วันนี้ (15 กรกฎาคม) จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย อ้างว่ากัมพูชานำ ‘วรรณกรรมไทย 22 รายการ’ ไปขึ้นทะเบียนกับองค์การยูเนสโก และได้รับการอนุมัติแล้วนั้น ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรมได้ออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความห่วงใยต่อมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
กระทรวงวัฒนธรรมได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวอย่างละเอียด และขอชี้แจงประเด็นสำคัญ ดังนี้
ยูเนสโกขึ้นทะเบียน ‘บัลเลต์หลวงกัมพูชา’ ไม่ใช่วรรณกรรม
1. กัมพูชาไม่ได้ขึ้นทะเบียนวรรณกรรมไทย 22 รายการ ความเป็นจริงคือ กัมพูชาได้เสนอขึ้นทะเบียน The Royal Ballet of Cambodia (บัลเลต์หลวงแห่งกัมพูชา) ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงโบราณ และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเมื่อปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) ซึ่งก่อนที่อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ของยูเนสโกจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
หนังสือ Inventory of Intangible Cultural Heritage of Cambodia ที่มีการอ้างถึงนั้น เป็นเพียงหนังสือรวบรวมรายการบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับชาติของกัมพูชา ซึ่งภายในหนังสือได้ระบุรายชื่อละครคลาสสิกหรือละครในราชสำนักของกัมพูชาที่ถูกนำมาฟื้นฟูและใช้ในการแสดง Royal Ballet of Cambodia เช่น ไกรทอง, พระสมุทร, พระสังข์, อุณรุท เป็นต้น โดยหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2548 หลังจากที่ Royal Ballet of Cambodia ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว
วรรณกรรมไม่เข้าข่ายขึ้นทะเบียนมรดกที่จับต้องไม่ได้
2.วรรณกรรมไม่เข้าข่ายการขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้: ตามนิยามของ “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ของยูเนสโกนั้น แบ่งออกเป็น 5 ลักษณะหลัก ซึ่ง “วรรณกรรม” หรือ Literature ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในสาขา “ประเพณีมุขปาฐะและการแสดงออกทางวาจา” ตามนิยามของยูเนสโก จึงไม่สามารถเสนอขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโกได้
วรรณกรรมที่เป็นบทละครในการแสดง The Royal Ballet of Cambodia สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
วรรณกรรมที่เป็นวัฒนธรรมร่วม: ได้รับอิทธิพลและมีการเผยแพร่ร่วมกันในหลายประเทศแถบภูมิภาคอาเซียนมาอย่างช้านาน เช่น รามเกียรติ์, ไกรทอง, อิเหนา, สังข์ทอง ซึ่งวรรณกรรมเหล่านี้ถูกนำไปใช้เป็นบทการแสดงนาฏศิลป์ในหลายประเทศ ไม่เพียงแต่กัมพูชาเท่านั้น
วรรณกรรมที่ประพันธ์โดยคนไทย: บางส่วนเป็นผลงานของนักประพันธ์ไทยตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น ไกรทอง (พระราชนิพนธ์ ร.2), พระสังข์ (พระราชนิพนธ์ ร.2), จันทโครพ (สุนทรภู่) เป็นต้น
ขึ้นทะเบียนมรดกโลก เพื่ออนุรักษ์ ไม่ใช่แสดงความเป็นเจ้าของ
กระทรวงวัฒนธรรมยังชี้แจงด้วยว่า การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มีจุดมุ่งหมายเพื่ออนุรักษ์ ไม่ใช่แสดงความเป็นเจ้าของ วัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 คือการ อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย และสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญในระดับต่างๆ เพื่อให้เกิดความชื่นชมร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ เนื่องจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมบางอย่างอาจปรากฏอยู่ในหลายประเทศ และประเทศภาคีสมาชิกสามารถเสนอขอขึ้นทะเบียนได้
ตัวอย่างการขึ้นทะเบียนร่วม กรณีของประเพณีติงยัน (ปีใหม่พม่า) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากเมียนมาในปี พ.ศ. 2567 และ สงกรานต์ ปีใหม่ไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากไทยในปี พ.ศ. 2566 เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ามรดกทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันในหลายประเทศ สามารถได้รับการขึ้นทะเบียนจากแต่ละประเทศได้
สำหรับสถานะการขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของกัมพูชาและไทย กัมพูชา เข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาฯ ปี พ.ศ. 2549 และมีรายการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติแล้ว 7 รายการ เช่น Royal Ballet of Cambodia (ขึ้นทะเบียนปี 2551), สเบก ธม โรงละครเงาเขมร (ขึ้นทะเบียนปี 2551) และมี 1 รายการที่รอการพิจารณาในปี พ.ศ. 2569 คือ Traditional Khmer wedding (การแต่งงานของกัมพูชา)
ขณะที่ประเทศไทย เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ปี พ.ศ. 2559 และมีรายการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติแล้ว 6 รายการ ได้แก่ โขน (พ.ศ. 2561), นวดไทย (พ.ศ. 2562), โนรา (พ.ศ. 2564), สงกรานต์ (พ.ศ. 2566), ต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2567) และเคบายา (พ.ศ. 2567) นอกจากนี้ ยังมี 4 รายการที่รอการพิจารณา คือ ชุดไทย, มวยไทย, ผ้าขาวม้า และลอยกระทง โดยรายการชุดไทยจะเข้ารับการพิจารณาในปี พ.ศ. 2569
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยืนยันว่าได้ติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ มาโดยตลอด และมีการประสานความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน พร้อมทั้งผลักดันมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป