วานนี้ (13 กรกฎาคม) ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตอบโต้กรณี สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน รวบรวมข้อมูลจุดยืนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เปรียบเทียบกับนโยบายรถไฟฟ้า รถเมล์ 8-45 บาทตลอดทาง ของพรรคประชาชน
ชนินทร์ระบุว่า คิดเห็นต่างกันได้ แต่อย่ามุ่งชี้นำสังคมให้คนอื่นเป็นผู้ร้ายตลอดเวลา ดีอยู่คนเดียว เก่งสุดคนเดียวเลย ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อเรื่องนี้ ดังนี้
- พรรคเพื่อไทยสนใจเฉพาะระบบไฟฟ้า?
พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เปิดช่องให้เกิดการเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะทุกระบบ กำหนดชัดเจนว่ารถเมล์ต้องปรับเชื่อมระบบตั๋วร่วม แต่ที่ในระยะแรกออกนโยบายแบบแยกส่วน เพราะระบบรถไฟฟ้ามีความพร้อมทางเทคโนโลยีมากกว่า ซึ่งในอนาคตอันใกล้เมื่อรถเมล์เปลี่ยนผ่านสู่ระบบรถ EV ใหม่ ก็จะมีความพร้อมทางเทคโนโลยีเชื่อมต่อกันมากขึ้น
- พรรคเพื่อไทยไม่ได้เสนอ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมเอง?
เป็นข้อวิจารณ์ที่ตลกมาก เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และกำกับกระทรวงคมนาคมเอง ดังนั้นการขับเคลื่อนร่างรัฐบาล เป็นการทำงานของพรรคอยู่แล้ว และหากไม่ได้มีความจำเป็นต้องเสนอร่างที่มีใจความต่างกัน ก็ไม่ได้จำเป็นต้องมีร่างของพรรคอีกฉบับ
ส่วนที่บอกว่าพรรคประชาชนเสนอร่างมานั้น ก็เป็นร่างที่เสนอตามมาประกบภายหลัง โดยเป็นการนำร่างรัฐบาลไปปรับแก้ ไม่ใช่การทำร่างขึ้นมาใหม่เอง
- ราคาต้องลุ้นปีต่อปี ขึ้นอยู่กับรัฐบาล?
20 บาทตลอดสายของพรรคเพื่อไทย หรือ 8-45 บาท ของพรรคประชาชน ไม่ได้เขียนอยู่ใน พ.ร.บ. ทั้งนั้น แต่กลไกใน พ.ร.บ. คือการตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณากำหนดราคา ไม่ต่างกัน
ส่วนหากคณะกรรมการสรุปราคาไว้เท่าใด และฝ่ายบริหารมีความต้องการจะอุดหนุนราคา ก็เป็นการดำเนินการได้ตามกลไกบริหาร ซึ่งแน่นอนว่าขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล ไม่ต่างกับมาตรการชดเชยดอกเบี้ย SMEs, เงินช่วยเหลือเกษตรกร หรือเบี้ยสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น ซึ่งพรรคประชาชนสามารถประกาศได้ว่าถ้าเป็นรัฐบาลแล้ว จะยกเลิกนโยบายดังกล่าวทันที
ส่วนเรื่องโครงสร้างราคาก็เป็นหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานตาม พ.ร.บ.นี้อยู่แล้ว ที่ต้องมีการปรับปรุง แต่ก็ไม่สามารถไปล้มล้างสัมปทานตามสัญญาเดิมที่มีมาก่อนได้เช่นกัน
- การให้ค่ารถไฟฟ้าราคาเดียว 20 บาท ของพรรคเพื่อไทย ไร้ฐานคิด?
การคิดโดยสารในสากล พอจะสรุปได้ว่ามี 3 โมเดล คือ 1) คิดราคาเดียว 2) คิดเป็นขั้นบันไดตามโซน 3) คิดตามระยะทางจริง ซึ่งแต่ละรูปแบบมีข้อเด่นต่างกัน คิดเห็นต่างกันได้
แต่การเลือกแบบราคาเดียว (flat rate) อยู่บนหลักคิดของการลดค่าครองชีพ ส่งเสริมการเข้าถึงขนส่งสาธารณะ และการส่งเสริมการกระจายตัวของเมือง กล่าวคือ ผู้ที่ต้องเดินทางไกลมีค่าใช้จ่ายไม่ต่างกับเดินทางใกล้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้คนยินดีอยู่อาศัยไกลจากกลางเมืองมากขึ้น ไม่กระจุกตัวที่เมืองชั้นใน