ทำไม ‘นักท่องเที่ยวจีน’ หดตัวรุนแรง และหายไปอย่างมีนัยสำคัญ ตัวเลขที่หายไปสำคัญแค่ไหน พึ่งพาตลาดอื่นไม่ได้หรือ? นี่คือคำถามที่สังคมสงสัยมาโดยตลอด
เบื้องลึกที่น่าชวนคิดว่ามากไปกว่านั้น กลับได้รับสัญญาณใหม่ ที่ว่า ขณะนี้ ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวจีนที่หายไป เกาหลีใต้และรัสเซีย ที่เคยเป็นฐานนักท่องเที่ยวเดิมของไทยก็เบนเข็มเที่ยวเวียดนามและญี่ปุ่น นอกจากปมปัญหาเรื่องความปลอดภัย เราอาจต้องถามตัวเองว่า
หรือภาพจำ เสน่ห์ของ ‘สยามเมืองยิ้ม’ เรากำลังเลือนลางหายไปหรือไม่ ทำไมไทยแพ้เกมท่องเที่ยวิ้ม ทางออกคืออะไร?
อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันเวียดนามไม่เพียงขยายมาตรการกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวจีน ยังขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ที่คล้ายกับกลุ่มตลาดเป้าหมายของไทย อาทิ เกาหลีใต้ รัสเซีย ซึ่งก็เริก็เห็นชัดเจนแล้วว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้ย้ายฐานไปเวียดนาม
ด้วยหลายๆ ปัจจัย ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง มากไปกว่านั้น นอกจากเรื่องค่าครองชีพที่ถูกกว่า จากการวิเคราะห์ของนักวิจัยหลายสำนักต่างก็ประเมินว่า “วันนี้ภาพจำ หรือ ภาพลักษณ์ ของเมืองแห่งสยามเมืองยิ้ม ของชาวจีนที่มาไทย มองว่าเลือนลางหายไป”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ถึงเวลาซ่อมเครื่องยนต์หลัก (ท่องเที่ยว) ‘เศรษฐกิจไทย’ การหายตัวไปของซิงซิงสะท้อนอะไร?
- ททท. รุกตลาดจีน ดึง Group Incentive Travel เตรียมจัดโครงการ ‘สวัสดี หนีห่าว’ ดึงนักท่องเที่ยวจีนมีคุณภาพกลับไทย
- อวสานท่องเที่ยวไทย! ชาวจีนกำลังซื้อสูงไม่กลับมา กระทบผู้ประกอบการตั้งหน้ารอความหวังจากรัฐบาล
สิ่งที่เราพยายามจะบอก คือ สิ่งที่สานสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนในอดีตกับปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป สายใยไทยจีนพี่น้องกัน เลือนลาง เราอาจจะต้องกลับมาถามตัวเองว่า เรายังรู้สึกแบบนั้นหรือคิดแบบนั้นกับนักท่องเที่ยวมากน้อยขนาดไหน ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ปัจจุบันก็เป็นรุ่น 3-4 คนรุ่นปัจจุบัน ความผูกพันอาจจะเจือจางไปหรือไม่ มิติเหล่านี้ก็มีผล และเราจะต้องทำอย่างไร
ชวนวิเคราะห์: ไทยไม่พึ่งนักท่องเที่ยวจีนได้หรือไม่ มูลค่าจะหายไปแค่ไหน?
อยากให้คิดตามว่า มูลค่าตัวเลขง่ายๆ ถ้านักท่องเที่ยวหายไป 1 ล้านคน รายได้ก็หายไป 50,000 ล้าน ค่าเฉลี่ยในการเที่ยวไทย 1 คน ราวๆ 5 หมื่นบาท ซึ่งดูตัวเลขจาก SCB EIC พบว่า ปีนี้ นักท่องเที่ยวจีนอาจหายไป 1.5 ล้านคน ก็เท่ากับว่ารายได้จะหายไป 75,000 ล้านบาท ที่สำคัญคือ 33% ชาวจีนจับจ่ายเป็นค่ากินดื่ม ก็จะกระทบไปถึงธุรกิจร้านอาหาร SME อย่างที่ทุกคนทราบสถานการณ์บรรทัดทอง ถนนข้าวสาร ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก
ขณะเดียวกัน ประเด็นที่มีมากกว่านั้น ที่มีกระแสการตั้งคำถามถึงนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปมีผลกระทบมากแค่ไหน?
ต้องอธิบายเสริมอีกว่า กระทบต่อนักท่องเที่ยวตลาดที่ใช้ภาษาจีน (Chinese speaking market) เช่น กรณีของซิงซิงอิมแพ็คมีผลกระทบต่อตลาดฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ กรณีข่าวเหล่านี้จึงลามไปทั่วภูมิภาค
อีกส่วนคือตลาดอินเดีย รัสเซีย เกาหลีใต้ โดยเฉพาะรัสเซีย เกาหลีใต้ ปีที่แล้วเป็นตลาดที่ดีมากๆและทำนิวไฮ ส่วนอินเดียก็ทำนิวไฮ 2 ล้านคน แต่ปีนี้ก็ย้อนกลับมาที่คำถามที่ว่า นักท่องเที่ยวจีนหายไปไหน?
“ขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะแค่นักท่องเที่ยวจีน แต่กลายเป็นว่านักท่องเที่ยวเกาหลีใต้และรัสเซีย ก็เริ่มมูฟไปที่เวียดนามแทน”
ถามว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างแรก กรณีนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ เมื่อเร็วๆนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับตลาดเกาหลีใต้ ผู้ประกอบการระบุว่า
- ค่าตั๋วเที่ยวบินจากเกาหลีใต้เข้าเวียดนามถูกกว่ามาก
- ราคาโรงแรมเวียดนามถูกกว่าไทย 20-30%
3. เวียดนาม มีระบบขนส่งที่พร้อม โดยเฉพาะการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ในจุดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวทุกเมือง
โดยเวียดนามมี International Airport ฮานอย-ดานัง-โฮจิมินห์-ญาจาง-ฟูก๊วก ซึ่งสะดวกมาก ต่างจากไทยที่เรายังไม่สามารถเชื่อมโยงเส้นทางหลักสู่เมืองรอง ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นคอขวด และการพัฒนาเมืองรองยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร
มาเลเซียกำลังเบียดแซงไทย
ขณะที่เทรนด์นักท่องเที่ยวที่เป็น F.I.T. ส่วนใหญ่จะเดินทางกลุ่มเล็กๆและเลือกเดินทางเองส่วนตัว สามารถเดินทางเข้าเมืองได้ไม่เกิน 30 นาที สะดวกสบาย เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวจีน ก็ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย
อีกทั้งในบรรดาเพื่อนบ้าน นอกจากเวียดนาม สิงคโปร์ก็มีภาพลักษณ์ความปลอดภัยดีที่สุด ติดอันดับเมืองปลอดภัยส่งผลให้บรรดาชาวจีนที่ร่ำรวยก็เลือกไปลงทุนและอาศัยอยู่ที่สิงคโปร์ จึงเป็นตลาดกลุ่ม Luxury ที่สำคัญ
น่าสนใจว่า “ตลาดมาเลเซียที่ปีนี้พุ่งแรง เพราะมาเลเซียมีการจัดหาผู้ที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้โดยตรงเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวก และวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน และยกเว้นวีซ่า เวียดนามก็มีหลายๆ กลยุทธ์ที่พยายามดึงนักท่องเที่ยวจีนไปจากไทย เขาก็พยายามสร้างอุตสาหกรรม wellness และปั้นเมืองรองได้ดี”
“ฉะนั้นผมมองว่าความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว และความพร้อมเราไม่ได้มีปัญหา แต่กว่าเขาจะได้มาสัมผัส คือกังวลความปลอดภัย ความกลัว จึงทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปที่อื่น เหมือนเรา ง่ายๆ ถ้าเราอยากไปเที่ยว ถ้ากังวลมากก็อาจจะเลือกไปที่อื่นก่อนก็ได้ที่ไม่มีปัญหา ไปที่ที่สบายใจก่อน”
ถอดบทเรียนไทยกับมรสุมข่าวเชิงลบ (Toxic news)
อีกประเด็น คือ หลังจากมีข่าวเชิงลบ (Toxic news) ด้านความปลอดภัย เรายังมีกระแสเชิงลบ ทัศนคติที่มีต่อคนจีน ข่าวสารที่เกิดขึ้น เราพยายามที่จะปราบปรามทุกฝ่ายช่วยกัน
“ส่วนตัวผมมองว่าตลาดจีนเป็นตลาดหลักมา 20 กว่าปี ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศมหาศาล แต่ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับจีนก็เป็นกระแสเชิงลบ ซึ่งก็พบว่าสื่อสารน้อยไป ขณะเดียวกัน ข่าวเชิงบวกที่เป็นประชาชนต่อกันยังน้อยไป แต่เมื่ออยู่บนโลกโซเชียล ทุกอย่างไปเร็วมาก”
‘เวียดนาม’ ไม่ได้เก่งกว่าไทย แต่…?
อดิษฐ์ มองว่า วันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยคือ ‘ภาพลักษณ์’
“เวียดนามดึงนักท่องเที่ยวจีนไป 1.5 ล้านคน ไทยทำได้ 1.3 ล้านคน ก็เท่ากับว่าเขาแซงเรา ผมอยากให้มองว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดได้ว่า “เขาเก่งกว่า” เพียงแต่สังคมเวียดนามไม่มีข่าวเชิงลบต่อชาวจีน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่เราต้องมานั่งคุยกันอย่างจริงจัง”
เมื่อถามว่า ณ วันนี้ วิกฤติหรือยัง? ตอบว่า ยัง แต่เราไม่อยากเจอ และไม่ควรรอให้วิกฤตจึงกลับมาแก้ไข
“เราสามารถที่จะออกมาตรการกู้วิกฤตกลับมาได้หลายวิธี อย่างเช่น เร็วๆนี้ที่จะมีงานครบรอบความสัมพันธ์ไทยจีน อยากให้เชิญผู้นำมาไทยเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น ดึง KOL มาช่วยโปรโมต กระตุ้นตลาดดึงเที่ยวบินให้กลับมา”
อดิษฐ์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่น่ากังวลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ณ เวลานี้ คือ “เรากำลังหยุด และอาจจะก้าวถอยหลังหรือไม่ ขณะที่คนอื่น เขาเริ่มไปข้างหน้าและเก่งขึ้น การที่ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ไฟลท์บินโตขึ้น และโตจากไฟลท์ที่จะมาหาเรา แต่เขากลับเลือกไปที่นั่น นั่นหมายความว่า วันนี้เรากำลังโดนสองเด้ง”
ไทยเผชิญการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
ด้านสุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ นับเป็นปีแห่งความท้าทายของภาคท่องเที่ยวไทย ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เคยเป็นกลุ่มรายได้หลักส่งสัญญาณลดลงอย่างมากต่อเนื่อง และอาจจะฟื้นได้ราว 50-65% เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด
“แต่ยังได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่มแมสอย่างมาเลเซีย และอินเดีย และกลุ่ม High Spending”
อาทิ ยุโรป รัสเซีย และอิสราเอล ที่เข้ามาช่วยพยุงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มีมูลค่าราว 1.74-1.95 ล้านล้านบาท ซึ่งสถานการณ์ในครั้งนี้คงกระทบต่อผู้ประกอบการใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งนโยบายรัฐที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว และช่วยประคับประคองผู้ประกอบการใน Supply Chain ปรับเทรนด์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป”
ขณะที่กณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า 3 เหตุผล ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่มาไทยในช่วง 1-2 ปีนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากค่าเงินที่ และ
- ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของประเทศไทย ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยอาจใช้เวลาถึง 1 ปี
- พฤติกรรมและกลุ่มของนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนไป โดยนักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม F.I.T. ที่มักมองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจน ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของไทยอาจมีความแปลกใหม่ที่น้อยกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มีการพัฒนา Destination ใหม่ๆ
- ผลกระทบจากภาวะเศรษฐจีนที่ชะลอตัว
ด้านธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเสริมว่า ปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทย คือ นักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมา และยังต้องแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคที่ทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น
หวังแรงหนุนนักท่องเที่ยวกลุ่ม High Spending
แม้ว่าตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ เช่น มาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย และยุโรป จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการหายไปของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวที่ไม่ทั่วถึง
โดยแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม High Spending ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมในระดับ 4-5 ดาว แต่ธุรกิจอื่นๆ ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนหดตัวรุนแรง เช่น โรงแรมในระดับไม่เกิน 3 ดาว ร้านอาหาร Street Food คอนโดมิเนียม
รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างธุรกิจรถเช่า ร้านขายของที่ระลึก บริษัทนำเที่ยว ฯลฯ และอาจขยายวง กว้างไปยังธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้และของตกแต่งในโรงแรม
โอกาสใหม่: ดันต่างชาติถ่ายทำภาพยนตร์หรือซีรีส์ในไทย ยกเครื่อง Wellness เป็นวาระชาติ
การสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์หรือซีรีส์ต่างชาติในประเทศไทย จะเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมด้าน Soft Power ที่สำคัญ และเป็นหนึ่งในโอกาสใหม่สำหรับภาคท่องเที่ยวของไทย
“จุดคุ้มทุน (Break-even) ของการโปรโมตประเทศไทยด้วยวิธีออกทุนผลิตซีรีส์ 1 EP จะอยู่ที่การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 500-1,000 คน ”
ขณะที่ ชวนัสถ์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์สปาแอนด์เวลเนสประเทศไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า อุตสาหกรรม Wellness ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่กำลังเป็นเมกะเทรนด์โลก และควรเป็นโอกาสที่ไทยควรคว้าให้เร็ว เพราะถ้าช้าจะเสียโอกาสให้เพื่อนบ้าน มาเลเซีย เวียดนาม จีน กำลังเร่งพัฒนาไปเรื่อยๆ
ไทยยังมีช่องว่างตลาดถึงอีก 8-10% และหลายคนไม่ทราบว่าแต่ละปีสร้างรายได้ให้กับประเทศกว่าล้านล้านบาท เพราะเชื่อมโยงไปถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีกหลากหลายเช่น Medical Tourism , Wellness Tourism, กีฬา, โภชนาการ (Nutrition), Wellness Working Place, Tailor Made Wellness, Fitness, เวชศาสตร์ชะลอวัย
โดยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ โต 5-10% ต่อปี
“โอกาสชิงส่วนแบ่งตลาดยังมีสูง 8-10% แต่ไทยทำได้แค่ 2% อีกทั้ง นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีกำลังจ่ายสูงอย่าง UAE นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีกำลังจ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 30-40% ถ้าจีนไม่มา ยังมีตะวันออกกลาง ตลาดระยะไกล (Long-haul Market) ยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย จะเที่ยวนาน อยู่นาน”
Wellness Complex กับ Entertainment Complex ก็สามารถเดินไปด้วยกันได้ แต่ต้องวางกฎหมายชัด จะยิ่งเป็นโอกาสขับเคลื่อน ‘Well-being Economy’
หากภาครัฐช่วยทำประชาสัมพันธ์และการตลาด เพื่อแสดงถึงศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศในด้านนี้ ซึ่งจะสามารถช่วยเศรษฐกิจฐานรากได้อีกทาง
“นอกจากเป็นยุทธศาสตร์ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลควรยก wellness เป็นวาระแห่งชาติ” ชวนัสถ์ กล่าว
เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงส่งหลักจาก 3 ส่วน ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว และภาคเกษตรกรรม แต่ปัจจุบัน ‘เครื่องยนต์’ ทั้งหมดนี้กำลังชะลอตัวลงพร้อมกัน
หากวิเคราะห์บทสรุปอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ข้างต้นแล้ว ยังมีแสงสว่าง และโอกาสใหม่อีกมาก ซึ่งจะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องอาศัยแรงกระเพื่อมจากทุกฝ่าย
ภาพ: pyrosky/Getty images