×

เจาะรายงาน The Wall Street Journal เมื่อมิตรภาพ ‘ชินวัตร-ฮุน’ พังทลาย สู่ชนวนเหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชาที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

26.07.2025
  • LOADING...
ภาพสถานการณ์ปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมคำบรรยายจากรายงาน WSJ เรื่องความสัมพันธ์ชินวัตร-ฮุนเซน

เมื่อเย็นวานนี้ (25 ก.ค.) ตามเวลาประเทศไทย หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ได้เผยแพร่รายงาน What Is Driving the Thai-Cambodia Border Clashes หรือ ‘อะไรคือชนวนเหตุการณ์ปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา’ โดยมีเนื้อหาสำคัญที่วิเคราะห์ถึงปัจจัยเบื้องหลังของความขัดแย้ง

 

รายงานระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองตระกูลการเมืองที่ทรงอำนาจ คือตระกูลชินวัตรในไทยและตระกูลฮุนในกัมพูชา ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนานเกือบสามทศวรรษ และขยายไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจ รวมถึงการให้ความคุ้มครองจากศัตรูทางการเมือง ได้พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง 

 

และกำลังเป็นเชื้อไฟที่โหมกระพือความขัดแย้งรุนแรงบริเวณชายแดน จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและการพลัดถิ่นของประชาชนจำนวนมาก

 

การปะทะรุนแรงและผลกระทบ

 

สถานการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กองกำลังทหารไทยและกัมพูชาได้เปิดฉากยิงปะทะกันอย่างหนักเป็นวันที่สองตลอดแนวชายแดนยาวกว่า 800 กิโลเมตร โดยฝ่ายกัมพูชาได้ใช้จรวดและปืนใหญ่ ขณะที่ฝ่ายไทยได้ส่งโดรนติดอาวุธและเครื่องบินขับไล่ F-16 เข้าโจมตีคลังกระสุนและที่มั่นของฝ่ายตรงข้าม

 

เหตุการณ์ปะทะกันครั้งนี้ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 14 รายในฝั่งไทย และ 1 รายในฝั่งกัมพูชา มีผู้บาดเจ็บอีกหลายสิบราย และประชาชนกว่า 100,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน นับเป็นความรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นอย่างน้อย

 

พื้นที่พิพาทดังกล่าวครอบคลุมปราสาทหินโบราณหลายแห่งที่สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรขอม ซึ่งเคยปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อน โดยทั้งไทยและกัมพูชาต่างถือว่าโบราณสถานเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของตน

 

ศักยภาพทางทหารของสองประเทศ

 

สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานเพิ่มเติมถึงการเปรียบเทียบศักยภาพทางทหาร โดยอ้างอิงข้อมูลจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ (IISS) ซึ่งระบุว่าประเทศไทยมีกำลังพลประจำการในกองทัพมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ที่ 360,000 นาย เทียบกับกัมพูชาที่มีอยู่ประมาณ 124,000 นาย

 

Bloomberg ยังรายงานว่า เหล่าผู้นำกองทัพไทย ซึ่งเคยเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนมาแล้วหลายครั้ง ได้ใช้งบประมาณด้านการทหารในแต่ละปีสูงกว่าของกัมพูชาถึง 4 ถึง 5 เท่า และได้สร้างแสนยานุภาพจนเป็นหนึ่งในกองทัพที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาค โดยจัดซื้อยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่จากสหรัฐฯ และยุโรป

 

ในทางตรงกันข้าม กัมพูชาได้รับอาวุธเกือบทั้งหมดจากจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีรุ่นเก่า หากเป็นการรบทางอากาศ ประเทศไทยจะมีความได้เปรียบอย่างชัดเจน โดยมีฝูงบินขับไล่ที่ทันสมัยอย่าง F-16 สองฝูงบิน และ Gripen C/D อีกหนึ่งฝูงบิน ในขณะที่กัมพูชาไม่มีเครื่องบินรบในประจำการเลย

 

ส่วนการรบภาคพื้นดิน ประเทศไทยยังคงมีความเหนือกว่าด้วยจำนวนรถถังที่มากกว่าประมาณสองเท่า และปืนใหญ่ที่มากกว่าห้าเท่า ขณะที่ระบบป้องกันภัยทางอากาศหลักของกัมพูชาที่ผลิตในจีน ก็มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยน้อยกว่ายุทโธปกรณ์ของชาติตะวันตก

 

เบื้องหลังรอยร้าวสองตระกูลการเมือง

 

ชนวนเหตุที่แท้จริงซึ่งนำไปสู่การแตกหักของความสัมพันธ์นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ความตึงเครียดได้ทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากเหตุการณ์ยิงปะทะกันใกล้ปราสาทแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ซึ่งทำให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย

 

หลายสัปดาห์ต่อมา ฮุน เซน อดีตผู้นำกัมพูชา ได้เผยแพร่คลิปเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างตนเองกับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ในคลิปเสียงดังกล่าว แพทองธารได้เรียกฮุน เซนว่า ‘ลุง’ และเรียกตนเองว่า ‘หลาน’ พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำ ‘ทุกอย่างที่ท่านต้องการ’ เพื่อคลี่คลายความตึงเครียด และยังได้กล่าวถึงกองทัพไทยว่าเป็น ‘ฝ่ายตรงข้าม’

 

คลิปเสียงที่รั่วไหลออกมาได้สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของแพทองธารในประเทศไทย และนำไปสู่การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาว่าเธอกระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายอธิปไตยของชาติ

 

ขณะที่ ทักษิณ ชินวัตร บิดาของแพทองธารได้เข้ามาร่วมในความขัดแย้งนี้ โดยใช้บัญชี X ของตนปฏิเสธข้อเสนอไกล่เกลี่ยจากภายนอก พร้อมระบุว่า “เราอาจต้องปล่อยให้ทหารไทยทำหน้าที่สั่งสอนบทเรียนให้ฮุน เซนได้รู้จักเล่ห์เหลี่ยมของเขาก่อน”

 

ด้านฮุน เซน ซึ่งรัฐบาลของเขาเคยให้ที่พักพิงแก่พันธมิตรของทักษิณจำนวนมากหลังการรัฐประหารในปี 2014 ได้ตอบโต้ผ่านหน้า Facebook ของตนว่า “ตอนนี้ ภายใต้ข้ออ้างที่จะแก้แค้นฮุน เซน (ทักษิณ) กำลังหันไปใช้สงคราม ซึ่งผลสุดท้ายที่จะตามมาคือความทุกข์ยากของประชาชน”

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การพังทลายของความสัมพันธ์ ประกอบกับการที่อำนาจของตระกูลชินวัตรในไทยอ่อนแอลง อาจทำให้การแก้ไขความขัดแย้งในปัจจุบันทำได้ยากยิ่งขึ้น ดังที่ชาวบ้านรายหนึ่งซึ่งลี้ภัยอยู่ในวัดได้กล่าวว่า “ชาวบ้านพูดกันว่าฮุน เซนกับตระกูลชินวัตรกำลังทะเลาะกัน หักหลังกัน” และตั้งคำถามว่า “ทำไมพวกเขาไม่จัดการเรื่องนี้ให้เร็วกว่านี้ ก่อนที่มันจะบานปลายขนาดนี้”

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา / THE STANDARD WEALTH

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising