ไม่ว่าคู่ชิงชนะเลิศเทนนิสชายเดี่ยวในรายการวิมเบิลดันประจำปีนี้จะเป็นการพบกันของใครก็ตาม
ในความทรงจำของแฟนเทนนิสมากมายมหาศาลทั่วโลก เราคล้ายยังถูกหยุดเวลาไว้ที่นัดชิงชนะเลิศเมื่อ 17 ปีที่แล้วเสมอ
การพบกันระหว่าง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และราฟาเอล นาดาล ที่ได้รับการเล่าขานว่าเป็น “นัดชิงในตำนาน”
เอาละเกมจะเริ่มแล้ว กรุณานั่งประจำที่และงดการใช้เสียงลงสักครู่
บิดเข็มนาฬิกากลับไปในวันที่ 6 กรกฎาคม 2008 ช่วงฤดูร้อนของประเทศอังกฤษ แต่บรรยากาศในวันนั้นสัมผัสได้ถึงความมาคุได้ไม่ยาก
ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะสภาพอากาศที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน แต่อีกส่วนมาจากบรรยากาศความตึงเครียดที่แผ่พุ่งออกมาจากตัวของคู่ชิงชนะเลิศทั้งเฟเดอเรอร์และนาดาล
ในเวลานั้นทั้งคู่ไม่ได้เป็น “มิตรแท้” ที่แสดงออกให้เห็นถึงความรักและการยอมรับนับถือฝีมือระหว่างกันเหมือนในช่วงปลายของชีวิตการเป็นนักเทนนิส ไม่มีความ “Bromance” ใดๆให้เห็น (และไม่น่าจะมีใครคิดในตอนนั้นว่าทั้งคู่จะไปสู่จุดนั้นได้ในเวลาต่อมา)
เพราะนี่คือ “คู่แข่งแห่งชีวิต” ที่ต้องห้ำหั่นกันให้ตายไปข้างคาสนามเท่านั้น
เฟเดอเรอร์ ในช่วงเวลานั้นโดยสถานะแล้วเขายังเป็นมือหนึ่งของโลกอยู่ และเป็นแชมป์เก่าของวิมเบิลดันมา 5 สมัยติดต่อกันและหวังจะทำสถิติเป็นนักเทนนิสคนแรกที่คว้าแชมป์วิมเบิลดัน 6 สมัย ทั้งยังไม่แพ้ใครในรายการนี้ติดต่อกันถึง 65 แมตช์
ที่สำคัญเขาคือผู้ยัดเยียดความปราชัยให้กับนาดาลในนัดชิงชนะเลิศ 2 ครั้งก่อนหน้า
แต่ “สายลม” กำลังเริ่มเปลี่ยนทิศ
หลังจากที่รันวงการคนเดียวมานาน เริ่มมีการสังเกตว่าเฟเดอเรอร์เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับฟอร์มการเล่นที่เริ่มตกลงอย่างเห็นได้ชัด เขาพ่ายให้กับนาดาลขาดลอยในศึกเทนนิส เฟรนช์ โอเพน ที่โรลังด์ การ์รอส ก่อนจะถึงวิมเบิลดันไม่กี่สัปดาห์ และยังพ่ายแพ้ให้อีกหลายคน ซึ่งรวมถึงโนวัค ยอโควิชในรอบรองชนะเลิศที่ออสเตรลียน โอเพน, มาร์ด ฟิช ในอินเดียน เวลส์, แอนดี มาร์รีย์ที่ไมอามี และแอนดี ร็อดดิกที่ดูไบ
ขณะที่นาดาลยิ่งเล่นยิ่งคึกเหมือนกระทิง สภาพร่างกายที่กำลังสดของเขา พละกำลังมหาศาล ความอึดระดับเหนือจินตาการ เป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความมั่นใจกับนัดชิงชนะเลิศครั้งนี้ไม่น้อย
เหมือนคำพังเพยของคนอังกฤษว่าไว้ “Third time lucky”
ครั้งนี้ต้องเป็นตาของฉันบ้าง!
ด้วยคุณภาพของนักกีฬาทำให้นัดชิงชนะเลิศวิมเบิลดันในวันนั้นไม่จำเป็นต้องได้รับการโปรโมตใดๆ เลย เพราะโลกทั้งใบพร้อมหยุดหมุนเพื่อรอดูการตัดสินใน “ไตรภาค” ( Trilogy) ของคู่นี้อยู่แล้ว
เช่นกันกับทั้งสองสุดยอดนักเทนนิส พวกเขาพร้อมไม่แตกต่างกัน และการแข่งขันนั้นเริ่มตั้งแต่ภายในห้องพักของทั้งคู่แล้ว
ภายในห้องพักของนักกีฬาที่เซ็นเตอร์คอร์ตนั้นไม่ได้เป็นห้องพักที่ใหญ่อะไรมากมายนัก เป็นแค่พื้นที่เล็กๆไม่กี่ตารางเมตรที่เพียงพอสำหรับการนั่งพักรอ เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย และที่สำคัญคือการอบอุ่นร่างกาย และเตรียมสภาพจิตใจของนักกีฬา
เฟเดอเรอร์ก็มีวิธีเตรียมตัวในแบบหนึ่ง ที่พอจะเดากันได้ไม่ยากตามประสาผู้ชายนิ่งๆ ขณะที่นาดาลจะเป็นนักกีฬาที่ร้อนแรงจริงจัง มีความโหวกเหวกเล็กน้อย (เรื่องนี้แม้แต่ยอโควิชก็ยังเคยอำ) โดยที่แม้ว่าจะอยู่กันในห้องเล็กๆแบบนั้นแต่ทั้งคู่ก็ต้องทำเหมือนอีกฝ่ายไม่มีตัวตน
มากที่สุดก็คือการจับมือ พยักหน้า และส่งรอยยิ้มเจื่อนๆให้ ไม่มีอะไรจะให้มากกว่านี้อีกแล้ว
สำหรับนาดาล แม้จะเข้ามาใช้เป็นประจำแต่ห้องนี้ไม่ใช่ห้องโปรดของเขาเท่าไรนัก เพราะปีกลายเขาแพ้ให้กับเฟเดอเรอร์ก็ว่าแย่แล้ว แต่สิ่งที่แย่กว่าคือการที่เขารู้สึกว่าเขา “แพ้ใจ” ตัวเอง จนทำให้หลังจบการแข่งขันเขานั่งร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ในห้องนี้นานถึงกว่า 30 นาที
ครั้งนี้ทำให้เขานอกจากจะมาพร้อมกับความตั้งใจแล้ว ก็ยังมาพร้อมกับแผนการบางอย่างด้วย
ตามคำบอกเล่าของโทนี นาดาล คุณลุงผู้เป็นทั้งโค้ชและคนให้คำปรึกษา แผนเด็ดของนาดาลไม่มีอะไรที่มากกว่าการพยายามทำให้เฟเดอเรอร์ นักเทนนิสผู้สมบูรณ์แบบและสง่าต้องเผชิญกับสถานการณ์กดดัน ทำให้เขาสงสัยในตัวเอง และหมดแรงด้วยการเล่นสุดทรหด
“ทำลายจังหวะง่ายๆ ท้าทายเขาให้ไปถึงขีดจำกัด ทำให้เขาหงุดหงิด และทำให้เขาต้องรู้สึกใกล้เคียงกับภาวะแตกสลาย” คือสิ่งที่นาดาลเล่าไว้ด้วยตัวเองในหนังสืออัตชีวประวัติ
แล้วเขาก็ทำแบบนั้นจริงๆตั้งแต่แต้มแรก
เกมซึ่งเริ่มต้นช้ากว่ากำหนดเนื่องจากมีฝนโปรยปรายลงมาและเซ็นเตอร์คอร์ต วิมเบิลดันในเวลานั้นยังเป็นเวอร์ชั่นเดิมๆไม่มีหลังคา เมื่อออกสตาร์ทเฟเดอเรอร์เป็นฝ่ายได้เสิร์ฟก่อน เพียงแต่หลังการโต้กันยาวนานถึง 14 หน นาดาลเป็นฝ่ายได้แต้มแรก
แต้มนี้เป็นสิ่งที่เขาต้องการ โดยเจ้าตัวเปรียบไว้ว่า “เป็นเหมือนขั้นแรกของการรักษาความเจ็บปวดที่ติดตัวมายาวนานถึง 12 เดือน”
นาดาลยังพยายามที่จะงัดกลเม็ดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาใช้ เช่น การพยายามดึงเวลาในการจะเสิร์ฟแต่ละลูกให้นานกว่าปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟเดอเรอร์พยายามร้องเรียนมาตั้งแต่ก่อนนัดชิงชนะเลิศแล้ว (ในเซ็ตที่ 2 นาดาลใช้เวลาถึง 40 วินาทีกว่าจะแต่งองค์ทรงเครื่องจนพร้อมเสิร์ฟ) การตีเน้นไปที่แบ็คแฮนด์ของเบอร์หนึ่งชาวสวิตเซอร์แลนด์มากเป็นพิเศษ
ทุกอย่างเหมือนเข้าทางของเขาทั้งหมด นาดาลได้ 2 เซ็ตแรกไป 6-4, 6-4 (ซึ่งเขาไล่จากตามหลัง 1-4 มาจนคว้าเซ็ตนี้ได้) เหลืออีกเพียงแค่เซ็ตเดียวเท่านั้นทุกอย่างก็จะจบลง
การเจอกับนาดาลในเวลานั้นและตกอยู่ใต้สถานการณ์นั้นเป็นเรื่องง่ายดายที่จะรู้สึกเหมือนลิง (ถือลูกท้อ)
แต่ไม่ใช่สำหรับเฟเดอเรอร์
ถึงแม้ฟอร์มโดยรวมก่อนหน้าจะไม่ดีนัก สภาพร่างกายเริ่มมีความอ่อนล้าเข้ามารบกวน แต่ในเวลานั้นเขาคิดอย่างเดียวว่า “ต่อให้แพ้วันนี้ก็จะต้องไว้ลายสักหน่อย”
โชคดีสำหรับเฟเดอเรอร์เมื่อสายฝนโปรยลงมาหนักอีกครั้งในช่วงที่เสมอกันอยู่ 2-2 เกมในเซ็ตที่ 3 ทำให้ต้องหยุดพักการแข่งขัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นโอกาสในการทำให้เขาได้รวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกำลังกาย สติ จิตกลับมา ยังเป็นการทำลายจังหวะของนาดาลด้วย
เฟเดอเรอร์ค่อยๆหาทางกลับมาได้ เขาไล่ตามมาเป็น 1-2 หลังจากที่ได้เซ็ตที่ 3 6-7 (5) มาแบบหวุดหวิด ในห้วงเวลาเดียวกับที่นาดาลเริ่มออกอาการประมาท เหมือนชะล่าใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วเขายอมรับในเวลาต่อมาว่าเขาเกิดรู้สึก “กลัว” ขึ้นมา
ความน่าประหลาดคือความกลัวที่ว่านั้นไม่ใช่ความกลัวที่จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่เป็นความกลัวที่จะเป็นฝ่ายชนะ นั่นเพราะการได้แชมป์วิมเบิลดันเป็นหนึ่งในรายการที่เขาฝันถึง และยังเป็นแกรนด์สแลมเดียวที่ยังทำได้ไม่สำเร็จด้วย
เซ็ตที่ดุเดือดและบีบหัวใจที่สุดเกิดขึ้นในเซ็ตที่ 4 ซึ่งนาดาลพยายามที่จะปิดเกมให้ได้ แม้ว่าจะมีสายฝนลงมาขัดจังหวะอีกก็ตาม ซึ่งทั้งคู่สู้กันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ช็อตต่อช็อต จนมาถึงช่วงไทเบรก ซึ่งได้รับการขนานนามอีกเช่นกันว่าเป็น “The Greatest tie-breaks”
นั่นเพราะทั้งคู่ไม่มีใครยอมใคร ชนิดที่ขนาดนาดาล ได้แชมเปียนชิพพอยต์ (Championship point) ถึง 2 ครั้ง แต่เฟเดอเรอร์ก็ไม่ยอม
หนึ่งในนั้นเป็นช็อตการตีแบ็คแฮนด์ที่เจ้าตัวยอมรับในเวลาต่อมาว่าเป็นหนึ่งใน 2 แต้มที่สมบูรณ์แบบที่สุดในชีวิตการเล่นของเขาเลยทีเดียว ซึ่งคำว่าสมบูรณ์แบบนั้นไม่ได้หมายถึงน้ำหนักและทิศทางของการตี แต่หมายถึงความสำคัญต่อเกมในวันนั้น “มันทำให้ผมรอดตัวไปจนถึงเซ็ตที่ 5”
และในความรู้สึกของเฟเดอเรอร์ เขาคิดว่าเป็นเพราะการตีลูกนี้แหละที่ทำให้นัดชิงในวันนั้นเป็นนัดชิงที่เป็นเหมือนเรื่องเล่าปกรณัม
เฟเดอเรอร์พลิกกลับมาได้เซ็ตที่ 4 ไปทำให้กลับมาเสมอกัน 2-2 เซ็ตและต้องตัดสินกันในเซ็ตสุดท้ายที่ในเวลานั้นเซ็ตตัดสินจะไม่มีไทเบรก
โมเมนตัมเวลานั้นใครก็คิดว่าสงสัยนาดาลจะเสร็จเฟเดอเรอร์อีกครั้ง แต่เปล่าเลย การเสียเซ็ตที่ 4 ไปไม่ได้ส่งผลเสียหายในระดับร้ายแรง ในทางตรงกันข้ามมันกลับเป็นการดึงสติ สมาธิ และปัญญาของเขากลับมาอีกครั้ง โดยที่เจ้าตัวยอมรับว่าฝนที่ตกลงมาจนทำให้ต้องหยุดพักการแข่งในเซ็ตที่ 4 เป็นการช่วยเขามากกว่า
ในขณะที่โทนี นาดาลเริ่มถอดใจ ราฟาเอลหลานรักก็บอกให้ใจเย็นๆ “ไม่ต้องกังวลนะลุง สบายๆ ผมใจเย็นอยู่ ผมทำได้”
ตะวันลับแสงไปนานแล้วและแสงในคอร์ตก็น้อยลงทุกที บรรยากาศนั้นมืดในระดับที่เทคโนโลยี Hawk-Eye ไม่สามารถทำงานได้
ที่คอร์ต สองนักเทนนิสผู้กำหนดนิยามของยุคสมัยสู้กันแบบไม่มีใครยอมใคร แต้มต่อแต้ม เกมต่อเกม ช็อตต่อช็อต เหมือนเราได้เห็นแสงออกจากแร็คเก็ตวาดยาวผ่านลูกสักลาดสีเขียว โดยที่ในบางช่วงเวลาเผลอหยุดหายใจ
มันยาวนานเหมือนจะเป็นนิรันด์ จนแม้แต่ผู้ชมในวันนั้นต่างคิดว่า “เป็นไปได้ไหมที่พวกเขาจะได้ครองแชมป์ร่วมกันไปเลย” แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นไปไม่ได้ และในอีกใจพวกเขาก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าใครกันที่จะได้เป็นผู้ชนะในมหาศึกเหนือสงครามครั้งนี้
ในช่วงที่ทั้งคู่เสมอกันอยู่ 7-7 เกม แอนดรูว์ จาเร็ตต์ ผู้ตัดสินได้เรียกทั้งคู่มาเพื่อบอกว่าจะให้เล่นกันอีกเพียงแค่ 2 เกมเท่านั้น ถ้ายังตัดสินกันไม่ได้ก็จะหยุดพักการแข่งขันในช่วงกลางคืนเพราะแสงในเวลานั้นแทบมองอะไรไม่เห็นแล้ว
แต่สุดท้ายแล้วเกมก็มาถึงจุดตัดสินจนได้ เมื่อนาดาลเบรกเกมเสิร์ฟของเฟเดอเรอร์ได้สำเร็จ ทำให้เขามีโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะ
จริงอยู่ที่ตลอดทั้งวันเขาเล่นโดยใช้สมองมากกว่าแค่พละกำลัง แต่ในห้วงเวลานั้นบางอย่างที่ซ่อนอยู่ลึกใต้จิตใจบอกกับเขาว่า “Vamos ลุยกันเลย” และทำให้เขาตัดสินใจเล่นในสไตล์ดุดันในแบบของตัวเองมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการขึ้นมาเล่นเสิร์ฟและวอลเลย์ด้วย
ก่อนที่สุดท้ายเฟเดอเรอร์จะพลาดตีติดเน็ตเองในแต้มสุดท้าย
Game, set, and match ในเวลา 4 ชั่วโมง 48 นาที ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ยาวนานที่สุดในยุคนั้น
ราฟาเอล นาดาล คว้าแชมป์วิมเบิลดันหนแรกของตัวเองได้สำเร็จ (โดยกระโดดขึ้นไปฉลองที่บ็อกซ์ของทีมงานและครอบครัว ก่อนจะเดินไปยังบ็อกซ์วีไอพีที่มีสมาชิกราชวงศ์สเปนมาชมการแข่งขันด้วย) รวมถึงเป็นคนหยุดสถิติไร้เทียมทานของเฟเดอเรอร์เอาไว้ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่ “เฟดเอ็กซ์” รู้สึกเสียใจมาโดยตลอด
และถัดจากนั้น 2 ปี นาดาลจึงได้ชื่อเป็นผู้ครองแชมป์แกรนด์สแลมครบทุกรายการ หลังคว้าแชมป์ US Open ในปี 2010
เพราะอย่างน้อยเขาและนาดาล ได้แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันเทนนิสในระดับสุดยอดที่แม้แต่ตำนานผู้ยิ่งใหญ่อย่างจอห์น แม็คเอนโร ได้ยกย่องว่า “เป็นแมตช์นัดชิงที่ดีที่สุดที่เคยดูมาในชีวิต”
เช่นเดียวกับผู้ชมทั้งโลก และเหล่านักเทนนิสน้อยใหญ่อีกมากมายที่ได้เป็นสักขีพยานของการต่อสู้สุดมหัศจรรย์ครั้งนี้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น“จุดสูงสุด” ของเกมเทนนิส
นัดชิงวิมเบิลดัน 2008 ยังเป็น “จุดเปลี่ยน” ของยุคสมัยที่นำไปสู่การยกระดับของเกมเทนนิสไม่ว่าทั้งเฟเดอเรอร์ (ซึ่งกลับมาคว้าแชมป์ได้ในปีถัดไป) นาดาลที่ไม่ยอมแพ้ และการร่วมวงของยอโควิช ที่ก้าวขึ้นมาเป็น “เสาหลักทั้ง 3” ของวงการเทนนิสชาย โดยทั้งสามได้ผลัดกันทำลายสถิติการคว้าแชมป์แกรนด์สแลมสูงสุดตลอดกาล (เริ่มจาก เฟเดอเรอร์ 20 สมัย, นาดาล 22 และยอโควิช 24 สมัย)
และนั่นทำให้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักแค่ไหนศึกนัดชิงในตำนานครั้งนั้นก็ยังคงเป็นที่เล่าขานถึงอยู่เสมอ
วันนี้ก็เช่นกัน
อ้างอิง