บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดจะได้เห็นมาก่อนในชีวิตได้เกิดขึ้น เมื่ออาร์แซน เวนเกอร์ สติหลุดเข้าผลักโชเซ มูรินโญ ที่ยืนคุมทีมอยู่ข้างสนามจนเกิดความวุ่นวายกันเล็กๆ ขึ้น
เวนเกอร์ ปรัชญาเมธีลูกหนังผู้สงบนิ่งคนนั้นเนี่ยนะ!
เหตุการณ์ระดับตำนานเล็กๆ ในวันนั้นเป็นกระจกสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ร้อนรุ่มระหว่างเชลซีกับอาร์เซนอล ที่ความจริงแล้วก่อนเรื่องจะปะทุก็เริ่มมีการก่อสงครามประสาทกันมาสักระยะแล้ว กับประโยคอมตะหนึ่งของ “The Special One” ที่เปรียบเทียบเวนเกอร์ว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านความล้มเหลว” (Specialist in failure)
บิดเข็มนาฬิกากลับมาที่ปัจจุบัน อาร์เซนอลเพิ่งเซ็นสัญญาคว้า เกปา อาร์ริซาบาลากา ผู้รักษาประตูชาวสเปนที่เคยครองสถิติผู้รักษาประตูที่แพงที่สุดในโลกมาจากเชลซีด้วยค่าตัวเพียง 5 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นการเสริมขุมกำลังให้พร้อมสำหรับการลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลหน้า
โดยที่เกปา ไม่ได้เป็นนักเตะรายแรกที่ย้ายข้ามฟากระหว่างกัน ในระดับที่ 7 ฤดูกาลหลังสุดอาร์เซนอลซื้อนักเตะมาจากเชลซีมากถึง 6 รายด้วยกัน และใช้จ่ายเงินมากถึง 90 ล้านปอนด์
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้อดีตสโมสรที่เคยวางตัวเป็นปฏิปักษ์ (Rivalry) กลายเป็น “ลูกค้าขาประจำ” กันในตอนนี้ไปเสียแล้ว?
จุดเริ่มต้นความผูกพันทางการค้า
ความจริงแล้วเชลซีและอาร์เซนอล ไม่ได้ถือเป็นทีมคู่แข่งกันโดยตรงเหมือนที่ “กันเนอร์ส” เป็นคู่แค้นกับท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ทีมร่วมลอนดอนตอนเหนือ (North London Rivalry) ที่เจอกันเมื่อไรไม่มีใครยอมใครทั้งนั้น
ระหว่างเชลซีกับอาร์เซนอล มากที่สุดก็เป็นเพียงคู่แข่งร่วมเมืองลอนดอนที่ต้องเจอกันบ่อยใน “ลอนดอน ดาร์บีแมตช์” เท่านั้น
แต่จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาที่นำไปสู่ช่วงเวลาที่ทั้งสองสโมสรรู้สึกเป็นคู่แข่งกันขึ้นมาเกิดขึ้นในช่วงหลังจากปี 2004 ที่เชลซีได้โชเซ มูรินโญ ซึ่งในขณะนั้นเป็นกุนซือคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เก่งกาจสมฉายา “The Special One” เข้ามาคุมทีม
โดยเชลซีของมูรินโญ กลายเป็น “ตัวแปร” ที่เข้ามาสอดแทรกและคั่นกลางศึกของสองสโมสรใหญ่ในตอนเหนือและใต้ของอังกฤษอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และอาร์เซนอล ที่ช่วงชิงความเป็นหนึ่งมายาวนานตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 90
สำหรับทีมที่ไร้รากความสำเร็จอย่างเชลซี สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงให้พวกเขาเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จได้คือการลงทุนผู้เล่น โดยท่ามกลางผู้เล่นมากมายที่โรมัน อบราโมวิช อดีตเจ้าของสโมสรชาวรัสเซีย ทุ่มเงินให้ซื้อตัวมาเสริมทัพนั้น หนึ่งในผู้เล่นที่เป็นประเด็นพอสมควรคือ แอชลีย์ โคล
โคล ในเวลานั้นเป็นแบ็กซ้ายอันดับหนึ่งของอังกฤษ เป็นผลผลิตที่อาร์เซนอลและเหล่า “กูนเนอร์ส” ภาคภูมิใจ แต่ถูกดึงดูดด้วยโอกาสประสบความสำเร็จกับเชลซีที่กำลังเริ่มมาแรงในเวลานั้น จนนำไปสู่การแลกตัวกัน
โดยเชลซีส่งวิลเลียม กัลลาส ปราการหลังชาวฝรั่งเศส กลับมาให้อาร์เซนอล ซึ่งเวนเกอร์ก็ต้องการนักเตะกองหลังอยู่พอดี แม้ว่าจะไม่อยากเสียกำลังสำคัญอย่างโคลไปแต่อย่างน้อยก็ดีกว่าเสียไปเปล่าๆ ไม่ได้อะไรกลับมา
ไม่ชอบหน้าแต่แวะมาหานิดหน่อย
หลังจากนั้นการขับเคี่ยวกันระหว่างอาร์เซนอลกับเชลซีในสนามยังดำเนินต่อมาเรื่อย แม้ว่าจะไม่ได้ร้อนแรงอะไรนักเพราะทั้งสองทีมต่างก็มีช่วงเวลาที่ดีและแย่สลับกันไปในแต่ละฤดูกาลที่ผ่านพ้น โดยยังมีแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใต้การนำของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่ครองความยิ่งใหญ่ยาวนานเป็นคู่แข่งของทั้งสองทีมอีกที
แต่สิ่งที่น่าสนใจคืออาร์เซนอล แอบหรอยนักเตะจากเชลซีมาเรื่อยๆ โดยในช่วงที่เวนเกอร์ ยังคุมทีมอาร์เซนอลจนถึงปี 2018 มีนักเตะอีก 3 รายที่คว้าตัวมาจากเชลซี
- ลาสซานา ดิยาร์รา (2007) กองกลางดาวรุ่งระดับหัวแถวของวงการ ถูกซื้อมาด้วยค่าตัว 2.6 ล้านปอนด์
- ยอสซี เบนายูน (2011) ตัวทำเกมของดีชาวอิสราเอล ถูกยืมตัวมาใช้งาน 1 ฤดูกาลเต็ม
- ปีเตอร์ เช็ก (2015) ผู้รักษาประตูระดับตำนานของเชลซี ที่ย้ายข้ามฝั่งมาเพราะสูญเสียตำแหน่งตัวจริงในทีม
หากสังเกตจะพบว่าการย้ายทีมเหล่านี้เป็นการย้ายทีมของผู้เล่นในระดับที่ไม่ใช่ตัวหลักอะไรนัก และทั้งสองสโมสรยังคงทำธุรกิจกันได้แม้ว่าจะมีช่วงของกระแสความขัดแย้งที่รุนแรง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาล 2014/15 ที่มูรินโญ กลับมาพาเชลซีคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอีกครั้ง (และเป็นแชมป์ลีกสมัยสุดท้ายของเขา) ซึ่งเป็นช่วงที่เวนเกอร์ พยายามพาอาร์เซนอลกลับคืนสู่ความสำเร็จเช่นกัน
ความร้อนแรงทางอารมณ์ในเวลานั้นถึงขั้นทำให้เวนเกอร์มี “ตบะแตก” เกือบซัดกับมูรินโญเหมือนกัน และในความรู้สึกระหว่างแฟนบอลสองสโมสรก็เริ่มมีอาการเหม็นหน้ากันบ้างเล็กน้อย
ขาประจำ ไม่มาก็คิดถึง
สถานภาพและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของสองสโมสรทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นค่อยๆ จางและบางลงตามไปด้วย ทำให้เกิดการโยกย้ายระหว่างกันอีกหลายครั้ง
โดยเฉพาะอาร์เซนอล ที่นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาได้กลายเป็นลูกค้าขาประจำของเชลซีไปแบบไม่น่าเชื่อ
- ดาวิด ลุยซ์ (2019) 8 ล้านปอนด์
- วิลเลียน (2020) ฟรี
- จอร์จินโญ (2023) 12 ล้านปอนด์
- ไค ฮาเวิร์ตซ์ (2023) 65 ล้านปอนด์
- ราฮีม สเตอร์ลิง (2024) ยืมตัว 1 ฤดูกาล
- เคปา อาร์ริซาบาลากา (2025) 5 ล้านปอนด์
ขณะที่เชลซีอุดหนุนอาร์เซนอลกลับแค่คนเดียวคือ โอลิวิเยร์ ชิรูด์ (2018) ด้วยค่าตัว 18 ล้านปอนด์
อย่างไรก็ดี หากมองในภาพรวมแล้วการโยกย้ายระหว่างทั้งสองทีมนั้นโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นที่เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาในการลงสนามกับต้นสังกัดเดิมแทบทั้งสิ้น และต้องการที่จะย้ายทีมเพื่อโอกาสในการเริ่มต้นใหม่และลงสนามที่มากขึ้น
มีเพียงรายของฮาเวิร์ตซ์ กองหน้าดาวเด่นทีมชาติเยอรมนีในเวลานั้นแค่คนเดียวที่ถือเป็นการย้ายทีมในแบบ “บิ๊กดีล” ที่สร้างความฮือฮาน่าจับตามองในวงการ
โดยที่เราไม่ได้พูดถึงการโยกย้ายแบบที่มี “จุดพัก” (ไม่ได้ย้ายตรง) เช่น นิโกลาส์ อเนลกา, เซสก์ ฟาเบรกาส หรือ ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมยัง
เหตุผลที่ซ่อนอยู่
สำหรับเหตุผลที่ซ่อนอยู่ในการโยกย้ายระหว่างกันนั้น ไม่ได้มีแค่เรื่องของโอกาสในการลงสนามเท่านั้น
เรื่อง “หลังบ้าน” ก็เป็นเหตุผลที่สำคัญไม่แพ้กัน
เนื่องจากทั้งเชลซีและอาร์เซนอล ต่างอยู่ในลอนดอนเหมือนกัน ซึ่งสำหรับนักฟุตบอลแล้วเกือบทุกคนไม่ได้อาศัยเพียงคนเดียวแต่มีครอบครัวรวมถึงลูกที่ต้องคำนึงด้วย การย้ายทีมโดยที่ไม่ต้องย้ายเมืองหรือย้ายประเทศนั้นทำให้ชีวิตนอกสนามของครอบครัวยังดำเนินไปได้ตามปกติ
ลูกยังไปโรงเรียนเดิมได้ ภรรยายังมีไลฟ์สไตล์ในแบบเดิมได้ แม้ว่าสำหรับบางคนอาจจะตัดสินใจย้ายบ้านก็ตามเพราะการเดินทางระหว่างทางตอนเหนือของลอนดอน (อาร์เซนอล) ไปทางตะวันตกของลอนดอน (เชลซี) นั้นก็ไม่ใช่การเดินทางที่สะดวกสบายนัก แต่อย่างน้อยก็ยังได้ชื่อว่าอยู่ในลอนดอนเหมือนเดิม
อีกเหตุผลที่มีความสำคัญคือการที่อาร์เซนอล และเชลซี เป็นสโมสรไม่กี่แห่งที่สามารถจ่ายค่าเหนื่อยผู้เล่นในระดับสูงใกล้เคียงกันได้ ทำให้หากมีนักเตะที่คิดอยากจะย้ายออกจากทีมหนึ่ง อีกทีม (ส่วนใหญ่จะเป็นอาร์เซนอล) จะเป็นทีมแรกที่ถูกคิดถึงเสมอ
ดังนั้นถึงจะเป็นคู่แข่งร่วมเมืองกัน แต่เรื่องนอกสนามการซื้อขายระหว่างกันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถพูดคุยกันได้ไม่ยาก ซึ่งตอนนี้ก็ใกล้เคียงกับการ “ผูกปิ่นโต” กันแล้ว
ไม่ต่างอะไรจากเวนเกอร์ ที่เคยออกมาเล่าถึงเรื่องเหตุการณ์กับมูรินโญ ในรายการทอล์คโชว์ Graham Norton
“มันมีสิ่งที่ผมพยายามบอกให้ลูกทีมพยายามควบคุมตัวเอง แต่บางครั้งผมเองก็ทำไม่ได้”
“ผมเป็นคนเริ่มก่อนด้วย” เสียงหัวเราะของผู้ชมที่อยู่ในสตูดิโอห้องส่งดังลั่น เช่นกันกับรอยยิ้มของเวนเกอร์ที่เหมือนบอกเป็นนัยว่าบางอย่างมันผ่านไปนานแล้วก็ผ่านไป
โลกนี้ ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูที่ถาวรหรอก (แต่ไม่เคยเอ่ยถึงมูรินโญในหนังสือของตัวเองนะ!)
อ้างอิง:
- https://www.telegraph.co.uk/football/2025/07/01/why-arsenal-keep-signing-chelsea-players-recent-history/
- https://web.facebook.com/thegrahamnortonshow/videos/ars%C3%A8ne-wenger-on-his-iconic-fight-with-jos%C3%A9-mourinho-the-graham-norton-show/686575415590566/?_rdc=1&_rdr#
- https://www.bbc.com/sport/football/26188451
- https://www.theguardian.com/football/2017/may/06/arsene-wenger-jose-mourinho-arsenal-manchester-united