วานนี้ (8 กรกฎาคม) ประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้แจ้งยืนยันว่า รายการ ‘ชุดไทย: ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ’ (Chud Thai: The Knowledge, Craftsmanship and Practices of the Thai National Costume) จะถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) สมัยที่ 21 ในปี 2569
การเสนอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริม Soft Power และอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 โดยปัจจุบันประเทศไทยมีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นบัญชีในระดับชาติแล้ว 396 รายการ และ ‘ชุดไทยพระราชนิยม’ ได้รับการขึ้นทะเบียนระดับชาติตั้งแต่ปี 2566 ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ให้เสนอต่อยูเนสโกในระดับนานาชาติ
ประสพระบุว่า ชุดไทยเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติที่สะท้อนอัตลักษณ์และความวิจิตรของวัฒนธรรมไทย ผ่านงานช่างฝีมือจากหลากหลายภูมิภาค ถ่ายทอดผ่านลวดลาย เทคนิคการตัดเย็บ และการใช้ผ้าไทยในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะ ‘ชุดไทยพระราชนิยม’ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงศึกษาค้นคว้าและออกแบบขึ้นเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2503 เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก
ปัจจุบันชุดไทยพระราชนิยมได้รับการนำมาใช้ในหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นงานพระราชพิธี งานพิธีการสำคัญ รวมถึงงานมงคลสมรส โดยแสดงถึงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาไทย และยังเป็นแรงบันดาลใจต่อการออกแบบสร้างสรรค์ชุดไทยยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับกระแสข่าวที่ระบุว่า ประเทศกัมพูชาเตรียมเสนอ ‘ประเพณีแต่งงาน’ เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และอาจมีการสอดแทรก ‘ชุดไทย’ นั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากยูเนสโกอยู่ระหว่างการให้แต่ละประเทศปรับแก้แบบเสนอข้อมูลสำหรับรอบปี 2025-2026 และยังไม่มีหลักฐานว่ากัมพูชาจะอ้างอิงหรือสอดแทรก ‘ชุดไทย’ ในรายการที่เตรียมเสนอแต่อย่างใด
ประสพย้ำว่า การเสนอขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกไม่ใช่การประกาศความเป็นเจ้าของทางวัฒนธรรม หากแต่เป็นการแสดงถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดในชุมชน และยูเนสโกส่งเสริมให้แต่ละประเทศยื่นเสนอวัฒนธรรมของตนอย่างโปร่งใส เคารพซึ่งกันและกัน และสามารถร่วมเสนอในลักษณะพหุภาคี (Multinational Nomination) ได้ หากมีรากวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกัน
เขายังยกตัวอย่างกรณี ‘ชุดแต่งกายเคบายา’ (Kebaya) ที่ถูกเสนอร่วมกันโดยสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และไทย หรือ ‘โขน’ ของไทย และ ‘ลครโขล‘ ของกัมพูชา ที่เสนอแยกกันในปี 2561 โดยไม่เกิดความขัดแย้ง สะท้อนถึงแนวทางความร่วมมือบนพื้นฐานของมิตรภาพทางวัฒนธรรม
“การขึ้นทะเบียนชุดไทย จึงไม่ใช่การปิดกั้น แต่คือการเปิดประตู เพื่อถ่ายทอดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของเราให้กลายเป็นสมบัติร่วมของมนุษยชาติ” ประสพกล่าว พร้อมยืนยันว่ากระบวนการพิจารณาของยูเนสโกมีความโปร่งใส ตรวจสอบเนื้อหาอย่างละเอียด และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสง่างามในความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ท้ายที่สุด กระทรวงวัฒนธรรมเชิญชวนประชาชนร่วมส่งแรงสนับสนุนให้ ‘ชุดไทย’ และ ‘มวยไทย’ ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาในปี 2569 และ 2571 ตามลำดับ ได้รับการขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับ Soft Power ไทยบนเวทีโลกอย่างสร้างสรรค์