×

อ่านกลยุทธ์ไทยเจรจาภาษีทรัมป์ แนะสายตรงวอชิงตัน-ใช้แต้มต่อด้านความมั่นคง

12.07.2025
  • LOADING...
รัฐบาลไทยเร่งเจรจาภาษีทรัมป์ หวังลดผลกระทบต่อภาคส่งออก

นับถอยหลังจากวันนี้ (12 กรกฎาคม) เหลือเวลาอีกไม่ถึง 20 วัน ที่ไทยจะเผชิญเส้นตายการบังคับใช้ภาษีศุลกากรอัตราใหม่ของสหรัฐฯ​ ที่ 36% ในวันที่ 1 สิงหาคม 

 

ช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่นี้ รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการเจรจาและบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ​ ให้ได้โดยเร็ว แต่คำถามสำคัญคือเรามีอะไรที่จะไปแลกเปลี่ยน เพื่อให้รัฐบาลทรัมป์​ ยินยอมลดอัตราภาษีลงมา?

 

รายการ Decoding the World : ถอดรหัสโลก พูดคุยกับรศ. ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ และ ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ร่วมวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไทยต้องเผชิญภาษี 36% ของสหรัฐฯ และทางเลือกในการเจรจาที่มีอยู่ 

 

โดยแม้ระยะเวลาจะค่อนข้างกระชั้นชิด แต่รัฐบาลไทยยังมีโอกาสพิจารณาถึงแต้มต่อที่มีอยู่ ซึ่งการเจรจาข้อตกลง นอกจากเรื่องการค้า ควรครอบคลุมไปถึงมิติอื่นๆ เช่นการต่างประเทศ การเมือง การทหารและความมั่นคง และในขณะเดียวกันอาจต้องใช้การสื่อสารผ่าน ‘ช่องทางพิเศษ’ สายตรงไปถึงบุคคลระดับสูงในรัฐบาลวอชิงตัน เพื่อ ‘ปิดดีล’ ให้สำเร็จ 

 

ภาษี 36% ภาคการผลิตไทยอาจถึงขั้น ‘ทรุด’

 

ดร. อมรเทพ ชี้ว่าสิ่งแรกที่อาจเกิดขึ้นหากไทยเผชิญกับตัวเลขภาษี 36% คือ “ความเชื่อมั่นที่หายไป” โดยผู้ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย อาจจะรอดูสถานการณ์ และส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นชะลอตัวลง

 

ผลกระทบที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือในภาคการส่งออก ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา การส่งออกจะเติบโตกว่า 10% แต่เป็นเพราะสหรัฐฯ เร่งนำเข้าสินค้าเพื่อสต็อกไว้ก่อน ดังนั้น หากไทยต้องเจอภาษีจากสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดใหญ่ถึง 36% ภาคการผลิตของไทยอาจจะไม่ใช่แค่ ‘แผ่ว’ ลง แต่อาจถึงขั้น ‘ทรุด’ และส่งผลกระทบรุนแรงต่อการจ้างงาน 

 

และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียที่เผชิญภาษีในอัตรา 25% และเวียดนามที่ 20% ก็จะเริ่มมองเห็นว่าความน่าสนใจของภาคการผลิตและการส่งออกของไทยนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 

นอกจากนี้ ผลกระทบยังขยายไปสู่ภาคการนำเข้า หากไทยต้องตั้งภาษีนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ก็จะแพงขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ คลังสินค้า และการขนส่งก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน 

 

ที่สำคัญคือผลกระทบสุดท้ายจะตกอยู่กับ ผู้บริโภค หากการส่งออกและการผลิตไม่ดี การเติบโตของค่าจ้างก็จะแผ่วลง เมื่อผู้คนไม่มีเงินเพียงพอ การบริโภคภายในประเทศซึ่งคิดเป็นเกือบ 60% ของ GDP ก็จะลดลงตามไปด้วย ภาคการท่องเที่ยวเองก็อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง

 

อย่างไรก็ตาม ดร. อมรเทพชี้ว่ายังไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดคาดการณ์ว่า GDP ของไทยจะติดลบตลอดทั้งปี แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลง โดยจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจไทยก็ยังคงเติบโตได้เหนือ 1% 

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) ที่อาจทำให้ GDP หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเรียกว่า “การถดถอยทางเทคนิค” (Technical Recession) แต่ยังไม่ใช่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแต่อย่างใด แม้จะส่งผลให้ความน่าสนใจในการตั้งโรงงานในไทยลดลง และการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าจะยังคงโตต่ำ แต่ก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า

 

ใช้แต้มต่อด้านความมั่นคง

 

รศ. ดร.ปณิธาน ชี้ว่าประเด็นสำคัญของการยื่นข้อเสนอในการเจรจากับสหรัฐฯ นั้นไม่ควรจำกัดอยู่แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องรวมถึง มิติด้านการเมือง การต่างประเทศ หรือการทหารเข้าไปด้วย เพื่อที่จะเติมเต็มกับเงื่อนไขที่เราให้ไม่ได้

 

โดยที่ผ่านมา ไทยถือเป็นพันธมิตรนอก NATO (Non-NATO Ally) และมีการปฏิบัติการทางทหารร่วมกับสหรัฐฯ มาแล้วมากกว่า 50 ปฏิบัติการ และบางเรื่องก็ลึกลับซับซ้อนมาก เช่น กรณีการจับกุมตัวฮัมบาลี ริดวน อิซามุดดิน แกนนำคนสำคัญของเครือข่ายการก่อการร้ายเจมาห์ อิสลามมิยาห์ (Jemaah Islamiah) ที่จังหวัดอยุธยา เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2003 ในขณะที่กำลังวางแผนการก่อการร้ายโจมตีการประชุมเอเปก (APEC) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งทางการไทยได้ส่งตัวฮัมบาลี ให้ทางการสหรัฐฯ​ ก่อนจะถูกนำไปคุมขังที่เรือนจำในอ่าวกวนตานาโม ของคิวบา

 

หรือกรณีการจับกุมตัววิกตอร์ บูท พ่อค้าอาวุธรายใหญ่ชาวรัสเซียส่งให้สหรัฐฯ ซึ่งปฏิบัติการเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และสามารถหยิบยกเป็นตัวอย่างของความร่วมมือที่ไทยมอบให้ได้

 

นอกจากนี้ รศ. ดร.ปณิธาน ชี้ว่าอีกข้อเสนอที่สามารถดำเนินการได้ในยามวิกฤตเช่นนี้ คือการรวมงบประมาณการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพทั้ง 3 เหล่าทัพ เพื่อทำให้ไทยสามารถเสนอซื้อยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ ในระยะยาว ด้วยเม็ดเงินที่เพียงพอ และไม่ต้องเดือดร้อนงบประมาณแผ่นดิน

 

ขณะที่การยื่นข้อเสนอซื้อยุทโธปกรณ์จำนวนมากจากสหรัฐฯ จะเป็นอีกแนวทางที่ทำให้ทรัมป์สามารถนำไปเสนอต่อสภาคองเกรส เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไทยเป็น

พันธมิตรที่สำคัญ

 

การสื่อสารช่องทางพิเศษ

 

ทั้งนี้ การยื่นข้อเสนอโดยมีแพ็กเกจด้านการทหารหรือความมั่นคงไปด้วยนั้น รศ. ดร.ปณิธาน มองว่าสิ่งที่ทำให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงได้ คือการสื่อสารช่องทางพิเศษ 

 

โดยเขามองว่า รัฐบาลและผู้มีอำนาจของไทย ควรที่จะต่อสายตรงไปยังบุคคลสำคัญอย่าง ทรัมป์, พีธ เฮธเซ็ก รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯหรือมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการมาร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการปรับลดอัตราภาษี 

 

แต่การพูดคุยกับรูบิโอนั้น รศ. ดร.ปณิธาน มองว่าไทยอาจจำเป็นต้องปรับความเข้าใจเสียก่อน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นั้นเคยมีท่าทีไม่พอใจไทย ต่อกรณีการส่งผู้อพยพชาวอุยกูร์กลับไปยังจีน

 

มาตรการรับมือและเยียวยาภายในประเทศ

 

นอกจากกลยุทธ์การเจรจาภายนอกแล้ว การปรับตัวและมาตรการรับมือภายในประเทศก็สำคัญเช่นกัน โดยดร. อมรเทพเสนอว่า ไทยสามารถพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ได้ในบางกลุ่ม แม้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรบางกลุ่ม แต่การนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเนื่องจากภาคเกษตรแม้จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิประมาณ 10% ของ GDP แต่ก็มีการจ้างงานสูงถึง 40-50%

 

ส่วนประเด็นการส่งสินค้าของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน ผ่านไทย ส่งออกไปยังสหรัฐฯ หรือ Transshipping ซึ่งไม่ส่งผลให้ภาคการผลิตหรือการจ้างงานของไทยเติบโต เป็นอีกประเด็นที่ต้องมีการเจรจา โดยไทยสามารถลดการขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ได้ และไม่กระทบภาคการผลิตในประเทศ ด้วยการลดการส่งออกสินค้าจากประเทศอื่น และเน้นส่งออกเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงจากในประเทศ

 

ขณะที่การเยียวยาภาคเอกชนและเกษตรกร ดร. ปณิธานเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเตรียม แพ็กเกจเยียวยา สำหรับภาคเอกชนและเกษตรกร ในกลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบ ควรมีมาตรการเหล่านี้ออกมาทันทีโดยไม่ต้องรอให้ผลกระทบปรากฏชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งการเยียวยาที่ตรงจุดและรวดเร็วจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล

 

ปรับสมดุลความสัมพันธ์ รับมือจีน-สหรัฐฯ

 

จากท่าทีของสหรัฐฯ​ ที่แสดงจุดยืนหนักแน่นต่อมาตรการภาษีตอบโต้และการมุ่งเน้นการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง และท่าทีของจีนที่ส่งสัญญาณเตือนว่าจะตอบโต้ประเทศใดก็ตามที่ทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ โดยตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ไทยที่มีจุดยืนไม่เอนเอียงไปยังมหาอำนาจข้างใดมากจนเกินไปต้องหาหนทางเพื่อรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

 

รศ.ดร. ปณิธานชี้ว่าไทยเป็นประเทศที่ “รักทั้งพี่รักทั้งน้อง” และยังไม่จำเป็นต้องเลือกข้างในตอนนี้ 

 

เขามองว่าการเจรจาข้อตกลงกับสหรัฐฯ ควรทำคู่ขนานไปกับการเจรจากับจีน โดยควรมี “ทีมไทย-จีน” และ “ทีมไทย-สหรัฐฯ” ที่ทำงานคู่ขนานกัน

 

ด้านดร. อมรเทพเห็นด้วยว่าไทยไม่ต้องการเลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด (18% ของการส่งออกทั้งหมด และ 10% ของ GDP) ในขณะที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับสอง แต่ไทยเองก็ต้องมองหาโอกาสและพันธมิตร รวมถึงเจรจากรอบความร่วมมือการค้าเสรีอื่นๆ

 

กรณีของกลุ่ม BRICS ที่ทรัมป์ มองว่าเป็นกลุ่มต่อต้านสหรัฐฯ​ และได้ออกมาเตือนว่าจะใช้มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้ หากมีการสนับสนุนนโยบายที่ต่อต้านสหรัฐฯ​ หรือพยายามบ่อนทำลายบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (De-Dollarization) ในการค้าระหว่างประเทศ เป็นอีกประเด็นที่ไทยต้องแสดงท่าทีให้ชัดเจน 

 

โดยรศ.ดร.ปณิธาน ชี้ว่าการเข้าเป็นหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS เพื่อค้าขายกับประเทศสมาชิกนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องยืนยันชัดเจนและตรงไปตรงมาต่อสหรัฐฯ ว่าไทยไม่ได้เป็นสมาชิก และไม่ได้สนับสนุนแนวคิดต่อต้านสหรัฐฯ​หรือพยายามทำลายหรือลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ 

 

“เราอยากจะค้าขายกับอินเดีย เราอยากจะลดความเสี่ยง มันไม่ผิดอะไรนะครับ ที่เราจะไปค้ากับประเทศเหล่านี้ในกลุ่ม BRICS และเราก็ไม่ได้จะมาทำลายระบบ การเงินของอเมริกัน เราจะไปทำลายทำไม ก็พูดกับสหรัฐฯ ให้ชัดๆ”

 

ทั้ง ดร. ปณิธาน ชี้ว่าในวิกฤตนี้ยังมีโอกาส โดยรัฐบาลไทยต้องสื่อสารอย่างชัดเจนและรวดเร็วเกี่ยวกับมาตรการรับมือและการเยียวยา

 

ขณะที่สิ่งสำคัญคือการสร้างความมั่นใจว่า “ทีมไทยแลนด์” สามารถรับมือสถานการณ์ได้และใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์พิเศษกับสหรัฐฯ ที่มีมายาวนาน

 

โดยสิ่งที่ประชาชนต้องการเห็นหลังจากนี้ คือการลงมือทำ ‘อย่างรวดเร็ว’ และ ‘เป็นรูปธรรม’

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising