×

ตลาดแรงงานไทยฟื้นตัว องค์กร 53% จ่อจ้างงานเพิ่ม แต่เทรนด์ ‘จ้างงานยืดหยุ่น’ มาแรง Part-time พุ่งเท่าตัว สะท้อนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่

21.07.2025
  • LOADING...
ตลาดแรงงานไทย

Jobsdb by SEEK แพลตฟอร์มหางานของไทย ได้เปิดเผยรายงาน ‘Hiring, Compensation & Benefits (HCB) Report’ ประจำปี 2568 ซึ่งชี้ให้เห็น 3 สัญญาณการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของตลาดแรงงานไทยที่ทุกองค์กรไม่อาจมองข้าม รายงานฉบับนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจผู้ประกอบการ 702 รายทั่วประเทศในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2567 เพื่อถอดรหัสความเปลี่ยนแปลงและนำเสนอข้อมูลเชิงกลยุทธ์ให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้อย่างมั่นใจ

 

หลังจากปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายองค์กรต้องปรับโครงสร้างเพื่อรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจ รายงาน HCB ปี 2568 ชี้ว่าตลาดแรงงานได้เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยกว่า 53% ขององค์กรที่สำรวจมีแผนจะจ้างพนักงานประจำเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 ตำแหน่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568

 

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการจ้างงานกำลังเปลี่ยนไปสู่โมเดลที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นอย่างชัดเจน องค์กรจำนวนมากหันมาใช้กลยุทธ์การจ้างงานแบบ Part-time และสัญญาจ้างเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ พบว่าการจ้างงานแบบ ‘Part-time Permanent’ เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 42% ขณะที่ ‘Contract Part-time’ เพิ่มจาก 19% เป็น 28% แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง แต่ภาพรวมตลาดแรงงานไทยยังคงแข็งแกร่งด้วยอัตราการว่างงานที่ต่ำเพียง 1%

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ในมิติของสวัสดิการและผลตอบแทน องค์กรยุคใหม่กำลังให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงานในทุกมิติมากขึ้น รายงานชี้ว่าในปี 2568 องค์กรมีแนวโน้มจะเพิ่มสวัสดิการประเภทวันลาพิเศษมากขึ้น เช่น ลาวันเกิด, ลาสำหรับบิดาเพื่อดูแลบุตร และลาดูแลครอบครัว ซึ่งมีทิศทางการปรับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากันคือ 15% นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ที่สนับสนุนครอบครัว เช่น การจัดห้องให้นมบุตรและเบี้ยเลี้ยงด้านการศึกษา

 

ด้านค่าตอบแทน พบว่า 85% ขององค์กรมีการปรับขึ้นเงินเดือนเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ 84% มีการจ่ายโบนัสโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 เดือน เพื่อรักษาขวัญและกำลังใจของบุคลากร การกระทำเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความผูกพันระหว่างพนักงานกับองค์กรในระยะยาว

 

สัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดอาจเป็นเรื่องของทักษะด้าน AI ซึ่งกำลังเปลี่ยนสถานะจาก ‘ทักษะทางเลือก’ ไปสู่ ‘ทักษะบังคับ’ สำหรับแรงงานยุคใหม่ องค์กรกว่า 65% ระบุว่ามีการพิจารณาทักษะ AI ของผู้สมัครในขั้นตอนการสัมภาษณ์งานแล้ว และ 26% มองว่าทักษะนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงาน โดยวิธีการประเมินทักษะมีทั้งการสัมภาษณ์โดยตรง (51%), การพิจารณาจากแฟ้มผลงาน (42%) และการใช้แบบทดสอบเฉพาะทาง (33%)

 

ที่น่าสนใจคือ องค์กรเองก็เริ่มนำ AI มาใช้ในกระบวนการสรรหาบุคลากรมากขึ้นเช่นกัน โดย 34% ขององค์กรที่สำรวจเริ่มนำ AI มาช่วยในการเขียนประกาศงานและคัดกรองใบสมัครแล้ว สิ่งนี้สะท้อนว่า AI ได้กลายเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคนในตลาดแรงงาน ไม่ใช่แค่เพียงสายงานเทคโนโลยีอีกต่อไป

 

ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by SEEK กล่าวสรุปว่า “ปี 2568 ถือเป็นปีแห่งการปรับกลยุทธ์และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน องค์กรในประเทศไทยต่างเริ่มปรับตัวเพื่อให้ทันกับความคาดหวังของแรงงานยุคใหม่ ทั้งในด้านรูปแบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น สวัสดิการที่ครอบคลุมคุณภาพชีวิตในทุกมิติ ไปจนถึงทักษะใหม่อย่าง AI ที่เริ่มกลายเป็นมาตรฐานสำคัญในการจ้างงาน”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising