้ตรวจสอบข้าวหายอีกกว่า 1 ล้านตันด้วย โดยจะไปยื่นหนังสือที่กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 น.

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising