ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วิกฤตการณ์ในเวเนซุเอลาเริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ ทั้งในแง่สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ หลัง นายนิโคลัส มาดูโร ผูกขาดอำนาจในเกมการเมือง และได้รับคะแนนเสียงให้กลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาอีกหนึ่งสมัย เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ แต่ดูท่ารัฐบาลชุดนี้จะยังคงประสบความยากลำบากในการแก้ไขปัญหานี้อยู่ไม่น้อย
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (31 ก.ค.) อาคารบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงการากัส มีกระแสไฟฟ้าใช้เพียง 20% เท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งและการสื่อสารภายในเมืองเป็นอย่างมาก ซึ่งทางรัฐบาลของนายมาดูโรอ้างว่า เหตุขัดข้องที่เกิดขึ้นเป็นกลยุทธ์ทางการเมือง เป็นฝีมือของกลุ่มต่อต้านที่ต้องการจะก่อความไม่สงบในประเทศ โดยในปี 2017 ที่ผ่านมา นายมาดูโรปราบปรามกลุ่มต่อต้านและเห็นต่างอย่างหนัก เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 125 คน จากการปะทะกับกลุ่มกองกำลังของทางรัฐบาล
ขยับออกมาจากเมืองหลวงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะทางราว 150 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นแถบชานเมืองของกรุงการากัส อันเป็นที่ตั้งของเมืองซานฆวน เด โลส มอร์โรส ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ราว 1.6 แสนคน ในอดีตเมืองแห่งนี้ถือเป็นแหล่งผลิตน้ำมันป้อนตลาดโลกติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยทางรัฐบาลจะปล่อยน้ำประปาให้ใช้เพียงเดือนละ 1 ครั้ง ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งหมดแทบใช้การไม่ได้ ตู้เอทีเอ็มว่างเปล่า อีกทั้งการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนใช้เวลานานขึ้นหลายเท่าตัว และขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ในเวเนซุเอลายังคงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศนี้จะพุ่งสูงแตะ 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ฟลอริมาร์ เนียเบส คุณครูวัย 39 ปี ที่อาศัยอยู่ในเมืองซานฆวนกับลูกสาวเผยว่า “น้ำในเมืองนี้จะไหลเพียงเดือนละครั้ง ฉันต้องใช้เงินมากถึง 1 ใน 4 ของเงินเดือนทั้งหมด ใช้จ่ายในการซื้อน้ำเพื่อดำรงชีวิต”
จากเดิมที่ธนบัตรใบละ 100,000 โบลิบาร์ เคยซื้อข้าวสารได้หนักถึง 5 กิโลกรัม แต่ขณะนี้ยังแทบจะไม่สามารถซื้อบุหรี่ได้สักหนึ่งมวน ตู้เอทีเอ็มที่ว่างลงทำให้ผู้คนจำนวนมากแห่กันไปเข้าคิวเพื่อถอนเงินสดจากธนาคาร ซึ่งธนาคารบางแห่งก็มีการกำหนดว่า ลูกค้าจะสามารถถอนเงินสูงสุดได้คนละไม่เกิน 100,000 โบลิบาร์ (ราว 20 บาท) เท่านั้น
ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้รู้สึกสิ้นหวัง พวกเขารู้สึกราวกับรัฐบาลกำลังผลักให้ประชาชนยืนอยู่บนทางแยกที่ต้องเลือกเดินระหว่างก้มหน้าใช้ชีวิตต่อไปและหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น กับเดินทางออกนอกประเทศแล้วไปตายเอาดาบหน้า ด้วยสภาพแร้นแค้นทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้ในปีที่ผ่านมามีชาวเวเนซุเอลาเดินทางอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างโคลัมเบียและบราซิลเป็นจำนวนมาก เพื่อหาทางเริ่มต้นชีวิตใหม่
อ้างอิง:
- www.yahoo.com/news/venezuelan-capital-hit-80-percent-power-cut-government-154055890.html
- www.yahoo.com/news/san-juan-venezuelan-city-where-nothing-works-anymore-012518674.html
- time.com/5346708/imf-forecast-venezuela-inflation-2018
- www.bloomberg.com/news/articles/2018-07-23/venezuela-s-inflation-to-reach-1-million-percent-imf-forecasts