×

พายุภาษีทรัมป์ถล่มอาเซียน ไทย-กัมพูชา โดนหนัก 36% หลังสหรัฐฯ เล่นเกม ‘สกัดจีน’ ผ่านเพื่อนบ้าน ชาติพันธมิตรวิ่งสู้ฟัดเร่งหาทางรอด

09.07.2025
  • LOADING...
ภาษีทรัมป์

พายุสงครามการค้าได้พัดกระหน่ำเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มกำลัง เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศจะเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราสูงกับ 6 ชาติอาเซียน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป 

 

ภายใต้ประกาศล่าสุด ประเทศไทยและกัมพูชาจะเผชิญกับอัตราภาษี 36%, อินโดนีเซีย 32%, มาเลเซีย 25%, ส่วนลาวและเมียนมาโดนอัตราสูงสุดที่ 40% 

 

การพุ่งเป้ามายังอาเซียนครั้งนี้มีประเด็น ‘การลักลอบส่งสินค้าผ่านประเทศที่สาม’ (transshipment) เป็นชนวนเหตุสำคัญ โดยสหรัฐฯ พยายามที่จะกวาดล้างกลยุทธ์ที่ผู้ส่งออกจีนใช้เวียดนามและประเทศเพื่อนบ้านเป็นทางผ่านในการประกอบสินค้าขั้นสุดท้ายหรือส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลบเลี่ยงกำแพงภาษีที่ตั้งไว้กับจีนโดยตรง 

 

ปริยันกา กิโชร์ (Priyanka Kishore) ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Asia Decoded วิเคราะห์ว่า สถานการณ์นี้ทำให้อาเซียนตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะหากร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการตรวจสอบการส่งผ่านสินค้า ก็เสี่ยงที่จะถูกจีนซึ่งเป็นคู่ค้าและแหล่งวัตถุดิบรายใหญ่ตอบโต้ด้วยกำแพงภาษีเช่นกัน ซึ่งอาจสร้าง ‘ผลกระทบเป็นลูกโซ่’ ต่อภาคการผลิตของทั้งภูมิภาค

 

สำหรับประเทศไทยซึ่งเผชิญกับอัตราภาษีสูงถึง 36% ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล จากธนาคารกรุงเทพ มองว่านี่เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงทำให้ไทยเสียเปรียบเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซีย แต่ยังกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนใหม่ๆ ในอนาคต 

 

ขณะที่อินโดนีเซียซึ่งโดนอัตราภาษี 32% ก็มีการประเมินว่าอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ถึง 1.01 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.29 แสนล้านบาท) 

 

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนของอินโดนีเซียยังคงเดินหน้าเจรจาอย่างเต็มที่ โดยเสนอที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญจากสหรัฐฯ เช่น ฝ้าย ข้าวโพด และถั่วเหลือง เพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยคณะเจรจาของอินโดนีเซียยังคงอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

 

ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ ก็กำลังดิ้นรนหาทางรอด รัฐบาลกัมพูชา (อัตราภาษี 36%) อ้างว่าตัวเลขนี้เป็นผลสำเร็จจากการเจรจาที่ทำให้อัตราภาษีลดลงจากที่เคยถูกขู่ไว้ที่ 49% และการเจรจายังคงดำเนินต่อไป 

 

ส่วนมาเลเซีย (อัตราภาษี 25%) ยืนยันว่าจะเจรจา ‘ด้วยเจตนาที่ดี’ ต่อไป โดยย้ำว่าสหรัฐฯ คือคู่ค้าและตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสอง และการเจรจาคือหนทางที่ดีที่สุด

 

ส่วนเวียดนาม แม้จะดูเหมือนเป็นผู้ชนะในเกมนี้ด้วยการเจรจาจนได้อัตราภาษีเพียง 20% แต่นักเศรษฐศาสตร์จาก MUFG อย่าง Michael Wan เตือนว่านี่อาจเป็นเพียง ‘การผ่อนปรนในระยะสั้น’ เพราะรายละเอียดของข้อตกลงยังไม่ชัดเจน และการที่ผู้ส่งออกเร่งส่งสินค้าไปก่อนหน้านี้ อาจทำให้ยอดส่งออกชะลอตัวลงได้ในอนาคต

 

ท่ามกลางความวุ่นวายนี้ Jayant Menon นักวิชาการจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak กลับมองว่านโยบายของทรัมป์นั้น “ไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติ” เพราะการย้ายฐานอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากอย่างสิ่งทอกลับไปสหรัฐฯ นั้นเป็นไปไม่ได้ และท้ายที่สุดแล้วกำแพงภาษีเหล่านี้จะทำเพียงแค่ขึ้นราคาสินค้า ซึ่งผู้ที่ ‘เจ็บตัวถ้วนหน้า’ ก็คือผู้บริโภคชาวอเมริกันนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก DBS Group Holdings มองว่าการกระทำของทรัมป์อาจเป็นเพียง ‘เกมวัดใจ’ (brinksmanship) เพื่อกดดันให้เกิดการเจรจาในช่วงโค้งสุดท้าย และการที่กำหนดเส้นตายไว้ในวันที่ 1 สิงหาคม ก็ยังพอมีเวลาเหลืออีก 3 สัปดาห์ในการหาข้อสรุปที่ดีกว่านี้


ภาพ: Joe Raedle/Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising