×

สมรภูมิร้านอาหาร 2568 ร้านเปิดใหม่ลด 30% พบ ‘ลูกค้าไม่ได้กินน้อยลง แค่ไม่ได้ไปที่ร้าน’ ดันยอดเดลิเวอรีโตสวนทาง ขณะที่ ‘ทำเลในห้าง’ ยังเป็นแต้มต่อรอดตายสูง

20.07.2025
  • LOADING...
ร้านอาหาร 2568

สมรภูมิธุรกิจร้านอาหารไทยในปี 2568 กำลังเผชิญกับความท้าทายระลอกใหม่ที่แตกต่างจากช่วงปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง หลังจากยุคฟื้นตัวหลังโควิดที่เต็มไปด้วยการเติบโต ตลาดได้ส่งสัญญาณของภาวะชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอดและมองหาโอกาสท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด

 

ข้อมูลเชิงลึกถูกเปิดเผยโดย เอกลักษณ์ วิริยะโกวิทยา Managing Director, Merchant Digital Solutions จาก LINE MAN Wongnai ในงาน Thailand Restaurant Conference 2025 ซึ่งได้ฉายภาพความเป็นจริงของตลาดผ่านตัวเลขสถิติจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นเข็มทิศให้ผู้ประกอบการในยุคเปลี่ยนผ่าน

 

สมรภูมิร้านอาหาร 2568 สัญญาณชะลอตัวและแต้มต่อทำเล

 

สัญญาณแรกที่ชัดเจนที่สุดคือจำนวนร้านอาหารเปิดใหม่ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 มีร้านเปิดใหม่ประมาณ 44,000 ร้าน ลดลงถึง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีร้านเปิดใหม่ถึง 63,000 ร้าน

 

อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนร้านเปิดใหม่จะลดลง แต่สถานการณ์ก็ยังมีมุมบวกอยู่บ้าง เพราะอัตราการปิดตัวยังคงที่ ไม่ได้แย่ลงไปกว่าเดิม โดยมากกว่า 50% ของร้านเปิดใหม่ยังคงปิดตัวลงภายในปีแรก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับปีก่อนๆ สะท้อนว่าพื้นฐานความยากของธุรกิจยังคงเท่าเดิม เพียงแต่มีผู้เล่นกระโดดเข้ามาในสนามนี้น้อยลง

 

ในภาวะที่การแข่งขันสูง ปัจจัยด้าน ‘ทำเล’ ซึ่งเป็น ‘ต้นทุนคงที่’ ที่สำคัญ ได้กลายเป็นตัวชี้วัดการอยู่รอดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ข้อมูลระบุว่าร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้ามีอัตราการรอดสูงกว่าร้านนอกห้างถึง 22% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างคงที่มาตลอด 3 ปี

 

เอกลักษณ์ได้ให้คำจำกัดความที่น่าสนใจว่า “การลงทุนเปิดในห้างเหมือนกับการซื้อประกัน แม้จะมีต้นทุนคงที่สูงกว่า แต่ก็ได้ Traffic ที่พร้อมซื้อมาทันทีตั้งแต่วันแรก” 

 

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ตอกย้ำภาพความ ‘เหนื่อย’ ของธุรกิจในปีนี้ คือยอดขายหน้าร้าน (Offline) ที่ลดลงถึง 14% เมื่อเทียบไตรมาส 2 ปีนี้กับไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว สวนทางกับยอดขายผ่านช่องทางเดลิเวอรีบน LINE MAN ที่ยังคงเติบโตเกิน 15%

 

สิ่งนี้สะท้อนว่าผู้บริโภคไม่ได้บริโภคน้อยลง แต่ ‘ลดการเดินทางไปที่หน้าร้าน’ และหันมาใช้ช่องทางที่ให้ความสะดวกสบายมากกว่า ทำให้แพลตฟอร์มเดลิเวอรีอาจไม่ใช่แค่ทางเลือกแต่กำลังกลายเป็น ‘ทางรอด’ หรือ ‘ช่องทางหลัก’ สำหรับหลายๆ ร้าน

 

โปรโมชันนำทาง เทรนด์คือโอกาส


เมื่อพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป การทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคจึงสำคัญที่สุด ข้อมูลชี้ว่าสิ่งที่ลูกค้ามองหาเป็นอันดับแรกเมื่อเปิดแอปพลิเคชันคือ ‘โปรโมชัน’ โดย 88% ของผู้ใช้ระบุว่าต้องการ ‘โปรฯ ค่าอาหาร’ ซึ่งกลายเป็นความคาดหวังพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว

 

โดยโปรโมชันที่ลูกค้ามองหามากที่สุดคือ ‘ส่วนลดค่าส่ง’ (59%) และ ‘Flash Sale’ (56%) ตามมาด้วยโปรโมชันในรูปแบบอื่นๆ เช่น การจัดเซตเมนู (29%) หรือส่วนลดสำหรับลูกค้าใหม่ (27%) ซึ่งทั้งหมดนี้ได้กลายเป็น ‘คันเร่ง’ สำคัญที่ช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อ

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยอดออเดอร์ที่มีโปรโมชันบน LINE MAN คิดเป็นสัดส่วนเพียง 51% ของทั้งหมด ซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้นจาก 43% ในปีก่อนหน้า แต่ก็ยังคงมีช่องว่างขนาดใหญ่ให้ผู้ประกอบการเข้าไปสร้างความได้เปรียบ

 

นอกเหนือจากโปรโมชันแล้ว การจับกระแสเมนูที่กำลังมาแรงก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญ ข้อมูลการค้นหาบน LINE MAN พบว่าเมนูอย่าง ‘หม่าล่า’ (+60%), ‘หมี่ไก่ฉีก’ (+58%) และ ‘สุกี้’ (+51%) มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ

 

ปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งที่สุดคือ ‘ชิโอะปัง’ ที่มีการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 130 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งแทบจะไม่มีคนค้นหาเลย และเคยพุ่งขึ้นถึง 11 เท่าภายใน 1 เดือน ซึ่งเอกลักษณ์ชี้ว่า “ปรากฏการณ์ชิโอะปังแสดงให้เห็นถึงพลังของเทรนด์ที่มาเร็วและแรง ร้านค้าที่จับกระแสได้ทันก็จะสามารถสร้างโอกาสในการขายได้อย่างมหาศาล”

 

เทคโนโลยีคือหัวใจ ทางรุ่งยุคใหม่

 

สำหรับประสบการณ์หน้าร้าน เทคโนโลยีได้กลายเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ใช่แค่เครื่องมือเสริมอีกต่อไป ลูกค้ากว่า 72% เลือกร้านที่มีช่องทางสั่งซื้อหลากหลายและครบวงจร และกว่า 66% เลือกร้านที่รองรับการชำระเงินได้หลายรูปแบบ โดยลูกค้าไม่ติดขัดกับการบริการตนเองบางส่วน เช่น การสแกน QR เพื่อสั่งอาหาร หากสิ่งนั้นช่วยให้ได้รับบริการที่เร็วขึ้น

 

ข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่าการมีช่องทางการชำระเงินที่ครบครันสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างชัดเจน ร้านที่รับชำระเงินผ่าน QR Code และบัตรเครดิต จะมียอดขายต่อบิลสูงกว่าร้านที่รับเฉพาะ QR Code ถึง 32% ซึ่งเป็นสิ่งที่ร้านค้าสามารถทำได้ทันทีเพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย

 

บทสรุปสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารในยุคนี้คือการ ‘ยืนบนไหล่ยักษ์’ ซึ่งหมายถึงการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่มี Traffic มหาศาลอยู่แล้ว ทั้งห้างสรรพสินค้า (ยักษ์ออฟไลน์) และแพลตฟอร์มเดลิเวอรี (ยักษ์ออนไลน์)

 

“หากร้านค้าสามารถ ‘ขึ้นไปยืนอยู่บนไหล่ของยักษ์’ เหล่านี้ได้ ก็จะสะท้อนถึงผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในด้านยอดขาย เพราะยักษ์เหล่านี้มี ‘Traffic ที่พร้อมซื้อ’ อยู่แล้ว” เอกลักษณ์ระบุ 

 

ร้านที่อยู่รอดจึงไม่ใช่แค่ร้านที่ทำอาหารอร่อย แต่ต้องคิดอย่างเป็นระบบ มีข้อมูลนำทาง และใช้เทคโนโลยีให้เป็นแต้มต่อในการแข่งขัน เพื่อให้สามารถเดินเกมได้เร็วกว่าและชัดเจนกว่าคู่แข่งในทุกมิติ

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา / THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising